ตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค (RRM) ซื้อขายยางจริง ผู้ผลิต “มีอำนาจ” กำหนดราคา
เรื่องน่าภาคภูมิใจ
ของคนไทยคือ ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออก “ยางธรรมชาติ” มากที่สุดของโลก
ในขณะเดียวกันก็น่าหดหู่อย่างยิ่ง
เพราะเรา “ไร้อำนาจ” ต่อรองทางการตลาดกับผู้ซื้อยางจากต่างประเทศ
สถานการณ์การซื้อขายยางตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
พบว่า ราคายางในประเทศ “ถูกชี้นำ” จากราคายางในตลาดซื้อขายล่วงหน้า
เช่น ตลาดล่วงหน้าโตเกียว (TOCOM) ของญี่ปุ่น
ตลาดล่วงหน้าของสิงคโปร์ (SICOM) และตลาดเซี่ยงไฮ้ของจีน ทุกตลาดเป็นตลาดเก็งกำไร...!!!
เนื่องจากมีปริมาณการส่งมอบยางจริงมีน้อย
ไม่สะท้อนกลไกราคาที่เกิดจากผลผลิตและความต้องการใช้ที่แท้จริง ส่งผลให้ราคาเกิดความผันผวน
และบางครั้งราคาลดลงต่ำกว่าต้นทุนการผลิต
จากการประชุมสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (International Tripartite Rubber Council:
ITRC ) จึงเห็นชอบให้จัดตั้งตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค
(Regional Rubber Market : RRM) ขึ้น โดยได้เปิดดำเนินการพร้อมกัน
3 ประเทศ ในวันที่ 2 กันยายน 2559 เพื่อสร้างกลไกราคาที่สะท้อนภาวะตลาดที่แท้จริง และเพิ่มความเข้มแข็งให้กับตลาดยางของประเทศผู้ผลิตยาง
3 ประเทศ
ตลอดจนสามารถใช้อ้างอิงการซื้อขายในระดับสากล
ทดแทนตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ และสร้างเสถียรภาพด้านราคายาง
👉 รูปแบบของตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค
ตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค
เป็นตลาดกลางซื้อขายยางธรรมชาติล่วงหน้าแบบส่งมอบจริง โดย
ผู้ซื้อจะได้รับมอบยาง 30 วันนับจากวันทำสัญญา
สินค้าที่ซื้อขายผ่านตลาดมี 2 ชนิด คือยางแท่ง STR 20
และยางแผ่นรมควัน RSS 3
ผู้ซื้อ เป็นผู้ประกอบการส่งออก ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ เทรดเดอร์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ผู้ขาย เป็นโรงงานผู้ผลิตที่มีมาตรฐาน ได้รับการรับรองอยู่ใน SICOM Approved Factory List หรือ โรงงานที่มีมาตรฐาน GMP และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ
Selection Committee ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วม 3 ประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบคุณภาพให้แก่ผู้ใช้ยางทั่วโลก
รูปแบบการซื้อขายยางเป็นแบบ Auto matching continuous system เป็นรูปแบบการซื้อขายยางที่มี
มาตรฐานในระดับสากล โดยผู้ซื้อ/ผู้ขายเสนอคำสั่งซื้อ
คำสั่งขาย ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
👉 ผลดีของตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาคต่อตลาดยางของไทย
รูปแบบการซื้อขายยางในปัจจุบันมีการซื้อขายในรูปแบบของตลาด Spot และ ตลาด
Future การซื้อ
ขายแบบ Spot จะเป็นการผลิตก่อนแล้วจึงกำหนดราคาขาย
จึงทำให้การวางแผนการผลิตกับความต้องการใช้ยางในบางครั้งไม่สอดคล้องกัน ส่งผลให้ราคายางผันผวน
และเกิดปัญหาในการบริหารจัดการสต็อกยาง
ในขณะที่ตลาด Future จะเป็นการซื้อขายตราสารอนุพันธ์
มีการถือสัญญาจนถึงกำหนดส่งมอบจริงน้อย และเป็นตลาดของนักเก็งกำไรมากกว่าผู้ประกันความเสี่ยง
ดังนั้น การจัดตั้งตลาดกลางระดับภูมิภาคเพื่อให้ตลาดกลางยางของโลกอยู่ในประเทศผู้ผลิตยาง
โดยใช้รูปแบบการซื้อขายแบบ Forward มีการตกลงราคากันล่วงหน้าแล้วส่งมอบจริง 100% ใน
30 วัน สินค้า
ที่ผ่านตลาดมีการรับรองคุณภาพ
สอดรับกับนโยบายการพัฒนามาตรฐานการผลิตยางของสถาบันเกษตรกรสู่ระบบการจัดการคุณภาพที่ดี
หรือ GMP ของการยางแห่งประเทศไทย
จึงเป็นกลไกให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกรยกระดับคุณภาพสินค้าสู่มาตรฐานการส่งออก
สามารถ
วางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
ช่วยลดต้นทุน และเป็นช่องทางในการประกัน
ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา
และทำให้ระบบตลาดเกิดความเข้มแข็ง เกษตรกรเกิดความมั่นคงใน
อาชีพการทำสวนยาง
👉 ผลของตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาคต่อการกำหนดราคาอ้างอิงของยางไทย
ปัจจุบันการกำหนดราคาซื้อขายยางแต่ละวันยังคงอ้างอิงราคาจากตลาดล่วงหน้า
ทั้งตลาด TOCOM
ตลาด SICOM และตลาดเซี่ยงไฮ้
ผู้ที่เข้าไปซื้อขายในตลาดล่วงหน้ามีทั้งผู้ประกันความเสี่ยงและนักเก็งกำไร ซึ่งมีการส่งมอบสินค้าจริงไม่เกิน
5%
ขณะที่ตลาดกลางระดับภูมิภาค
กำหนดให้ทุกสัญญาที่เกิดขึ้น ต้องส่งมอบและรับมอบสินค้าจริง 100% ภายใน 30
วัน ทำให้ราคาที่เกิดขึ้นในตลาดเกิดจากความต้องการยางที่แท้จริงของผู้ซื้อ
และอยู่บนพื้นฐานการคำนวณต้นทุนของผู้ขาย หากมีการใช้ราคายางของตลาดกลางระดับภูมิภาค
ให้สามารถชี้นำราคาซื้อขายยางในตลาดโลก คาดว่าจะช่วยให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้น
เรื่อง : อธิวีณ์
แดงกนิษฐ์ กองวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจยาง ฝ่ายวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจยาง
การยางแห่งประเทศไทย
advertivsing
สนใจลงโฆษณา โทร 08-6335-2703
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น