“เมื่อก่อนมันต่างกับเดี๋ยวนี้อย่างกับคนละโลก ปาล์มยิ่งโตทะลายยิ่งใหญ่ ใส่แค่น้ำขี้หมูถูกๆ ได้ไร่ละไม่ต่ำกว่า 6 ตัน แต่เดี๋ยวนี้ยิ่งโตยิ่งเล็ก ปุ๋ยก็แพง อย่างเก่งไร่หนึ่งไม่เกิน 3 ตัน ดีที่ราคาอย่างนี้พออยู่ได้”
นายชาญชัย ธนะกมลประดิษฐ์
เจ้าของสวนปาล์มแห่งสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
เป็นกระจกสะท้อนภาพความแตกต่างของการทำสวนปาล์มน้ำมันระหว่างอดีต กับปัจจุบัน
ได้อย่างแจ่มชัดที่สุด โดยเฉพาะในมิติผลผลิตและต้นทุน
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เป็นเช่นนี้ มาจากปัญหาใหญ่หลวง อย่าง “ภัยแล้ง”
“ปีที่แล้วฝนตกสองเดือนแล้งไปแปดเดือน
พืชเศรษฐกิจที่นี่ได้รับผลกระทบหมด ทั้งสับปะรด ยาง และปาล์ม
โดยเฉพาะยางยืนต้นตายจำนวนมาก ผลผลิตหายไปกว่า 50% เมื่อก่อนสหกรณ์ฯ (สหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอด จำกัด)
รวมรวบยางอาทิตย์ละ 100 ตัน เดี๋ยวนี้เหลือแค่ 40-50 ตัน เท่านั้น
ส่วนปาล์มเล็กอายุ 2-3 ปี ตายเสียหายไปกว่า 20%”
นายชาญชัย ในฐานะประธานกลุ่มผู้ปลูกปาล์มสามร้อยยอดสะท้อนปัญหา
ถามว่าน้ำและความชื้นสำคัญอย่างไรกับปาล์มน้ำมัน เขาบอกว่า ถ้าไม่มีน้ำเพียงพอต้นปาล์มจะออกแต่ช่อตัวผู้ไม่ติดดอกตัวเมียและติดทะลาย
เมื่อไม่มีทะลายไม่มีผลผลิตก็จบเห่ กลายเป็น “พันธุ์ดูใบ” คือ มีแต่ใบไม่มีทะลาย…!!!
ทั้งนี้ปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสมกับปาล์มน้ำมันโดยเฉลี่ยปีละอย่างน้อย
ประมาณ 2,000-3,000 มม. ขึ้นไป โดยต้องไม่มีสภาพแห้งแล้งนานเกินไป
ปริมาณการตกของฝนในรอบปี ต้องดีและสม่ำเสมอ เดือนที่มีฝนตกน้อยที่สุด
ไม่ควรต่ำกว่า 100 มม. และไม่ควรขาดน้ำนานเกิน 4 เดือน แต่พื้นที่สามร้อยยอดมีปริมาณฝนเฉลี่ยเพียง
1,200 มม.เท่านั้น และก็อย่างที่บอกแล้งมหาโหดนานถึง 8 เดือน
จากการสอบถามข้อมูล นายชาญชัยให้ข้อมูลว่าในพื้นที่สามร้อยยอดมีผู้ปลูกปาล์มที่เป็นสมาชิก
148 ราย พื้นที่ปลูกรวม 10,400 กว่าไร่ ส่วนใหญ่นิยมปลูกปาล์มพันธุ์ยูนิวานิช
สุราษฎร์ธานี และพันธุ์ซีพีไอ ส่วนสวนปาล์มของนายชาญชัยที่มีอยู่หลายแปลงรวมมากกว่า
300 ไร่ เขาปลูกอยู่ทั้ง 3 พันธุ์ และส่วนหนึ่งปลูกพันธุ์ปาล์มที่นำมาจากประเทศมาเลเซีย
จะว่าไปแล้วครอบครับของนายชาญชัย คือผู้ปลูกปาล์มยุคแรกๆ
ของสามร้อยยอด เขาเล่าว่าปลูกตั้งแต่สมัยพ่อ เมื่อ 30 กว่าปีก่อน
โค่นและปลูกใหม่ไป 1 รอบ และเร็วๆ นี้จะโค่นรอบที่สองอีกแปลง
จึงทำให้เขารู้จักและเข้าใจพืชตัวนี้เป็นอย่างดี
และรู้วิธีที่จะเรียนรู้เทคนิควิธีปลูกปาล์มสู้ภัยแล้งเป็นอย่างดีเช่นกัน
เริ่มต้นจากพื้นที่ปลูกปาล์มในพื้นที่นี้ไม่ควรปลูกในพื้นที่ดอนหรือพื้นที่เขา เพราะประเด็นสำคัญเลยคือ ปริมาณฝน และความชื้นในพื้นที่มีอยู่สองอย่างคือ แล้ง กับ แล้งมาก...!!!
จึงควรปลูกในพื้นที่ลุ่มที่มีแหล่งน้ำ หรือใกล้แหล่งน้ำ ถ้าไม่มีก็ต้องจัดสร้างขึ้นมา สวนปาล์มทุกแปลงของเขาจะสร้างแหล่งน้ำ ถ้ามีห้วยหรือคลองก็ต้องจัดการลอกให้ลึกทุกปีเพื่อให้สามารถเก็บน้ำไว้สู้ภัยแล้ง “ปีนี้ผมหมดเงินไปเกือบล้าน ลอกคลองและซ่อมแซมระบบน้ำ”
เมื่อมีแหล่งน้ำก็จะง่ายในการจัดการในช่วงแล้ง โดยจะมีวิธีให้น้ำ 2 รูปแบบ
คือ แบบแรกอาศัยอย่างง่าย คือ สูบน้ำแล้วปล่อยให้ไหลไปตามร่องแปลงยาง
และอีกระบบหนึ่งให้น้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์ ครั้งละ 3-4 ชั่วโมง สลับกันไป
“ปัจจุบันสวนปาล์มต้องวางระบบน้ำ เจาะบาดาล สร้างฝายเก็บน้ำ
เดี๋ยวนี้พื้นที่ไม่มีไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำก็ใช้โซลาร์เซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์เอา
เพราะมันจำเป็น ขาดไม่ได้เลย”
“ปุ๋ยที่ให้จะมีสูตร 21-0-0 (แอมโมเนียมซัลเฟต), 0-0-60 (โพแทสเซียมคลอไรด์) และ 0-3-0
(หินฟอสเฟต) เป็นสูตรที่สำนักงานเกษตรแนะนำ
เพราะพื้นที่นี้มีตัวกลางสูง ปุ๋ยที่ใส่จึงให้ตัวกลางต่ำ เราต้องดูว่า “ดินต้นทุน”
เรามีเท่าไหร่ จะทำให้ประหยัดปุ๋ยมากทีเดียว ต้นหนึ่งให้ครั้งละ 2-3 กก. ปีหนึ่งให้สัก
2 ครั้ง”
วิธีการหนึ่งที่นิยมในสวนปาล์มคือ เมื่อตัดแต่งทางปาล์มจะนำมาวางไว้ตรงกลางระหว่างแถวต้นปาล์ม
โดยจะเว้นทางเดินไว้เป็นระยะๆ
ทางปาล์มเหล่านี้จะช่วยรักษาความชื้นได้อย่างดีเยี่ยม และนานๆ ไปมันจะค่อยๆ ย่อยสลายกลายเป็นอินทรีย์
บรรดารากปาล์มมักจะวิ่งมาหาอาหารบริเวณนี้จำนวนมาก ดังนั้นเวลาให้ปุ๋ยก็จะไม่ใช้วิธีหว่านรอบต้นเหมือนเดิม
แต่หว่านลงไปในกองทางปาล์มเลย
ประโยชน์ที่ได้คือ ปุ๋ยจะไม่ระเหยไปในอากาศเร็วเหมือนหว่านรอบต้น
รากจะได้กินปุ๋ยเร็วและได้เต็มที่ ทำให้การให้ปุ๋ยเกิดประสิทธิภาพ
และช่วยประหยัดได้ระดับหนึ่งทีเดียว
นอกจากนั้นยังมีแนวทางลดต้นทุนปุ๋ยด้วยการทำปุ๋ยหมักขึ้นเองภายในสวน
โดยเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดร่วมกับสหกรณ์ โดยนำกากอ้อย
ขี้ไก่ ขี้วัว และอีเอ็ม มาหมักรวมกัน กลายเป็นปุ๋ยหมักที่มีธาตุอาหารสูง
สามารถใช้ได้กับพืชทุกชนิด ส่วนหนึ่งก็นำมาใช้ในสวนปาล์มของสมาชิก
โดยจะขายให้สมาชิกราคาต่ำ เพียงราคา ตันละ 1,000 บาท ขณะที่ราคาในท้องตลาดราคา
2,000 บาท เป็นหนึ่งในแนวทางการลดต้นทุนของชาวสวนปาล์ม
และยังเป็นแนวทางให้สมาชิกนำไปใช้เองเพื่อลดต้นทุนในสวนปาล์มอีกด้วย
นายชาญชัยบอกว่า ทำสวนปาล์มใช้แรงงานน้อย ใช้แค่แรงงานตัดปาล์ม ใส่ปุ๋ย
และตัดหญ้า โดยสวนขนาด 50-60 ไร่ ใช้แรงงานประจำแค่ 2 คน “แรงงานที่นี่หายากและราคาสูง ถ้าต้นปาล์มสูงๆ เก็บเกี่ยวยากก็ต้องใช้แรงงานเยอะ แม้ผลผลิตยังพอได้สองตันกว่า
ก็ต้องตัดใจโค่นทิ้งปลูกใหม่ จะจัดการง่ายกว่า”
ประธานกลุ่มปาล์มน้ำมันสามร้อยยอด ให้ข้อมูลว่า
ด้วยต้นทุนทางธรรมชาติต่ำ กว่าพื้นที่ภาคใต้ จึงทำให้ผลผลิตของสวนปาล์มในพื้นที่นี้อย่างสูงไม่เกิน
3 ตัน/ไร่ แต่หากบริหารจัดการดี
จัดการน้ำและปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ก็มีสิทธิ์ได้ผลผลิตแตะ 4-5 ตัน/ไร่ได้
ขณะที่ราคาปาล์มน้ำมันปัจจุบันค่อนข้างเป็นที่พอใจ กก.ละ มากกว่า 5
บาท/กก. และมีลานรับซื้อในพื้นที่ ไม่ต้องบรรทุกไปขาย จ.ชุมพรเหมือนในอดีต
ซึ่งเกิดจากการแข่งขันของลานรับซื้อ และโรงงานหีบปาล์มในพื้นที่ที่มีโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กขึ้นรวม
2-3 โรง
“มาปีสองปีนี้ราคาปาล์มในพื้นที่สูง บางช่วงสูงกว่าภาคใต้ด้วยซ้ำ
เพราะเกิดโรงหีบใหม่ขึ้นใน จ.กาญจนบุรี เขาก็มีเครือข่ายเข้ามาซื้อปาล์มในพื้นที่ประจวบฯ
เพชรบุรี และให้ราคาสูง เพราะผลผลิตเขาไม่เพียงพอป้อนโรงงาน จึงทำให้ราคาสูง
ก็เป็นประโยชน์กับเกษตรกรชาวสวนปาล์ม”
นายชาญชัยในฐานะรองประธานสหกรณ์ชาวไร่สับปะรด สามร้อยยอด
มองภาพรวมของพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ว่า ยาง ปาล์ม และสับปะรด ตอนนี้เป็นตัวหลัก ถ้าจะอยู่ได้ในพื้นที่
สับปะรดยังทำได้เพราะราคายังสูง ชาวไร่มืออาชีพจะอยู่ได้เพราะมีความรู้มีเทคนิคการบริหารจัดการที่ดี
แต่มือสมัครเล่นมักจะล้มเหลว นี่คือสัจธรรมสำหรับพืชทุกตัว
“แต่อุปสรรคที่สำคัญคือความแห้งแล้ง สับปะรดยังเป็นโอกาส
ราคาสูงแต่แล้ง ผมทำทั้งสองตัว สวนปาล์มยังมีรายได้ 7-8 แสน/เดือน ยังเป็นรายได้ที่ดี มีสับปะรดเข้ามาร่วมด้วยก็พอทำให้ยังยืนหยัดอยู่ได้”
สิ่งหนึ่งที่ทีมงานยาง&ปาล์มออนไลน์ มองเห็นจากการจัดการสวนปาล์มของนายชาญชัย คือเรื่องของเทคนิคการบริหารจัดการที่ดีมีประสิทธิภาพ เพราะแม้จะมีอุปสรรคใหญ่ คือ ความแห้งแล้ง ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการปลูกพืชทุกชนิด แต่ด้วยการสร้างแหล่งน้ำขึ้นมา แน่นอนว่าจะทำให้ต้นทุนสูง แต่เขาก็หาวิธีลดต้นทุนด้านอื่นๆ ทดแทน เช่น ลดต้นทุนปุ๋ยเคมี ด้วยการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และใช้ปุ๋ยหมักเสริม เป็นต้น
ขอขอบคุณ
นายชาญชัย ธนะกมลประดิษฐ์
สหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอด จำกัด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น