ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

ยางเหลือง ภาคตะวันออก ทำยางเสื่อมคุณภาพ

ในอดีตเกษตรกรชาวสวนยางภาคตะวันออกนิยมผลิต “ยางแผ่นผึ่งแห้ง” หรือที่เรียก “ยาง ADS ( Air Dried Sheet) เพื่อส่งต่อยังโรงงานผลิตภัณฑ์ทำยางรัดของ พื้นรองเท้า รองเท้าแตะ จุกนมยาง ยางยืด ยางขัดสีข้าว อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์ยางที่ผสมสีได้ตามความต้องการเพื่อจำหน่ายในประเทศ

ยาง ADS เป็นยางที่ทำแบบเดียวกับ “ยางแผ่นรมควัน” เพียงแต่ผ่านการอบด้วยลมร้อนเพื่อทำให้ยางแห้ง ได้ยางแผ่นบาง มีสีเหลืองสวย ใส ชาวบ้านมักเรียก “ยางแก้ว”

แต่ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ตลาดมีความต้องการน้อยลง จนปัจจุบันเกษตรกรหันมาผลิต “ยางแผ่นดิบ”หรือ “ยางเหลือง” เพื่อส่งต่อยังโรงงานผลิตยางแผ่นรมควัน และยังคงผลิตยางให้มีสีเหลืองเช่นเดียวกับยาง ADS (รูปที่ 1)
รูปที่ 1 ยางแผ่นดิบหรือยางเหลืองที่ผลิตจากภาคตะวันออก
ด้วยความที่ตั้งใจหรือไม่ทราบประการใด เกษตรกรบางรายใส่สีลงในน้ำยาง (รูปที่ 2) เพื่อต้องการให้ยางแผ่นมีสีออกเหลือง จากคำบอกเล่าของเกษตรกรแจ้งมาทางทีมศูนย์บริการทดสอบรับรองภาคใต้ ว่าผู้ซื้อมักชอบยางที่มีสีเหลือง ถ้าแผ่นยางที่ให้สีเหลืองมากเท่าไรก็จะได้ราคาสูงมากขึ้นเท่านั้น (รูปที่ 3)

แต่ที่แย่ไปกว่านั้นพบว่าในเขตพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี เกษตรกรจะนำยางที่ผ่านการรีดแล้วไปผึ่งแดดไว้สักระยะหนึ่งให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นนำยางเข้าอบในโรงอบ ลักษณะเป็นโรงปิดทึบผนังก่ออิฐ ส่วนหลังคามุงด้วยพลาสติกใสเพื่อให้แสงแดดส่องผ่านได้จนยางแห้งใช้ระยะเวลา 4-7 วัน ขึ้นอยู่กับปริมาณแสงแดด 
 รูปที่ 2 ผสมสีลงในน้ำเตรียมทำยางแผ่น

รูปที่ 3 ผสมน้ำยางสดลงไปในน้ำที่ผสมสีเหลืองเพื่อต้องการผลิตยางเหลือง

แผ่นยางเมื่อแห้งแล้วเป็นสีเหลืองสวย เมื่อนำไปจำหน่ายก็จะจัดชั้นเป็นยางเหลือง 1 ยางเหลือง 2 เหลือง 3 เหลือง 4 และ เหลือง 5 ตามลำดับ ขึ้นอยู่กับความสะอาด ปริมาณความชื้น ความหนา บาง และสีเหลืองใส ยางเหลือง 1 จะจำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่ายางชั้นอื่นๆ

แผ่นยางที่อยู่ในโรงอบลักษณะนี้ถึงแม้จะไม่ได้สัมผัสกับแสงแดดโดยตรงแต่รังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์จะทะลุผ่านแผ่นพลาสติกใสเกิดการปฏิกิริยาออกซิเดซัน ส่งผลให้ยางเสื่อมคุณภาพ (รูปที่ 5) โดยเฉพาะค่าความยืดหยุ่นหรือค่าความอ่อนตัวเริ่มแรก (Po) มีค่าต่ำกว่ายางแผ่นดิบคุณภาพดีอยู่ถึง 15 หน่วย และค่าความหนืดต่ำกว่าประมาณ 20 หน่วย
รูปที่ 4 อบยางในโรงอบที่หลังคาทำด้วยพลาสติกใสเป็นสาเหตุให้ยางเสื่อมคุณภาพ
ยางแผ่นดิบที่มีคุณภาพดีหมายถึง ยางที่มีความยืดหยุ่นดี สะอาด มีความหนา บางไม่เกิน 3.8 มม. ขนาดแผ่นได้มาตรฐาน มีฟองอากาศขนาดเล็กได้ (รูปที่ 5)

ส่วนยางเหลืองที่ผ่านการอบในโรงอบหลังคาใสนี้พบว่าเมื่อดึงยางจะย้วยไม่สามารถหดกลับที่เดิมได้ แสดงถึงรังสีอัตราไวโอเลตหรือรังสียูวีได้ทำลายโมเลกุลยางทำให้ยางเกิดการเสื่อมสภาพ

ยางเหลืองนี้ยังคงเป็นยางแผ่นดิบมีความชื้นอยู่ไม่น้อยกว่า 3% จึงต้องนำส่งโรงงานเพื่อผลิตยางแผ่นรมควัน ความร้อนจากเตาเผายิ่งทำให้ยางแผ่นรมควันที่ผลิตมีสมบัติทางกายภาพด้อยลงไปอีก 
รูปที่ 6 ยางแผ่นอบแห้งที่มีคุณภาพดี เมื่อดึงแล้วปล่อยจะสามารถหดกลับเข้าสู่สภาพเดิมได้ง่าย
ในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน ของทุกปีหลาย ๆ พื้นที่เป็นช่วงปิดกรีด เกษตรกรควรจะใช้ช่วงเวลานี้ เร่งแก้ไขโรงอบยางให้ผลิตยางที่มีคุณภาพดีได้มาตรฐาน โดยมีแนวทางการแก้ไข ดังนี้

1. เปลี่ยนหลังคาที่ทำจากพลาสติกใสเป็นแผ่นสังกะสีลอนเล็กทั้งหมด ด้านนอกทาสีดำเพื่อดูดแสง
2. ติดตั้งปล่องระบายความชื้นให้มีความสูงเหนือระดับสันจั่วของหลังคาพร้อมติดตั้งกระโจมกันน้ำฝนเพื่อให้อากาศจากภายนอกพัดผ่านความชื้นที่อยู่ข้างในออกไปได้ (รูปที่ 6)
3. ผนังและหลังคาปิดสนิทไม่ให้มีอากาศหรือความชื้นจากภายนอกเข้ามาในโรงอบได้ 
รูปที่ 7 ติดตั้งท่อระบายความชื้นบริเวณหลังคาเพื่อไล่ความชื้นจากยางแผ่น
ในการทำยางแผ่นดิบให้มีคุณภาพดี จะต้องพิจารณาสมบัติทางกายภาพของยางที่สำคัญคือความยืดหยุ่น ยางเป็นวัสดุชนิดเดียวในโลกที่สามารถยืดได้ หดกลับสู่สภาพเดิมได้ มีความต้านทานต่อการฉีกขาด ทนต่อการสึกหรอและต่อการเสื่อมสภาพได้ดี ซึ่งหาวัสดุอื่นจากธรรมชาติที่มีสมบัติเทียบเท่าได้ยาก

ดังนั้นไม่ยากเลยที่จะปรับเปลี่ยนการทำยางทางภาคตะวันออกใหม่ให้เป็นยางแผ่นดิบที่มีคุณภาพดี ได้ยางที่มีความยืดหยุ่นดี ทนทานต่อการเสื่อมสภาพ ได้สมบัติที่เหมาะกับการนำยางไปผลิตเป็นยางยานพาหนะชนิดต่างๆ ยางที่ทนต่อการกดทับน้ำหนักหรือแรงต้านสูง ๆ ป้องกันการสั่นสะเทือนและแรงกระแทกได้ดี ให้ชื่อว่ายางไทยเป็นยางที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก

ตารางที่ 1 สมบัติทางกายภาพของยางเหลืองเปรียบเทียบกับยางแผ่นดิบคุณภาพดี
เรื่อง/ภาพ : ปรีดิ์เปรม ทัศนกุล



Advertising
advertivsing
สนใจลงโฆษณา โทร 08-6335-2703

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม