ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

5 ข้อเสนอแก้ปัญหายาง ของ ชาวสวนยางภาคใต้ เน้นพึ่งพาตนเอง

เวทีเสวนา “ทางเลือก ทางรอด ชาวสวนยางไทย”  ในวันที่ 22 ก.ค.2560 ที่ศาลาประชาคมบ้านเบื้องแบบ ต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี มีชาวสวนยางในหมู่บ้านมาเข้าร่วม 150 คน ซึ่งเป็นเวทีนำร่องของ สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และจะเป็นเวทีต้นแบบที่จะขยายไปทุกหมู่บ้านและชุมชนที่มียางพาราทั่วทั้งประเทศไทย

ทำไมสมาคมฯ เลือกทำเวทีที่บ้านเบื้องแบบ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในหุบเขา และไกลจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานี นักข่าวและวิทยากรเดินทางมาไม่สะดวก ด้วยเหตุผลเพราะเกษตรกรชาวสวนยางที่เบื้องแบบ มีปัญหาที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ พื้นที่สวนยางเป็นที่สาธารณะประโยชน์ 60% ที่ราชพัสดุ 20% ที่ป่าสงวนแห่งชาติ 20% แต่ประชาชนมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีชุมชนอาศัยมาก่อนตั้งแต่สมัย ร.5 ดังนั้นการประกาศเขตที่สาธารณะ เขตป่าและที่ราชพัสดุ จึงทับที่ทำกินของชาวบ้านและชุมชน เข้าข่ายป่ารุกคน ที่เบื้องแบบมีการทำสวนยางแบบยั่งยืนมานานแล้ว มีการปลูกผลไม้และพืชร่วมยาง และมีการปลูกเมล่อนอินทรีย์ที่สร้างชื่อ แต่กลับไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Organic ด้วยเหตุผลไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน...เวรกรรมไทยแลนด์

เราเลือกวิธีปฏิบัติการในพื้นที่จริง เพื่อเคารพเสียงของเกษตรกรชาวสวนยางชายขอบ ที่สะท้อนจากล่างขึ้นบน (Bottom Up) และเป็นวิธีการที่ประหยัดงบประมาณ ไม่ต้องจ่ายค่าโรงแรมแพงๆ พี่น้องเกษตรกรไม่ต้องเสียเวลาเดินทางและเสียเวลาทำมาหากิน

ส่วนทีมวิทยากรต้องเสียสละออกค่าใช้จ่ายการเดินทางด้วยตัวเอง เพราะเราจัดงานนี้โดยไม่มีเงินโครงการใดมาสนับสนุน ใช้วิธีพึ่งตน ซึ่งเจ้าภาพคือพี่น้องในพื้นที่ ช่วยกันลงขันคนละเล็กคนละน้อย เป็นการเริ่มต้นจากความต้องการของคนในพื้นที่ ที่ต้องการเรียนรู้และมีส่วนร่วมเพื่อช่วยแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ไม่ใช่ลักษณะการสั่งการหรือยัดเยียด (Top Down) จากข้างบน
เป็นครั้งแรกของเวทีการยาง ที่เชื่อมร้อยความสามัคคีของเครือข่ายชาวสวนยาง และมีวิทยากรครบทุกด้าน โดยมี นายกรีรัตน์ ทองใส อดีตที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย นายภูวนาท โง้วสุวรรณ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่เชี่ยวชาญด้านการทำถนนลาดยางพารา นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ การยางแห่งประเทศไทย นายบุญส่ง นับทอง ประธานสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย นายสุนทร รักษ์รงค์ อนุกรรมการด้านสิทธิในที่ดินและทรัพยากรป่าไม้ และมี ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี เป็นผู้ดำเนินรายการ
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━ 
ในเวทีได้ข้อสรุปที่จะแก้ปัญหาวิกฤตยางพาราไทย ดังนี้
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━ 
1. เกษตรกรชาวสวนยาง ต้องรวมกลุ่มพึ่งพากันเอง ทั้งการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ การติดตามสถานการณ์ การแก้ปัญหาขั้นต้นโดยตนเองและชุมชนอย่างไม่หวังพึ่ง สามัคคีรวมพลังในการแก้ปัญหา และมีความกล้าหาญทางจริยธรรมพอที่จะส่งเสียงภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาและมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ในกรณีที่เกินความสามารถที่จะพึ่งพาตนเอง

2.แก้ปัญหาเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์เบื้องแบบ โดยใช้วิธีพิสูจน์สิทธิเพื่อให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และให้สามารถจดทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยได้ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย

3.แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ด้วยการให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 เพื่อการใช้ยางในประเทศ โดยเฉพาะการทำถนนลาดยางพารา และจะทำให้เสียงของเกษตรกรชาวสวนยางทุกหมู่บ้านและชุมชนที่มียางพาราไปถึงผู้มีอำนาจ ด้วยการทำป้ายรณรงค์ และจะเดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลจากทุกหมู่บ้านและทุกชุมชน จนกว่านายกรัฐมนตรีจะได้ยิน

4.เกษตรกรชาวสวนยางจัดการตนเอง ไม่รอราคายางเพียงอย่างเดียว จะลดต้นทุนและสร้างรายได้เสริม โดยการทำสวนยางอย่างยั่งยืน เช่น การปลูกผักพื้นบ้าน การปลูกผลไม้ในสวนยาง ปลูกพืชร่วมยาง และการทำเกษตรผสมผสาน ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการปลูกต้นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจในสวนยาง เพื่อเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวเป็นป่ายาง หรือป่าเศรษฐกิจ แต่ให้รัฐบาลช่วยส่งเสริมและสนับสนุน พร้อมจัดหาตลาดผลิตผลจากสวนยางด้วย

5.มีข้อเสนอจากเวที ให้สภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.) และเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ร่วมกันจัดเวทีเสวนา “ทางเลือก ทางรอด ชาวสวนยางไทย” ทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้ทุกหมู่บ้านและชุมชนที่มียางพารา ได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาวิกฤตยางพาราไทย รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางเข้าถึงสิทธิตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย 2558 ด้วย

ขอขอบพระคุณ
นายพรชัย สังข์เพชร ประธานสภาอบต.บ้านทำเนียบ และพี่น้องบ้านเบื้องแบบทุกคน นายกิติศักดิ์ วิโรจน์ และนายเด่นเดช เดชมณี และกรรมการสมาคมเกษตรกรยางพาราสุราษฎร์ธานีทุกคน

เรื่องโดย : สุนทร รักษ์รงค์
นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้
และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.)

Advertising
ลงโฆษณาโทร.08-6335-2703 

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม