สุราษฎร์ธานี
เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ตื่นตัว เรื่อง “ปาล์มคุณภาพ”
เห็นได้ชาวสวนปาล์มให้ความสำคัญกับการดูแลสวนปาล์มให้ได้ผลผลิตสูง ควบคู่กับ “เข้มงวด”
ตัด “ปาล์มสุก” คุณภาพ ซึ่งทีมงานยางปาล์มออนไลน์
ได้ติดตามและนำมาเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง
แต่อีกภาคส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสูง
ต่อกระบวนการทำ “ปาล์มคุณภาพ” ก็คือ โรงงานหีบสกัดน้ำมันปาล์ม ถ้ามีการเปิดรับซื้อปาล์มตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน
โดยให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น จะเป็นแรงจูงใจให้ชาวสวนหันมาทำปาล์มคุณภาพมากขึ้น
ธนาปาล์มโปรดักส์ คือ หนึ่งในโรงหีบปาล์มที่ “ชูธง”
เรื่อง ซื้อปาล์มตามคุณภาพ นโยบายของผู้บริหารที่มองเห็นความสำคัญตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งโรงงานเมื่อ
2 ปีก่อน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่จะขับเคลื่อนนโยบายปาล์มคุณภาพของจังหวัด
“เราเป็นเกษตรกร ทำสวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน
และเป็นยี่ปั๊วยางพารา แต่ทำยางแล้วมีความเสี่ยงสูง ราคายางขึ้นลงเร็วและแรง มีความเสี่ยงในการทำธุรกิจระยะยาว
จึงเบนเข็มมาทำโรงสกัดปาล์ม และเมื่อดูจากแนวโน้มพืชเศรษฐกิจในภาคใต้ เทรนด์ของเกษตรกรได้เปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางไปปลูกปาล์มมากขึ้น
สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ เรื่องแรงงาน เป็นอันดับหนึ่ง
และปัญหาความเสี่ยงเรื่องราคา” ชารียา เหล่าบัณฑิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท
ธนาปาล์มโปรดักส์ จำกัด เล่าที่มาของธุรกิจปาล์มน้ำมัน
โรงหีบสกัดน้ำมันปาล์มกำลังการผลิต 60 ตัน/ชม. และสามารถรองรับการผลิตสูงสุดถึง
120 ตัน/ชม. ถูกสร้างขึ้นใน อ.ท่าฉาง และเริ่มเดินเครื่องผลิตปี
2558 ต้องการปริมาณทะลายปาล์ม 1,300 ตัน/วัน
แต่อย่างที่รู้ว่าธุรกิจโรงหีบสกัดน้ำมันปาล์มในสุราษฎร์ฯ
มีโรงงานจำนวนมากอันดับต้นของประเทศ จึงมีแรงแข่งขันค่อนข้างสูง
“แต่ในทุกธุรกิจเราต้องเตรียมพร้อมรับการแข่งขัน
ถ้าเราคิดจะทำธุรกิจนี้เราจึงไม่มีความกังวล”
กลยุทธ์ทางธุรกิจที่ธนาปาล์มโปรดักส์
ใช้เป็น “เขี้ยวเล็บ” ก็คือ ซื้อปาล์มตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน
“เป็นโมเดลธุรกิจที่เราตั้งไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม
โดยได้ต้นแบบมาจากยางพารา ปกติราคายางจะเปิดจากยางแผ่นรมควันคุณภาพ 100% แต่ราคารับซื้อจริง เขาจะดูตามคุณภาพ
เช่น ตามความชื้น ความสะอาด และเปอร์เซ็นต์ยางที่แท้จริง ปาล์มน้ำมันก็ควรจะทำแบบเดียวกัน
ถ้าเราซื้อตามคุณภาพ รับซื้อเฉพาะปาล์มคุณภาพ เราจะได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันดี เราก็ยินดีซื้อราคาสูงขึ้นตามคุณภาพปาล์ม”
วิธีพิสูจน์คุณภาพทะลายปาล์มไม่ได้มีเครื่องวัด
แต่จะดูจากลักษณะของทะลายปาล์มในภาพรวม ควบคู่กับตัวเลขน้ำมันหลังหีบสกัดของโรงงาน
“เราอาศัยประสบการณ์
ควบคู่กับการผลิตของโรงงาน ดูว่าลักษณะปาล์มแบบนี้
เมื่อนำไปหีบแล้วจะได้น้ำมันเท่าไหร่ ซึ่งเกิดจากการทำซ้ำๆ จนเกิดประสบการณ์ คุณภาพปาล์มที่เราซื้อจากเกษตรกร
เมื่อนำไปผลิตจริงก็ใกล้เคียง”
“เราจะดูเกณฑ์เฉลี่ยของปาล์มทั้งหมดเป็นหลัก
ว่ามีปาล์มสุกเท่าไหร่ ปาล์มกึ่งสุกกึ่งดิบเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นปาล์มดิบจะถูกคัดคืนอย่างเดียว
เกษตรกรบางคนก็เข้าใจ แต่ก็มีมากที่ไม่เข้าใจในช่วงแรกๆ ที่เราไม่ซื้อปาล์มดิบ
แต่เมื่อมีการประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ เรื่องปาล์มคุณภาพ
เกษตรกรก็หันมาทำปาล์มคุณภาพกันมากขึ้น จากเมื่อก่อนมีปาล์มดิบปะปนถึง 30% ปัจจุบันลดลงเหลือ 5-10 %
เท่านั้น
ซึ่งตรงกับโมเดลที่เราวางไว้ตั้งแต่แรก”
เมื่อควบคุมคุณภาพตั้งแต่การรับซื้อ
จึงทำให้กระบวนการผลิตของโรงงานได้น้ำมันรวมเป็นที่น่าพอใจ หรืออยู่ในระดับ 16-17% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
“เราเห็นด้วยกับการทำปาล์มคุณภาพ
เพราะเราเองก็มาจากเกษตรกร ถ้าเกษตรกรทำแล้วขาดทุน ไม่มีเงินใส่ปุ๋ย จะกระทบใคร
แล้วหนักกว่านั้นถ้าเลิกปลูกปาล์ม เปลี่ยนอาชีพก็กระทบกับโรงงาน”
“เราจึงมองว่าการทำปาล์มคุณภาพ
เป็นความมั่นคงของอาชีพ ถ้าโรงงานทำของที่มีคุณภาพ หีบน้ำมันได้เยอะขึ้น
ทุกโรงก็ต้องซื้อปาล์มจากเกษตรกรสูงขึ้น ส่งผลกลับไปยังเกษตรกรได้ราคาเพิ่มขึ้น
ทุก 1 เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้น เท่ากับ 30 สตางค์ โรงงานก็ได้น้ำมันเพิ่มขึ้น
แต่ต้นทุนเท่าเดิม”
ต้องยอมรับสาเหตุหนึ่งที่อุตสาหกรรมปาล์มไทยมีต้นทุนสูงจนแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้
ไม่ใช่อยู่ที่ผลผลิตทะลายปาล์ม/ปี/ไร่ ต่ำอย่างเดียว
แต่อยู่ที่คุณภาพน้ำมันปาล์มที่หีบสกัดได้ด้วย การขับเคลื่อนปาล์มคุณภาพของเกษตรกร
และโรงงานหีบสกัด ใน จ.สุราษฎร์ธานี จึงเป็นทิศทางและอนาคตที่ดีของอาชีพสวนปาล์ม
และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของประเทศ
ขอขอบคุณ
ชารียา เหล่าบัณฑิต
บริษัท ธนาปาล์มโปรดักส์ จำกัด
50/1 หมู่ 7 ต.เสวียด อ.ท่าฉาง จ.สุราษฏร์ธานี 84150 โทรศัพท์ 077- 270-999
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น