เมื่อราคายางพาราพุ่งมาอยู่ในพื้นที่
Comfort zone หรือระยะปลอดภัย ระดับที่เกษตรกรมีกำไรคุ้มค่ากับการลงทุน
กระแสปลูกยางจึงถูก “ปลุก” ขึ้นมาอีกครั้ง
แต่ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาในช่วงที่การผลิตกล้ายางกำลัง
“หลับ” และ “บาดเจ็บ” จากพิษราคายางตกต่ำในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
และน้ำท่วมภาคใต้เมื่อปีที่แล้ว
เมื่อความต้องการกล้ายางถูก ปลุก
แต่ปริมาณกล้ายางที่ผลิตได้ มีจำนวนน้อย จึงเกิดพลังบวกแบบสวนทางให้ราคากล้ายางพุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัว
“ยางตาเขียวจาก 6-8 บาท
ตอนนี้เพิ่มมาเป็น 20 บาท ยางชำถุงเพิ่มมาเป็น 40-45 บาท จากเมื่อก่อน 25-30 บาท”
นายวิชาญ อัยรักษ์ จากกลุ่มผลิตพันธุ์ยางพาราอันดามัน
ใน ต.โคกกลอย อ.เมือง จ.พังงา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกล้ายางใหญ่ที่สุดของประเทศ
สะท้อนสถานการณ์ราคากล้ายางในปัจจุบัน
🌿 นายวิชาญ อัยรักษ์ จากกลุ่มผลิตพันธุ์ยางพาราอันดามัน
เขาบอกว่า ในช่วง 2-3
ปีที่ผ่านมาราคายางตกต่ำอย่างหนัก
ทำให้ความต้องการปลูกยางช่วงที่ผ่านมาลดน้อยลงอย่างหนัก เกษตรกรบางส่วนโค่นยางแล้วหันไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ
เช่น ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ขณะเดียวกันรัฐบาลมีนโยบายลดพื้นที่ปลูกยางปีละ
400,000 ไร่ ความต้องการกล้ายางจึงลดลง
ผู้ผลิตกล้ายางในกลุ่มจึงผลิตกล้ายางน้อยลง
ขณะที่หลายรายโดยเฉพาะรายย่อยๆ เลิกผลิตไป ปริมาณจึงลดน้อยลงตามลำดับ
ประกอบกับช่วงปีที่แล้วพื้นที่ภาคใต้ฝนตกค่อนข้างเยอะ
และบางพื้นที่น้ำท่วม แปลงเพาะเมล็ดยางสำหรับทำต้นตอได้รับความเสียหายจากท่วม
หรือไม่ก็เน่าเสียหายไปจำนวนมาก
“จากเมื่อก่อนในกลุ่มผลิตกล้ายางปีละ
4-5 ล้านต้น ปีนี้ดูแล้วผลิตได้ไม่เกิน 1 ล้านต้นเท่านั้น” นายชำนาญให้ข้อมูล
สวนทางกับราคายางที่คค่อยๆ กระเตื้องขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว
จนทะลุ 80 บาท และยังคาดการณ์ว่าอาจทะยานไปถึง 100 บาท/กก.
ความต้องการปลูกยางจึงมีมากขึ้น เกษตรกรที่กำลังจะโค่นยาง
ก็ตัดสินใจหันมาปลูกยางต่อ บางรายโค่นปาล์มก็ตัดสินใจมาปลูกยาง เป็นต้น
อีกด้านหนึ่งเกษตรกรที่สวนยางได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมได้รับเงินชดเชยจาก
การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ส่วนใหญ่ยังต้องการปลูกยาง
เท่ากับความต้องการกล้ายางเพิ่ม
แต่การผลิตกลับลดลง ราคายางจึงพุ่งอย่างที่เป็น จนของที่มีไม่พอ เกษตรกรต้องจองก่อนล่วงหน้า
“ต้นยางไม่เหมือนกับพืชอื่นๆ มันจะออกเมล็ดเพียงแค่ปีละครั้งเท่านั้น และในพื้นที่ภาคใต้ฝนเยอะต้นยางสมบูรณ์มันก็ไม่ค่อยจะออกดอกออกเมล็ด ต้องเอาเมล็ดยางจากทางภาคอีสาน และตะวันออก ซึ่งก็จะออกปีละครั้งเหมือนกัน”
ส่วนพันธุ์ยางพาราที่ทางกลุ่มผลิตยังคงเป็นพันธุ์ยอดนิยมมาอย่างยาวนาน
อย่างพันธุ์ RRIM 600 และ RRIT
251 ส่วนพันธุ์ใหม่อย่าง RRIT 408 มีบ้างเล็กน้อย
ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรที่นิยมปลูก 2 พันธุ์นี้เป็นหลัก
ส่วนการวางแผนการผลิตในปีนี้เพื่อรองรับกับความต้องการในปีหน้า
กลุ่มผลิตพันธุ์ยางพาราอันดามัน ยังไม่วางแผนที่จะผลิตกล้ายางเต็มที่
เพราะต้องดูทิศทางจากราคายางปีนี้ และนโยบายด้านการส่งเสริมปลูกยางจากทาง กยท.
ว่าจะไปในทิศทางใด
🌿 นายขำ นุชิตศิริภัทรา เจ้าของ พันธุ์ยางนายขำ ตรัง
ด้าน นายขำ นุชิตศิริภัทรา เจ้าของ
พันธุ์ยางนายขำ ตรัง ผู้ผลิตกล้ายางรายใหญ่ใน อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง
ให้ข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า ปีนี้กล้ายางมีความต้องการสูงมา โดยเฉพาะพันธุ์ยาง KT.311 ซึ่งเป็นพันธุ์เดียวที่นายขำผลิต
เพราะโตไว และให้ผลผลิตสูง นายขำบอกว่าให้ผลผลิตสูงกว่า RRIM 600 ที่เกษตรกรนิยมปลูกกันทั่วประเทศอย่างน้อย 2 เท่า
“ปีที่แล้วผมเพาะเมล็ดยางไว้หลายแปลงรวมแล้วเกือบ
1 ล้านเมล็ด แต่ไปเจอช่วงแล้งเมล็ดไม่งอกได้รับความเสียหายเยอะ ปีนี้กล้ายาง
KT.311 เลยผลิตได้ไม่มากนัก
แต่มีเกษตรกรต้องการสูงมาก แต่มีของขายเพียงแค่หลักหมื่นต้นเท่านั้น
ปีนี้จึงมีกล้ายางไม่เพียงพอกับความต้องการ”
ขณะเดียวกันนายขำยังบอกว่า จากการสำรวจแปลงกล้ายางในพื้นที่
จ.ตรัง โดยเฉพาะใน อ.ย่านตาขาว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของ จ.ตรัง
พบว่าแต่ละแปลงมีกล้ายางกันไม่มากนัก และมีหลายแปลงที่เลิกผลิตไป
เนื่องจากราคายางหลายปีที่ผ่านมาตกต่ำ เกษตรกรโค่นยางแล้วหันไปปลูกพืชชนิดอื่น
🌿 กล้ายาง KT.311
แต่กลไกสำคัญก็คือ กยท.
ที่มีนโยบายลดพื้นที่ปลูกยางหลายแสนไร่ เพื่อลดปริมาณยาง ซึ่งนายขำไม่ค่อยเห็นด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ตรัง
ซึ่งเป็นต้นกำเนิดยางพาราต้นแรกของประเทศไทย
แต่เมื่อยางราคาดีขึ้นความต้องการปลูกในปีนี้จึงสูงมาก
และนายขำสังเกตว่า มีคนติดต่อสั่งกล้ายางระดับหลักหลายๆ แสนต้นจำนวนมาก เนื่องจากต้องการนำไปปลูกในประเทศพื้นบ้าน
เช่น ลาว และเมียนมา เป็นต้น
ขอขอบคุณ
นายวิชาญ
อัยรักษ์
กลุ่มผลิตพันธุ์ยางพาราอันดามัน
35/10 หมู่ 3 ต.โคกกลอย
อ.ตะกั่วทุ่งพังงา
📲 08 627 71345
นายขำ นุชิตศิริภัทรา
พันธุ์ยางนายขำ ตรัง
37/10 ถ.เจิมปัญญา
อ.เมือง จ.ตรัง 92000
📲 08-1979-9999, 0911 311 311
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น