ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

วิธีฟื้นฟูสวนยาง หลังน้ำท่วม

ภาวะน้ำท่วมที่เกษตรกรชาวสวนยางพารามักพบเสมอ ได้แก่ ภาวะน้ำท่วมแบบฉับพลันแล้วน้ำลดลงอย่างรวดเร็วและภาวะที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ล้วนแต่ก่อให้เกิดความเสียหายกับต้นยาง ความเสียหายบางกรณีสามารถแก้ไขเพื่อบรรเทาความสูญเสียลงได้บ้างจนถึงความเสียหายระดับรุนแรงจนต้องโค่นยางเพื่อปลูกใหม่ ซึ่งล้วนแต่ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราได้รับความสูญเสีย

โดยธรรมชาติของยางพาราเป็นพืชที่ทนต่อภาวะน้ำท่วมขังได้นานพอสมควร (ประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุต้นยางพารา, ระดับและความยาวนานของน้ำที่ท่วม ทั่ว ๆ ไปพบว่า ในสภาพน้ำท่วมขังทำให้ความเข้มข้นของแก็สออกซิเจนในดินต่ำ จะมีผลทำให้รากยางพาราและจุลินทรีย์ในดินขาดแก็สออกซิเจนที่จะถูกนำไปใช้ในการหายใจ และสมดุลของสารบางชนิดเปลี่ยนไป เช่น ธาตุเหล็ก อะลูมินัม มีปริมาณมากขึ้นจนเป็นพิษต่อต้นยางพารา และบางครั้งก็ทำให้เกิดการสูญเสียธาตุอาหารพืชจากดิน

ผลกระทบกับต้นยางโดยตรงคือทำให้ลำต้นแคระแกรน โคนต้นโต แตกพุ่มเตี้ย และใบเหลืองซีด คล้ายขาดธาตุไนโตเจน บางครั้งพบปลายยอดแห้งตาย บางพื้นที่แม้ต้นยางพาราจะมีอายุถึง 10 ปีแล้ว ยังไม่สามารถเปิดกรีดได้เพราะต้นมีขนาดเล็กมาก

สำหรับต้นยางพาราที่ยังเป็นยางอ่อนอายุน้อยกว่า 4 ปี จะทนภาวะน้ำท่วมขังได้ไม่เกิน 5-10 วัน ส่วนต้นยางที่อายุมากกว่า 5 ปี จะทนต่อสภาวะน้ำท่วมขังได้มากกว่า พบต้นยางแสดงอาการในเหลืองร่วง และรากเน่า โดยเฉพาะส่วนของรากฝอยที่ทำหน้าที่ในการดูดน้ำและธาตุอาหารในดิน
นอกจากนี้ เชื้อราอาจเข้าทำลายส่วนของรากและโคนต้นหรือส่วนที่เป็นแผลทำให้กระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยางพารา หากอาการรุนแรงอาจทำให้ต้นยางตายได้ แลระดับน้ำท่วมขังก็มีความสำคัญเช่นกัน หากระดับน้ำสูง 0.5-1.0 เมตร ถึงแม้ว่าจะท่วมเพียงระยะเวลาสั้น ๆ แค่วันเดียวก็ตาม อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับต้นยาง โดยเฉพาะน้ำท่วมถึงบริเวณหน้ากรีด จะทำให้เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย เพราะการกรีดยางเป็นการทำให้ต้นยางเกิดแผลทางหนึ่ง เชื้อราที่เข้าทำลายบริเวณหน้ากรีดอาจทำให้เกิดโรคเส้นดำหรือหน้ากรีดเน่าในช่วงเวลาดังกล่าวควรหยุดกรีดยาง และทาสารเคมีเมทาแลกซิล ทุกสัปดาห์ติดต่อกันจนกว่าจะหาย

นอกจากนี้ ในภาวะที่ฝนตกติดต่อกันหลายวันหรือน้ำท่วมทำให้ดินอ่อนตัวลงโดยเฉพาะรอบ ๆ บริเวณโคนต้นจึงทำให้ต้นยางโค่นล้มได้ หรือกรณีสวนยางพาราโดนลมหรือพายุฝน ทำให้ส่วนของกิ่ง ก้านยางฉีกขาดจนกระทั่งล้ม มีทั้งล้มเป็นบางต้น และล้มเป็นแถบ ๆ เหมือนโดมิโน เกษตรกรควรสังเกตด้วยว่าต้นยางล้มเฉพาะบางส่วน เนื่องจากอยู่บริเวณช่องลมพัดผ่านประจำเป็นรอบ ๆ ทุก 5-10 ปี ควรหลีกเลี่ยงการปลูกยางและเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น พืชไร่ ที่มีอายุสั้นหรือพืชที่ทนต่อลม เป็นต้น แต่ถ้าต้นยางล้มเป็นบริเวณกว้างและไม่เคยเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมาก่อนให้ถือว่าเป็นภัยธรรมชาติยากที่จะหลีกเลี่ยงได้
แนวทางการฟื้นฟูสวนยางพาราที่ได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม
เร่งสำรวจสภาพทั่วไปของสวนยางเพื่อตัดสินใจว่าควรจะจัดการกับสวนยางอย่างไร ระหว่างโค่นเพื่อปลูกใหม่หรือแก้ไขและบำรุงรักษาสวนยางต่อไป หากต้นยางได้รับความเสียหายมากกว่า 50% ของสวน เช่น ปลูกต้นยางไร่ละ 76 ต้น หากเสียหาย 50% จะมีจำนวนต้นยางคงเหลือ 38 ต้น/ไร่ หรือกรณีสวนยาง 10 ไร่ มีต้นยางคงเหลือเพียง 380 ต้น ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าต้นยางที่เหลือรอดอยู่ติดกันหรือกระจัดกระจายทั้งแปลง ซึ่งมีผลต่อการปฏิบัติดูแลรักษา ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดวัชพืช หรือการกรีดยางในอนาคต คนกรีดต้องเดินไกลกว่าจะได้กรีดยางต้นหนึ่ง และต้นยางที่อยู่ระหว่างต้นว่างมีโอกาสล้มได้ง่าย เพราะต้นยางที่ติดกับหลุมว่างจะมีทรงพุ่มขนาดใหญ่ หนาและหนัก ทำให้โค่นล้มได้ง่าย เพียงแค่ดินอ่อนตัวเนื่องจากฝนตกติดต่อกันหรือมีพายุเพียงเบาๆ โดยทั่วไปต้นยางบริเวณใกล้เคียงจะช่วยเป็นแนวบังลมให้กันและกัน

ปลูกซ่อมแทนต้นยางที่ตายเฉพาะสวนยางอายุ 1 - 2 ปี เท่านั้น หากอายุมากกว่านี้ไม่ควรปลูกซ่อม เพราะต้นยางเจริญเติบโตไม่ทันต้นอื่น ๆ เนื่องจากถูกต้นข้างเคียงแก่งแย่งแสง น้ำ และอาหาร อย่างไรก็ตาม หากเกิดภาวะน้ำท่วมซ้ำอาจจะทำให้ต้นยางอายุ 1 – 2 ปี ตายได้
สวนยางที่ยังมีน้ำท่วมขัง ให้รีบทำการระบายน้ำออกไปจากสวนโดยการขุดร่องน้ำบริเวณตรงกลางระหว่างแถวยาง ใช้ได้เฉพาะแรงงานคนและเครื่องจักรขนาดเล็กเท่านั้น ไม่ควรใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการขุดร่องน้ำ เพราะโครงสร้างของดินยังไม่แน่นพอ อาจทำให้โครงสร้างดินเสียหายและกระทบกระเทือนต่อระบบราก เป็นอันตรายต่อต้นยางเป็นอย่างมาก

ทำการตัดแต่งกิ่ง ก้าน และทรงพุ่มของต้นยาง ที่ฉีกขาดเสียหาย ควรตัดกิ่งออกให้หมดเพื่อตกแต่งรอยแผลและตัดกิ่งที่เสียหายให้หมด และขณะเดียวกันก็ต้องตัดแต่งกิ่งที่มีทิศทางไม่สมดุลกับกิ่งที่เหลืออยู่ออกบางส่วน เพื่อป้องกันไม่ให้ทรงพุ่มที่เหลืออยู่หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง

กรณีส่วนของต้นยางเป็นแผลเล็กน้อย ให้ใช้ปูนขาวผสมน้ำอัตราส่วน 1 ต่อ 1 แช่ค้างคืน หรือใช้สีน้ำมันทาจากโคนต้นถึงระดับความสูงประมาณ 1 เมตร หรือหากมีแผลขนาดใหญ่หรือสภาพอากาศยังชื้นอยู่ เช่น ทางภาคใต้ ควรใช้สารเคมีเบนเลท ทาแผลเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราเข้าทำลายส่วนของเนื้อเยื่อได้

กรณีต้นที่เอนไปด้านใดด้านหนึ่งมาก หรือลำต้นโค้งเนื่องจากได้รับความเสียหายจากลม แต่กิ่งก้านไม่ฉีกขาด ควรแก้ไขโดยการตัดแต่งกิ่งก้านด้านที่หนักไปข้างใดข้างหนึ่งออก หากต้นยังเอนอยู่ควรใช้เชือกผูกยึดต้นยางไว้หรือใช้ไม้ค้ำยันเพื่อให้ลำต้นตั้งตรงได้ ข้อระวัง ต้องไม่ให้เชือกที่ผูกยึดต้นยางเสียดสีเปลือกยาง ควรใช้วัสดุบางอย่าง เช่น ยางในล้อรถจักรยานรองระหว่างเชือกกับต้นยาง 

ต้นยางที่ล้มเป็นแนวระนาบขนานไปกับพื้นดิน พบว่ารากยางจะขาดและได้รับความเสียหาย ถึงแม้ว่าจะยกต้นยางขึ้นตั้งตรงอีกครั้งก็ตาม ส่วนของรากได้แก่ รากแก้ว รากแขนงมักฉีกขาดเสียหาย บางครั้งพบว่าจุดเชื่อมต่อโคนคอดินหรือรากแก้วขาดหรือเป็นแผล ในยางเล็กอายุ 4 – 5 ปี ควรตัดแต่งกิ่งออกบางส่วนเพื่อรักษาสมดุลของทรงพุ่มและลดการคายน้ำของต้นยาง ส่วนต้นยางอายุมากกว่า 5 ปี ขึ้นไป ตัดกิ่งและใบที่อยู่เหนือคาคบประมาณ 0.5 – 1.0 เมตร แล้วยกต้นให้ตั้งตรงโดยให้ไม้ค้ำยัน แล้วหมั่นคอยเปลี่ยนไม้ค้ำยันที่ผุพังออกไป เพราะหากต้นยางล้มอีกครั้ง ส่วนใหญ่ต้นยางมักจะตาย

ขณะเดียวกันต้นยางที่ยกขึ้นตั้งตรงใหม่หากเป็นต้นยางเล็กก็อาจจะฟื้นคืนสภาพกลับมาได้ แต่ถ้าเป็นต้นยางใหญ่ ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นคืนสภาพ อย่างไรก็ตาม ในต้นยางใหญ่ที่เปิดกรีดแล้วมักพบว่าต้นยางที่ยกขึ้นตั้งตรง บริเวณส่วนของเปลือกยางจะแสดงอาการเปลือกแห้งจนไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตน้ำยางได้ เนื่องจากอาหารที่ได้จากการสังเคราะห์แสงจะถูกนำไปใช้ในการฟื้นฟู ซ่อมแซมและเสริมสร้างการเจริญเติบโตมากกว่าการนำไปสร้างน้ำยาง ซึ่งการยกต้นยางขึ้นมีข้อดีเพียงไม่ปล่อยให้บริเวณรอบ ๆ ต้นยางที่เหลืออยู่เป็นพื้นที่ว่างเปล่าและเกษตรกรยังอาจจะมีรายได้จากการขายไม้ยาง อย่างไรก็ตาม การยกต้นยางขึ้นควรรีบทำภายในเวลา 3 – 5 วัน หากทิ้งไว้นานกว่านี้ใบยางจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและจะร่วงหล่นทำให้ต้นยางโทรมมาก ในสวนยางที่กรีดแล้วเกษตรกรควรหยุดกรีดยางสักระยะเพื่อให้ต้นยางได้ฟื้นตัวและเป็นการป้องกันไม่ให้เข้าไปเหยียบย่ำดินตลอดจนทำลายรากยาง 

การฟื้นฟูสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมขัง ควรรีบระบายน้ำออกจากสวนยางโดยเร็ว และรอให้น้ำแห้งรวมทั้งดินแข็งตัวเสียก่อนแล้วจึงค่อยเข้าไปปฏิบัติงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายรากยางโดยตรงเฉพาะรากฝอยที่เจริญขึ้นมาใหม่ให้สามารถดูดอาหารและน้ำไปเลี้ยงต้นยาง ไม่ควรใส่ปุ๋ยไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอกและปุ๋ยชีวภาพในขณะที่น้ำท่วมยังไม่แห้งดี เพราะทำให้ธาตุไนโตเจนที่อยู่ในรูปของไนเตรทและยูเรียเปลี่ยนรูปเป็นไนไตรท์ ทำให้เกิดภาวะความเป็นพิษต่อต้นยาง เนื่องจากส่วนของรากขาดก๊าซออกซิเจน เป็นการซ้ำเติมต้นยางที่ทรุดโทรมเนื่องจากน้ำท่วมให้อาการหนักขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ต้นยางฟื้นตัวได้ช้ารวมทั้งอาจจะทำให้ต้นยางอ่อนแอกระทั่งถึงตายได้ อีกประการหนึ่ง การใส่ปุ๋ยคอกในขณะที่ยังมีน้ำท่วมอยู่บ้าง อาจจะไปส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในดินมีการหายใจมากขึ้นจึงทำให้ส่วนของรากยางขาดก๊าซออกซิเจนได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น เกษตรกรไม่ควรใส่ปุ๋ยทันที ต้องรอให้ต้นยางฟื้นตัวและแข็งแรงเสียก่อนสิ่งที่ควรทำคือ รีบใส่ปุ๋ยในช่วงต้นฤดูฝนปีถัดไป

 เรียบเรียงโดย ระบบจัดการความรู้ การยางแห่งประเทศไทย


- Advertisement - 


ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม