ธุรกิจยางเครป สหกรณ์ยางฯ ในโตน จ.พังงา สร้างความเป็นธรรมให้สมาชิก ผลิตวันละ 30 ตัน
ไม่ใช่เรื่องผิดที่เกษตรกรชาวสวนยางจะผลิต
“ยางก้อนถ้วย” ซึ่งเป็นประเภทยาง “คุณภาพต่ำ” เพราะมีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด
เมื่อเทียบกับราคายางปัจจุบัน
ไม่ใช่เรื่องผิด
ที่พ่อค้ารับซื้อยางก้อนถ้วย และโรงงานยางแท่ง
จะซื้อยางก้อนถ้วยด้วยวิธีกดราคาให้ต่ำที่สุด ในเมื่อยางก้อนถ้วย
อุดมไปด้วยความชื้นสูง แต่ DRC
ต่ำ และยังมีสิ่งปลอมปนอื่นๆ
เพียงแต่ขึ้นอยู่กับเกษตรกรชาวสวนยางจะยอมรับกับผลลัพธ์ของการผลิตยางก้อนถ้วยได้หรือไม่...???
ถ้ารับได้ก็ทำยางก้อนถ้วยที่มีต้นทุนต่ำ
พอๆ กับราคารับซื้อต่อไป แต่ถ้ารับไม่ได้ก็ต้องหาแนวทางแก้ปัญหา
ดังตัวอย่างของชาวสวนยางใน จ.พังงา กว่า
360 คน ในนาม สหกรณ์กองทุนสวนยางในโตน จำกัด มองเห็นจุดอ่อนและความไม่เป็นธรรมของการซื้อขายยางก้อนถ้วยในพื้นที่
เนื่องจากถูกกดราคาจากพ่อค้า ในขณะเดียวกันพ่อค้าก็ถูกกระทำเช่นเดียวกันจากโรงงาน
“กรรม” ทั้งหมดจึงตกอยู่กับเกษตรกรชาวสวนยาง
“กรรม” ทั้งหมดจึงตกอยู่กับเกษตรกรชาวสวนยาง
สหกรณ์ฯ ในโตน
จึงต้องการช่วยเหลือสมาชิก ซึ่งหันไปผลิตยางก้อนถ้วยมากถึง 60% ด้วยวิธีลงทุนธุรกิจแปรรูปยางก้อนถ้วยเป็น
“ยางเครป”
ทำไมต้องผลิตยางเครป...???
นายวิรัติ
จรูงการ ผู้จัดการสหกรณ์
ชี้แจงแถลงไขให้ฟังว่า ปกติยางก้อนถ้วยจะมีน้ำหรือความชื้นอยู่ในก้อนยางสูง
เมื่อนำไปขายมักจะถูกตัดราคาจากพ่อค้ารับซื้อ อย่างน้อยๆ ก็ 50%
หมายความว่ายางก้อนถ้วยหนัก 100 กก. จะถูกตัดความชื้น 50 กก. เหลือน้ำหนักยาง 50% ทั้งที่ความจริงความชื้นในก้อนยางอาจจะมีอยู่น้อยกว่า 50% นี่คือความเสียบเปรียบที่สมาชิกสหกรณ์เจอ และก็เป็นอย่างนี้ทั่วประเทศ
สหกรณ์จึงจำเป็นต้องสร้างโรงผลิตยางเครปขึ้นมา
เพื่อแปรรูปยางก้อนถ้วยของสมาชิกเป็นยางเครป ซึ่งก็คือ
นำยางก้อนถ้วยมารีดเอาน้ำออกจากก้อนยาง พร้อมกับทำความสะอาดเบื้องต้น
เมื่อรีดออกมาเป็นแผ่นจึงมีความชื้นเหลืออยู่ไม่เกิน 30% เนื้อยางไม่ต่ำกว่า 70% และที่สำคัญโอกาสที่จะถูกกดราคาซื้อจากพ่อค้าจะลดน้อยลง
นายวิรัติ จรูงการ ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางในโตน จำกัด
น้ำยางสดจากสมาชิกจาก 7 ตัน/วัน เหลือเพียง 3 ตัน กระทบกับแรงงานและธุรกิจโดยรวมของสหกรณ์
ผู้จัดการสหกรณ์ ปูพื้นความเป็นมาของสหกรณ์ฯ ในโตนให้ฟังว่า เริ่มต้นก่อตั้งเมื่อปี 2538 ในยุคที่รัฐบาลมีนโนบายส่งเสริมการแปรรูปน้ำยางสดเป็นยางแผ่นรมควันในภาวะราคายางตกต่ำ ก่อนจะดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นสหกรณ์กองทุนสวนยางเพียงไม่กี่แห่งของประเทศ ที่ดำเนินธุรกิจนี้มาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ประสบปัญหาเรื่องการบริหารธุรกิจ จึงเป็นหนึ่งในสหกรณ์กองทุนสวนยางที่มีความเข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่ง สามารถผลิตยางแผ่นรมควันได้ปีละกว่า 100 ตัน
เพียงแต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
เกิดวิกฤติราคายางตกต่ำอย่างหนัก สมาชิกจำนวนมากหันมาทำยางก้อนถ้วย
แทนการเก็บน้ำยางมาขายสหกรณ์ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าใช้ต้นทุนต่ำ และขายได้เงินไว
สอดคล้องกับวิกฤติราคายาง
ปริมาณน้ำยางของสมาชิกที่ป้อนสหกรณ์จึงลดน้อยลงเหลือเพียง
2-3 ตันเท่านั้น จากเดิม 7 ตัน/วัน นายวิรัติยอมรับว่าน้อยเกินไป
ขณะเดียวกันราคายางก็ขึ้นๆ ลงๆ แต่ต้นทุนการแปรรูปน้ำยางเป็นยางแผ่นรมควันกลับเพิ่มสูงขึ้น
แต่สหกรณ์ก็พยายามบริหารต้นทุนจนพอประคับประคองธุรกิจนี้มาได้
- Advertisement -
ยางแผ่นรมควัน แม้จะเพิ่มมูลค่าได้มาก แต่ต้นทุนผลิตสูง และราคาขึ้นลงทุกวัน
แต่ปัญหาของสมาชิกยังไม่ถูกแก้ไข
เพราะยางก้อนถ้วยของสมาชิกต้องนำไปขายให้พ่อค้ายางในพื้นที่ ขณะที่สหกรณ์เองก็ไม่มีเงินทุนและประสบการณ์ที่จะรับซื้อยางประเภทนี้ได้
เพราะต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนหลักแสนต่อวัน
ทางสหกรณ์จึงทำเรื่องของบประมาณจากจังหวัดพังงาจำนวน
1.2 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องจักรผลิตยางเครป จำนวน 1 ชุด ประกอบด้วย
เครื่องสับยาง 1 ตัว เครื่องรีดยางเครป 2 ตัวพร้อมระบบสายพาน
ประสบปัญหาเรื่องจักรรีดยางเครป
ประสิทธิภาพต่ำ ผลิตยางได้น้อย ไม่คุ้มค่า
“ของฟรี
แล้วดี ไม่มีในโลก”
น่าจะเห็นเค้ารางความเป็นจริง เมื่อเครื่องจักรผลิตยางเครปที่ผ่านการประมูลมาจำนวน
1.2 ล้านบาท ประสบปัญหาการผลิตยางเครปไม่ได้คุณภาพ
“หลังจากเริ่มต้นผลิตยางเครปแล้วนำไปขายโรงงานใน
จ.สุราษฎร์ฯ ยางเราขายได้ราคาต่ำ เพราะเขาบอกว่ายางเครปรีดไปแหลกละเอียด
แผ่นหนาเกินไป เราก็กลับมาหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร
ถ้าจะเป็นเพราะคุณภาพยางนิ่มหรือแข็ง เราปรับขอนลูกรีดให้ชิดแล้ว
ก็ยังไม่แหลกละเอียด ยังเป็นก้อนเหมือนเดิม เครปได้วันละ 4-5 ตันเท่านั้น
คนงานก็ไม่อยากทำ เพราะทำได้น้อย ค่าแรงก็ได้น้อยไม่คุ้มค่า
ก่อนจะพบว่าปัญหาส่วนหนึ่งอยู่ที่เครื่องจักรรีดยางเครป” นายวิรัติ สรุปสาเหตุปัญหา
ปีงบประมาณต่อมาสหกรณ์ 2 แห่งใน
จ.พังงา ได้งบจัดซื้อเครื่องรีดยางเครปจากโครงการเดียวกัน
แต่เป็นคนละบริษัทกับเครื่องจักรของสหกรณ์ฯ ในโตน นายวิรัติจึงเดินทางไปดู จึงเห็นประสิทธิภาพเครื่องจักรแตกต่างกัน
เช่นเครื่องใหญ่กว่า กำลังมอเตอร์สูงกว่า รีดยางออกมาได้ละเอียด สะอาด
และรวดเร็วกว่าอย่างเห็นได้ชัด
เครื่องสับยางและบ่อล้าง ช่วยให้รีดยางเครปได้เร็วขึ้น อนาคตจะปรับเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติ เพื่อลดจำนวนแรงงานลง
“กลับมาเราก็รีบเรียกประชุมคณะกรรมการว่าเครื่องจักรเรามีปัญหา ขายยางแล้วไม่มีคุณภาพ โดนตัดราคา จึงตัดสินใจใช้เงินของสหกรณ์สั่งซื้อเครื่องจักรรีดยางเครปจากบริษัทใหม่ทันที 1 ตัว ทำให้มีเครื่องรีดยางเครป 3 เครื่อง เดินระบบสายพานลำเลียง แต่ก็ประสบปัญหาอยู่ดี เพราะแม้ว่าเครื่องใหม่จะรีดได้ดี แต่เครื่องเก่า ก็ยังรีดไม่ละเอียด เหมือนยางมันวิ่งผ่านเฉยๆ ยางก็ไม่ละเอียดเหมือนเดิม”
“ถ้าเป็นอย่างนี้มันจะเสียเวลาและเสียโอกาส
จึงตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องใหม่อีก 2 เครื่องทันที เห็นความแตกต่างของคุณภาพและความรวดเร็วเลย
เครื่องตัวใหม่รีดได้แหลกละเอียด และสะอาด ถ้าเป็นยางนิ่ม รีดได้ 5 ตัน/ชั่วโมง
แต่ถ้ายางแข็งรีดได้ 2.5-3 ตัน/ชั่วโมง หรือวันละอย่างน้อย 30 ตัน
ขึ้นอยู่กับชั่วโมงทำงาน” ผู้จัดการเล่าถึงทางออกของปัญหาในท้ายที่สุด
เครื่องจักรรีดยางเครป (FMG) ระบบอัตโนมัติชุดใหม่ที่สหกรณ์ฯ ในโตน ตัดสินใจซื้อใหม่แทนชุดเดิม ซึ่งแข็งแรง มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องจักรชุดเดิม
เครื่องจักร
สำคัญอย่างไรต่อธุรกิจยางเครป...???
ในกระบวนการผลิตยางเครป
นอกจากลักษณะยางที่ต้องเหมาะสมกับการนำมารีดยางเครปแล้ว ประสิทธิภาพเครื่องจักรคือ “แขน ขา” ที่สำคัญ
อันดับแรกโครงสร้างเครื่องจักรต้องมั่นคง แข็งแรง กำลังมอเตอร์สูง
เนื่องจากเครื่องจักรต้องทำงานหนัก มอเตอร์จึงต้องมีกำลังสูง ขณะที่ขอนลูกรีด
ต้องสามารถขบขยี้เนื้อยางได้แหลกละเอียด
เพื่อรีดน้ำและสิ่งสกปกรกออกจากเนื้อยางได้อย่างละเอียด
ซึ่งจะมีผลต่อเปอร์เซ็นต์ยาง และคุณภาพยาง
ทั้งนี้เครื่องจักรของสหกรณ์ฯ ในโตน
ชุดใหม่เป็นของ บริษัท เอฟ เอ็ม จี อินดัสทรี จำกัด ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ 50
แรงม้า ใช้ไฟฟ้า 380 โวลท์ ขนาดลูกรีด 15 นิ้ว ยาว 70 ซ.ม. กำลังการผลิต 1.5 ตัน
เมื่อเดินเครื่องพร้อมกัน 3 ตัว พร้อมระบบสายพานลำเลียง
สามารถผลิตยางได้รวดเร็วขึ้น 3-5
ตัน/ช.ม.หรือ 30 ตัน/วัน ขึ้นอยู่กับชนิดยางและชั่วโมงทำงาน
ยางก้อนถ้วยถูกสับและล้างเบื้องต้น ก่อนนำเข้าเครื่องรีดเครประบบสายพาน 3 เครื่อง ทำให้ทำงานได้เร็วและลดจำนวนแรงงาน
“อนาคตเราจะเพิ่มเครื่องอีก 1 เครื่อง เพราะการรีดยางเครปให้ได้คุณภาพต้องรีด 4 รอบ แต่เรามีแค่ 3 เครื่อง เวลารีดเราจึงต้องรีดเครื่องแรก 2 รอบ แต่ถ้าเพิ่มอีก 1 เครื่อง เป็น 4 เครื่อง จะรีดรอบเดียวผ่าน 4 เครื่อง จะทำให้รีดได้เร็วขึ้น จากนั้นจะปรับปรุงระบบสับล้างเป็นแบบอัตโนมัติมีเครื่องตักยางจากบ่อขึ้นสู่เครื่องรีดแบบอัตโนมัติเช่นเดียวกัน เหมือนอย่างที่โรงงานยางแท่งทำ จะทำได้เร็วและใช้แรงงานน้อยลงเหลือ 3 คน จากปัจจุบันใช้ 7 คน”
ธุรกิจยางเครป
สหกรณ์ฯ ในโตน คานราคายางก้อนถ้วยให้สูงขึ้น
ยางก้อนถ้วยภายหลังจากผ่านเครื่องสับและล้าง
“หลังจากสหกรณ์เริ่มต้นผลิตยางเครปได้ประมาณ
2 เดือน โดยเริ่มต้นรับจ้างเครปยางให้กับพ่อค้ารายใหญ่ในพื้นที่
เนื่องจากเราเป็นมือใหม่ ยังไม่มีประสบการณ์เรื่องการคัดเลือกวัตถุดิบ
ว่ายางมีความชื้นเท่าไหร่ รีดไปแล้วจะเหลือเนื้อยางเท่าไหร่
นำไปขายโรงงานแล้วจะได้ราคาเท่าไหร่
ถ้าเราไม่มีประสบการณ์ทำไปแล้วเกิดขาดทุนจะสร้างความเสียหายแก่สหกรณ์
สหกรณ์จึงรับจ้างพ่อค้าเครปยาง 1.10 บาท/กก.”
“แต่ผลดีที่เกิดขึ้น
เมื่อพ่อค้ารายใหญ่ในพื้นที่จ้างสหกรณ์รีดยางเครป เขาจะเพิ่มมูลค่ามากขึ้น ทำให้สามารถแข่งขันราคาได้
เช่นซื้อยางสูงกว่าลานรับซื้ออื่นๆ ลานอื่นถ้าจะแข่งขันก็ต้องเปิดราคาซื้อเท่ากันหรือมากกว่า
ทำให้ยางในพื้นที่ไม่ถูกกดราคา เขารับซื้อ กก.ละ 29-30 บาท แต่รถที่วิ่งซื้อตามสวน
26-27 บาทเท่านั้น นี่คือความแตกต่าง”
พังงาผลิตยางก้อนถ้วย
60% ของจำนวนยางทั้งจังหวัดผู้จัดการสหกรณ์เปิดเผยว่า อนาคตปริมาณยางก้อนถ้วยใน จ.พังงา จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณยางของจังหวัดปัจจุบัน เป็นยางก้อนถ้วย 60% ยางแผ่นดิบ 20% น้ำยางสด 15% ที่เหลือเป็นยางแผ่นรมควันของสหกรณ์ 4 แห่ง และพ่อค้า การที่สหกรณ์หันมาทำธุรกิจยางเครป จึงเป็นตัวถ่วงดุลราคายางก้อนถ้วยได้ดี เพราะถ้าเกษตรกรขายพ่อค้าก็จะถูกกดราคาจากความชื้น และความสะอาด
“อย่างไรก็ตาม
การทำยางเครป จะมีปัญหาเรื่องความไม่สม่ำเสมอของวัตถุดิบ บางคนขายยาง 3 มีด บางคน
4 มีด บางคนก็ 6 มีด เวลารีดจึงต้องคัดคุณภาพยางที่เหมาะสม
ถ้าเป็นยางอ่อนมีน้ำเยอะไม่เหมาะรีดเครป เพราะรีดไปเหลือเนื้อยางน้อย
ขายขาดทุนแน่นอน ยางที่เหมาะสมนำมารีดเครป ควรเป็นยางกรีด ไม่ต่ำกว่า 6 มีด”
“ส่วนข้อดีของยางเครป
นอกจากเพิ่มมูลค่าแล้ว ยังช่วยในภาพรวม อย่างโรงงานเองเขาก็ลดขั้นตอนการผลิตลง
จากที่ซื้อยางก้อนถ้วยเข้าไป ต้องใช้พื้นที่เก็บยางหมักยาง แล้วสับทำความสะอาด และรีดเครปอีกหลายรอบ
ถ้าซื้อยางเครปจากสหกรณ์ไป โรงงานก็จะลดขั้นตอนการผลิต ลดเครื่องจักรลง
ลดการใช้น้ำ และลดน้ำเสียจากโรงงาน
ยางเครปก็คือขั้นตอนหนึ่งของการทำยางแท่งของโรงงาน
สหกรณ์เองต้องปรับตัวตามวัตถุดิบของสมาชิก
เพราะนาทีนี้ถ้าทำยางรมควันอย่างเดียวธุรกิจดำเนินต่อไปไม่ได้” ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางในโตน
ยอมรับ
แม้ว่าจะห้ามเกษตรกรทำยางก้อนถ้วยไม่ได้
แต่สหกรณ์กองทุนสวนยางในโตน
ก็สามารถช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับสมาชิกได้ด้วยการขยายธุรกิจยางเครป
แม้ว่าปัจจุบันจะยังรับจ้างพ่อค้ารายใหญ่ในพื้นที่ผลิตยางเครป
แต่ผู้จัดการสหกรณ์ยืนยันว่า จะเปิดรับซื้อยางจากสมาชิกในเร็วๆ นี้
ขอขอบคุณ
วิรัตน์ จรุงตาล
สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านในโตน
จำกัด
15 หมู่ 3
ต.ป่ากอ อ.เมือง จ.พังงา 82000 โทรศัพท์ 08-1719-5142
#ยางพารา #สวนยาง #ยางเครป
- Advertisement -
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น