ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

ยางแผ่นรมควัน มาตรฐาน GMP ยกระดับคุณภาพยางไทย

ขึ้นชื่อว่ายางไทยเป็นยางที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก ในมุมมองของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แล้ว ยังคงต้องการยางที่มีสมบัติคงที่ในกระบวนการผลิต ความสม่ำเสมอของเนื้อยางในการนำไปบดผสมกับสารเคมีเพื่อขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ ได้ตามความต้องการ

ถึงแม้ว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางแท่งมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับยางชนิดอื่นๆ แต่ในเรื่องคุณภาพของยางในการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว ยางแผ่นรมควันย่อมเป็นยางที่มีสมบัติทางกายภาพดีที่สุดโดยเฉพาะแผ่นยางที่มาจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้มีการรวบรวมน้ำยางสดจากสมาชิกนำมาผลิตในคราวเดียวกัน

จากการที่ยางธรรมชาติในปัจจุบันมีราคาค่อนข้างผันผวน ทำให้โอกาสการแข่งขันเชิงธุรกิจทำได้ยาก แม้ว่าบริษัทเอกชนผู้ผลิตยางแผ่นรมควันส่วนใหญ่จะรับซื้อยางแผ่นดิบครั้งละปริมาณมากๆ นำมารมควัน ซึ่งมีโอกาสมากกว่าสถาบันเกษตรกรมากมายนัก ในเรื่องความหลากหลายความไม่สม่ำเสมอของเนื้อยางและคุณภาพที่ผลิตค่อนข้างแปรปรวน

กระบวนการจัดการแปรรูปเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพจึงทำได้ยาก การพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของสถาบันเกษตรกรผู้ผลิตยางแผ่นรมควันให้ทำยางที่มีคุณภาพคงที่ ทุกๆ ครั้งที่ผลิต มีมาตรฐานและสมบัติเชิงวิทยาศาสตร์รองรับ สร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้ยางจะเป็นโอกาสให้สถาบันเกษตรกรได้มีการพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพที่ได้มาตรฐานสร้างมูลค่าเพิ่ม มีต้นทุนการผลิตต่ำลง ลดระยะเวลาในกระบวนการผลิต มีระบบการจัดการของเสียและมลภาวะที่เกิดขึ้น

มาตรฐาน GMP

GMP หรือ Good Manufacturing Practice คือ กระบวนการปฏิบัติที่ดีและเหมาะสมโดยใช้หลักการปฏิบัติเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดี สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร (เดิม) ในขณะนั้น ได้ริเริ่มดำเนินการทำมาตรฐาน GMP ด้วยการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนตั้งแต่ปี 2555

เน้นระบบการจัดการที่สามารถทดสอบได้ทุกขั้นตอน ความเป็นระเบียบในการปฏิบัติงานที่ง่ายต่อการตรวจสอบ การผลิตที่เน้นการจัดการอย่างเป็นระบบได้แผ่นยางที่มีคุณภาพสม่ำเสมอทุกแผ่นในก้อนยางแต่ละก้อน สามารถผลิตยางอัดก้อนที่ได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้ยางในระดับอาเซียน

มาตรฐาน GMP ยางแผ่นรมควันจึงได้ถูกยกระดับเป็นมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กระทรวง
เกษตรและสหกรณ์ ในปี 2556 เป็นระบบ GMP ด้านยางพาราฉบับแรกที่ถูกประกาศใช้ และเป็นพืชชนิดเดียวที่กินไม่ได้มาจัดเป็นระบบการควบคุมคุณภาพจนทำให้ทั่วโลกรู้จัก

ต่างกับระบบ ISO ที่เน้นกระบวนการบริหารโดยผ่านระบบเอกสารที่สามารถตรวจสอบได้ แต่ไม่ได้เจาะลึกในรายละเอียดคุณภาพยางที่ผลิตเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความสม่ำเสมอของเนื้อยางให้กับผู้ซื้อ
การยกระดับคุณภาพยางแผ่นรมควันของสหกรณ์กองทุนสวนยางนับว่าเป็นก้าวแรกแห่งวงการยางไทยที่สามารถก้าวสู่ความเป็นผู้นำการผลิตยางได้อย่างเต็มความภาคภูมิ เป็นการยกระดับให้กับสหกรณ์กองทุนสวนยางที่ได้ดำเนินการผลิตมาตั้งแต่ปี 2537 รวมจำนวนทั้งสิ้น 637 แห่งทั่วประเทศ ปัจจุบันดำเนินการได้เพียงไม่เกินร้อยละ 50 ที่เหลือปิดกิจการ เนื่องจากไม่สามารถดำเนินงานในเชิงธุรกิจได้ โอกาสการแข่งขันน้อย ต้นทุนการผลิตสูง

ส่วนโรงงานยางแผ่นรมควันที่ดำเนินการในปัจจุบันส่วนใหญ่ผลิตยางคุณภาพไม่สม่ำเสมอ มีทั้งยางแผ่นรมควัน (RSS) ชั้น 3, RSS 4, RSS 5 ยางฟอง และยางคัตติ้ง

หากมองในภาพรวมเป็นยางที่มีคุณภาพต่ำกว่า RSS 3 มากกว่าร้อยละ 40 ปัญหาเกิดจากการขาดระบบการจัดการที่ดี ขาดความรู้ทางด้านวิชาการ และการส่งเสริมที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

การทำมาตรฐาน GMP ยางแผ่นรมควัน

ในปี 2559 ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้จัดทำระบบควบคุมคุณภาพยางแผ่นรมควันของสหกรณ์กองทุนสวนยางที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในจังหวัดตรัง จนสามารถก้าวสู่มาตรฐาน GMP จำนวนทั้งสิ้น 5 แห่งคือ สหกรณ์กองทุนสวนยางโพธิ์โทน จำกัด, สหกรณ์กองทุนสวนยางวังคีรี จำกัด, สหกรณ์กองทุนสวนยางหนองบัว จำกัด, สหกรณ์กองทุนสวนยางคลองปาง จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองศรีจันทร์ จำกัด 
ทั้ง 5 แห่งนี้มีศักยภาพในการผลิตยางแผ่นรมควันชนิด premium grade ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 99 สามารถจำหน่ายได้ใน
ราคาที่สูงกว่าราคาประกาศสำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา 3-7 บาท/กิโลกรัม จากเดิมที่จำหน่ายในตลาดท้องถิ่นจะถูกกดราคากิโลกรัมละ 1.50 บาท

กระบวนการทำมาตรฐาน GMP โดย กยท. นั้นมุ่งหวังให้ยางที่ผลิตได้มีคุณภาพสูง มีสมบัติทางกายภาพของยางคงที่ มีความสม่ำเสมอ เน้นการนำยางที่ได้คุณภาพมาตรฐานไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดเพิ่มมูลค่าหรืองานทางวิศวกรรม เช่น ยางรองคอสะพาน ยางล้อเครื่องบิน ยางล้อรถยนต์ ยางในรถจักรยานยนต์ ล้อรถโฟล์คลิฟท์ ยางปูพื้นสนามกีฬา รองเท้าแตะ รองเท้ากีฬา เป็นต้น โดยมีกำลังการผลิตเฉลี่ยโรงละ 150 ตัน/เดือน รวม 5 แห่งไม่น้อยกว่า 800 ตัน/เดือน

มาตรฐาน GMP จะให้ความสำคัญของน้ำยางสดตั้งแต่อยู่ในสวนยาง โดยแนะนำให้ใช้สารรักษาสภาพตามความจำเป็นและเหมาะสม มีระบบการรวบรวมน้ำยางสดที่สะอาดจากสวนมายังโรงงานผลิต การทดสอบความสดของน้ำยางเมื่อมาถึงโรงงานเพื่อสร้างความมั่นใจคุณภาพของยางแผ่นที่ผลิตได้ ใช้ตัวกรองน้ำยางสดตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ การหาปริมาณเนื้อยางแห้งตามมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ การรวบรวมน้ำยางสดก่อนปล่อยลงตะกงทำแผ่น การหาปริมาณเนื้อ 



ยางแห้งรวมอีกครั้งเพื่อจะได้คุณภาพของยางสม่ำเสมอทุกครั้งที่ผลิต การเจือจางน้ำและการผสมน้ำกรดตามสูตรที่ระบุ การปาดฟอง การเสียบแผ่นและระยะเวลาการจับตัวยาง เทคนิคการรีด ล้าง และการตากยาง ให้เป็นไปตามระบบควบคุมคุณภาพการผลิตยางดิบทุกขั้นตอน

ในส่วนระบบการผลิตยางแผ่นรมควัน จะต้องคัดสรรไม้ราวไม้ไผ่รวกที่ได้ขนาด ปราศจากเสี้ยน ไม่มีรอยแตก หรือคราบเขม่าดำ ใช้รถตากยางที่สะอาดไม่มีคราบเขม่าดำเกาะ และต้องสางยางแผ่นดิบก่อนเข้ารมควันเพื่อไม่ให้ผิวยางสัมผัสกันซึ่งเป็นสาเหตุให้ยางสุกช้าและเกิดรอยตำหนิ การกำหนดปริมาณไม้ฟืนและชนิดของไม้ฟืนในการรมยางแต่ละครั้งเพื่อใช้ในการควบคุมควันและความร้อน วิธีการรมควันด้วยการควบคุมอุณหภูมิและระยะเวลาที่เหมาะสม การควบคุมระบบเตาให้ความร้อน การนำยางออกจากห้องรมควัน การคัดชั้นและจัดชั้นยาง การจัดเก็บตลอดจนการขนส่งตามระบบควบคุมคุณภาพ



สำหรับสถานที่ประกอบการเป็นข้อกำหนดหนึ่งในระบบ GMP ซึ่งจะต้องเตรียมความพร้อมก่อนการดำเนินการโดยเฉพาะบ่อรับน้ำยางควรมี 2 บ่อ สำหรับใช้รับน้ำยางที่มีความเสี่ยงต่อการผลิตและจะต้องใช้สลับกันตามช่วงเวลาของน้ำยางสดที่เข้าสู่โรงงาน

ในส่วนการผลิตจะต้องมีคูระบายน้ำล้อมรอบบริเวณที่มีการใช้น้ำหรือตะกงจับตัวยางและทำให้การไหลของน้ำทิ้งไม่เกิดการขังตามคูระบายน้ำ ยกตะกงจับตัวยางให้อยู่ในระดับพอเหมาะสะดวกต่อการปฏิบัติงาน มีบ่อล้างยางที่มีประสิทธิภาพมีห้องเก็บสารเคมีและบริเวณเก็บวัสดุ อุปกรณ์แยกเป็นสัดส่วน ที่พักของคนงานจะต้องแยกออกจากส่วนการผลิตไม่ให้ปะปนกัน มีระบบการให้ความร้อนของห้องรมควันที่มีประสิทธิภาพ

รวมทั้งระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ระบบสุขาภิบาลที่มีความสะอาดและปลอดภัย
ด้านบุคลากร จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด มีความเข้าใจระบบควบคุมคุณภาพ คนงานที่ปฏิบัติในส่วนการผลิตจะต้องสวมใส่ชุดป้องกันน้ำกรดหรือสารตกค้างจากยางที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงได้สวมเสื้อที่ไม่มีกระเป๋า ไม่ให้มีสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้ามาใน 

ส่วนบริเวณโรงงาน มีหมวกคลุมผมหรือหมวกนิรภัยสวมใส่เพื่อป้องกันเส้นผมหรือสิ่งปนเปื้อนติดในแผ่นยางด้านวัสดุ อุปกรณ์การผลิต จะต้องพร้อมใช้งานและมีปริมาณเพียงพอต่อการปฏิบัติงาน มีระบบการจัดเก็บที่เป็นระเบียบ หยิบใช้ได้ง่าย มีวิธีการป้องกันการหยิบอุปกรณ์ออกจากตู้จัดเก็บ เช่น กรรไกร หรืออุปกรณ์จำเป็นอย่างอื่นเพื่อป้องกันการสูญหาย หากพบในกองยางถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ซื้อและสร้างความเสียหายต่อกระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ มีป้ายชี้บ่งในบริเวณที่ปฏิบัติงาน มีตู้ยาและเครื่องดับเพลิงสำหรับกรณีฉุกเฉิน

ส่วนกระบวนการคัดชั้นยางและจัดชั้นเป็นไปตามมาตรฐาน The Green Book ซึ่งในการผลิตยางแผ่นรมควันตามมาตรฐาน GMP นี้ แผ่นยางที่ผลิตได้จะมีขนาดและน้ำหนักเท่ากันทุกแผ่น การคัดติ้งรอยตำหนิที่ปรากฏบนแผ่นยางน้อยมากเนื่องจากเป็นยางที่มีคุณภาพดีเยี่ยมเกือบทั้งหมด การจัดเก็บจะต้องมีผ้าใบรองรับบริเวณพื้นเพื่อป้องกันความชื้น และคลุมกองยางให้มิดชิดในระหว่าง
การจัดเก็บและขนส่ง

Advertising

สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางได้อะไรจาก GMP

นับตั้งแต่ที่สหกรณ์กองทุนสวนยางได้ดำเนินการผลิตยางแผ่นรมควันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 22 ปี ทำให้สภาพภายในโรงงานรก สกปรก ไม่เป็นระเบียบ ที่พักอาศัยคนงานอยู่ในโรงงานผลิต น้ำใช้ไม่สะอาด พื้นสึกกร่อน พบคราบจาระบีเลอะเทอะบริเวณจักรรีดยาง ดอกจักรสึก ลายดอกไม่ชัดเจน น้ำท่วมขัง น้ำใช้ในการผลิตไม่สะอาด วิธีการหาปริมาณเนื้อยางแห้งที่ผิดพลาดทำให้น้ำหนักยางขาด คนงานอาศัยความชำนาญในการปฏิบัติงานที่บอกต่อๆ กันมาโดยไม่ได้ใช้หลักวิชาการใช้น้ำกรดเกินกว่าอัตราคำแนะนำ ใช้แอมโมเนียในการรักษาสภาพน้ำยางสดมากเกินความจำเป็น สูญเสียพลังงานในการรีดยางเนื่องจากใช้กรดในการจับตัวยางมากเกินไป เนื้อยางแข็ง ขนาดและความหนา-บางของแผ่นไม่สม่ำเสมอ ห้องรมควันและเตารมควันไม่มีประสิทธิภาพ มีการสูญเสียควันและความร้อนทำให้สิ้นเปลืองไม้ฟืน ใช้ระยะเวลาในการรมควันนาน ระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่มีประสิทธิภาพ 

ดังนั้นการทำมาตรฐาน GMP จึงเป็นระบบการควบคุมคุณภาพการผลิตยางแผ่นรมควันให้ได้มาตรฐาน ลดระยะเวลาในการปฏิบัติงานลดปริมาณการใช้สารเคมี ลดมลภาวะที่เกิดขึ้น ลดพลังงานที่ใช้ ลดปริมาณไม้ฟืน ได้ยางที่มีคุณภาพดีมีความสม่ำเสมอ จำหน่ายได้ในราคา premium grade มีตลาดภายในประเทศรองรับ มีการจัดการที่เป็นระบบและสร้างความมีระเบียบวินัยให้กับองค์กร


มาตรการให้การรับรองการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนมาตรฐาน GMP

1. โรงผลิตยางแผ่นรมควันที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อขอการรับรองมาตรฐาน GMP นั้น ผลผลิตยางแผ่นรมควันที่เกิดขึ้นจากการควบคุมปฏิบัติงานจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กยท.เสมือนหนึ่งว่าได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน GMP แล้ว โดยจะรับรองเฉพาะชุดยางที่ผลิตแล้วเท่านั้น

2. คณะกรรมการตรวจประเมิน จะใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาเพื่อให้การรับรองโรงที่มีความพร้อมและศักยภาพในการผลิตยางแผ่นรมควันที่ได้มาตรฐาน จากนั้นสรุปผลการประเมินพร้อมกับแจ้งให้คณะกรรมการโรงผลิตยางแผ่นรมควันทราบ พร้อมให้การรับรองนับตั้งแต่วันที่ทำการตรวจประเมิน

3. หากโรงผลิตยางแผ่นรมควันยังไม่ผ่านการประเมินการรับรองกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันคณะกรรมการจะเป็นผู้นัดหมายในการประเมินครั้งต่อไป

4. โรงผลิตยางแผ่นรมควันที่ผ่านการประเมินแล้วฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กยท. จะส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ว่าการ กยท. ลงนาม พร้อมออกใบรับรองต่อไป 

5. ภายในระยะเวลาที่โรงผลิตยางแผ่นรมควันได้รับใบรับรองกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันมาตรฐาน GMP แล้วนั้น คณะกรรมการตรวจประเมินจะเข้าติดตามและประเมินผลเป็นระยะ ๆ โดยไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งต่อปีเพื่อรักษามาตรฐานกระบวนการผลิตของโรงผลิตยางแผ่นรมควันนั้น ๆ

6. โรงผลิตยางแผ่นรมควันที่ได้ใบรับรองคุณภาพกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันแล้ว จะมีอายุการรับรอง 1 ปี

7. ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กยท. มีมาตรการในการยกเลิกใบรับรองหากโรงผลิตยางแผ่นรมควันนั้นไม่สามารถรักษามาตรฐานไว้ได้ 

มาตรการส่งเสริมในอนาคต

ในปี 2560 ผ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยางได้มีนโยบายในการส่งเสริมโรงรมควันของสถาบันเกษตรกรเข้าสู่มาตรฐาน GMP ในเขตจังหวัดตรัง กระบี่และสุราษฎร์ธานี ไม่น้อยกว่า 20, 7 และ 2 โรงงาน ตามลำดับ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการจัดทำมาตรฐาน GMP จากจำนวนทั้งสิ้น 34 โรงงาน ไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท

สรุป

มาตรฐาน GMP เป็นระบบการจัดการด้านคุณภาพการผลิตยางแผ่นรมควัน ที่ครอบคลุมสถานที่ประกอบการ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร กระบวนการผลิตบุคลากร การจัดเก็บ การขนส่งและระบบสุขาภิบาล เพื่อทำให้ยางแผ่นรมควันที่ผลิตได้มีคุณภาพ มีความสม่ำเสมอ มีระบบการตรวจสอบทุกขั้นตอน เป็นการลดต้นทุนการผลิต ลดของเสีย

รวมทั้งมลภาวะที่เกิดขึ้น ลดความแปรปรวนในการนำยางไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม นับว่าเป็นการจัดการคุณภาพยางตั้งแต่ต้นทางให้เกษตรกรนำน้ำยางสดที่มีความสะอาด บริสุทธิ์ นำมาผลิตยางแผ่นรมควันที่ได้มาตรฐาน 

รวมทั้งเป็นการสร้างระเบียบวินัย ยกระดับสถาบันเกษตรให้เข้มแข็ง สามารถผลิตยางที่มีคุณภาพเป็นที่น่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ นอกจากนี้ ปัจจุบันตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค (Regional Rubber Market, RRM) ที่ประกอบด้วยประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละประเทศมีข้อกำหนดระเบียบวิธีการซื้อขายรวมทั้งมาตรฐาน โดย กยท. มีแนวทางสนับสนุน

ให้กลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการยางพาราประชารัฐ นำยางที่ผ่านมาตรฐาน GMP มาขายในตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาคได้ ถือเป็นการช่วยหาตลาดรองรับผลผลิตยางให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นตัวชี้บ่งถึงความมั่นใจในตลาดระดับอาเซียนอีกด้วย และหลาย ๆ บริษัทยักษ์ใหญ่ที่แปรรูปผลิตภัณฑ์ภายในประเทศต่างมั่นใจคุณภาพยางและมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง จนทำให้สหกรณ์กองทุนสวนยางในจังหวัดตรังทั้ง 5 แห่ง สามารถก้าวสู่ความเป็นผู้นำการผลิตยางที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก

โดยในปีงบประมาณ 2560 มีสหกรณ์กองทุนสวนยางในจังหวัดตรังทั้งหมดได้ยื่นความจำนงในการจัดทำมาตรฐาน GMP เพิ่มเติมอีก 20 แห่ง คาดว่าจะสามารถผลิตยางชนิด premium grade ได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 4,000 ตัน/เดือน สร้างมูลค่าเพิ่มจากการจำหน่ายไม่น้อยกว่าเดือนละ 12 ล้านบาท

กยท. จะออกหนังสือรับรองคุณภาพมาตรฐาน GMP ให้กับสถาบันเกษตรกรที่มีความพร้อมและศักยภาพการผลิตและผ่านการประเมินจากคณะกรรมการตรวจประเมินโดยมีอายุการรับรอง 1 ปี มีมาตรการในการควบคุมติดตามเป็นระยะ ๆ ไม่น้อยกว่า3 ครั้ง/ปี และมาตรการในการยกเลิกใบรับรองหากโรงผลิตยางแผ่นรมควันไม่สามารถรักษามาตรฐานไว้ได้

ทั้งนี้สถาบันเกษตรกรที่สนใจในการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพยางแผ่นรมควันมาตรฐาน GMP สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์รับรองและทดสอบภาคใต้ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กยท. โทร. 09 3674 4351, 08 9598 2603, 08 1275 1368


Advertising
สนใจลงโฆษณา โทร 08-6335-2703 

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม