ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

รัฐ เอกชน และเกษตรกร เห็นตรงกัน ต้องลดกรดซัลฟิวริคในยางก้อนถ้วยภาคอีสาน



หลังเวทีประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ มอบให้ 3 ภาคส่วน ประกอบด้วย การยางแห่งประเทศไทย ตัวแทนเกษตรกร และบริษัท ศรีตรังฯ แถลงข้อเท็จจริงกรดซัลฟิวริกในยางก้อนถ้วยของภาคอีสาน

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงข้อกังวลกรณียางก้อนถ้วยในภาคอีสานว่า จะไม่โดนแบนแน่นอน เนื่องจากกรดซัลฟิวริกเป็นกรดที่ใช้ในอุตสาหกรรม แต่สามารถนำมาใช้ในเชิงเกษตรได้ ส่วนกรดฟอร์มิก เป็นกรดอินทรีย์ที่หลักวิชาการแนะนำให้ใช้ แต่เนื่องด้วยราคาค่อนข้างสูง และมีขนาดต่างกัน จึงไม่สะดวกต่อการใช้งานในเบื้องต้น ในที่ประชุมกนย. มีแนวทางให้ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์เป็นขั้นตอน และให้เร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกร เพื่อชี้ให้เห็นว่าการใช้กรดทั้งสองตัวจะมีคุณภาพของยางที่ต่างกัน การใช้กรดซัลฟิวริคจะใช้ได้ แต่กรดฟอร์มิกจะได้คุณภาพยางที่ดีเยี่ยม เหมาะสมกับการนำไปแปรรูปใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อ ซึ่งกรดซัลฟิวริคก็สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้เช่นกัน จึงไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดปัญหาไม่รับซื้อในอนาคต

 แนวทางในอนาคต จะมีการยกระดับการใช้กรด หรือสารเคมีต่างๆ ที่จะทำให้ยางพารามีคุณภาพดีขึ้น แต่ต้องทำไปตามขั้นตอน และในขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้สั่งการไปยังกรมที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ดำเนินการทำหน้าที่สื่อสารไปยังเกษตรกรเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างทั่วถึง

"ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมีความอ่อนไหวต่อข่าวมาก อยากฝากเป็นอุทาหรณ์ทุกท่านต่อการให้ข่าวหรือการนำข่าวไปสื่อสารต่อ บางครั้งข่าวมันมีผลกระทบต่อราคา แต่หลังจากมีการสื่อสารข้อเท็จจริงไป เชื่อว่า ราคาจะกลับมาเป็นปกติ ณ วันนี้ก็ถือว่าเราได้ดำเนินการแก้ไขข้อเท็จจริงได้อย่างทันท่วงที ทางบริษัทศรีตรังและบริษัทตัวแทนได้ออกมาชี้แจงยืนยันและทำความเข้าใจกับเกษตรกร ตัวแทนเกษตรกรก็จะนำไปสื่อสารต่อให้เกิดความเข้าใจ ที่ผ่านมา มีการรณรงค์การทำยางก้อนถ้วยที่มีคุณภาพ ล่าสุด มีปริมาณการใช้กรดซัลฟิวริกในการทำยางก้อนถ้วย 60 % ฟอร์มิก40 % แต่ผมเชื่อว่าหลังจากวันนี้ที่เกษตรกรได้เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น สัดส่วนจะดีขึ้นกว่านี้" 


การหาซื้อซัลฟิวริกในตลาดพื้นที่ จะแบ่งขายเป็นขวดเล็ก แต่หากซื้อกรดฟอร์มิกจะขายเป็นแกลลอนใหญ่ เป็นปัญหาในการเข้าถึงตัวผลิตภัณฑ์ จึงต้องมีการรณรงค์และพูดคุยกับผู้ประกอบการ ให้มีการจัดรูปแบบผลิตภัณฑ์ ให้สามารถมีขายในขนาดที่เล็กและถูกลง หาซื้อได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันกรดฟอร์มิก เป็นสารที่มีการควบคุมการนำเข้าจากต่างประเทศทำให้ราคาค่อนข้างสูง แต่เมื่อนำมาทำให้เจือจางเพื่อนำไปใช้ในการทำให้ยางมีการจับตัว เฉลี่ยแล้วราคาจะอยู่ที่ประมาณ 32 สตางค์ต่อยางแห้ง 1 กิโลกรัม ในขณะที่กรดซัลฟิวริกราคาต้นทุนประมาณ 15 สตางค์ต่อยางแห้ง 1 กิโลกรัม จะเห็นว่าห่างกันประมาณเท่าตัว แต่ราคาขายของยางก็จะต่างกัน ถ้าขายโดยใช้กรดซัลฟิวริก จะขายได้ในราคาที่ถูกกว่าขายโดยใช้กรดฟอร์มิก

ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำยางก้อนถ้วยเข้าสู่กระบวนการแปรรูปยางแท่ง ต้องมีกระบวนการล้าง การทำความสะอาดที่ได้มาตรฐาน ออกมาเป็นมาตรฐานยางแท่งของประเทศไทย ก่อนที่จะนำส่งต่อผู้ใช้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทยางล้อ ดังนั้น กระบวนการที่ได้มาตรฐานต่างๆ เหล่านี้ก็จะช่วยคัดกรองและทำให้ยางของไทยเป็นยางที่มีคุณภาพระดับโลก แต่สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ มีความเป็นห่วง ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องคุณภาพยาง แต่เป็นเรื่องสุขอนามัยของเกษตรกรด้วย เพราะกรดซัลฟิวริกเป็นกรดแก่ที่มีความแรงพอสมควร หากนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพของเกษตรกร และอีกส่วนหนึ่งคือ สิ่งแวดล้อม จะเป็นปัญหาเรื่องกลิ่นค่อนข้างแรง ดังนั้น สิ่งที่พยายามรณรงค์ไม่ใช่เฉพาะคุณภาพยาง แต่ต้องการยกระดับสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของเกษตรกรเป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน

นายสาย อิ่นคำ ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง กล่าวว่า ส่วนใหญ่การทำยางก้อนถ้วย หากเป็นช่วงฤดูฝน หรือวันที่ฝนตก เกษตรกรจะต้องวิ่งแข่งกับฝนเพื่อให้ได้ยางที่กรีดไว้แล้ว จะต้องใช้กรดที่ให้ความไวในการเกาะตัวได้ไวที่สุด แต่ถ้าใช้กรดฟอร์มิก การเกาะตัวของยางก้อนถ้วยจะช้ากว่า จึงต้องหันมาใช้กรดซัลฟิวริก เป็นการตอบโจทย์ที่พี่น้องเกษตรกรไม่ต้องเสียแรงที่กรีดยาง

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการบริหารบริษัท ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี จำกัด เผยว่า ข่าวที่ออกไปเมื่อสองวันก่อนมีความคลาดเคลื่อน "เราไม่เคยบอกว่าแบน และไม่เคยเอ่ยถึงลูกค้ารายใหญ่” ที่มาที่ไปคือ ทางบริษัทศรีตรัง ต้องการรณรงค์เพื่อลดการใช้กรดซัลฟิวริกในภาคอีสาน ซึ่งเป็นความกังวลของลูกค้าที่ส่งมาทางบริษัท อยากรณรงค์ให้ลดใช้กรดตัวนี้ตามความต้องการของลูกค้า เพราะเกษตรกรชาวสวนยาง คือ หัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ ดังนั้น ถ้ารณรงค์ได้ก็จะช่วยให้อุตสาหกรรมยางของประเทศให้ยั่งยืน


 ลูกค้าบางรายแสดงความกังวลและให้ทางบริษัทฯ ช่วยกันรณรงค์ หากเป็นการใช้กรดฟอร์มิก100% ได้ หรือหันมาใช้มากขึ้น ก็จะช่วยทำให้ยางของไทยมีคุณภาพมากขึ้น มีการยอมรับมากขึ้น และลูกค้าก็จะไว้วางใจ มีความกังวลน้อยลง ราคาจะดีขึ้น และมีแนวโน้มซื้อยางมากขึ้น นายวีรสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม