‘น้ำผึ้ง’ พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล
ทายาททางการเมืองของ ตระกูลพันธุ์วิชาติกุล เธอเป็นนักธุรกิจโรงแรม
และธุรกิจสวนพนมชัย สวนปาล์มเก่าแก่ของ จ.กระบี่
เธอมีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนปาล์มคุณภาพของจังหวัด
เป็นสวนปาล์มแปลงใหญ่ที่เริ่มต้นทำปาล์มคุณภาพในขณะที่ถูกมองว่าทำได้ยากในแปลงใหญ่
แต่เปอร์เซ็นต์น้ำมันมากกว่า 22% ที่สวนพนมชัยทำได้ เป็นเครื่องพิสูจน์ เป้าหมายของเธอไม่ใช่เพียงเพื่อธุรกิจของตัวเองเท่านั้น
แต่เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมนี้
ด้วยบทบาทหน้าที่ที่หลากหลาย
ในวันที่ “ยางปาล์มออนไลน์” พูดคุยกับหญิงเก่งคนนี้ เรื่อง “ปาล์มคุณภาพ” จึงได้มุมมองและแนวคิดในมิติที่ลึกและหลากหลาย เธอเล่าให้เล่าฟังตั้งแต่
“รากปาล์ม” จนถึงนโยบายระดับชาติที่บิดเบี้ยว ซึ่งเธอสะท้อนปัญหา
และแนวทางแก้ไขไว้อย่างชัดเจน
━━━━━━━━━━━━━━━━━
ความเปลี่ยนแปลง 2
ครั้งใหญ่ของสวนพนมชัย เรื่อง เปลี่ยนพันธุ์ปาล์ม และทำปาล์มคุณภาพ
━━━━━━━━━━━━━━━━━
ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจของ
จ.กระบี่ สวนปาล์มพนมชัย เป็นสวนปาล์มเก่าแก่ของ จ.กระบี่ มีอายุกว่า 40 ปี
ที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงมาสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อ 10 ปีก่อน เราต้องปลูกปาล์มรอบที่สอง
หลังจากปาล์มรุ่นแรกที่ปลูกมากว่า 30 ปีแก่ลง เรามองเรื่องการพัฒนาในการทำปาล์มคุณภาพมากขึ้น
ตั้งแต่ เปลี่ยนพันธุ์ปาล์ม เราเองก็มีการคัดเลือกพันธุ์ปาล์มที่มีคุณภาพมาปลูก
โดยเลือกพันธุ์ปาล์มที่เหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย
พันธุ์ที่เราใช้คือ
‘โกลด์เด้นเทเนอร่า’ และ ‘ซีพีไอไฮบริด’ เมื่อก่อนเราปลูกพันธุ์จากมาเลเซีย เพราะวันนั้นไทยเรายังไม่มีพันธุ์ปาล์มที่ดี
แต่ว่าวันนี้เรามีการพัฒนาจนได้พันธุ์ดี จนได้ผลผลิตสูง
เหมาะสมกับสภาพอากาศของประเทศไทย เราก็ควรสนับสนุน
และเจ้าของพันธุ์ก็ยังอยู่ยังคอยดูแล ติดตาม และทำโครงการร่วมกันกับเรา
สวนพนมชัยทยอยปลูกปาล์มใหม่ทดแทนปาล์มเก่าในช่วง
5-10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรุ่นของผู้บริหารสวนพนมชัยรุ่นที่สอง สมัยก่อนการปลูกปาล์มรอบแรกไม่ยาก
เพราะดินอุดมสมบูรณ์สูง จะปลูกอะไรก็ได้ แต่ปาล์มรุ่นแรกเริ่มแก่ผลผลิตลดลง มันก็มีแผนงานให้คิดว่าจะปลูกอย่างไร
จะทำเหมือนปลูกครั้งแรกมั้ย หรือจะทำแบบใหม่
เราพิสูจน์แล้วว่าปาล์มที่ปลูกมา
20-30 ปี มันกินธาตุอาหารในดินไปหมดแล้ว ถึงแม้จะได้พันธุ์ดีอย่างไร
แต่มันปลูกบนดินไม่ดี ก็ไม่เกิดประโยชน์ แล้วเลิกคิดว่าจะเอาพันธุ์ที่ไม่ดีไปปลูกในดินที่ไม่ดีมันเป็นไปไม่ได้เลย
อย่างแรกเลยเราเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุดมีนักวิชาการยืนยัน
ไม่ใช่นำพันธุ์อะไรก็ได้ โดยเฉพาะพันธุ์จากโคนต้นที่เกษตรกรเชื่อว่ามันถูกกว่า แม้ว่าต้นพันธุ์ถูกกว่ากันแค่ต้นละ
20-30 บาท แต่ในระยะยาวไม่คุ้มค่าเลย เพราะกว่าปาล์มจะออกผลผลิตมีต้นทุนประมาณพันกว่าบาท/ต้น
ถ้าคิดว่าซื้อพันธุ์ปาล์มราคาถูกมาปลูก หวังจะลดได้ 20 บาท/ต้น แต่ในระยะยาวจะเสียหายหรือขาดทุนไปอย่างน้อย
20% สำหรับรายได้ในอนาคตเหมือนกัน สู้ยอมซื้อพันธุ์ดีมาปลูกไม่ดีกว่าหรือ
ลดต้นปาล์มได้ 20 บาท แต่กำไรหายไป 2,000-3,000 บาท/ต้น อย่างไหนดีกว่ากัน
นี่คือประเด็นที่ควรจะต้องคิด
━━━━━━━━━━━━━━━━━
ปลูกปาล์มใหม่ในพื้นที่เดิม ควรล้มทั้งแปลง ไม่ควรปลูกแซม
━━━━━━━━━━━━━━━━━
ดินที่ปลูกปาล์มมาเป็นเวลานาน
มันมีรากปาล์มสานกันอยู่ในดินอยู่เต็มไปหมด ถ้าปลูกปาล์มใหม่บนพื้นที่เดิม
หากขุดหลุมเล็กๆ เราพิสูจน์แล้วว่าการเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ วิธีการใหม่
คือเราต้องสร้าง ‘โอเอซิส’ใหม่ให้กับต้นปาล์ม ให้รากใหม่สามารถเดินทะลุทะลวงไปยังพื้นดิน
ไม่ติดรากปาล์มเก่าที่มันสานกันแน่นอยู่ในดิน ดังนั้นการปลูกปาล์มใหม่ในพื้นที่เดิมมันเลยยากและแพงขึ้น
เราต้องใช้รถแม็คโครขุดหลุม เอารากเดิมที่มันอยู่ในดินทำให้ดินร่วนซุย
และทำลายรากปาล์มเก่าก่อนที่จะปลูกใหม่ ซึ่งเป็นวิธีที่เราทำแล้วได้ผลดี
ต้นปาล์มเจริญเติบโตได้เต็มที่
วิธีปลูกปาล์มใหม่แซมสวนปาล์มเก่า
แบบสองแถวเว้นสองแถว เพื่อไม่ให้รายได้หายไประหว่างที่เราปลูกใหม่
มันได้ในแง่ของรายได้ที่ยังคงหล่อเลี้ยง แต่มันเกิดความสูญเสียอย่างรุนแรง เพราะต้นปาล์มไม่สมบูรณ์
เพราะมีรากปาล์มเก่าอยู่เต็มไปหมด ต้นโตช้ากว่าที่มันควรจะเป็น ยังไม่รวมปัญหาของต้นเก่าที่มีด้วงอะไรอีกมากมาย
และต้นปาล์มปลูกใหม่ได้รับแสงไม่เต็มที่ เพราะมีปาล์มเก่าบัง
ในระยะยาวท่อน้ำเลี้ยงอะไรจะไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถทนต่อความแห้งแล้งได้มาก
ขอฟันธงว่าปาล์มรุ่นใหม่ต้องปลูกในพื้นที่ได้รับแสง
100% เท่านั้น การปลูกแซมแบบสองเว้นสอง หรืออะไรที่แย่ไปกว่านั้น
มันไม่เหมาะสำหรับเกษตรกรเลย เพราะผลมันเสียหายร้ายแรง 30-40% เลยนะ เราเป็นทีมแรกๆ ที่ทำ เลยเห็นผลของความเสียหาย ทั้งๆ
ที่มันควรจะดีกว่านี้มาก
ทำไมมันจึงเสียหาย
สมมุติพันธุ์ปาล์มมีศักยภาพออกผลผลิตได้ 5 ตัน/ไร่/ปี แต่ปัจจัยต่างๆ มันไม่ดี ออกได้แค่
3.5 ตัน ผลผลิตมันหายไปเท่าไหร่ ความสูญเสียจากสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องมองให้ออก
━━━━━━━━━━━━━━━━━
ร่วมกระบี่โมเดลเมืองปาล์มคุณภาพ สวนพนมชัยต้นแบบสวนปาล์มแปลงใหญ่ทำคุณภาพ
━━━━━━━━━━━━━━━━━
การเปลี่ยนแปลงครั้งที่สอง
เกิดขึ้นเมื่อ จ.กระบี่ เข้าสู่ ‘กระบี่โมเดล’ พอปลูกปาล์มพันธุ์ดีแล้ว
ทำอย่างไรให้การเก็บเกี่ยวดีสมกับที่เราได้ใช้พันธุ์คุณภาพ สวนปาล์มพนมชัยเป็นสวนแรกๆ
ที่เข้าสู่โมเดลปาล์มคุณภาพของ จ.กระบี่ เราเป็นแปลงทดลอง เป็นห้องทดลอง ในการเก็บเกี่ยวปาล์มคุณภาพ
ให้ชาวบ้านได้เห็นว่าสิ่งที่ทำมันส่งผลกับตัวเกษตรกรอย่างไร และจะมั่นคงอย่างไรในอีกสิบปีข้างหน้า
ข้อหนึ่งที่สำคัญที่จะเริ่มต้นให้เกษตรกรทำปาล์มคุณภาพ
ต้องมีโรงงานต้นแบบที่จะกล้ารับซื้อปาล์มในจำนวนที่ถูกต้องกับเปอร์เซ็นต์น้ำมัน
ซึ่งกระบี่โชคดีที่มี ‘โรงงานเพื่อกระบี่ปาล์มออยล์’ เกิดขึ้น เมื่อก่อนเกษตรกรขายปาล์มได้ราคาจากการคิดน้ำมันที่ 17% ไม่ว่าจะตัดดีตัดเลวก็ได้ราคาเท่ากัน แต่ถ้าตัดปาล์มดีขึ้นเปอร์เซ็นต์น้ำมันมากขึ้น
เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มอย่างน้อย 30 สตางค์ จากเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่เพิ่มขึ้น 1% เขาก็มีแรงจูงใจที่จะพัฒนาปาล์มให้มีผลผลิตที่มีคุณภาพ
แม้เราจะเป็นรายใหญ่
แต่เมื่อจะทำปาล์มคุณภาพ เราก็ต้องเรียนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ต้องพาคนงานไปดูไปศึกษาว่าทำปาล์มคุณภาพเขาตัดปาล์มอย่างไร
โชคดีที่ ‘เพื่อกระบี่ปาล์มออยล์’ ร่วมกับพวกเรา
มาสอนว่าควรดูปาล์มสุกอย่างไร ตัดอย่างไร ถึงได้เปอร์เซ็นต์ที่ดี
ต้องมีทีมงานและผู้จัดการที่มั่นคง เพราะงานมันจะยากมากสำหรับการทำแปลงใหญ่
คำถามหนึ่งเมื่อเรารอตัดปาล์มสุก
ก็กลัวกันว่าปาล์มจะถูกขโมย ชาวบ้านก็เลยคิดว่าดิบบ้างสุกบ้างก็ตัดไป ดีกว่าถูกขโมย
ซึ่งเราจะคิดอย่างนี้ไม่ได้ เมื่อก่อนเกษตรกรตัดดิบบ้างสุกบ้าง
พอไปโรงงานก็หีบได้แค่ 16-17%
ภาพรวมของทั้งโรงงาน ของทั้งประเทศได้น้ำมันต่ำ ประเทศไทยก็เสียหายไปด้วย
และที่สำคัญคือ ไม่ว่าเกษตรกรจะตัดดิบ กึ่งดิบกึ่งสุก หรือ สุก
ขายได้ราคาเดียวกันหมด แต่วันนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว
เป็นนิมิตรหมายที่ดีของเกษตรกร
━━━━━━━━━━━━━━━━━
ตัดปาล์มสุกยาก แต่ต้องอดทน เพราะของดีมันไม่ได้มาง่ายๆ
━━━━━━━━━━━━━━━━━
การตัดปาล์มสุกเปอร์เซ็นต์สูงจะต้องมีลูกร่วงเพิ่มขึ้น
อาจจะลำบากในการเก็บลูกร่วง แต่เราก็ต้องอดทน ‘เพราะของดีมันไม่ได้มาง่ายๆ’ แต่เราก็มาคุยกับคนตัดว่า เมื่อเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ได้สูงขึ้น
เงินที่เราได้เพิ่มขึ้น เราจะมีรางวัลให้กับคนตัด เรายึดตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่
9 ‘เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา’
เราต้องเข้าใจปัจจัยของคนตัด เข้าใจปัจจัยของผู้จัดการ
และเข้าใจตัวเราเองในฐานะผู้ประกอบการว่าคิดอย่างไร และทั้ง 3 ส่วนต้องไปด้วยกัน
ผู้ประกอบการต้องการปาล์มสุก
ขายโรงงาน เปอร์เซ็นต์น้ำมันเพิ่ม ราคาเพิ่ม และพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ
นี่คือความต้องการของเรา ที่นี่คนงานและผู้จัดการเราต้องพาเขาไปดู
ไปเห็นว่าถ้าเขาทำแล้วจะได้ผลตอบแทนอย่างไร มีความมั่นคงอย่างไร ไม่เฉพาะตัวเขา
และหมายถึงลูกหลานในอนาคต
ที่สำคัญเมื่อเราได้กำไรที่เพิ่มขึ้นจากเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่สูงขึ้น
ก็ต้องแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม ถ้าทั้งเดือนตัดปาล์มคุณภาพไม่มีคัดคืนเลย
เราจะมีเงินโบนัสให้ทุกเดือน จริงๆ ‘ผู้จัดการสวน
และคนงานเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ทำให้ปาล์มคุณภาพเกิดขึ้นได้
เราแค่ให้นโยบาย ถ้าเขาไม่ทำก็ไม่สำเร็จ’
การทำปาล์มคุณภาพถูกมองว่ายาก
เมื่อก่อนคิดว่าทำปาล์มคุณภาพทำได้แต่รายย่อย แต่พวกเราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สวนพนมชัย
และสวนพนากิจ ทำปาล์มคุณภาพได้สบายๆ เปอร์เซ็นต์น้ำมันได้ 22.70% เราต้องตั้งใจและทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้
และการมีโรงงานที่ลุกขึ้นมารับซื้อปาล์มคุณภาพ เราก็ต้องให้กำลังใจโรงงาน
จากสวนพนมชัยไปโรงงานเพื่อกระบี่ระยะทางเกือบ 100 กม. แต่เพื่อให้เขายืนได้
ให้เขาเป็นโมเดล พวกเราต้องช่วยกัน ทำให้สำเร็จขึ้นมาให้ได้ เพราะการทำปาล์มคุณภาพ
กำลังจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมปาล์มไทยในทางที่ดีขึ้น
━━━━━━━━━━━━━━━━━
ขบวนการปาล์มคุณภาพเติบโตขึ้น แต่ภาครัฐไม่สนับสนุนจริงจัง
━━━━━━━━━━━━━━━━━
ตอนนี้การทำปาล์มคุณภาพดีขึ้น
แต่ภาครัฐเองไม่มีนโยบายสนับสนุนที่จริงจัง ข้าราชการก็เปลี่ยนไปตลอด
คนใหม่เข้ามานโยบายก็เปลี่ยนไป ทั้งที่เรื่องนี้ต้องมีการวางรากฐานการพัฒนาที่ต้องมองไปข้างหน้าอีกสิบปียี่สิบปี
พวกเราคาดหวังว่าข้าราชการจะมีเจตนาดีในการวางรากฐาน แต่ ‘ในความคาดหวังมันก็ไม่ค่อยมีความหวัง’ เพราะว่าเปลี่ยนคนใหม่ คนเก่าไป
ใหม่มาก็ไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่ เรื่องเหล่านี้มันเลยถูกแทรกแซงโดยโรงงานได้ง่าย
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก
เกษตรกรว่าข้าราชการกับรัฐบาลทุกวันเลย แต่โรงงานดูแลข้าราชการกับรัฐบาล
ในการให้การสนับสนุน แล้วรัฐบาลหรือคนที่มีอำนาจจะฟังใคร
การเข้าสู่อำนาจ การเข้าสู่ข้อมูลต่างๆ มันคนละระดับกัน รัฐบาลลืมเกษตรกร
ขณะที่เกษตรกรเองก็ไม่พัฒนาตัวเอง ขอแต่ราคา สุดท้ายก็ไปไม่ได้
เพราะสุดท้ายก็ต้องเข้า AEC เข้าสู่การแข่งขันเสรี
เราต้องพัฒนาให้ได้น้ำมันคุณภาพสูงขึ้น
นำไปใช้เป็นพลังงานทางเลือกอื่นๆ ‘เราไม่ได้หวังมากมาย
แต่เราหวังในสิ่งที่เราควรจะต้องได้เท่านั้นเอง’ ทางรอดทางเดียวคือ เกษตรกรต้องทำปาล์มให้มีคุณภาพ ควบคู่กับต่อสู้ให้เกิดความเป็นธรรม
เรากำลังมองถึงระบบที่ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน
━━━━━━━━━━━━━━━━━
ปาล์มคุณภาพจะเกิด โรงงานต้องไม่ซื้อปาล์มดิบ
━━━━━━━━━━━━━━━━━
โมเดลของปาล์มคุณภาพกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว
เกษตรกรต้องทำกันทุกคน เรามีโรงงานที่เป็นต้นแบบ อย่างโรงงานเพื่อกระบี่ แต่ถ้ามีแค่โรงเดียว
ก็เดินไปต่อไม่ได้อยู่ดี ตอนนี้ทุกฝ่ายกำลังปรับตัว โดยเฉพาะเกษตรกรก็พร้อมที่จะปรับตัว
แต่วาทะกรรมที่ถูกสร้างขึ้นให้คิดว่า เกษตรกรไม่ปรับตัวเพื่อทำปาล์มคุณภาพ ยังตัดปาล์มดิบ
มันเป็นเพียงวาทะกรรมที่ใช้หลอก คำถามก็คือ มันยังมีลานเท ยังมีโรงงานที่ซื้อปาล์มดิบ
เกษตรกรมีที่ขาย สินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่ำ เป็นราคาเสนอซื้อ
ไม่ใช่ราคาเสนอขาย อำนาจอยู่ที่ผู้ซื้อ พอราคาตกต่ำก็สร้างให้เกษตรกรหมู่น้อยๆ
ที่ไม่เข้าใจ เข้าใจเป็น Post-Truth (ความจริงไม่สำคัญ) ว่า
การทำปาล์มคุณภาพจะทำให้ทุกอย่างมันมีปัญหา มันจะทำให้น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น และราคาจะตกต่ำ
จริงๆ มันมาจาก ‘ความคิดที่พิการ’ แล้วมาใส่ร้ายเกษตรกร ถามว่า เกษตรกรตัดปาล์มดิบจริงมั้ย ตัดดิบจริงๆ
เพราะคุณซื้อของดิบงัย ถ้าคุณซื้อของสุก เกษตรกรเขาก็ตัดปาล์มสุก
มนุษย์ทุกคนทำทุกอย่างตามความถูกต้องตาม ‘ลอจิก’ มีความฉลาดเฉลียวในการปรับตัวให้เข้ากับโลก ถ้าคุณซื้อของดีราคาสูง
ทุกคนก็ทำของดีแน่นอน แต่คุณจะซื้อของดีราคาถูก แล้วใครจะทำ...?
วิธีการคือ
รัฐบาลต้องให้นโยบายที่ชัดเจน อย่าให้น้ำเสียไหลลงมาคลุมน้ำดีหมด อย่างโรงงานดีๆ
สนับสนุนเขา ให้เงินกู้เขาไปขยาย ไปพัฒนาโรงงาน โรงงานไหนที่ทำปาล์มคุณภาพไม่ได้
ก็ปิดซะสิ เพราะเกษตรกรคนไหนที่ทำปาล์มไม่ได้เปอร์เซ็นต์ตามที่กำหนด โรงงานก็ต้องไม่รับซื้อเหมือนกัน
แต่กลายเป็นว่า ‘เอาความเลวร้ายทั้งหมดมาลงที่เกษตรกร’ ซึ่งมันไม่ถูก
━━━━━━━━━━━━━━━━━
สถานการณ์ราคาปาล์มตกต่ำ กำลังสร้างให้เกษตรกรเป็น ‘ผู้ร้าย’
━━━━━━━━━━━━━━━━━
บริบทต่างๆ
คุณกำลัง ‘สร้างให้เกษตรกรเป็นผู้ร้าย’ อย่างการเรียกร้องราคาปาล์มน้ำมันที่กระบี่ เกษตรกรเดือดร้อนเพราะราคาปาล์มตกต่ำ
แต่รัฐไม่มีมาตรการแก้ไข จนเกษตรกรรวมตัวกันประท้วง พอประท้วงรัฐถึงจะส่งคนมาเจรจา
สุดท้ายเกษตรกรก็เผาหุ่นหน้าศาลากลาง พอเผาหุ่นราคาก็ขึ้น แปลว่าอะไร
ถ้าเผาหุ่นแล้วราคาขึ้นได้ก็แปลว่าคุณกำหนดราคาได้ ถ้างั้นก็ต้องเผาทุกวัน คุณกำลังทำให้เกษตรกรเป็นผู้ร้าย
แล้วใครเป็นคนทำให้เกษตรกรเป็นผู้ร้าย ภาครัฐใช่หรือเปล่า…?
ที่ผ่านมาการนำเข้าน้ำมันถั่วเหลือง
การปรับใช้น้ำมัน B5, B7 ความไม่เป็นธรรมในระบบซื้อขายทะลายปาล์ม การเช็กสต็อกที่หละหลวม ปัญหาเหล่านี้เกิดจากนโยบายของรัฐ ที่ไม่รับฟังเกษตรกร ไม่เข้าใจสถานการณ์ คือตอนนี้เกษตรกรและโรงงานเขาทันสมัยแล้ว
คนที่ล้าหลังและตามไม่ทันก็คือภาครัฐ ภาครัฐระดับล่างๆ เข้าใจแล้ว
ที่ยังไม่เข้าใจคือ ภาครัฐข้างบน คนที่พูดไม่รู้เรื่องคือระดับรัฐมนตรี
ข้อมูลไปถึงแค่รองอธิบดีบางคนเท่านั้นแล้วก็จบอยู่แค่นั้น
━━━━━━━━━━━━━━━━━
ปาล์มคุณภาพ จะสร้างระบบที่เป็นธรรม
━━━━━━━━━━━━━━━━━
การทำปาล์มคุณภาพ
เราหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะทำให้เรามีความหวังมากขึ้น
เราหวังว่าการแข่งขันบนดินที่เท่ากัน บนทรัพยากรที่ดี ที่มีอยู่อย่างจำกัด
เรามีความสามารถเพิ่มผลผลิตได้หลายเท่า เมื่อผลผลิตมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
โรงงานก็จะมีความเสถียรขึ้น หีบปาล์มได้น้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนน้ำมันปาล์มก็ต่ำลง
ทุกคนก็ดีหมด เกษตรกรขายปาล์มได้ราคา
ทุกวันนี้ต้นทุนหีบน้ำมันของโรงงานแพงมาก
จึงต้องมากดราคาที่เกษตรกร แต่ถ้ามันเกิดความเป็นธรรม แบ่งประโยชน์ที่เป็นธรรม
ส่วนหนึ่งที่โรงงานได้กำไร เพราะต้นทุนต่ำ ก็จะกลับมาสู่เกษตรกรเองแหละ
เพราะฉะนั้นที่โรงงานขาดทุนนี่ เพราะปริมาณปาล์มเข้าระบบการผลิตไม่พอ แต่เครื่องจักรเดินเท่าเดิมต้นทุนก็สูง
ถ้าเราสามารถฟีดให้โรงงานเดินเครื่องได้เพียงพอ มีระบบที่ดี
โรงงานที่ไม่ดีก็ต้องเจ๊งไป ตามระบบ คนแพ้ก็ต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เราต้องทำปาล์มคุณภาพเท่านั้น
เพราะปาล์มคุณภาพคือทางออกของเกษตรกรไทยตอนนี้
ขอขอบคุณ
พิมพ์รพี
พันธุ์วิชาติกุล
Advertising
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น