ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

มุมมอง : ยางพาราไทยในบริบทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดย อุทัย สอนหลักทรัพย์

จากพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นเสมือนหนึ่งรากฐานของชีวิต  และเป็นรากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน  เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง  สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม  แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข้มเสียด้วยซ้ำไป 

เศรษฐกิจพอเพียงคือการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาทโดยคำนึงถึงความพอประมาณ   ความมีเหตุผล  การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว  ตลอดจนใช้ความรู้  ความรอบคอบและคุณธรรมประกอบการวางแผนการตัดสินใจและการกระทำ

หากอีก 20 ปีข้างหน้า เกษตรกรชาวสวนยางในระดับต้นน้ำยังคงต้องย่ำแย่อยู่ที่เดิมเพราะไม่ได้ถูกรับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง  เกษตรกรชาวสวนยางก็จะยากจนย้อนรอยเหมือน 100  ปี ที่ผ่านมา  และจะสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ที่ต้องลงมาแก้ไขปัญหาไม่รู้จักจบสิ้น

ประเทศไทยโชคดีที่พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด  แต่ที่ผ่านมารัฐบาลได้แต่พูดเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” แต่ยังไม่ได้น้อมน้ำแนวทางพระราชดำรัสนำไปใช้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจังให้เกิดเป็นรูปธรรมในวงกว้าง 
 
อุทัย  สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย
ในฐานะที่ผมต้องดูแลเกษตรกรชาวสวนยางซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก 70% ของประเทศให้มีแนวทางเพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางที่อยู่ต้นน้ำจะต้องอยู่ดี  กินดี  พอมี พอใช้  ในครอบครัวควร  เริ่มต้นจากตัวเกษตรกรจะต้องพึ่งพาตนเองได้โดยน้อมนำศาสตร์พระราชา “เศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้เป็นหลักปรัชญาแนวทางในการดำเนินชีวิต   

โดยต้องเริ่มต้นให้มีการจัดสรรแบ่งโซนพื้นที่ที่มีอยู่ในครอบครัวอย่างถูกต้อง เช่น หากเกษตรกรมีพื้นที่ที่เป็นสวนยาง 15  ไร่ที่ขอโค่นตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 49(2)  จำนวนไม่เกินร้อยละสี่สิบ เป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อการปลูกแทน  เกษตรกรควรที่จะขุดสระโดยใช้พื้นที่ 1 ไร่เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ โดยใช้น้ำยางเคลือบสระเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้รั่วซึมเร็ว  
ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 14 ไร่  ควรปลูกต้นยางในระยะ 3 x 12 เมตร ( พื้นที่ 1 ไร่ได้ยาง 45 ต้น) ยางควรให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 400 กิโลกรัมต่อไร่  โดยในพื้นที่ 12 เมตร ช่วงระหว่างแถวยางนั้นส่งเสริมให้ปลูกไม้โตเร็ว  เช่น กระถินยักษ์  เพื่อขายเป็นเชื้อเพลิง ส่วนระยะระหว่างแถวนั้น  ในช่วง 3 ปีแรก ให้ปลูกพืชแซมยาง  เช่น  ถั่วเหลือง  สับปะรด  ขิง  ข่า  ฯลฯ  ในสระน้ำให้เลี้ยงปลาเบญจพรรณเพื่อไว้กินและขายเพิ่มรายได้   บนสระน้ำให้เลี้ยงไก่เนื้อมูลไก่สามารถใช้เป็นอาหารปลาได้  รอบๆ สวนยางให้เลี้ยงหมูหลุมเพื่อนำมูลหมูใช้เป็นปุ๋ยหมักในพื้นที่สวนช่วยลดต้นทุนการผลิต   

ในพื้นที่ทั้ง 14 ไร่นั้นควรทำระบบน้ำหยดใช้จะช่วยให้ยางที่ปลูกในพื้นที่ 14 ไร่นั้นโตเร็วสามารถกรีดได้ภายใน 5 ปี  หากมีการส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินการดังกล่าวข้างต้นมีการขอสวนสงเคราะห์  170,000  ครอบครัว  จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกร  รวมทั้งจะมีน้ำไว้ใช้ประกอบอาชีพทางการเกษตรใน 20 ข้างหน้า สามารถมีรายได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี  มีวิถีชีวิต  และความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น 
สำหรับปัญหาคนกรีดยาง ในช่วงที่ยางราคาตกต่ำนั้นจะหาคนกรีดยางมาก วิธีแก้ไขปัญหาโดยควรมีการส่งเสริมให้ทำอาชีพเสริมทำอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง  เพื่อให้คนกรีดยางมีอาชีพเสริมรายได้หลังจากกรีดยาง  

รวมทั้งบุตรหลานเกษตรกรชาวสวนยางที่จบปริญญา  ปวส.  ปวช.  ฯลฯ  ที่ว่างงานนั้นควรสนับสนุนทำอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อเพิ่มมูลค่ายาง   คาดว่าอีก 20 ปีข้างหน้า  บุคคลเหล่านี้จะมีความรู้ ความสามารถ  เกิดทักษะที่เชี่ยวชาญในการทำผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มมากขึ้นสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่เรียกว่า Thailand 4.0 ประเทศชาติก็จะมีรายได้เข้าสู่ประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล 
เกษตรกรชาวสวนยางจะสามารถพัฒนาใช้ยางมาทำผลิตภัณฑ์โดยการลดการส่งออกยางดิบ  ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมยางขาดแคลนยางที่เป็นวัตถุดิบ    ราคายางก็จะเพิ่มโดยที่รัฐเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือเกษตรกรทางอ้อมโดยการสนับสนุนให้ทำและใช้ผลิตภัณฑ์ยางจากอาชีพเสริม  

หากร่วมด้วยช่วยสนับสนุนตามแนวทางดังกล่าว  คาดว่าจะช่วยแก้ปัญหายางพาราและในอนาคตยางพาราไทยอีก 20  ปี ข้างหน้าการทำผลิตภัณฑ์ยางก็จะกลายเป็นอาชีพหลัก ช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางและประเทศชาติเกิดความมั่นคง  มั่งคั่ง  และยั่งยืน ต่อไปในอนาคต

เรื่องโดย อุทัย  สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย 
                                                                                                            


Advertising

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม