ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

ไม่สาย ถ้าคิดจะเริ่มต้น สวนปาล์มมือใหม่ หัดทำปาล์มคุณภาพ ได้น้ำมัน 20%

ไม่มีคำว่า “สาย” สำหรับ “การเริ่มต้น” เช่นเดียวกับไม่มีคำว่า “สาย” หากจะเริ่มต้นทำ “ปาล์มคุณภาพ”

สัณฐ์ สรรเพชรรัตน์ เจ้าของสวนปาล์ม อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ที่เข้ามาบริหารสวนปาล์มด้วยสถานการณ์ “จำเป็น” และด้วยเป็นชาวสวนมือใหม่ไม่มีความเชี่ยวชาญ ทำผิด ทำถูกมาโดยตลอด 7-8 ปี ก่อนจะค้นหาทางออกด้วยการทำปาล์มคุณภาพ แม้จะเริ่มต้นได้ 2-3 เดือน  แต่ก็ไม่สาย หากจะเริ่มต้น

“พ่อผมเสียตอนผมเรียนปีสี่ ก็เหมือนไฟท์บังคับที่ต้องเข้ามาดูแลสวน แต่ผมก็ทำงานหลายอย่าง เปิดร้านป้ายไวนิล แล้วก็ธุรกิจรถไถรับตัดหญ้ารับไถดิน เพราะตอนนั้นผมไม่ได้คิดอยากจะทำสวนเลย แต่สุดท้ายก็ต้องทำเต็มตัว เพราะพี่สาวพี่ชายเขาก็เป็นข้าราชการกันหมด” สัณฐ์เล่าที่มาของการเป็นชาวสวนปาล์มยามจำเป็น

เขาบอกว่าคอบครัวมีสวนปาล์มทั้งหมด 150 ไร่ เป็นปาล์มอายุตั้งแต่ 2 ปี ถึง 15 ปีขึ้นไป นับตั้งแต่เข้ามาดูแลสวนปาล์มเขายอมรับว่าหลงทางอยู่นาน เพราะไม่มีความรู้นัก อาศัยว่าใส่ปุ๋ยเยอะๆ ตามที่ร้านค้าแนะนำ และมักจะจดจำว่าถ้าใส่ปุ๋ยเยอะ ผลผลิตจะเยอะตาม เขาใส่มากถึง 9 กก./ต้น/ปี แต่ผลที่ได้คือ ผลผลิตไม่ถึง 2 ตัน/ไร่/ปี

ช่วงแรกที่พ่อทำดินดีมาก แทบไม่ต้องใส่ปุ๋ยเลย ปาล์มก็ออกเรื่อยๆ จำได้ว่าสมัยที่พ่อทำปาล์มแปลงใหญ่ 80 ไร่เคยได้ถึง 30 ตัน/รอบตัด แต่ตอนผมทำได้ไม่ถึง 20 ตัน ทั้งที่ใส่ปุ๋ยเยอะกว่าด้วย สมัยพ่อใส่อินทรีย์ พวกขี้ไก่ ขี้ค้างคาว แต่ผมเอง ไม่รู้อะไรเลย  เหมือนต้องมาเรียนรู้ใหม่ ก็เลยเริ่มสังเกตว่าแบบนี้มันไม่ใช่แล้ว เราต้องเดินทางผิดตรงไหนสักทางแน่ๆ


หลังจากนั้นเขาเริ่มหาความรู้เรื่องการจัดการสวนปาล์มจากตำรา จากในกลุ่มเฟซบุ๊คปาล์มน้ำมัน จนได้แนวทางว่าไม่ใช่แค่การใส่ปุ๋ยเคมีที่มีแต่ธาตุอาหารหลัก NPK เท่านั้น แต่ต้องเสริมด้วยธาตุอาหารรอง อย่าง โบรอน และแมกนีเซียมด้วย

จากนั้นต้องปรับเปลี่ยนวิธีให้ปุ๋ยจากที่เคยหว่านรอบต้น ซึ่งมักจะสูญเสียไปกับน้ำ เพราะพื้นที่เป็นเนินเขา ดินไม่สามารถกักเก็บปุ๋ยได้ในหน้าฝน จึงปรับมาสร้างกองทางแบบปูกระจายทั่วสวนให้ย่อยสลายกลายเป็นอินทรียวัตถุ และช่วยกักเก็บปุ๋ยและความชื้นได้อย่างดี

เห็นเขาปูทางกันเราก็นำมาดัดแปลงทำในสวนบ้าง เพราะสวนเป็นภูเขา ถ้าเราไม่ทำกองทางไว้ น้ำจะชะหน้าดินเอาปุ๋ยเอาธาตุอาหารไปหมด พอมีกองทางจะช่วยชะลอการไหลของน้ำและเก็บธาตุอาหารไว้ในดิน เวลาใส่ปุ๋ยเราก็หว่านในกองทางนั้นเลย

แต่อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการสวนเขาเพิ่มเริ่มทำได้ 3-4 เดือน จะต้องใช้ระยะเวลา 2 ปีกว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่เขาเชื่อว่าถ้าทำอย่างต่อเนื่องความสมบูรณ์และผลผลิตจะเป็นไปในทางที่ดี


แต่เรื่องที่สามารถทำแล้วเห็นผล เห็นการเปลี่ยนแปลงก็คือ การหันมาตัดปาล์มสุกคุณภาพ เขามองว่าเป็นงานสำคัญที่ต้องศึกษาและทำอย่างเร่งด่วน

อยากลองทำครับ เพราะผมดูคร่าวๆ แล้วราคามันต่างกันถ้าเราตัดปาล์มสุก ทีนี้เราก็ต้องลองดูว่าถ้าเปลี่ยนมาตัดปาล์มสุก บวก ลบ คูณ หาร แล้วมันได้คุ้มไหมถ้าไม่ลองมันก็ไม่รู้ บวกกับ เรื่อง พ.ร.บปาล์มน้ำมัน ที่จะออกมาเขาห้ามตัดปาล์มดิบ ผมมองดูทิศทางแล้วเกษตรกรต้องตัดปาล์มสุกเท่านั้น อนาคตมันต้องเป็นแบบนี้อยู่แล้ว ถ้าเราได้เริ่มก่อนมันก็ดีกว่

สัณฐ์ โชคดีที่อยู่ใกล้กับโรงงานเพื่อกระบี่ปาล์มออยล์ ที่เปิดรับซื้อปาล์มคุณภาพ เขาเข้าไปสอบถามโรงงานว่าปาล์มสุกต้องตัดอย่างไร ถึงจะได้เปอร์เซ็นต์สูงตามที่โรงงานต้องการ

ผมไปขอให้เขาเข้ามาดูที่สวน แนะนำคนตัดว่าต้องตัดแบบไหน ตัดเฉพาะทะลายที่มีลูกร่วงตั้งแต่ 1 ลูกขึ้นไปเท่านั้น และต้องเก็บแยกลูกร่วงไปด้วย
แต่ปัญหาของการตัดปาล์มสุกสำคัญที่สุดก็คือ คนตัดปาล์ม เพราะปกติคนตัดปาล์มจะเป็นทีมจากภายนอก มักจะตัดปาล์มตามความเคยชิน จึงได้ทะลายดิบบ้างสุกบ้าง ไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ จึงต้องทำความเข้าใจทุกรูปแบบ ทั้งขอร้อง กดดันให้คนตัดปรับไปเรื่อยๆ รวมถึงปัจจัยสำคัญคือ สร้างแรงจูงใจด้วยการเพิ่มค่าจ้างตัดครั้งละ 300-600 บาท

เพราะงานที่จะเพิ่มขึ้นมาสำหรับการตัดปาล์มสุกคือ งานเก็บลูกร่วงทีมตัดต้องเพิ่มคน 1-2 คนสำหรับเก็บลูกร่วงโดยเฉพาะ จนได้คุณภาพตามที่ควบคุม สามารถหีบสกัดได้น้ำมัน 20% ขึ้นไป ขายได้ราคาเพิ่มกว่าราคาปกติ (น้ำมัน17%) อย่างน้อย 60 สตางค์/กก.

เรายังมีปัญหาวันตัดอีกนิดหน่อย เพราะคนตัดเราต้องจ้างเขา เขาก็รับตัดที่อื่นด้วย โดยจะเข้ามาตัดที่สวนทุกๆ 15 วัน แต่ปัญหาคือ จะมีปาล์มจำนวนหนึ่งที่สุกจนมีลูกร่วงมาก เรากำลังจะปรับเวลาตัดให้เร็วขึ้น ไม่ให้ลูกร่วงเยอะเกินไป

แต่อีกปัญหาหนึ่งสำหรับคนทำปาล์มคุณภาพ ที่เหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่เสมอ คือ เรื่อง “โจรขโมยปาล์ม” เพราะการตัดปาล์มสุกจะมีปาล์มอยู่จำนวนหนึ่งที่สุกหรือใกล้สุกแต่ไม่มีลูกร่วง ต้องเว้นไว้ตัดรอบถัดไปอีก 15 วัน บางแปลงไม่มีคนงานเฝ้าก็จะมีโจรมาขโมยตัด ทางแก้เดียวก็คือต้องหาคนมาเฝ้า และตัดปาล์มถี่ขึ้นเป็นทุกๆ 10 วัน 
สวนปาล์มกว่า 150 ไร่ ปลูกปาล์ม “พันธุ์สุราษฎร์ธานี”  ของกรมวิชาการเกษตร
ตอนนี้เราจับทางได้แล้ว ก็มีความหวัง เราทำปาล์มคุณภาพน้ำมันสูง ขายได้ราคาสูงกว่าเกษตรกรทั่วไป เปอร์เซ็นต์น้ำมันที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1% จะได้ราคาเพิ่มขึ้น 30 สตางค์/กก. มันเป็นแรงจูงใจให้เราทำปาล์มคุณภาพ คนตัดเขาก็ยินดีทำเพราะได้ค่าจ้างตัดเพิ่มขึ้น ถ้าบริหารจัดการสวนให้ดี ลดต้นทุนในส่วนที่ไม่จำเป็น ซึ่งพวกนี้เราสามารถควบคุมได้ ตัวอย่างที่เราทำได้ก็อย่างลดต้นทุนปุ๋ยอินทรีย์ เราใบทางใบปูมันก็ย่อยสลายกลายเป็นอินทรีย์ ถ้าทำต่อเนื่องสะสมไปเรื่อยๆ เราก็ไม่ต้องซื้อขี้ไก่กระสอบละ 25-30 บาท ปีหนึ่งลดต้นทุนได้เยอะนะ

สัณฐ์ สรรเพชรรัตน์ คือ ตัวอย่างของเกษตรกรที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการทำสวนปาล์มจากเดิมที่ลงทุนสูง ผลผลิตต่ำ เปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำ มาทำปาล์มคุณภาพ ตั้งแต่การจัดการสวน และการตัดปาล์มคุณภาพ แม้ว่าวันนี้ภาพของผลผลิตจะยังไม่เห็นผล แต่อย่างน้อยเรื่องของคุณภาพน้ำมันที่สูงมากกว่า 20% คือ ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน

ขอขอบคุณ
สัณฐ์ สรรเพชรรัตน์
อ.คลองท่อม จ.กระบี่ โทรศัพท์ 092 996 1555


- Advertisement -

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม