ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

ซื้อปาล์มสุก และคืนเมล็ดในให้ชาวสวนปาล์ม แนวทางสร้างความเป็นธรรม ของ เอนก ลิ่มศรีวิไล

ชาวสวนปาล์มกำลังจะ ตกเหว เพราะการรับซื้อทะลายปาล์มน้ำมันไม่เป็นธรรม...!!! ก็เพราะโรงงานกดราคาปาล์มจากเกษตรกร โดยยึดฐานเปอร์เซ็นต์น้ำมันแค่ 17-18ก็เพราะโรงงานปั่นต้นทุนหีบน้ำมันสูงถึง 4.40 บาท/น้ำมัน CPO 1 กก.

แม้กระทั่งต้นทุนขนส่งน้ำมันปาล์มดิบจากโรงหีบไปโรงกลั่น ซึ่งเป็นต้นทุนของโรงงานยังถูกนำมาใช้เป็นตัวกำหนดราคาปาล์มแก่เกษตรกร

ราคาปาล์มของประเทศนี้จึงตกต่ำ

ขณะที่โรงงาน “ฟันกำไร” จาก น้ำมันเมล็ดใน จากกาก จากกะลา จากทะลายเปล่า และแม้กระทั่งน้ำเสียจากกระบวนการผลิต ล้วนเป็นเงินเป็นทองทั้งสิ้น

ไม่ต้องแปลกใจเลยที่ประเทศไทยมีโรงหีบ 140 กว่าโรง แต่มีผลผลิตป้อนโรงงานแค่ 40% แต่โรงงานยังอยู่ได้ และมีข่าวว่ากำลังจะเปิดใหม่อีกหลายโรง

ทำไมผมถึงกล้าบอกชาวสวนปาล์ม กำลังจะตกเหว” ซึ่งแน่นอนหลายคนอาจจะเถียงว่าไม่ใช่ จริงๆ แล้วตกอยู่ก้นเหวแล้วต่างหาก....!!! 
ถ้าอย่างนั้น จะ โยนเชือก เพื่อฉุดเกษตรกรชาวสวนปาล์มขึ้นมาจากเหวได้อย่างไร...???

คำถามก็คือ ทำอย่างไร ให้เกิดการซื้อปาล์ม ตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน...??? ทำอย่างไรจะทวงคืนผลประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของเมล็ดปาล์มอย่างเป็นธรรม...???  และชาวสวนปาล์มจะต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อให้ได้ความเป็นธรรม...???

ผมหอบคำถามเหล่านี้ไปพูดคุยกับ ดร.เอนก ลิ่มศรีวิไล สเปเชียลลิสต์ (Specialist) ด้านอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของประเทศไทย เขาไม่ได้เชี่ยวชาญเพียงแค่งานพัฒนาสายพันธุ์ปาล์มเท่านั้น แต่ยังลึกซึ้งในอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ และยังเป็นหนึ่งในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในบอร์ดปาล์มน้ำมันแห่งชาติอีกด้วย
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ทิศทางปาล์มน้ำมัน เป็นมากกว่าอาหารและพลังงาน
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ตอนนี้ทิศทางปาล์มดี เติบโตไปเยอะในหลายอุตสาหกรรม ทั้งอาหาร พลังงานรถยนต์ และอนาคตจะเป็นพลังงานผลิตไฟฟ้า  ประชาธิปปัตย์เริ่มยอมรับ คุณอภิสิทธิ์บอกว่าต้องเอาน้ำมันปาล์มมาใช้ทำพลังงานไฟฟ้าตอนนั้นเขาพูดแล้วออกสื่อด้วย เพราะจะเอาไปเป็นนโยบายพรรคใช้น้ำมันปาล์มทำไฟฟ้า และต้องการจี้ประเด็นถ่านหินที่ถูกต่อต้านในกระบี่เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว

ทีนี้ในกระบี่มีโรงไฟฟ้าที่เป็นถ่านหิน แล้วมาเปลี่ยนเป็นน้ำมันเตาขนาด 380 เมกะวัตต์ ในช่วงที่ปาล์มล้นตลาด ราคาถูก ก็เอาไปใช้ผลิตไฟฟ้าแทนน้ำมันเตา ค่าความร้อนมันต่างกันไม่มาก แต่ในช่วงปกติน้ำมันปาล์มจะสูงกว่าน้ำมันเตา ช่วงนี้ไปเหมาะ แต่น้ำมันปาล์มจะเหมาะกับช่วงราคาปาล์มต่ำกว่า หรือในช่วงที่น้ำมันเตาราคาสูงขึ้นมากกว่า 
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
พื้นที่ปลูกปาล์มน้อยกว่า กำลังผลิตของโรงงาน แต่ราคาทะลายปาล์มกลับตกต่ำ
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ถ้าดูเรื่องพื้นที่ปลูกที่มี 5.2 ล้านไร่ มีผลผลิตเฉลี่ย  2.7 ตัน/ไร่/ปี หรือประมาณ 14 ล้านตัน/ปี แต่ศักยภาพของโรงงานตอนนี้มี 140 กว่าโรงงาน ทั้งใหญ่ทั้งเล็ก พื้นที่ปลูกผลิตได้ไม่ถึงครึ่งของโรงงาน ถามว่าทำไมเขาอยู่กันได้...???

ทุกอย่างตกอยู่ที่เกษตรกร ราคาน้ำมันดิบ 30 บาท/กก. ขนส่ง ค่าบรรทุก ค่าน้ำมัน จากโรงหีบไปโรงกลั่นเขาก็มาหักเป็นต้นทุนแล้วคิดเป็นราคาซื้อปาล์มจากชาวสวน ที่จริงมันไม่เกี่ยวกับชาวสวนเลย และหักค่าการผลิต แต่ซื้อปาล์มแค่ 17% แต่เม็ดในเก็บไว้...!!! 

ปาล์มคุณสมบัติที่สุกทุกทลายจนมีลูกร่วงทุกสายพันธ์ุในโลกใบนี้ ในมาเลย์หีบได้น้ำมันไม่ต่ำกว่า 20% มันเป็นศักยภาพพื้นฐานที่เขากำหนด แต่ตรวจในห้องแล็บไม่ต่ำกว่า 24% นี่คือเสปกของพันธุ์ลูกผสมที่ต่ำที่สุด 
มาเลย์เขาซื้อปาล์มสุกที่มีลูกร่วงทุกทะลายที่ 20% ลูกต้องแดงจัด อาจจะมีเผลอหลุดบ้าง แต่ถ้าซื้อ 18% เตรียมปิดโรงงานได้เลยเพราะว่าขาดทุน เพราะเวลาซื้อเขากำหนดว่า เมล็ดใน ต้องคืนให้ชาวสวน 100% ดังนั้นถ้าซื้อปาล์ม 18% ขาดทุนแน่ ต้องซื้อ 19% ขึ้นไปถึงจะอยู่ได้ แต่ว่าไม่มีกำไรอะไรมากมาย 

แต่ถ้า 20% จะมีน้ำมันส่วนเกินจากชาวสวน คือน้ำมันที่หีบได้ 21% ขึ้นไป น้ำมันที่เกินจะได้กำไรจากส่วนนี้ โรงงานพวกนี้เลยแข่งกันซื้อปาล์มสุก รัฐบาลกำหนดกำไรไว้ว่าไม่เกิน 300 บาท/ตัน หรือได้กำไรไม่เกิน 55 ริงกิต ส่วนน้ำมันที่ขายได้กำไรจากเม็ดในต้องคืนชาวสวน แต่เมืองไทยไม่ใช่ โรงงานเก็บหมด

โรงงานที่มีสวนปาล์มในมาเลย์ จะควบคุมการผลิตให้ได้ 23% กว่าๆ แต่ยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันของมาเลย์ตั้งเป้าไว้แล้วในปี 2020 ต้องหีบต่ำสุดให้ได้ จากเดิม 20% เป็น 23% แสดงว่าเขามั่นใจในศักยภาพของเกษตรกร มั่นใจในพันธุ์ปาล์ม และโรงหีบ

ตอนนี้ในรัฐซาบาห์ เขาหีบปาล์มที่คัดเลือกพันธุ์จากเนื้อเยื่อได้น้ำมันสูงถึง 26.5% เขาก็เลยประกาศ 23% ในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่เมืองไทยเราเพิ่งจะปรับจาก 17% เป็น 18%  จึงมองเห็นศักยภาพที่แตกต่างกันชัดเจน
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ตัดปาล์มดิบจะแก้อย่างไรในมุมมองของ ดร.เอนก
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ต้องแก้ที่โรงงาน...!!!

เพราะตอนนี้โรงงานมันมาก แย่งกันซื้อ โรงงานทุกโรงงานต้องมานั่งคุยกันว่าต่อไปนี้จะกอดคอกันตายหมู่แล้วนะ ถ้ายังซื้อที่ 17% ขาดทุนแน่ ถ้ารัฐบังคับให้เอากำไรจากเม็ดในคืนให้เกษตรกร จะคืนแบบ 100% เหมือนมาเลย์ แต่ต้องซื้อปาล์มที่ 20% หรือซื้อ 18% ก็ได้ แต่ต้องคืนเมล็ดในเกษตรกรครึ่งหนึ่ง ระบบนี้ก็จะบังคับโดยอัตโนมัติให้โรงงานซื้อสุก เพราะถ้าซื้อต่ำกว่านี้ก็ขาดทุน

อาจจะทำแบบเห็นใจกัน 10 ปีแรก แบ่งกำไรเมล็ดใน 50 : 50 ก่อน หลังจากนั้นค่อยคืนเกษตรกรทั้งหมด แต่กำหนดอยู่ว่าซื้อที่ 20% 

แต่ก็อย่างลืมว่าต้องเอาค่าบรรทุกออกจากราคารับซื้อปาล์มจากเกษตรกรก่อนนะ ทุกวันนี้เกษตรกรทุกปาล์มสดไปขายโรงงานยังต้องรับผิดชอบค่าขนส่งเองเลย แต่โรงงานบรรทุกน้ำมันดิบ ไปโรงดีไฟน์ กลับมาเก็บกับเกษตรกร ไหนจะค่าการผลิตอีก แต่เม็ดในและส่วนอื่นๆ เก็บกำไรไว้หมด

ตอนนี้โรงงานต่างแย่งซื้อปาล์มกัน ปาล์มสุกปาล์มดิบก็ได้ซื้อหมด เพราะฉะนั้นแก้เรื่องนี้ต้องแก้ที่โรงงานให้ซื้อปาล์มสุก 20% ก็จบ เดี๋ยวเกษตรกรก็ตัดปาล์มสุกเอง
โรงงานโกรธผมที่บอกว่าให้คืนเมล็ดในให้ชาวสวน เพราะตรงนี้มันเป็นจุดตายของเขาเลยนะ เม็ดในตอนนี้ผมว่ามีอยู่ 5% ถ้าปาล์ม 100 กก จะมีน้ำมันเม็ดใน 5 กกเม็ดใน กก.ละ 25 บาท 5 กก.ก็เท่ากับ 125 บาท โรงงานซื้อทะลายปาล์มจากเกษตรกร กก.ละ 6 บาท ซื้อ 100 กก. จ่ายเกษตรกร 600 เขาได้เงินคืนแล้ว 125 บาท 

เพราะฉะนั้นตรงนี้แหละที่เราต้องร่วมกันเรียกร้อง ให้เกิด พ.ร.บ. ที่กำหนดให้โรงงานซื้อปาล์มสุก 20% และแบ่งกำไรจากเมล็ดในให้ชาวสวน เพื่อเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทย

ผมเคยคุยเรื่องคืนเมล็ดในกับเพื่อนที่เป็นเจ้าของโรงหีบ เขาบอกว่า ขายทะลายปาล์ม แล้วจะขอคืนเมล็ดใน มันเหมือนกับ ขายหมูแล้วจะมาทวงกระดูกไม่ได้ 

ผมบอกว่าเวลาขายหมูสมมุติตัวละ 3,000 บาท มันจะมีเนื้อแดง มีเนื้อสัน มีเครื่องใน กี่กิโล แต่น้ำมันปาล์มโรงงานซื้อ 17% นี่มันได้รวมน้ำมันเมล็ดในด้วยไหม มันไม่มี แล้วทำไมไม่จ่ายให้ชาวสวน เขาโกรธผมจะตาย 
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ปฏิวัติ ตัดปาล์มสุก ซื้อขายตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ผมร่วมผลักดันให้เกิดโรงงานขนาดเล็กในกระบี่ ซื้อปาล์มสุก (บริษัท เพื่อกระบี่ ออยล์ปาล์ม จำกัด) เป็นเหมือนตุ๊กตาเพื่อพิสูจน์ทฤษีนี้ เมื่อโรงงานใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือ ผมก็ร่วมมือกับโรงเล็กจับมือกับชาวสวนที่เป็นสวนใหญ่ที่คุยได้ บังคับลูกน้องตัดปาล์มสุกได้ ถ้าเป็นชาวสวนรายเล็กนี่อธิบายทีละรายเขาไม่เข้าใจ ฉะนั้นต้องเริ่มที่ชาวสวนรายใหญ่ 

เริ่มจากนำปาล์มมาเทส อย่างตัดปาล์มมา 10 ตันก็เทสได้ว่ามีน้ำมันกี่เปอร์เซ็นต์  วันนี้เขาหีบได้ที่ 22-23% จากการตัดปาล์มสุกทะลายที่มีลูกร่วง และซื้อปาล์มราคาสูงตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ถ้าเปอร์เซ็นต์น้ำมันเพิ่มขึ้น 1% ชาวสวนจะได้เงินเพิ่ม 30 สตางค์/กก. 1 ตัน เท่ากับ 300 บาท ถ้าปกติตัดปาล์ม 17%  เปลี่ยนมาตัด 20% ได้เงินเพิ่ม 90 สตางค์แล้ว อย่างนี้มันจะไม่ดีกว่าหรือ ชาวสวนก็ได้ราคาเป็นกอบเป็นกำ

วิธีตัดปาล์มแบบเดิมคนงานตัดสุกบ้างไม่สุกบ้างได้ค่าตัด 500 บาท/ตัน แต่วันนี้คัดเลือกตัดปาล์มสุกอย่างเดียวที่มีลูกร่วงใต้โคนต้น แต่คนตัดจะคิดว่าถ้าตัดเฉพาะทะลายสุกจะได้เงินน้อยลง 

จริงๆ แล้วได้เพิ่มขึ้น เดิมอาจจะตัดได้ 10 ตัน ได้เงิน 5,000 บาท วันแรกที่เริ่มเปลี่ยนมาตัดปาล์มสุกอาจจะตัดได้แค่ 6 ตัน ถ้าเป็นแบบเดิมจะได้ค่าตัดแค่ 3,000 รายได้หายไป 2,000 คนตัดก็น้อยใจแล้วได้ไม่เท่าเดิม คราวหลังไม่มาตัดให้แล้ว 

แต่ 6 ตันที่ตัดเจ้าของสวนขายในราคา 20% ได้เพิ่มมาตันละ 900 บาท ปาล์มสุก 6 ตัน ได้เงินเพิ่มมา 5,400 บาท เจ้าของสวนก็เอาไปจ่ายคืนให้คนตัด 2,000 ให้เขาได้เท่าเดิม หรือแล้วแต่จะตกลงกัน  เจ้าของสวน ก็ยังเหลือเงินส่วนที่เกินจากเดิมอยู่ รอบหลังมาปาล์มก็ตัดเข้ารอบได้ 8 ตัน พอรอบที่ 3 ก็จะกลับมาได้ 10 ตันเหมือนเดิม แต่ได้เงิน 7,000 เกินมา 2,000 บาท แบบเอาไหม 
การตัดปาล์มสุกนี่น้ำหนักจะเพิ่มมากขึ้น 10% เพราะปาล์ม 17% แป้งยังคืนตัวไม่เต็มที่ เพราะทะลายปาล์มนับ  19 สัปดาห์จากผสมเกสรมีน้ำมันเพียงแค่ 10% เอง  20  สัปดาห์มีน้ำมัน 17% แต่ถ้า 23 สัปดาห์ลูกแดงนี่คือสุกตามเสปก น้ำมันกระโดดจาก 17% เป็น 23-24% เลย มันต่างกันเยอะ อดทนอีกแค่ 2-3 สัปดาห์ แต่เงินต่างกันเท่าไหร่

มันเหมือนกับการซื้อขายยางแผ่นทางใต้ เมื่อก่อนชาวสวนทำกันไปคนละอย่าง หนาบางไม่เหมือนกันเลย แล้วแห้งบ้างไม่แห้งบ้าง เขาก็ตั้งมาตรฐานมาว่ายางแผ่นต้องน้ำหนักไม่เกิน 1.1-1.2 กก. และต้องแห้งสนิท ถ้าต่ำกว่านี้ก็ซื้อราคาเศษยาง พอเป็นอย่างนี้มันก็จะบีบยี่ปั๊วให้ซื้อยางตามมาตรฐานนี้ ถ้าไม่ทำก็ขายไม่ได้ เกษตรกรก็ต้องทำตามเพราะถ้าไม่ทำก็ขายได้ราคาถูก

เหมือนกับปาล์มทำอย่างไรให้ได้ปาล์มสุก ต้องเริ่มที่โรงงานไม่ซื้อปาล์มดิบเอาแต่ปาล์มสุก แล้วคิดตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน แบ่งกำไรจากเมล็ดในให้เกษตรกร ถ้าเกิดความเป็นธรรม เดี๋ยวเกษตรกรเขาตัดปาล์มสุกเอง 
ถ้าโรงงานไม่ซื้อปาล์มดิบ และซื้อปาล์มสุกตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ถ้าโรงงานแบ่งปันกำไรจากน้ำมันเมล็ดในคืนเกษตรกร คือบทสรุป ที่ได้จาก ดร.เอนก ในการสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรชาวสวนปาล์ม

แต่ในอีกมุมหนึ่งที่หลบซ่อนอยู่ในคำตอบ ถ้าทำได้ ก็คือ ภาพของการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของปาล์มน้ำมันของไทยที่กำลังตกต่ำ ให้สูงขึ้นเทียบเท่ากับคู่แข่ง

ขอขอบคุณ
ดร.เอนก ลิ่มศรีวิไล

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม