กยท. โต้กระแสข่าว บริษัทยางล้อรายใหญ่ไม่ซื้อยางจากพื้นที่บุกรุก ยืนยันไม่กระทบไทย
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึง กระแสข่าวในโลกโซเชียลที่ระบุว่าบริษัทยางล้อรายใหญ่มีแผนไม่รับซื้อยางพาราจากประเทศที่ปลูกยางในพื้นที่บุกรุกว่า เป็นกระแสข่าวเก่าที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2559 จึงไม่อยากให้ตื่นตระหนก
เนื้อหาข่าวกล่าวถึงประเทศทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงประเทศไทย ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนี้จะไม่กระทบแน่นอน เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กยท. มีการเตรียมแผนรองรับและดำเนินการแล้ว คือ การสนับสนุน ส่งเสริม ให้ความรู้กระตุ้นให้เกษตรกรชาวสวนยางที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กยท. เห็นถึงความสำคัญและโอกาสของการพัฒนาสวนยางไปสู่มาตรฐานระดับสากล เช่น มาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) เพื่อเพิ่มมูลค่าไม้ยาง รักษามาตรฐานคุณภาพ และขยายฐานตลาดส่งออก
มาตรฐาน FSC เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ปี 2559 โดยนำร่องในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ปัจจุบันมีผู้ร่วมโครงการกว่า 2,700 ราย รวมพื้นที่กว่า 40,000 ไร่ การดำเนินการจะเน้นการอบรมให้เกษตรกรได้รับความรู้เกี่ยวกับการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน FSC มีการสำรวจตรวจแปลง และเตรียมเรื่องการตรวจรับรอง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 9 เดือน จึงคาดว่าประมาณเดือนกันยายนนี้จะมีพื้นที่นำร่องพื้นที่แรก
จากนั้นจะมีการขยายผลต่อในช่วงเดือนสิงหาคมอีกประมาณ 50,000 ไร่ ในเขตภาคตะวันออก (ตราด จันทบุรี ระยอง) และในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางอีกประมาณ 50,000 ไร่ (นครศรีธรรมราช ตรัง กระบี่)
ภายใน 3 ปีคาดว่า การผลักดัน และบริหารการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากลจะครอบคลุมพื้นที่สวนยางของเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ทั้งหมด
ฉะนั้น ปัญหาเรื่องบริษัทยางไม่รับซื้อยางจากประเทศที่ไม่ได้รับการรับรอง จึงไม่มีผลต่อประเทศไทย เพราะสามารถมั่นใจได้ว่าสวนยางที่ปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กยท. เป็นสวนยางที่มีแหล่งที่มาถูกต้องชัดเจน
โดยจะเน้นดำเนินการในรูปแบบแปลงใหญ่ ผ่านสถาบันเกษตรกร เพราะ กยท. มองว่า สถาบันเกษตรกรเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และให้สถาบันเกษตรกรทำหน้าที่ในการเก็บรวบรวมผลผลิตของเกษตรกรสมาชิกที่ได้รับรองมาตรฐาน ซึ่งจะได้ผลผลิตที่เป็นการรับรองจาก FSC
ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าสู่ระบบของ FSC ซึ่งเทียบเท่ากับระบบให้การส่งเสริมปลูกแทนของ กยท. แต่ประเด็นการจัดการสวนยางแบบยั่งยืนจะมีการตรวจสอบรายงานย้อนกลับ รวมไปถึงเรื่อง สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพที่เพิ่มเติมเข้ามา
โดยมุ่งเน้นให้มีการจัดการสวนยางให้เกิดความสมดุลทั้ง 3 ด้าน คือสิ่งแวดล้อม ชุมชนสังคม หรือเศรษฐกิจ จะได้ประโยชน์ในเรื่องของมูลค่าของผลิต ทั้งที่เป็นน้ำยางและสิ่งที่ไม่ใช่ยาง ซึ่งหมายถึงไม้ยางด้วย ซึ่งสามารถผลักดันให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 10% ของมูลค่าที่มีการซื้อขายอยู่ทั่วประเทศ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันการผลิตและการแข่งขันทางการตลาดสู่กับต่างประเทศได้
Advertising
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น