สวนปาล์มซีพีไอ สร้างกองทางในสวน 20,000 ไร่ ประโยชน์มากกว่าแค่ ปุ๋ยอินทรีย์
ทางใบปาล์มที่ตัดแต่งทิ้งให้น้ำหนักแห้ง 1.6 ตัน/ไร่/ปี จะย่อยธาตุอาหารกลับเป็นปุ๋ยให้ต้นปาล์ม ช่วยเพิ่มอินทรีย์ในดิน ช่วยรักษาความชื้นในดิน ช่วยรักษาจุลินทรีย์ ทำให้สภาพดินดีขึ้น และช่วยชะลอการชะล้างหน้าดิน
นี่คือส่วนหนึ่งที่สวนปาล์มน้ำมันกว่า
20,000 ไร่ ของ บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีไอ
ได้รับจากการสร้างกองทางใบในสวนปาล์ม ตลอดการทำสวนปาล์มกว่า 38 ปี
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
สวนปาล์มซีพีไป
ใช้ทางใบ ปรับปรุงสภาพดินแย่ เป็นดินดี
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
คุณวรวุฒิ
ยอดพุทธ
หัวหน้าศูนย์เรียนรู้ปาล์มน้ำมัน ซีพีไอ บอกเล่าว่า สวนปาล์มซีพีไอ ตั้งอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างแล้ง
และสภาพดินค่อนข้างแย่ของ จ.ชุมพร ในช่วงเริ่มต้นซีพีไอประสบปัญหาผลผลิตต่ำ
เพียงแค่ 2.3-3 ตัน/ไร่/ปีเท่านั้น
แต่น่าสังเกตว่าปีไหนฝนตกชุก ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นได้ถึง
3.5 ตัน/ไร่/ปี ทำให้เห็นว่าพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ปลูกให้ผลผลิตสูงได้ ถ้ามีองค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์
ซึ่งเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่ทำให้เกิดการทดลอง วิจัย และปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการสวนใหม่ทั้งหมด
เป้าหมายเพื่อ “เพิ่มผลผลิต”
งานแรกเริ่มจาก “ดิน”
เพราะดินในสวนปาล์มซีพีไอเป็นกรดจัด มีค่า pH 3-3.5 วิธีการปรับสภาพต้องเติม “อินทรียวัตถุ”
ลงไปในดิน
อินทรียวัตถุที่หาง่ายและไม่มีต้นทุนเลยก็คือ
“ทางใบปาล์ม”
ปกติสวนปาล์มซีพีไอจะตัดแต่งทางใบปีละ
2 ครั้ง โดยจะแบ่งตามอายุปาล์ม ถ้าปาล์มอายุ 7 ปีขึ้นไปจะเว้นทางใบไว้ 1 ทางใบต่อทะลายปาล์ม และไว้
2 ทางใบต่อทะลายปาล์มสำหรับปาล์มเล็ก ทางใบที่ตัดแต่งจะนำมากองระหว่างแถวของต้นปาล์ม
แบบแถวเว้นแถว
พอเริ่มสร้างกองทางเราอยากให้ย่อยสลายเร็วขึ้นก็เติมปุ๋ยอินทรีย์ช่วยเข้าไปบนกองทาง เติมกากตะกอนส่าเหล้า เริ่มตั้งแต่ 3 กก./ต้น ไปจนถึง 10 กก./ต้น ภายใน 5-6 ปีความสมบูรณ์ในดินบริเวณกองทางดีขึ้นมาก ค่า pH ในดินไม่ต่ำกว่า 5.5 บางแปลงได้ถึง 6
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
กองทางใบ เพิ่มรากฝอย จึงใส่ปุ๋ยได้มีประสิทธิภาพ
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
คุณสมบัติของทางใบปาล์มที่ชัดเจน
ก็คือ ย่อยสลายกลายเป็น “ปุ๋ยอินทรีย์”
ปรับสภาพดินในสวนปาล์มให้สมบูรณ์ขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนซื้อปุ๋ยอินทรีย์เลย นอกจากนั้น กองทางใบ
ยังช่วยรักษาความชื้นในดินได้ค่อนข้างดี ทำให้เกิด “รากฝอย”
ซึ่งเป็นรากที่ทำหน้าที่กินอาหารมากขึ้น
ใต้กองทางจะมีรากฝอยเยอะมาก เพราะดินโปร่ง ร่วนซุย และมีความชื้นสูง ถ้ามองด้วยตาเปล่าจะเห็นรากฝอยขาวๆ เยอะมาก แต่เราได้ทำงานวิจัยเรื่องไบโอแมสของต้นปาล์ม มีการเก็บตัวอย่างรากปาล์ม ฝั่งที่มีกองทางมาเปรียบเทียบกับอีกฝั่งที่ไม่มีกองทาง พบว่ารากฝั่งที่มีกองทางมีมากกว่าอย่างชัดเจน ที่สำคัญมันเป็นรากฝอย ซึ่งเป็นรากที่ใช้หาอาหาร
เมื่อรู้ว่ารากกินอาหารอยู่ใต้กองทางมากที่สุด
การใส่ปุ๋ยจึงปรับเปลี่ยนมาใส่ในกองทางทั้งหมด การใส่ปุ๋ยจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหลังจากปรับปรุงดินและใส่ปุ๋ยบนกองทาง บวกกับการจัดการอื่นๆ เช่น ใส่ปุ๋ยตามความต้องการของต้นปาล์ม ปรากฏว่าผลผลิตโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 ตัน/ไร่/ปี บางปีที่ฝนตกดีๆ ขึ้นไปถึง 5 ตัน/ไร่/ปี
ใส่ปุ๋ย ในกองทาง เพิ่มประสิทธิภาพปุ๋ยมากยิ่งขึ้น กองทางยังช่วยกักเก็บปุ๋ยและธาตุอาหารได้ดี |
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
กองทางใบ เก็บความชื้น เก็บกักปุ๋ยและธาตุอาหาร
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ถามว่าทำไมกองทางจึงเป็นตัวเก็บความชื้นได้
วรวุฒิ บอกว่า องค์ประกอบหลักของทางปาล์มจะมีน้ำอยู่
70% เมื่อย่อยสลายอินทรียวัตถุก็จะมาปรับโครงสร้างของดิน
ทำให้ดินโปร่ง ในดินมีอากาศ จึงดูดซับน้ำ เก็บกักปุ๋ยและธาตุอาหาร และยังช่วยชะลอการไหลของน้ำในหน้าฝนได้ดีเยี่ยม และเมื่อตำแหน่งกองทางไม่ได้ย้ายมีทางใบเข้ามาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
ปริมาณอินทรียวัตถุจะมีมากขึ้น ดินจึงดีและสมบูรณ์ขึ้น
อีกอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ ในกองทางจะมีจุลินทรีย์ที่สมบูรณ์ เราให้ความสำคัญจุลินทรีย์ในดิน เพราะบ้านเราเป็นเมืองร้อน จุลินทรีย์มันเยอะอยู่แล้วมันจะย่อยสลายได้เร็ว แต่ทำอย่างไรจะให้จุลินทรีย์พวกนี้มีชีวิตอยู่และทำกิจกรรมของมันไปเรื่อยๆ ให้นานที่สุด ก็คือการสร้างกองทางนี่แหละ แล้วก็ให้จุลินทรีย์มีชีวิตและกิจกรรมของมันอยู่เรื่อยๆ
ถามว่าจุลินทรีย์สำคัญอย่างไร คำตอบคือ จุลินทรีย์จะช่วยย่อยสลายทางใบเป็นอินทรีย์ได้เร็ว และยังช่วยย่อยปุ๋ยบางตัว เช่น กลุ่มโดโลไมท์ กลุ่มปูน และกลุ่มฟอสเฟต
สร้างกองทางช่วยลดการชะล้างหน้าดิน |
วางกองทางแบบรูปตัว T เว้นให้มีทางเข้าเพื่อตัดทะลายและเก็บลูกร่วง |
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
กองทางใบคืนธาตุอาหารสู่ดิน ทั้งอินทรีย์ 1.6 ตัน เคมี 44 กก.
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ปกติธาตุอาหารหรือปุ๋ยที่เกษตรกรใส่ในสวนปาล์มจะอยู่ในส่วนต่างๆ ของต้นปาล์ม อยู่ในราก ลำต้น ทางใบ และทะลาย เมื่อย่อยสลายจะคืนธาตุอาหารกลับสู่ดิน ข้อมูลวิชาการของต่างประเทศระบุว่า พื้นที่สวนปาล์ม 1 ไร่ จะให้ทางใบแห้งมากถึง 1.6 ตัน หรือ 1,600 กก.นี่คืออินทรียวัตถุที่จะกลับคืนสู่ดินจากการสร้างกองทาง
นอกจากนั้นยังมีปุ๋ยตกค้างอยู่จำนวนไม่น้อย ได้แก่ 46-0-0 อยู่ 9 กก.(หรือ 21-0-0 ประมาณ 21 กก.) ปุ๋ยฟอตเฟตคุณภาพดี 5 กก. 0-0-60 ประมาณ 19 กก. และกรีเซอร์ไรด์ 11 กก./ไร่/ปี
ศูนย์เรียนรู้ปาล์มน้ำมัน ซีพีไอ จึงถ่ายทอดความรู้นี้ไปสู่เกษตรกรพราะมันประโยชน์มากมายและช่วยลดต้นทุนได้ดี ช่วยรักษาความชื้นในดิน รักษากิจกรรมและชีวิตของจุลินทรีย์ ชะลอการชะล้างหน้าดิน และมีปุ๋ยทุกตัวที่ปาล์มน้ำมันต้องการ มันก็จะย่อยกลับมาเป็นปุ๋ยให้กับปาล์มน้ำมัน
━━━━━━━
ขอขอบคุณ
วรวุฒิ
ยอดพุทธ
บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด
16 หมู่ 16 ถ.เพชรเกษม ต.ท่าแซะ
อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร 86140 โทรศัพท์ 077 599 680, 077-599-396 www.cpiagrotech.com
.
เผยแพร่ครั้งแรก 18 ตุลาคม 2560
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น