เรียนลัด เทคนิคทำสวนปาล์ม กับ ประสงค์ หอมสนิท เกษตรกรเบอร์ 1 ของ ชุมพร
“ปลูกปาล์มไม่ใช่เรื่องยาก
ปลูกที่ไหนมันก็ขึ้น ที่นาก็ขึ้น
บนเขาก็ขึ้น แต่จะทำให้มันมีทะลาย มีผลผลิต ไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะมันมีปัจจัยหลายตัว และใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล”
ลุงประสงค์
หอมสนิท ตอบคำถาม ทีมงานยางปาล์มออนไลน์
เมื่อเราถามถึงแนวทางการปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งคงเป็นประโยคที่ลุงประสงค์ถูกถามจนชิน
จากเกษตรกรที่เข้ามาเยี่ยมชมในฐานะเกษตรกรตัวอย่างของ จ.ชุมพร
และยังเป็นเจ้าของรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาทำสวน ประจำจังหวัด 5 ปีซ้อน
แต่ที่เราเข้ามาสวนปาล์มลุงประสงค์ไม่ใช่เพราะ
โลห์รางวัลที่ลุงได้รับ แต่เรามาตามเสียงลือเสียงเล่าของคนในวงการสวนปาล์ม จ.ชุมพร
ว่า ที่นี่คือ “ขุมความรู้” เชิงปฏิบัติจริง ในการทำสวนปาล์มให้ “ต้นทุนต่ำ”
แต่ได้ “ผลผลิตสูง”
HIGHTLIGHTS
━━━━━━━━━━━━━━━━━
✔ ลุงประสงค์
เป็นอดีตชาวประมง เมืองเพชร เก็บหอมรอมริบ ซื้อที่ปลูกยางและปาล์ม ใน จ.ชุมพร
ด้วยเป็นคนเอาจริงเอาจังในอาชีพที่ทำ จึงพัฒนาตัวเองมาเป็นเกษตรกรชาวสวนปาล์มเบอร์
1 ของ จ.ชุมพร
✔ ปาล์มต้องการความสมบูรณ์สูง
ถ้าอาหารไม่เพียงพอจะไม่ออกทะลาย การดูแลปาล์มให้สมบูรณ์นี่แหละคือ เรื่องยาก
เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะปุ๋ย แต่ถ้าคิดว่าเราไม่ใส่ปุ๋ยเพราะไม่มีเงิน
ปาล์มไม่มีอาหารมันก็ไม่ให้ผลผลผลิต ทีนี้แหละจะอดทั้งคนทั้งปาล์ม
✔ ประเคนปุ๋ยปาล์มเต็มที่ 12-15 กก./ต้น/ปี
แต่ต้นทุนการผลิตรวม 2 บาท/กก.เท่านั้น เพราะลุงประสงค์ลดต้นทุนส่วนอื่นที่เหลือ
แต่ที่สำคัญก็คือ ผลผลิตที่สูงถึง 6-7 ตัน/ไร่/ปี คือตัวหารที่ทำให้ต้นทุนรวมต่ำ
✔ วางเป้าหมายสร้างทะลายไม่น้อยกว่า
10 ทะลาย/ต้น/ปี 3 ทะลายคือต้นทุนผลิตรวม ที่เหลือคือกำไร
ลุงประสงค์นิยามชีวิตตัวเองเป็น “นักพเนจร”
จากจังหวัดบ้านเกิด อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ทำงานเป็นลูกเรือประมง ในน่านน้ำไทย
และอินโดนีเซีย ก่อนจะไต่เต้าเป็น ไต้ก๋งเรือ
และพเนจรเป็นลูกเรือขนส่งไม้ไปอินโดนีเซีย
สุดท้ายมาซื้อเรือประมงเล็กๆ
ปักหลักอยู่ จ.ชุมพร หาปลาคนเดียววันละไม่ต่ำกว่า 100 กก. โดยมีภรรยาเป็นแม่ค้าแบบเดลิเวอรี
ขายตรงถึงหน้าบ้าน ได้เงินวันละหลายพันบาท เก็บหอมรอมริบอยู่ 8 ปี จนมีเครดิตพอที่จะกู้แบงค์ซื้อที่ดิน
ใน อ.ปะทิว
ลุงซื้อที่นาร้าง ที่ไม่มีใครเอา เพราะราคาไม่แพงมาก ค่อยๆ ซื้อจนได้ 50 ไร่ แล้วปรับพื้นที่ปลูกยาง เพราะแถวนี้ส่วนใหญ่ปลูกยางกัน
แม้ว่าสวนยางจะทำเงินให้ลุงประสงค์มาก
แต่เมื่อหักค่าจ้างคนกรีดยางกำไรถูกกลืนหายไปอย่างน้อย 40% ไหนจะเจอปัญหาลูกจ้างลักขโมยยางเป็นประจำ
เพราะไม่ได้เข้าดูแลควบคุมเข้มงวด
ได้เงินมาแสนหนึ่ง ต้องแบ่งให้คนกรีดแล้วสี่หมื่น เราเหลือหกหมื่น แล้วยางนี่ฝนตกก็กรีดไม่ได้ แล้วไม่รู้ที่ว่ากรีดไม่ได้นี่ ลูกจ้างมันแอบกรีดไปหรือเปล่า เพราะเราไม่รู้ไม่มีเวลาไปดูเอง
เมื่อยางมีปัญหาเรื่องการแบ่งผลประโยชน์
ลุงประสงค์จึงลองปลูกปาล์มในพื้นที่ที่เหลือ 50 ไร่ ก่อนจะค้นพบ “แสงสว่าง”
ว่า ปลูกปาล์มไม่ปวดหัวเหมือนปลูกยาง
ปาล์ม ขายได้เงินแสนหนึ่ง จ่ายค่าตัดแค่หมื่นห้า ฝนตกยังตัดได้ และไม่ต้องไปรับผิดชอบคนงาน แล้วภาคใต้ฝนเยอะ ปลูกยางลำบากขึ้นไหนจะโรค ไหนจะกรีดไม่ได้อีก ปาล์มน่าจะเหมาะกว่า
เมื่อคนพบแนวทางใหม่
ประกอบกับอายุที่มากขึ้น ลุงประสงค์ จึงลาออกจากอาชีพประมงอย่างถาวรเมื่อ 8
ปีที่แล้ว มาลงหลักปักฐานกับสวนปาล์มแบบเต็มตัว
แม้ในช่วงเริ่มต้นยังไม่มีความรู้มากนัก
แต่ด้วยนิสัยเอาจริงเอาจังกับอาชีพจึงศึกษาเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว
ปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี 1 |
━━━━━━━━━━━━━━━
ปลูกปาล์ม
สายพันธุ์ คือ “รากฐาน” สำคัญที่สุด
━━━━━━━━━━━━━━━
ลุงประสงค์บอกว่า
ปลูกปาล์มไม่ใช่เรื่องยาก ปลูกที่ไหนก็ได้ ที่ลุ่มก็ได้ ที่เขาก็ได้ ที่แล้งก็ได้
แต่จะให้ทะลาย ให้ผลผลิตคุ้มค่าหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นอย่างแรก
อย่างสวนปาล์มของลุงประสงค์แม้จะเป็นที่นาร้าง แต่ถือว่ามีความเหมาะสมระดับหนึ่ง แม้จะไม่มีแหล่งน้ำ
แต่ปริมาณฝนโดยรวมถือว่าไม่เลวร้ายนัก
ต่อมาคือ “พันธุ์ปาล์ม”
ลุงประสงค์แชร์ประสบการณ์ว่า พันธุ์ปาล์มสำคัญที่สุด เพราะพันธุ์คือความแน่นอน และจะสร้างความมั่นใจระยะยาว
พันธุ์ที่ลุงประสงค์เลือกปลูกคือ พันธุ์สุราษฎร์ธานี 1
ของศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี ซึ่งต้นพ่อแม่พันธุ์ปลูกในประเทศ ผสมและ “ทำคลอด”
ในไทย จึงปรับตัวเข้ากับอากาศของไทยมากกว่า ประกอบกับมีลักษณะเด่น ทะลายใหญ่ ดก และให้ผลผลิตสูง
พอพันธุ์ดีเราก็มั่นใจที่จะลงทุนทุ่มเทดูแลได้เต็มที่ ทุ่มปุ๋ยทุ่มทุกอย่างให้ได้เต็มศักยภาพของมัน พันธุ์อื่นที่พัฒนาขึ้นใหม่ๆ มามันก็ดีนั่นแหละ แต่เราไม่กล้าเปลี่ยนไม่กล้าลอง เพราะเรามั่นใจพันธุ์นี้ และไม่ได้ทำให้ผิดหวัง
ปาล์มพันธุ์สุราษฎร์ธานี ระยะปลูก 10x10 |
━━━━━━━━━━━━━━━
ปลูกปาล์มระยะ 10x10x10 เมตร ได้รับแสงเต็มที่
━━━━━━━━━━━━━━━
ปาล์มน้ำมันเป็นพืชต้องการแสงมาก
ระยะปลูกมาตรฐานนิยมคือ 9x9x9 เมตร
แต่ลุงประสงค์แนะนำจากประสบการณ์ว่าระยะที่เหมาะสมคือ 10x10x10 เมตร เพราะต้นปาล์มจะได้รับแสงแดดเต็มที่ ใบจะไม่ซ้อนหรือชนกันเมื่ออายุมากขึ้น
ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเมื่อปาล์มอายุมากขึ้นผลผลิตจะลดลง ส่วนหนึ่งก็มาจากได้รับแสงน้อยลงนั่นเอง
แต่ถ้าปลูกระยะห่างขึ้น
ต้นปาล์มจะได้รับแสงเต็มที่ สามารถปรุงอาหารได้มาก ต้นจะสมบูรณ์ได้ผลผลิตต่อเนื่อง
เพียงแต่ต้องสัมพันธ์กับการตัดแต่งทางใบด้วย
ลุงประสงค์ยึดหลักเกณฑ์เฉพาะตัวว่าทางใบต้องโปร่งไม่ปล่อยไว้บนต้นมากเกินไป เพื่อให้แสงส่องได้จนถึงโคนต้น
และที่สำคัญช่วย “ปลดเปลื้อง” ภาระของต้นปาล์มไม่ต้องเลี้ยงใบที่ไร้ประโยชน์
สมัยก่อนคนปลูกปาล์มปีหนึ่งจะตัดแต่งทางครั้งหนึ่ง พอลุงเห็นแล้วไม่เอาอย่างนั้น จะแต่งทาง 4 เดือนต่อครั้ง หรือปีละ 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะทางใบที่ตัดทะลายไปแล้วเปล่าประโยชน์ เก็บไว้มันก็กินปุ๋ยไปฟรีๆ บังแสงอีก ถ้าแสงแดดเข้าทั่วทั้งต้น จะทำให้ปาล์มดก
สวนปาล์มน้ำมันอายุมากกว่า 10 ปี ต้นปาล์มได้รับแสงเต็มที่ เพราะปลูกระยะ 10x10 เมตร |
ต้นปาล์มได้รับแสงแดดเต็มที่ ใบจะไม่ซ้อนหรือชนกัน |
วิธีการแต่งทางของลุงประสงค์จะทำไปพร้อมกับตัดทะลาย
เมื่อตัดทะลายปาล์มจะเกี่ยวทางใบมาพร้อมกัน ช่วยลดต้นทุนการแต่งทางได้อีกทาง
เมื่อตัดทะลายออกมา จะให้คนแทงแต่งทางออกไปด้วยเลย ถ้าไม่แต่งทางมันจะเหลือมาก ต้องเสียค่าจ้างตัดทางเพิ่มอีก ปกติค่าจ่างแต่งทางต้นละ 10 บาท ถ้า 400 ต้น ก็ 4,000 บาท แต่ถ้าทางเราเหลือน้อย ค่าจ้างจะเหลือแค่ 700 บาท ปกติปีหนึ่งต้องจ้างแต่งทาง 9,000 บาท ก็เหลือ 1,400 บาทเอง
วิธีตัดแต่งทางของลุงประสงค์ อาจจะขัดกับตำราวิชาการ
และกูรูหลายคน ที่แนะนำให้เกษตรกรเก็บทางใบไว้ 2 ทางต่อทะลาย เพียงแต่ผลผลิตดกๆ ที่อยู่บนต้น
คือ “พยาน” การแต่งทางแบบฉบับของลุงประสงค์ได้อย่างดี
━━━━━━━━━━━━━━━
ปาล์มต้องการปุ๋ยมาก ใส่ปีละ 3 ครั้ง รวม 12-15 กก./ต้น/ปี
━━━━━━━━━━━━━━━
ลุงประสงค์บอกว่า ต้นปาล์มน้ำมันถ้าได้รับอาหารไม่เพียงพอจะออกดอกตัวผู้
แต่ถ้าอาหารสมบูรณ์จึงจะออกตัวเมีย และอาหารหลักของปาล์มก็คือ ปุ๋ย จึงเป็น “กฎเหล็ก” ที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็น
“นาย” คอยสั่งให้ใส่ปุ๋ยปาล์มอย่างสมบูรณ์ปีละ 3 ครั้ง โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ
ทั้งสิ้น
ถึงเวลาต้องใส่ปุ๋ยเราต้องใส่ให้มัน ลุงถึงขนาดใช้จ่ายอย่างประหยัด อดออมเงินเพื่อเก็บเงินไว้ซื้อปุ๋ย คิดว่าถ้าไม่มีเงินใช้ก็ไปรับจ้างหรือทำอย่างอื่นแทน เพราะเมื่อใส่ปุ๋ยปาล์มให้เพียงพอก็จะออกผลผลิตมาเลี้ยงเรา แต่ถ้าคิดว่าไม่ใส่เพราะไม่มีเงิน ปาล์มก็ไม่มีอาหารมันก็ไม่ให้ผลผลิต ทีนี้แหละจะอดทั้งคนทั้งปาล์ม
เรื่องการทำปาล์มให้สมบูรณ์ลุงประสงค์จึงไม่รอให้
“เทวดา” มา “เนรมิต” แต่ต้องสร้างเอง ด้วยการให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ
ลุงประสงค์ยึดหลักเกณฑ์เฉพาะตัวว่าทางใบต้องโปร่งไม่ปล่อยไว้บนต้นมากเกินไป เพื่อให้แสงส่องได้จนถึงโคนต้น และที่สำคัญช่วย “ปลดเปลื้อง” ภาระของต้นปาล์มไม่ต้องเลี้ยงใบที่ไร้ประโยชน์ |
เพียงแต่ความโหดหินของปาล์มน้ำมันก็คือ
เมื่อใส่ปุ๋ยปีนี้กว่าจะแสดงผลใช้เวลา 1-2 ปีข้างหน้า จึงต้องพิสูจน์ความอดทนกันพอสมควร
แต่ลุงประสงค์เข้าใจธรรมชาติของปาล์มดี จึงตั้งหน้าใส่ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ
การดูแลให้ได้รับอาหารสมบูรณ์นี่แหละยาก ยากตรงที่มันไม่เห็นผลว่ามันสมบูรณ์หรือไม่ ใส่ปุ๋ยไป เป็นปีกว่าจะเห็นผล แล้วธาตุอาหารที่ใส่ให้ไปมันเพียงพอตามที่ปาล์มต้องการหรือเปล่า แต่ผมจะถือหลักง่ายๆ ใส่ปุ๋ยตามผลผลิต ออกมากก็ใส่มากชดเชยให้มัน
หลักในการใส่ปุ๋ยของลุงประสงค์คือ
ใส่ปุ๋ยให้มาก ดีกว่าใส่ขาด เพราะปุ๋ยที่ใส่ลงไปบางตัวไม่ได้หายไปไหน แต่สะสมเป็น “บุญเก่า”
อยู่ในสวนนั่นแหละ
วิชาการเขาจะมีคำนวณว่าใส่ธาตุอาหารเท่านี้พอ ไม่ต้องใส่เกินที่มันต้องการ ใส่มากไปก็เปล่าประโยชน์ และเพิ่มต้นทุน แต่เขาไม่ได้นึกหรอกว่าปุ๋ยที่ใส่ไปมันสูญเสียไปกับอากาศบ้าง ฝนบ้าง ที่ว่าใส่พอดีกลับขาดไป ต้นปาล์มก็ไม่สมบูรณ์ ลุงจึงใส่เผื่อไว้ แล้วปุ๋ยบางตัวที่มีมากจนเกินไป แต่มันก็ยังเก็บสะสมอยู่ในดิน เมื่อปาล์มต้องการก็นำมาใช้ได้ทันที ไม่ต้องรอ ไม่ต้องอด
วิธีใส่ปุ๋ยของลุงประสงค์จะใส่ ทุกๆ
4 เดือน หรือปีละ 3 ครั้ง ปริมาณปุ๋ยดูตามอายุปาล์มเป็นหลัก เช่นปาล์มอายุ 5-7 ปีจะใส่ 4 กก./ต้น หรือ 12 กก./ต้น/ปี ปาล์มอายุ 10 ปีขึ้นไป 5
กก./ต้น หรือ 15 กก./ต้น/ปี
━━━━━━━━━━━━━━━
ผสมปุ๋ยใช้เอง คุณภาพดี ต้นทุนต่ำ ผลผลิตสูง
━━━━━━━━━━━━━━━
เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้วที่ลุงประสงค์เปลี่ยนมาใช้แม่ปุ๋ยผสมเอง
แทนปุ๋ยสูตรสำเร็จ โดยมีทั้งธาตุอาหารหลักที่ปาล์มต้องการ
ธาตุอาหารรองและธาตุเสริมครบครัน น่าเสียดายที่ทีมงานยางปาล์มออนไลน์คาดคั้นเอาสูตรและสัดส่วนการผสมปุ๋ยมาไม่ได้
เพราะเป็นความลับของลุงประสงค์
แม่ปุ๋ยผสมตามสูตรของตัวเอง เป็น “เคล็ดลับ” หนึ่งที่ทำให้ต้นปาล์มในสวนของลุงประสงค์สมบูรณ์และให้ผลผลิตสูง
รวมถึงยังลดต้นทุนปุ๋ยได้ถึง กระสอบละไม่ต่ำกว่า 300-400 บาท
พอเราซื้อแม่ปุ๋ยมาผสมเอง ราคามันถูกกว่าซื้อปุ๋ยสูตรสำเร็จ คำนวณต้นทุน + ค่าผสม เหลือกระสอบละ 570-600 บาท จากปุ๋ยสูตรกระสอบละ 900-1,000 บาท เราลดต้นทุนได้ 300-400 บาท/กระสอบ ทีนี้เวลาใส่ก็ใช้วิธีเอารถกระบะวิ่งเข้าไปในสวน แล้วใช้คนนั่งท้ายกระบะตักสาดทีละต้น ไม่ต้องเดิน ใช้คนน้อย 50 ไร่ใช้แค่สองคน เราลดต้นทุนส่วนนี้ไปได้อีก
ทางใบที่ตัดแต่งก็นำมากองเป็นแถวยาว แบบแถวเว้นแถว เป็นอินทรียวัตถุในสวน |
จากตัวอย่างบิลรับเงินที่ลุงประสงค์นำมาใช้เราดู
แต่ละเดือนได้ผลผลิต 60-70 ตัน/เดือน สำหรับปาล์ม 80 ไร่ หรือประมาณ 800-900
กก./ไร่/เดือน แต่เมื่อรวบรวมผลผลิตทั้งปีจะได้ผลผลิตประมาณ 6-7 ตัน/ไร่/ปี
ผลผลิตไม่ต้องห่วงหรอก มากมาย ทางเกษตรจังหวัดและทางศูนย์วิจัยฯ สุราษฎร์ฯ เขามาเก็บข้อมูลทุกปี ผลผลิตที่ได้สูงสุด 6-7 ตัน/ไร่/ปี
ลุงประสงค์บอกว่าต้นทุนการผลิตเท่ากับ 3 ทะลาย/ต้น/ปี ที่เหลือคือกำไร |
━━━━━━━━━━━━━━━
ต้นทุนการผลิตเท่ากับ 3 ทะลาย/ต้น/ปี ที่เหลือคือกำไร
━━━━━━━━━━━━━━━
เมื่อนำตัวเลขต้นทุนรวมทั้งหมดมาหารกับปริมาณผลผลิตทั้งปี ลุงประสงค์จึงมีต้นทุนเพียง กก.ละ 2 บาท
ต้นทุนปุ๋ย กก.ละ 12 บาท ใส่ครั้งละ 5 กก./ต้น เท่ากับ 60 บาท/ครั้ง ปีหนึ่งใส่ 3 ครั้ง รวมเป็น 180 บาท/ต้น เราแทงปาล์มมาทะลายหนึ่ง 30-40 กก. ได้ 2 ทะลายก็หลุดต้นทุนปุ๋ยแล้ว แต่เราก็ต้องคิดอีกหนึ่งทะลาย เป็นค่าจัดการต้นทุนส่วนอื่นๆ เช่น ค่าตัดหญ้า ค่าตัดทะลาย ต้นทุนต่อต้นเลยเท่ากับปาล์ม 3 ทะลาย/ปี ทีนี้ทะลายที่เหลือคือกำไร ขึ้นอยู่กับว่าจะได้กี่ทะลายต่อปี ถ้าอยากได้กำไรมากๆ เราก็ต้องทำให้มันออกทะลายมากๆ
การทำสวนปาล์มของลุงประสงค์
ตั้งเป้าหมายกับปาล์มต้นต่อต้น เมื่อต้นทุนการผลิตเท่ากับ 3 ทะลาย
เป้าหมายจะต้องทำทะลายให้ได้อย่างน้อย 10 ทะลาย และพยายามทำให้ปาล์มแต่ละต้นออกสม่ำเสมอ
ข้อคิดจากการทำสวนปาล์มของลุงประสงค์
คือ ความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับอาชีพสวนปาล์ม ซึ่งเป็นไปตามนิสัยของลุง
ในขณะที่ผืนดินที่ปลูกปาล์มเป็นนาร้างขาดความสมบูรณ์ ไม่มี “บุญเก่า”
ให้ต้นปาล์มใช้สอย ลุงประสงค์จึงต้องเติมความสมบูรณ์ให้สม่ำเสมอทุกปี
เพราะเข้าใจความต้องการของต้นปาล์มเป็นอย่างดี ว่า “ไม่มีปุ๋ย” เท่ากับ “ไม่มีทะลาย”
ต่อให้ “เทวดา” ก็ “เนรมิตทะลาย” ให้ไม่ได้
ถ้าไม่สร้างหรือสะสมขึ้นมาเอง
ขณะเดียวกันลุงประสงค์ไม่ได้เอ่ยถึงปัญหาหรือข้อจำกัดในการทำสวนปาล์มของตัวเองเลย
ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่มี เพียงแต่เราจับได้ว่า
ปัญหาที่เกิดขึ้นลุงได้หาทางแก้ไข และเอาชนะ
เพราะตราบใดถ้ายัง “สร้างข้อจำกัด” หรือไม่หาทางออก จะเดินในอาชีพสวนปาล์มต่อไปไม่ได้
เพราะตราบใดถ้ายัง “สร้างข้อจำกัด” หรือไม่หาทางออก จะเดินในอาชีพสวนปาล์มต่อไปไม่ได้
ลุงพูดไม่มีใครเชื่อหรอก เพราะลุงไม่มีปริญญายืนยัน แต่คนที่เข้ามาที่สวนเขาเห็น เขาจึงจะเชื่อ
━━━━━━━━━━━━━━━
ขอขอบคุณ
ประสงค์ หอมสนิท
14/15 ต.ดอนยาง อ.ปะทิว จ.ชุมพร
โทรศัพท์ 088 929 3422
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น