“สวนผมไม่ค่อยแต่งทางใบเลย มากสุดก็ปีละครั้ง
ปุ๋ยเคมีผมก็ไม่เคยใส่ ใส่แต่ขี้ไก่แกลบ หญ้าเหรอ ก็รกอย่างที่เห็น”
เจ้าของสวนปาล์ม ใน อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร อติชาต
วรชาติ เล่าสภาพสวนปาล์มของตัวเองให้เราฟัง ซึ่ง สวนปาล์มของเขาเท่าที่เราเห็นเป็น ‘พยานหลักฐาน’ ยืนยันว่า เขาไม่ได้โกหก
“ผมดูแลอย่างนี้ตั้งแต่ทำสวนปาล์มมา
นี่ผมเคยได้ผลผลิตสูงสุด 6 ตัน”
“ตัดได้รอบละ 6 ตัน เหรอครับ” เราถามเพราะไม่แน่ใจ
“6 ตัน/ไร่/ปี”
...
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
HIGHTLIGHTS :
✔ อติชาต วรชาติ ชาวสวนปาล์ม จ.ชุมพร ทำสวนปาล์มระบบ “อินทรีย์” มาเกือบ 30 ปี
ไม่ใช่เพื่อเพิ่มผลผลิต แต่เพื่อลดต้นทุนของตัวเองให้ต่ำมากที่สุด
แนวคิดและวิธีการของเขาต่างจากตำราวิชาการ
แต่ได้ผลผลิตสูงกว่าระดับผลผลิตเฉลี่ยของประเทศ
✔ ปลูกปาล์มไร่ละ 15 ต้น ไว้ทางใบให้มากที่สุด
เป็นสองปัจจัยหลักที่เขาบอกว่าทำให้ต้นปาล์มของเขาสมบูรณ์ และผลผลิตสูง
เนื่องจากแสงเป็นปัจจัยหลักตัวหนึ่งในการสร้างอาหารของต้นปาล์ม
✔ ต้นปาล์มไม่เคยลิ้มรสปุ๋ยเคมีสักเม็ด
เพราะเขาใส่แต่ “ปุ๋ยขี้ไก่แกลบ” ต้นละ 4 กระสอบ มากว่า 20 ปี ต้นทุนเลยต่ำ
เพราะหนึ่งไร่มีปาล์มแค่ 15 ตัน
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
อติชาต วรชาติ ชาวสวนปาล์ม จ.ชุมพร ทำสวนปาล์มระบบ “อินทรีย์” มาเกือบ 30 ปี |
ไม่ตัดทางใบทิ้งปล่อยให้แห้ |
เราสงสัยว่าทางใบเยอะอย่างน |
ด้วยวิธีการดูแลสวนปาล์มที่น่าจะเรียกว่า “ปล่อยทิ้ง”
มากกว่า กับผลผลิตที่ได้ มันสวนทาง แบบย้อนแย้งกันเหลือเกิน จนทำให้
ทีมงานยางปาล์มออนไลน์ ต้องลงพื้นที่พิสูจน์ สวนปาล์มของอติชาต ใน อ.ทุ่งตะโก
จ.ชุมพร เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
‘เครื่องหมายคำถาม’ เกิดขึ้นจากรูปแบบจัดการสวนปาล์มของเกษตรกรรายนี้มากมาย
หรือแม้จะมีใครเชื่อ แต่ก็คง ‘ไม่สนิทใจ’ นัก โดยเฉพาะตัวเลขผลผลิตที่เคยได้สูงถึง 6
ตัน/ไร่/ปี มันเท่าๆ กับสวนที่ทุ่มประเคนอาหารให้สวนปาล์มทั้งน้ำ
ทั้งปุ๋ยหลักปุ๋ยเสริม กลายเป็นว่าเทคนิคของเขา ‘ลงทุนต่ำ’ แต่ได้ ‘ผลผลิตสูง’ เท่ากับคนที่ลงทุนสูง
ขณะที่หลักการและเหตุผลในการทำสวนปาล์มหลายอย่างของเขา
‘ขัดแย้ง’ กับ ‘ตำราวิชาการ’ อย่างสิ้นเชิง
“ผมทำอย่างนี้มาเกือบ 30 ปี แล้ว ตั้งแต่ทำสวนทุเรียน
พอปลูกปาล์มผมก็ใช้วิธีนี้ ใส่ขี้ไก่แกลบอย่างเดียว” อติชาต ยังย้ำเหมือนเดิม
แต่ก่อนที่จะปลูกปาล์มน้ำมัน แทนสวนทุเรียน
เขาใช้เวลาศึกษาอยู่พอสมควร ต้อง “ลองผิด” ก่อน จึงจะ “ลองถูก” ได้
“ผมเริ่มทำแบบนี้มานานแล้วครับ ตั้งแต่ประมาณปี 2531 ปลูกปาล์มพันธุ์คอสตาริก้า
เขาบอกว่าเป็นทางใบสั้น ปลูกระยะ 7-8 เมตรได้ เลยปลูกไป 2 แปลง
แต่พอปลูกจริงๆ แล้ว ใบมันยาวซ้อนกัน แทบไม่มีช่องว่างเลย ทะลายมันเลยเล็ก เพราะได้แสงน้อย ทีนี้เราปลูกไปแล้วทำอะไรไม่ได้
เลยต้องขุดทิ้ง”
“แต่มีพี่คนหนึ่งเขาปลูกห่าง เพราะเขากะว่าจะปลูกต้นมังคุดแซมตรงกลางแถวปาล์ม
เขาไม่ได้ใส่ปุ๋ยอะไรเลย ดินก็เป็นดินทราย แต่ทะลายเขาใหญ่ 50-60 กก.
พันธุ์คอสตาริก้านี่แหละ ทีนี้ก็มารู้เลยว่าของเราระยะปลูกมันผิด แสงมันน้อย”
ต้นปาล์มน้ำมันอายุ 13 ปี เป็นแปลงแรกที่อติชาตปลูกตา |
สวนปาล์มพันธุ์สุราษฎร์ฯ 2 เนื้อที่ 25 ไร่ ระยะปลูก 12 x 10 เมตร |
เมื่อปาล์มแต่ละต้นได้รับแสงแดดเต็มที่
ต้นปาล์มยังต้องมีใบมากๆ เอาไว้รับแสง และปรุงอาหารได้เต็มที่ วิธีการของเขาจะปล่อยทางใบไว้ให้มากที่สุด
แต่ตามคำบอกเล่าของเขาคือ จะไม่ตัดทางใบออกเลย จนกว่าทางใบแห้งเหี่ยวคาต้นไปเอง
ซึ่งยืนยันได้จากในสวนของเขาไม่มีการสร้างกองทางเลย
จะมีก็แต่โคนทางใบที่ตัดหลังจากเหี่ยวแห้งเท่านั้น และที่สำคัญเมื่อไว้ทางใบเยอะ
ต้นปาล์มจะสูงช้า เพราะต้นปาล์มไม่ออกทางใบใหม่บ่อยๆ
“ใบยิ่งเยอะยิ่งสร้างอาหารได้เยอะ เพื่อให้พอที่จะให้ต้นปาล์มสร้างรากใหม่ สร้างใบใหม่ และเลี้ยงลูกได้ด้วย เพราะถ้าเกิดใบเขาไม่พอสร้างอาหารให้ต้นก็ต้องเลือกจะไปสร้างใบใหม่ก่อนเพื่อหาอาหาร เมื่ออาหารเหลือเฟือเขาถึงจะเอามาเลี้ยงลูก เราอยากได้ลูกเยอะๆ เราก็ต้องไว้ใบเยอะๆ ฉะนั้นต้นปาล์มที่มันไม่มีทะลายหรือมีน้อย ก็เพราะว่าอาหารไม่พอ
“ผมจะปล่อยทางใบไว้จนเขาปลดของเขาเอง ปลดก็คือใบแห้ง ใบแห้งแล้วเราถึงตัดปีละ
1 ครั้ง ส่วนใบที่หมดอายุใบเริ่มแห้ง เขาก็จะเริ่มคืนธาตุอาหารกลับสู่ต้น ส่วนหนึ่งดูดกลับเข้าต้น
คืนแร่ธาตุกลับไปเลี้ยงใบใหม่ กลับไปเลี้ยงลูก ที่จริงธรรมชาติมันก็รู้ของมันอยู่แล้ว”
เขาเล่าตามความเข้าใจที่มาจากประสบการณ์
ปาล์มอายุ 6 ปี ด้วยระยะห่างระหว่างต้นกว้า |
แต่งทางใบปีละครั้ง เขาจะตัดเฉพาะใบที่แห้งจนเหลือแต่โคนทาง |
ด้วยสองปัจจัยนี้ คือ ปลูกห่าง 12 x 10 เมตร และไว้ทางใบให้มาก
เขายืนยันว่า ทำให้ต้นปาล์มได้รับแสงมาก และปรุงอาหารได้เต็มที่ จึงทำให้ต้นปาล์มสมบูรณ์
และให้ผลผลิตสูง
แน่นอนว่า ระยะปลูกปาล์มห่างๆ อย่างนี้
กองทัพหญ้ามโหฬารแน่นอน และภาพที่พวกเราเห็นก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ หญ้าสูงเกินระดับกว่าหัวเข่า
และถึงระดับเอว วิธีจัดการของเขาจะใช้รถตัดปีละ 1 ครั้ง ซึ่งง่ายกว่าใช้คนเดินเข้าไปตัด
และพยายามคุมหญ้าที่มีขนาดใหญ่จนเป็นศัตรูกับต้นปาล์ม โดยมีหญ้า “ข่มคา” ช่วยไม่ให้เกิดหญ้าต้นใหญ่
โดยเฉพาะหญ้าคาได้
หญ้าข่มคา ภาษาใต้เรียกหญ้า ‘มัน’ เป็นหญ้าดีเพราะโครงสร้างโปร่ง รากลึก พอรากลึกก็เหมือนไปช่วยคลุมดิน พรวนดิน ช่วยให้ในดินมีอากาศ แล้วเขาจะคลุมหญ้าอื่นอยู่เพราะต้นสูงเลยเรียกหญ้าข่มคา แล้วเก็บความชื้นได้สูงมาก
หญ้าข่มคาจึงเป็น “องครักษ์” พิทักษ์ความชื้นในสวนปาล์มได้ดี
ชนิดยกนิ้วโป้งมือสองนิ้ว
หญ้าข่มคา หญ้าชั้นดี ช่วยคลุมดิน พรวนดิน ช่วยให้ในดินมีอากาศ แล้วเก็บความชื้นได้สูงมาก” |
“ผมใส่ปุ๋ยขี้ไก่แกลบ ครั้งละ 2 กระสอบ
ปีหนึ่งใส่สองครั้ง แค่นี้” อติชาตบอกหน้าตาเฉย
พร้อมกับอธิบายว่า “ต้องบอกก่อนว่าที่ผมทำอย่างนี้ก็เพราะเมื่อก่อนผมเคยผ่านช่วงราคาปาล์มตกต่ำมาหลายช่วง
ต่ำสุด 1.20 บาท/กก. ก็เลยมาคิดว่าถ้าจะปลูกปาล์มแล้วราคาเป็นอย่างนี้
ก็ไม่ต่างอะไรกับปลูกไม้ผลแล้วราคาตกต่ำ ตัดก็ขาดทุนแล้ว”
วิธีแก้ของเขาก็คิดแบบง่ายๆ คือ ทำยังไงให้ทำแล้ว
‘ต้นทุนต่ำ’ ที่สุด ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี
ใส่แค่ปุ๋ยขี้ไก่ คือ ต้นทุนที่ลดได้มากที่สุด ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการทำสวนปาล์ม เมื่อลดได้
ต้นทุนโดยรวมก็จะลดลง
“ใส่แค่ขี้ไก่อย่างเดียว เราเน้นดินดีอย่างเดียว ใส่มา 20 ปีแล้ว ใส่ ปีละ 4 กระสอบ
ถือว่าเกินแล้ว เพราะว่าถ้าพอดีมัน 3 กระสอบ เท่าที่สังเกตมามันจะมีบางปีที่ฝนชุกแล้วผมใส่ปุ๋ยใส่ขี้ไก่ได้ 2 กระสอบ เราก็ดูว่าถ้าใส่ 2 กระสอบ ถ้าแล้งแล้วใบเหลืองแสดงว่าปุ๋ยไม่พอ แต่ถ้าใส่ 3 กระสอบ
ถ้าแล้งนานใบไม่เหลือง ผมว่า 3 กระสอบพอดี แต่ผมจะใส่ 4 ใส่ให้ล้นไว้หน่อย ใส่ครั้งละ 2 กระสอบ ต้นฝนกับปลายฝนแต่ต้องเลือกอย่าให้มีโซดาไฟ”
สภาพดินในสวนปาล์ม ที่ใส่แต่ขี้ไก่แกลบสะสมมานาน |
แม้จะปลูกได้ไร่ละ 15 ต้น แต่ต้นทุนการดูแลต่ำ ค่าปุ๋ย ค่าแรงต่ำ ขณะที่ผลผลิตก็เท่ากับสวนที |
“เคยได้ผลผลิตสูงสุด 6 ตัน/ไร่/ปี ไร่หนึ่งมี 15 ต้น 1 ต้นให้ผลผลิต 400 กก. ใส่ขี้ไก่ 4 กระสอบ/ต้น/ปี กระสอบละ 30 บาท คิดเป็น 120 บาท จ้างใส่กระสอบละ 5 บาท เป็น 20 บาท รวมแล้วต้นทุนปุ๋ยและค่าใส่ 140 บาท/ต้น/ปี ทีนี้ผลผลิต 400 กก./ต้น/ปี ก็ลองคำนวณค่าปุ๋ยขี้ไก่ก็จะตกประมาณ 30 สตางค์/กก. ที่เหลือก็ค่าตัดหญ้า ค่าตัดทะลาย ตัดแต่งทางปีละครั้ง ค่าบรรทุก
รวมแล้วก็น่าจะ 70 สตางค์ แต่ตีว่า 1 บาท ต้นทุนรวม น่าจะอยู่สัก 1.4 บาท/กก. ”
เมื่อดูจากต้นปาล์มพันธุ์สุราษฎร์ธานี 2 อายุ 6
ปี อดทึ่งกับทะลายที่มีอยู่เต็มต้นอย่างน้อย 2 ชั้นไม่ได้
แต่ไม่เห็นร่องรอยของช่อดอกตัวผู้ให้เห็นมากนัก
แสดงว่าต้นปาล์มไม่ได้มีช่วงพักคอนาน แต่ขัดกับสภาพใบปาล์มชั้นล่างที่ปรากฏร่องรอยบอบช้ำจากอาการ
‘ขาดธาตุอาหาร’ มาอย่าโชกโชน
“ถ้าดูใบชั้นล่างมันเป็นจุดใบเหลือง
มันขาดธาตุอาหารทุกตัวแหละครับ” เขาบอก
“แต่มันเกิดจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ภาคใต้เจอแล้งหนักหลายเดือน
สวนผมไม่มีน้ำรากปาล์มก็ส่งแร่ธาตุขึ้นไปให้ต้นปาล์มไม่ได้ มันก็ได้รับผลกระทบ
พอมันแล้งมันก็กินอาหารไม่ได้
เลยเห็นว่าใบมันขาดธาตุทุกตัว
แต่ใบชุดกลางและชุดบนจะเห็นว่ามันยังเขียวมันสมบูรณ์ แสดงว่ามันไม่ได้ขาดธาตุอาหาร
เพราะมันได้น้ำได้ความชื้น ส่วนใบชั้นล่างที่แสดงอาการเราทำอะไรมันไม่ได้แล้ว”
“ผมไม่ได้ซีเรียสกับใบที่แสดงอาการต่างๆ ผมสนใจแค่ผลผลิต เพราะผลผลิตผมไม่ได้ต่ำ จะไปซีเรียสทำไมมันเป็นเรื่องธรรมชาติของเขา ก็ใบมันแก่ มันผ่านแล้งมาไม่สมบูรณ์อยู่แล้ว 3 ปีที่ผ่านมา
แต่เป็นเฉพาะแปลงเล็กนะ แต่แปลงใหญ่ไม่เป็นเลย ไม่ขาดเลย เพราะหญ้ามันเยอะ มันรักษาความชื้น มันเป็นช่วงที่เขากำลังคืนธาตุอาหารกลับคืนด้วยซ้ำ กำลังดึงอาหารส่วนหนึ่งไปสร้างยอด
เซลล์มันก็หมดอายุลงทุกวันก็เป็นวัฏจักรเหมือนต้นไม้ในป่า ผมก็เลียนแบบธรรมชาตินี่ล่ะ”
ใบชั้นล่างมันเป็นจุดใบเหลือง มันขาดธาตุอาหารทุกตัว เพราะเจอแล้งติดต่อกันมา 3 ปี แต่ใบชั้นกลางและชั้นสบสมบูรณ์ดี |
ทำสวนปาล์มผมว่าเราต้องทำให้มันง่าย อย่าทำต้นทุนสูง เพราะราคาเรากำหนดไม่ได้ แต่ต้นทุนเราคุมได้ ผมทำสวนผลไม้มาก่อน ทำทุเรียน ปลูกกล้วย เราก็ทำแบบนี้ ใช้แนวคิดใช้คนให้น้อย เพราะตัวแปรที่ควบคุมยากที่สุดก็คือคน เราก็เลยพยายามดูแลด้วยตัวเอง ทำเอง พึ่งคนให้น้อยที่สุด
คำถามคือ ทำไมเขาใส่ปุ๋ยขี้ไก่อย่างเดียว
จึงได้ผลผลิตสูงเท่ากับสวนที่ใส่ปุ๋ยเคมี และมีการดูแลอย่างดี
เขาสรุปว่า ไม่ได้อยู่ที่ปุ๋ยอย่างเดียว
แต่อยู่ที่ระยะปลูก อยู่ที่การไม่ตัดทางใบ ทำให้ต้นปาล์มได้รับแสงแดดเต็มที่
สามารถใช้แสงปรุงอาหารได้เต็มที่ แล้วดินที่ใส่ขี้แก่มานานตั้งแต่สมัยทำสวนทุเรียน
ไม่ต่ำกว่า 20 ปี จึงเต็มไปด้วยธาตุอาหารที่สะสมมาอย่างยาวนาน จึงได้ผลผลิตสูง
ผมมีปาล์ม 6 ปี กับ 13 ปี ทำแบบนี้ทั้งหมด รุ่นก่อนเราก็ทำ แต่ว่าเราไม่ได้วัดผลเท่าไหร่ แต่ตอนนี้เรามาวัดจุดอ่อนจุดแข็ง ช่วงที่ต้นใหญ่มากๆ ผลผลิตก็ลดเหมือนกัน ก็มีช่วงที่ขาดคอเพราะใบมันมีน้อย แต่ต้นไหนเหลือทางมากก็มีลูกมาก ต้นไหนทางเหลือน้อยก็จะเป็นตัวผู้นาน มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เราก็ต้องยอม เราเอาได้สุดความสามารถก็เท่านั้น
แต่เขาย้ำว่า เทคนิคและวิธีการทำสวนปาล์มของเขา
ไม่ใช่แนวทางการเพิ่มผลผลิต และเป็นแค่แนวทางการลดต้นทุนการผลิตของเขา
ซึ่งผลผลิตที่ได้ถือเป็นโบนัสก้อนโต
แนวทางของผมไม่ใช่การเพิ่มผลผลิต เราแค่ต้องการทำให้ต้นทุนต่ำที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าจะขายได้เท่าไหร่ เพราะผมเคยขายราคา 1.2 บาท/กก. ผมจึงเรียนรู้ว่าการทำต้นทุนให้ต่ำที่สุดถึงจะอยู่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะไปขายได้ราคาเท่าไหร่ ถ้าราคาต่ำเราแย่แน่ๆ ทีนี้เราต้องทำต้นทุนให้ต่ำ เพื่อให้ขายยังไงก็กำไร ไม่ขาดทุนแค่นี้ จบ ถ้าชาวสวนทำแบบนี้สบายเลย เพราะยิ่งราคาแบบนี้ด้วยเรายิ่งต้องลดต้นทุนให้มาก
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
หลายคนบอกว่าการปลูกปาล์มของอติชาต ‘ฉีกตำราปาล์มน้ำมัน’ ทุกสำนัก
แต่หลังจากพวกเราทีมงานยางปาล์มออนไลน์ได้พูดคุยเรื่องการปลูกและการจัดการสวนปาล์มของเขาอย่างละเอียด
เรากลับคิดว่า เขาไม่ได้ใช้ตำราปาล์มน้ำมันตั้งแต่แรก หากแต่
เขาได้เขียนคัมภีร์ปาล์มน้ำมันในแบบฉบับของตัวเองขึ้นมาใช้ต่างหาก
ผลลัพธ์จากคัมภีร์ปาล์มน้ำมันของอติชาต ทำง่าย
ต้นทุนต่ำ พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ราคาปาล์ม
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ขอขอบคุณ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น