“สารจับตัวยาง”
ยังเป็นประเด็นที่สร้างความเสียหายและเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้ผลิตยางก้อนถ้วยอยู่อย่างต่อเนื่อง
จากการที่ผู้ประกอบการจำหน่ายสารจับตัวยางที่มีส่วนประกอบของกรดซัลฟิวริกและเกลือแคลเซียมคลอไรด์ที่ส่งผลกระทบต่อยางก้อนถ้วยที่จะนำไปผลิตเป็นยางแท่งและยางล้อ
ตามคำแนะนำการผลิตยางก้อนถ้วยคุณภาพดี ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง
การยางแห่งประเทศไทย ได้แนะนำ
ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้กรดฟอร์มิกในการจับตัวยางก้อนถ้วยเนื่องจากเป็นสารอินทรีย์ที่สลายตัวง่าย
ไม่มีผลตกค้างในยางและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้ยางที่มีความยืดหยุ่นดี
สมบัติทางกายภาพดี
แต่ผู้ประกอบการบางรายจงใจผลิตสารจับตัวยางที่มีส่วนประกอบซัลเฟตและเกลือคลอไรด์เพื่อช่วยให้ยางจับตัวเร็ว
มีการโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง อวดสรรพคุณต่างๆ มากมาย ว่าเป็นสารชีวภาพ สารอินทรีย์
สารออแกนิคให้เข้าใจว่าปลอดภัย ได้น้ำหนักดี จับตัวเร็ว สู้ฝน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
เป็นต้น
ศูนย์บริการทดสอบรับรองภาคตะวันออก ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง
จึงได้ลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่างสารจับตัวยางทางภาคอีสานรวม 22 ตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีด้วยเครื่องมือ Ion
Chromatography พบว่ามีเพียง 1 ตัวอย่างเท่านั้นที่เป็นกรดฟอร์มิกแท้ความเข้มข้น
94% ตรงตามฉลากที่ระบุ
ส่วนอีก 8 ตัวอย่างหรือร้อยละ 36.4 เป็นกรดฟอร์มิกเช่นกันแต่ความเข้มข้นไม่เป็นไปตามที่ระบุ
ซึ่งตรวจพบเพียง 17.89 – 82.92% เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ฉลากระบุ
94% บ้าง 100% บ้าง
นอกจากนี้มี 7 ตัวอย่างหรือร้อยละ 31.8 ที่เป็นกรดซัลฟิวริกพบระดับความเข้มข้นระหว่าง
36.17 – 99.74% โดยที่บนฉลากจะตั้งชื่อทางการค้าเป็นชื่ออื่นทั้งหมด
และยังมีอีก 5 ตัวอย่างหรือร้อยละ 22.7 ที่พบทั้งกรดฟอร์มิกผสมแคลเซียมคลอไรด์ และกรดซัลฟิวริกผสมแคลเซียมคลอไรด์
และที่เหลืออีก 1 ตัวอย่างเป็นแคลเซียมคลอไรด์ล้วน ๆ
ที่มีความเข้มข้น 36.78%
นอกจากนี้จากการตรวจสอบปริมาณโลหะด้วยเครื่อง Atomic
Absorption Spectroscopy ทั้งกรดฟอร์มิกปลอมและกรดอื่นที่ไม่ได้ระบุชนิดของสารเคมียังพบโลหะธาตุของแคลเซียมตั้งแต่ระดับ
0.17 – 5,340 ppm แมกนีเซียมระหว่าง 0.11 – 49.28 ppm
ธาตุเหล็ก 0.02 – 0.53 ppm และทองแดงน้อยกว่า 0.01
ppm
จากการศึกษาของปรีดิ์เปรม, 2557 พบว่าหากน้ำยางมีปริมาณแคลเซียมเกินกว่า 500 ppm ขึ้นไปจะทำให้ยางขาดความยืดหยุ่น
ยางมีความหนืดต่ำ และมีปริมาณความชื้นสูง ซึ่งปริมาณโลหะธาตุที่อยู่ในน้ำยางจะส่งผลต่อรอยตำหนิที่เกิดขึ้นบนผลิตภัณฑ์ได้โดยเกิดรอยแตกทำให้แรงรับน้ำหนักบริเวณนั้นเสียไป
ที่สำคัญเกษตรกรไม่สามารถแยกแยะได้ว่าขวดไหนเป็นกรดฟอร์มิกจริง
ขวดไหนเป็นกรดฟอร์มิกปลอม สร้างความสับสนให้กับเกษตรกร เนื่องจากสารจับตัวยางที่ระบุว่ากรดฟอร์มิกนั้น
ก็ยังไม่ใช่กรดฟอร์มิกตามที่ระบุ แต่ถึงแม้ว่าบางยี่ห้อเป็นฟอร์มิกแต่ก็มีความเข้มข้นน้อยกว่าตามที่ระบุอยู่มาก
นอกจากนี้กลุ่มเกษตรกรบางรายได้หารือพร้อมตั้งข้อสงสัยการใช้กรดในการจับตัวยางผลิตยางก้อนถ้วยโดยแจ้งว่ากรดที่ระบุว่าเป็นกรดฟอร์มิกนั้น
เกิดผลกระทบต่อผิวหนังอย่างรุนแรง
เป็นแผลลึกเข้าไปในเนื้อต่างจากกรดฟอร์มิกที่เคยใช้ในอดีต
ซึ่งจากการที่ใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ชั้นสูงสามารถทราบชนิดและปริมาณของกรดชนิดต่าง
ๆ ได้ค่อนข้างแม่นยำ
จึงทำให้เรื่องดังกล่าวกระจ่างเห็นถึงความเห็นแก่ได้ของผู้จำหน่ายสารจับตัวบางรายที่เอาเปรียบผู้บริโภคสร้างความเสียหายต่อคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง
หลอกลวงผู้บริโภค
ผลการทดสอบดังกล่าวสามารถทราบส่วนประกอบของสารเคมีและโลหะชนิดต่าง ๆ
ที่ปลอมปน ถือว่าผู้ประกอบการจำหน่ายสารจับตัวมีเจตนาในการหลอกลวงผู้บริโภค
โฆษณาชวนเชื่อเกินความจริง ให้เกษตรกรหลงเชื่อถึงความปลอดภัย
โดยอ้างว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม น้ำยางสามารถจับตัวแข็งตัวไวกว่า
ก้อนยางสีสวย ไม่ติดก้นถ้วย ยางไม่เหนียว ไม่มีกลิ่นของสารระเหยที่รุนแรงกับจมูก
ไม่แสบคันเมื่อสัมผัส ขี้ยางไม่มีกลิ่นเหม็นและได้น้ำหนักยางเพิ่มขึ้น ซึ่งคำกล่าวอ้างดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค
พ.ศ. 2522 มาตรา 22
ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรชาวสวนยาง
จากการตรวจสอบราคาจำหน่าย “กรดปลอม”
ที่ระบุไว้บนฉลากว่าเป็นกรดฟอร์มิกเข้มข้น 94% มีสัญลักษณ์แตกต่างกัน ในร้านค้าปลีกระบุความเข้มข้น 94% ปริมาตร 5 ลิตร ราคาจำหน่ายแกลลอนละ 250 -
270 บาท
แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีความเข้มข้นของกรดฟอร์มิกไม่เกิน 87% และสารอื่นผสมอยู่
ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการจะปลอมปนสารชนิดอื่นลงไปซึ่งมีมูลค่าไม่มากนัก
แต่ก็สร้างความเสียหายให้กับคุณภาพยางและผลต่อประเทศชาติอย่างมหาศาล
สุขภาพของเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งเกษตรกรต้องซื้อของที่แพงโดยไม่จำเป็นอีกด้วย
ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติ
จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี 2559 ผลผลิตยางทางภาคอีสานทั้งหมดมีปริมาณทั้งสิ้น636,531 ตัน และจากการใช้กรดปลอมพบว่าคุณภาพยางไม่ได้มาตรฐานและกว่าร้อยละ 50
ที่พบๆ ว่าสารจับตัวยางมีส่วนผสมของกรดซัลฟิวริกแทบทั้งสิ้น รวมทั้งบางยี่ห้อมีเกลือผสมอยู่
ทั้งนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะคุณภาพยางในภาพรวมเท่านั้น
ยังเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของเกษตรกรชาวสวนยาง ต่อสุขภาพอนามัย ผลต่อหน้ายาง
และสิ่งแวดล้อมซึ่งจะประเมินค่าไม่ได้กับความเสียหายที่เกิดขึ้น
มาตรการในอนาคต
การยางแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมคุณภาพยางต้นน้ำระดับประเทศ
ควรมีมาตรการในการควบคุมสารจับตัวยางทุกชนิดในเชิงการค้าโดยจะต้องร่วมหารือกับหน่วยงานต่าง
ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
ทั้งนี้ผู้จำหน่ายจะต้องขอขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย
เพื่อทำการควบคุมคุณภาพยางไทยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นยางที่ดีที่สุดในโลก #ยางพารา #วิชาการ
Advertising
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น