การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับ
กระทรวงพาณิชย์ นำสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 22 แห่ง
เข้าร่วมจับคู่ธุรกิจกับผู้ซื้อยางและผลิตภัณฑ์ยาง กว่า 100 ราย จาก 25 ประเทศทั่วโลก ขยายลู่ทางการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางของไทยสู่ตลาดต่างประเทศ
พร้อมทั้งเร่งหาตลาดใหม่ให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง
นางอภิรดี
ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
เผยว่า การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นโอกาสในการพบปะระหว่างผู้นำเข้าและผู้ผลิต
ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศไทย โดยมีผู้นำเข้าจาก 25 ประเทศ 106 ราย จากทั่วโลก
ทั้งจากประเทศโซนเอเชีย ได้แก่ ประเทศจีน อินเดีย บังกลาเทศ
ประเทศโซนเอเซียตะวันออกกลาง เช่น ประเทศซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และโซนยุโรป
ได้แก่ ฮังการี เนเธอร์แลนด์ รวมถึงสหรัฐอเมริกา และประเทศโซนทวีปแอฟริกา
ดร.ธีธัช
สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย
กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงพาณิชย์
โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ที่เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการกิจการยางทั้งสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และภาคเอกชน
ได้ร่วมเจรจาจับคู่ธุรกิจในครั้งนี้
นับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางการตลาดใหม่ให้กับผู้ประกอบกิจการยางพารา เพราะส่วนมากมาจากประเทศผู้ซื้อจากทั่วโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศโซนเอเชียตะวันออกกลางและยุโรป ซึ่ง กยท.
ได้นำตัวแทนสถาบันเกษตรกรที่แปรรูปและผลิตยางพาราที่มีมาตรฐานและมีศักยภาพมาพบปะกับผู้ชื้อและนำเข้าจากทั่วโลก
บรรยากาศภายในห้องเจรจาวันนี้มีความคึกคัก ผู้ซื้อให้ความสนใจยางพาราของไทยที่มีคุณภาพ แสดงให้เห็นว่าพื้นฐานความต้องการใช้ยางพาราในตลาดยังคงมีสูงมาก การเจรจาในชั่วโมงแรก สหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด ปิดยอดขายเบื้องต้นไป 200 ตัน/เดือน สหกรณ์ยางพาราเนินดินแดงตราด จำกัด ปิดยอดขายหมอนเบื้องต้นกับทางประเทศจีนประมาณ 200,000 ใบ/เดือน และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ กำลังเจรจาซื้อขายน้ำยางกับประเทศอินเดีย
"พื้นฐานความต้องการใช้ยางพาราในตลาดยังคงมีสูงมาก เห็นได้ชัดว่าการจับคู่ธุรกิจในวันนี้ ผู้ซื้อจากต่างประเทศให้ความสนใจสั่งซื้อยางจากไทยซึ่งเป็นยางที่มีคุณภาพ โดยวันนี้ได้ถือโอกาสเปิดตัวยางที่ได้มาตรฐานซึ่งสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางต่างๆ พยายามเร่งผลักดันเพื่อให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพาราของตนเองผ่านมาตรฐาน GMP ที่กำหนดไว้ เพื่อเน้นการแข่งขันกันด้านคุณภาพมากว่าการแข่งขันด้านราคา ถือเป็นการขยายลู่ทางการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางของไทยสู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมทั้งเร่งหาตลาดใหม่ให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง อย่างไรก็ตาม กยท. จะเข้าร่วมประชุมสภาไตรภาคียางพารา ร่วมกับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ในปลายสัปดาห์นี้ และจะมีการประชุมในระดับรัฐมนตรีต่อไป ในวันที่ 15 กันยายนนี้" ผู้ว่าการ กยท. กล่าว
ด้าน นางสาวรวีพลอย ยุทธเจริญกิจ
ผู้จัดการฝ่ายการตลาด สหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัดกล่าวว่า สหกรณ์บ่อทองได้เข้าร่วมจับคู่ธุรกิจกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอยู่เป็นประจำ
และทุกครั้งจะได้ผลตอบรับที่ดี และได้ลูกค้าใหม่ๆ เสมอ
เดิมทีลูกค้าหลักจะเป็นผู้นำเข้าจากประเทศจีน
แต่ในครั้งนี้จะเน้นหาลูกค้าในโซนยุโรปเป็นการเปิดตลาดใหม่ ซึ่งได้พูดคุยกับผู้ซื้อจากเยอรมัน
และฮังการี ที่ให้ความสนใจในตัวสินค้าของทางสหกรณ์บ่อทอง เมื่อผู้ซื้อทราบว่าเราเป็นชาวสวนยางเอง
เกิดความพอใจเนื่องจากมีความต้องการที่จะซื้อจากผู้ผลิตโดยตรงที่เป็นต้นทางจริงๆ
ซึ่งมีความต้องการที่ตรงกัน เนื่องจากสหกรณ์บ่อทองเองต้องการขายกับผู้ซื้อโดยตรงเช่นกัน
สินค้าที่ทำการขายได้ในช่วงแรกของวันนี้
ได้แก่ ยางแผ่นรมควันชั้น 1 และชั้น 3 เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ และส่วนประกอบของรถ
ถึงแม้ว่าปริมาณการซื้อของลูกค้าจากโซนยุโรปจะไม่เยอะมากเท่ากับทางประเทศจีน
แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการเพิ่มจำนวนคู่ค้ารายใหม่ๆ ซึ่งประเทศเยอรมัน
สั่งซื้อสินค้าประมาณ 50 ตันต่อเดือน ส่วนฮังการี สนใจใน STR
20 RSS 3 น้ำยางข้น STR 10 STR 5L STR 3L ในส่วนของยางแผ่นรมควันขณะนี้มียอดสั่งซื้อประมาณ 200 ตัน และกำลังรอลูกค้ายืนยันการสั่งซื้อซึ่งจะมีเพิ่มเติมมาอีกในการเจรจาช่วงต่อไปในงานนี้
Advertising
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น