ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

เรื่องร้อนออนไลน์ : เลือกตั้งเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง...?

ทันทีที่การยางแห่งประเทศไทยออกหนังสือ “ด่วนที่สุด” เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2559 ถึงผู้อำนวยการสำนักงาน กยท.ทั่วประเทศ เรื่อง เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ. 2559 และแผนการดำเนินงาน

ในหนังสือ มีใจความว่าด้วยเรื่องการจัดทำระเบียบการเลือกตั้งเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในส่วนของ กองทุนพัฒนายางพารา ในหมวด 6 ว่าด้วยเงินกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรเกษตรกรชาวสวนยาง มาตรา 49 (6)

เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจาก พ.ร.บ. การยางฯ ถูกประกาศใช้ ได้มีการรวมเครือข่ายชาวสวนยางทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนท้ายที่สุดจะรวมกลุ่มภายใต้ สภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) โดยมี นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ เป็นแกนนำ และปัจจุบันนั่งเป็นประธาน โดยอ้างที่มาว่า สภาเครือข่ายยางฯ มาจากนโยบายของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการให้ชาวสวนยางรวมกันเป็นหนึ่ง จึงเกิดการเลือกตั้งเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราทั้งประเทศในระดับจังหวัด ระดับเขตและระดับประเทศจนสำเร็จ

นายอุทัยพูดเสมอว่า การรวมกลุ่มของสถาบันเกษตรกรครั้งนี้ ตั้งธงหลักไว้ที่การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ กองทุนพัฒนายางพารา โดยเฉพาะมาตรา 49 (6)

แต่ลืมไปว่า การตั้งสภาเครือข่ายเกษตรกรนี้ “ขาลอย” ไม่มีฐานสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่สำคัญคือ กยท.

ภาพอย่างนี้เคยปรากฏมาแล้วเมื่อครั้งการคัดเลือก บอร์ด กยท. ในส่วนของโควตาสายเกษตรกร ซึ่งเดิมทีสถาบันเกษตรกรได้ดำเนินการคัดเลือกกันเอง โดยไม่มีหน่วยงานรัฐเกี่ยวข้อง ภายใต้ ความบริสุทธิ์เป็นพื้นฐานว่า เกษตรกรต้องเลือกกันเอง จนได้ตัวแทนบอร์ดมา 1 ชุด

แต่กลับต้องถูก “ล้มกระดาน” เพราะหลังจากนั้น กยท.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการเข้ามาดำเนินการคัดเลือกบอร์ด กยท.ในสายเกษตรกรใหม่ทั้งหมด พร้อมๆ กับรอยร้าวของแกนนำเกษตรกรในภาคใต้
ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน

เมื่อ กยท.ประกาศเลือกตั้งเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง โดยไม่ให้ค่า สภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางฯ ที่ประกาศตัวว่ามาจากการเลือกตั้งเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราทั้งประเทศในระดับจังหวัด ระดับเขตและระดับประเทศ  

 นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า กยท. ได้มีการประกาศระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ. 2559 และมีผลบังคับใช้ระเบียบดังกล่าวทันที เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีการพัฒนาในทุกด้าน เกิดการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกันในการประกอบอาชีพการทำสวนยาง มีขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ การบริหารจัดการองค์กร การพัฒนาด้านการผลิต การแปรรูปผลผลิต การตลาด การประกอบอาชีพเสริมอื่นๆ

รวมถึงการสร้างอำนาจในการเจรจาต่อรอง และเชื่อมโยงสถาบันเกษตรกรทั่วทุกพื้นที่ให้เป็นเครือข่ายในการดำเนินกิจกรรมหรือธุรกิจของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ให้มีการพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน

ดังนั้นการคัดเลือกผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจะแบ่งเป็น 4 ระดับ เพื่อให้การทำงานมีความใกล้ชิดกับเกษตรกรชาวสวนยางและครอบคลุมทุกพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ได้แก่ การคัดเลือกในระดับสาขา ระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศ 

“ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง เข้ามาทำหน้าที่เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางกับ กยท. และเป็นสมาชิกของสถาบันเกษตรกรใดสถาบันหนึ่งที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. เช่นกัน ตาม พ.ร.บ.การยางฯ ที่กำหนดไว้ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีการผลิต แปรรูป ที่ได้มาตรฐานตามหลักสากล รวมถึงการสนับสนุนผู้นำเครือข่ายฯ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับยางพารา การนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น มาพัฒนาการดำเนินกิจกรรมเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่า โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม แปรรูปผลผลิตยางสู่อุตสาหกรรมเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ และสามารถทำธุรกิจการค้ายางและเชื่อมโยงธุรกิจถึงระดับส่งออกต่างประเทศได้” ผู้ว่าการ กยท. กล่าว

ทั้งนี้ผู้แทนฯ ที่ผ่านการคัดเลือกระดับสาขาและจังหวัดแล้ว จะต้องเตรียมตัวในการ คัดเลือกเป็นผู้แทนฯ ระดับเขต ในระหว่างวันที่ 4 พ.ย. 2559 - 29 พ.ย. 2559 โดยจะจัดเวียนไปตามจังหวัดที่ตั้งของเขต กยท. ประกอบด้วย เขตภาคเหนือ จำนวน 16 คน เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จำนวน 12 คน เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จำนวน 12 คน เขตภาคกลางและภาคตะวันออก จำนวน9 คน เขตภาคใต้ตอนบน จำนวน 12 คน เขตภาคใต้ตอนกลาง จำนวน 22 คน เขตภาคใต้ตอนล่าง จำนวน 23 คน  จากนั้น ในผู้แทนระดับเขต จะมีการการคัดเลือก ให้เหลือเขตละ3 คน เพื่อมาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศต่อไป


เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายศิวะ ศรีชาย แกนนำชาวสวนยางคนหนึ่งของภาคใต้ มีปฏิกิริยา ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว อย่างดุเดือด เนื้อหาเป็นการ ชำแหละ กยท. โดยมีประเด็นหลักสำคัญว่า การที่  กยท. จัดทำระเบียบว่าด้วยเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ.2559 เกิดจากความคิดที่จะรวบยอดรวบอำนาจ ควบคุมกำกับ เอาไว้เสียเองทั้งหมดของพนักงาน กยท. จึงดำเนินการกันโดยแอบจัดทำและออกระเบียบ ประกาศรับสมัครและคัดเลือกกันเองเป็นการภายใน โดยเน้นเอาชาวสวนยางที่แอบอ้างสวมรอยเป็นกลุ่มสหกรณ์ของ สกย. เดิมที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกที่ร่วมสมคบคิดกับพวกพนักงาน

พร้อมกับกล่าวหาว่า กยท.เร่งรีบจัดทำระเบียบว่าด้วยเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และเร่งรัดดำเนินการคัดเลือกกันอย่างเงียบเชียบ ไม่กระโตกกระตาก ให้ชาวสวนยางนอกเครือข่ายอื่นใดได้รับรู้และมีโอกาสได้ร่วมสมัครรับการคัดเลือกด้วย
นายศิวะ ยังบอกอีกการออกระเบียบที่มีความคลุมเครือไม่ชัดเจน บกพร่องในหลายจุดของ กยท.และการดำเนินการรับสมัครและคัดเลือกอย่างเร่งรีบ โดยขาดการเผยแพร่ ชี้แจง ประชาสัมพันธ์ทำให้เกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจและเสียโอกาสในการมีส่วนร่วมสมัครรับการคัดเลือกและข้อระเบียบ วิธีปฏิบัติ หลายอย่างหลายขั้นตอนที่อาจเป็นการผิดกฎหมาย
advertivsing
advertivsing
พร้อมกับบอกว่าทางสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง16 จังหวัดภาคใต้โดยนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้นายสุนทร รักษ์รงค์ได้มีหนังสือทักท้วงและข้อเสนอแนะ ต่อผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการสนใจ และจะนำเรื่องนี้ฟ้องศาลปกครองในเร็วๆ นี้
ทีมงานยาง & ปาล์มออนไลน์ ต่อสายพูดคุยในประเด็นเดียวกันนี้กับ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) เขายังคงย้ำคำเดิมหนักแน่นว่า สยยท. เกิดขึ้นจากคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ชาวสวนยางรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อประโยชน์ในการกำหนดและแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ
“พวกเราเริ่มสร้างเครือข่ายยางฯ มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ผ่านการเลือกตั้งคณะกรรมการมาหลายระดับแบบเดียวกับที่ กยท. ทำ ซึ่งพวกเราทำกันมาก่อน มีที่ปรึกษาสภาที่มีความรู้ความสามารถ แต่กลายเป็นว่า กยท.ไม่ยอมรับ ต้องการที่จัดการคัดเลือกขึ้นเอง เหมือนพวกผมเริ่มออกวิ่งจากนราธิวาส ขึ้นมาเมืองหลวง ตอนนี้วิ่งมาถึงประจวบคีรีขันธ์แล้ว อีกนิดจะถึงกรุงเทพแล้ว แต่ กยท. จะให้เรากลับไปเริ่มต้นใหม่ที่นราธิวาส แล้วจะให้ผมทำยังไง” นายอุทัยระบาย



แต่อย่างไรก็ตามเขายอมรับว่า ท้ายที่สุดก็ต้องกลับไปเริ่มต้นการคัดเลือกเครือข่ายเกษตรกรตามระบบของ กยท. โดยแกนนำส่วนหนึ่งที่มีคุณสมบัติจะเข้าไปตามระบบการเลือกตั้ง ขณะที่ยังคงยืนหยัดที่จะดำเนินงานในส่วนของสภาเครือข่ายยางฯ ต่อไป
“เราพร้อมที่จะเป็นฝ่ายตรวจสอบในทุกเรื่องที่มีปัญหา และเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เรามีความพร้อมเรื่องนี้อยู่แล้ว และจะทำทันทีที่มีปัญหา” ประธานสภาเครือข่ายยางฯ กล่าวหนักแน่น
บทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องรอติดตามหน้าตาของ เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง ภายใต้การควบคุมของ กยท. กันต่อไป แต่เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เกษตรกรชาวสวนยางไม่สามารถปฏิเสธบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ อย่าง กยท. ได้ เพราะยังไงก็ฆ่าไม่ตาย ขายไม่ขาด....!!!
กองบรรณาธิการ : ยาง&ปาล์มออนไลน์ 






ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม