ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

แมกนีเซียม สำคัญต่อผลผลิตปาล์มน้ำมันอย่างไร

แมกนีเซียม เป็นธาตุอาหารหลักที่สำคัญของปาล์มน้ำมัน เป็นองค์ประกอบของโมเลกุลคลอโรฟิลล์ ที่ทำให้พืชสามารถใช้พลังงานแสงสร้างคาร์โบไฮเดรทเพื่อการเจริญเติบโต ซึ่งปริมาณแมกนีเซียมในคลอโรฟิลล์มี 15-20%

นอกจากนั้นแมกนีเซียมยังช่วยเร่งปฏิกิริยาของเอนไซม์ในพืช โดยเฉพาะพลังงานในกระบวนการสร้างเมตาโบลิซึมต่างๆ ของพืช และยังเกี่ยวข้องกับกระบวนการการสร้างแป้ง โปรตีนและกรดไขมัน จึงมีความสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นและลดลงของผลผลิตปาล์ม 

ถ้าต้นปาล์มได้รับแมกนีเซียมไม่เพียงพอจะทำให้สร้างน้ำมันน้อยลง ผลผลิตน้ำมันในผลปาล์มลดลง ซึ่งจะเกิดขึ้นก่อนที่ต้นปาล์มจะแสดงอาการขาดแมกนีเซียมให้เห็นที่ใบเป็นระยะเวลานาน
อาการขาดแมกนีเซียม
ใบย่อยด้านบนของทางใบ ที่ได้รับแสงจะมีสีเหลืองอมส้ม ในขณะที่ใบย่อยด้านล่างจะมีสีเขียว
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ความต้องการของแมกนีเซียมของปาล์มน้ำมัน
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
อาการขาดแมกนีเซียมปาล์มน้ำมัน ใบย่อยด้านบนของทางใบ ซึ่งได้รับแสงมากจะมีสีเหลืองอมส้ม ในขณะที่ใบย่อยซึ่งอยู่ ด้านล่างยังคงมีสีเขียว

แต่การดูลักษณะต้นปาล์มแสดงออกว่าขาดแมกนีเซียมนั้น ไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการบอกปริมาณปุ๋ยแมกนีเซียมที่ต้นปาล์มต้องการได้ เมื่อปาล์มแสดงอาการขาดแมกนีเซียมให้เห็นแสดงว่าได้รับแมกนีเซียมไม่เพียงพอมาเป็นเวลานานแล้ว และผลผลิตได้ลดลงแล้วเช่นกัน

การป้องกันมิให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ทำได้โดยเก็บใบปาล์มมาวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อใช้ในการจัดการควบคุมระดับธาตุอาหารได้อย่างเหมาะสม

ระดับแมกนีเซียมในใบปาล์มที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของปาล์มมีค่าอยู่ระหว่าง 0.3-0.4% ปาล์มจะแสดงอาการขาดแมกนีเซียมเมื่อปริมาณแมกนีเซียมในทางใบที่ 17 ต่ำกว่า 0.2%

อย่างไรก็ตามนักวิชาการในสวนปาล์มจำเป็นต้องเลือกเก็บทางใบที่ 17 ให้ถูกต้อง การเก็บตัวอย่างใบผิดพลาดจะมีผลทำให้ค่าวิเคราะห์ที่ได้ไม่สามารถจะนำมาใช้ประโยชน์ในการแนะนำการใช้ปุ๋ย

ทั้งนี้เพราะค่าวิเคราะห์ทางเคมีในทางใบที่ 17 (สำหรับปาล์มมีอายุเกิน 3 ปี) เท่านั้น ที่มีความสัมพันธ์กับผลผลิตปาล์ม จากการศึกษาปริมาณความต้องการแมกนีเซียมในปาล์มน้ำมัน อายุระหว่าง 1-10 ปี (หลังปลูก) พบว่าปาล์มเมื่อมีอายุ 1-4 ปี จะมีความต้องการแมกนีเซียมน้อยกว่าเมื่อมีอายุมากขึ้น ปาล์มอายุ 5-10 ปี ต้องการแมกนีเซียมในระดับ 8-9.6 กก./ไร่ (หรือประมาณ 400-480 กรัม/ต้น/ปี) และจะต้องการในปริมาณนี้อย่างสม่ำเสมอ

 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
การใส่แมกนีเซียม
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ในประเทศไทยพบว่าดินขาดธาตุแมกนีเซียมอย่างรุนแรง (0.08-0.8 มิลลิกรัม/100 กรัม ดินในรูปที่แลกเปลี่ยนได้) ชุดดินที่พบว่าขาดแมกนีเซียม ได้แก่ ดินชุดสงขลา ชุดภูเก็ต และชุดคอหงส์ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ดินเหล่านี้ขาดธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่ทำสวนและมีการใส่ปุ๋ยดังกล่าวในระดับสูงเพื่อเพิ่มผลผลิต จะมีผลทำให้พืชมีความต้องการพวกธาตุอาหารรอง ได้แก่ แมกนีเซียมและกำมะถันเพิ่มขึ้น

พืชดึงดูดแมกนีเซียมจากดินได้ดีเมื่อแมกนีเซียมที่ใส่ลงไปในดินอยู่ในรูปของอิออน (Mg2+) ที่ละลายน้ำได้และอยู่ในสารละลายของดิน อย่างไรก็ตามพืชจะใช้แมกนีเซียมได้ดีมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้

1. ความเป็นกรดของดิน : ดินกรดทำให้พืชใช้แมกนีเซียมได้น้อยลง
2. ความชื้นของดิน : ถ้าดินมีความชื้นต่ำ ความเป็นประโยชน์ของแมกนีเซียมในดินจะลดลง ด้วยเหตุนี้จึงมักจะพบอยู่เสมอว่าพืชจะแสดงอาการขาดแมกนีเซียมในฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง การขาดจะรุนแรงมากขึ้นถ้าพืชได้รับโปแตสเซียมไม่เพียงพอ

ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นจะต้องมีการใส่แมกนีเซียมในช่วงเวลาที่เหมาะสม กล่าวคือช่วงก่อนฤดูฝน ในทางปฏิบัติปุ๋ยที่ให้แมกนีเซียมที่สำคัญ มี 2 ชนิดคือ

แมกนีเซียมที่อยู่ในรูปซัลเฟต คีเซอร์ไรท์ ( MgSO4 H2O ) ให้แมกนีเซียม 27% และให้กำมะถัน 23 เปอร์เซ็นต์

แมกนีเซียมที่อยู่ในรูปคาร์บอเนต ซึ่งเป็นปูน ได้แก่ โดโลไมท์ ( MgCO3+CaCO3 ) ให้แมกนีเซียม 2-20% และให้แคลเซียม 30-47%

ดินภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นดินกรด มีปริมาณแมกนีเซียมในดินต่ำ ปาล์มที่ปลูกในภาคใต้ส่วนใหญ่แสดงอาการขาดแมกนีเซียม ดังนั้นจึงควรมีการให้แมกนีเซียมโดยใช้คีเซอร์ไรท์หรือใช้ปูนโดโลไมท์ ซึ่งจะใช้ชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของดินและความเหมาะสม
  ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
แนวทางการแก้ไขต้นปาล์มขาดแมกนีเซียมเบื้องต้น
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ใช้คีเซอร์ไรท์ อัตรา 1.5 - 2.0 กิโลกรัม/ต้น/ปี
ในดินที่เป็นกรด อาจใช้โดโลไมท์ อัตรา 2.0 กิโลกรัม/ต้น/ปี ได้ แต่จะให้ผลช้ากว่าการใช้คีเซอร์ไรท์

ในบางสภาพของสวนปาล์ม อาทิ สวนปาล์มที่ปลูกในดินกรด ควรจะมีการใส่แมกนีเซียมในทั้ง 2 รูปสลับกันไป เพราะแมกนีเซียมในรูปคาร์บอเนตจะช่วยลดความเป็นกรดของดินลงได้ด้วย จะช่วยทำให้ธาตุอาหารพืชตัวอื่นที่มีอยู่ในดินละลายออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชได้มากขึ้น อาทิ ธาตุฟอสฟอรัส เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การที่จะใช้ปุ๋ยในรูปใดนั้นอาจจะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นที่มีส่วนทำให้พืชเกิดการขาดแมกนีเซียมด้วย การเลือกใช้ชนิดของแมกนีเซียมที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สวนปาล์มที่ให้ผลผลิตสูงจำเป็นต้องมีการให้แมกนีเซียมสม่ำเสมอ เพื่อให้พืชได้รับแมกนีเซียมในระดับที่เพียงพอ และเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชอยู่ตลอดเวลา 

ทั้งนี้เพื่อให้พืชได้แสดงศักยภาพทางพันธุกรรมได้อย่างเต็มที่ ในสภาพที่พืชแสดงลักษณะอาการขาดแมกนีเซียมในช่วงระยะแรกของการเจริญเติบโต อาจจะมีผลทำให้พืชสร้างผลผลิตได้น้อยลงเมื่อปาล์มมีอายุมากขึ้น และเพื่อให้ปาล์มได้สามารถใช้แมกนีเซียมได้รวดเร็วและแก้ไขการขาดแมกนีเซียม 

นักวิชาการแนะนำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยคีเซอร์ไรท์ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ปาล์มเป็นพืชที่ต้องการแมกนีเซียมเป็นปริมาณมาก และต้องการสม่ำเสมอ
2. ปุ๋ยคีเซอร์ไรท์สามารถให้แมกนีเซียมได้รวดเร็วแก่พืช
3. ป้องกันรากพืชให้พ้นจากความเป็นพิษของอลูมิเนียม ในสภาพดินที่เป็นกรดได้ดี
4. ช่วยทำให้รากเจริญเติบโตไปสู่ดินชั้นล่างได้ดีมากขึ้น ทำให้พืชทนแล้งได้ดีขึ้น
5. คีเซอร์ไรท์ละลายได้ง่าย ใช้สะดวกไม่ต้องมีการพรวนดินหลังใส่ เพียงแต่หว่านใส่บนหน้าดิน
6. ไม่ทำให้ความเป็นกรดเป็นด่างของดินเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการให้ธาตุอาหารพืชอื่น

อย่างไรก็ตามการใช้ปุ๋ยที่ให้แมกนีเซียมจะมีประสิทธิภาพเพื่อให้เพิ่มผลผลิต จำเป็นจะต้องแน่ใจว่าพืชได้รับธาตุอาหารอื่นๆ เพียงพอ ธาตุอาหารเหล่านี้ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม และโบรอน ซึ่งพบอยู่เสมอว่าไม่เพียงพอในดินปลูกปาล์มภาคใต้

หมายเหตุ : โดโลไมด์จะต่างกับปูนขาว เพราะในปูนขาวไม่มีธาตุแมกนีเซียม แต่ในโดโลไมท์ มีธาตุแมกนีเซียม ดังนั้นการใส่โดโลไมท์จึงดีกว่าการใส่ปูนขาว แต่ในพื้นที่ดินเป็นกรดจัด ควรจะใช้ปูนขาวหากต้องการปรับความเป็นกรดให้น้อยลง

ข้อมูลจาก
>>> บทบาทของธาตุแมกนีเซียมในการเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ามัน
โดย ธีระพงศ์ จันทรนิยม
>>> คู่มือเกษตรกร การผลิตปาล์มน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ ธีระพงศ์ จันทรนิยม

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม