ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

เรียนรู้ + ลงมือทำ อาวุธ ทำสวนปาล์ม ของณัฐดนัย สุขรัตน์

ไม่มี “ปราชญ์” คนไหน “คาบความรู้ออกมาจากท้องแม่ตั้งแต่เกิด...!!!

เช่นเดียวกับไม่มี “ผู้ประสบความสำเร็จ” คนไหน “นั่งตาก ลม” โดยไม่ลงมือทำ...!!!

นับประสาอะไรกับเกษตรกร “เลขไมล์ประสบการณ์ต่ำ” อย่าง ณัฐดนัย สุขรัตน์ ที่ “ถอดเครื่องแบบ” นักโปรแกรมเมอร์ มาสวมใส่ “ชุดเกษตรกร” เขาจึงต้องเรียนรู้เรื่องปาล์มน้ำมัน ไปพร้อมๆ กับลงมือปฏิบัติ

เพียงแต่เขาเลือกที่จะ “ลงทะเบียน เรียนลัด” กับผู้รู้ตัวจริง แทนที่จะนั่งงมอยู่กับประสบการณ์อันน้อยนิดของตัวเอง

เขา “กอบโกย” ความรู้อย่าง “หิวโหย” พร้อมกับนำมาปรับใช้ในสวนปาล์ม 17 ไร่ อย่างจริงจัง หลังจากลงทุนปลูกแล้ว “ฝากเทวดาเลี้ยง” ตั้งแต่ยังทำงานประจำ

 “ผลผลิต” ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ ถ้วยรางวัลแห่งความตั้งใจของเขา พอๆ กับความรู้เรื่องปาล์มน้ำมันที่เพิ่มพูนจนกลายเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าคนหนึ่งของ จ.ชุมพร ซึ่งเว็บไซต์ยางปาล์ม เคยนำเสนอไปแล้วครั้งหนึ่ง 

(อ่าน)

เราเข้าไปเยี่ยมชมสวนปาล์มของณัฐดนัยอีกสวนหนึ่งใน อ.สวี จ.ชุมพร  พร้อมกับ “ลักขโมย” เทคนิคการจัดการสวนปาล์มในแบบฉบับของเขามาฝากอย่างครบถ้วน
ณัฐดนัย สุขรัตน์ ที่ ถอดเครื่องแบบ นักโปรแกรมเมอร์ มาสวมใส่ ชุดเกษตรกร เขาเรียนรู้เรื่องปาล์มน้ำมัน ไปพร้อมๆ กับลงมือปฏิบัติ
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ศึกษาสายพันธุ์ปาล์มคอมแพค จนมั่นใจปลูก
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
เรื่องสายพันธุ์ปาล์มน้ำมันเป็นความรู้ใหม่ที่เขาต้องศึกษาหาความรู้ โดยเข้าไปศึกษาจากแปลงเพาะมาตรฐานที่อยู่ใกล้บ้านใน อ.ละแม จ.ชุมพร คือ แปลงเพาะกล้า RD เกษตรพัฒนา ที่นำเข้าเมล็ดปาล์มน้ำมัน จาก บริษัท ASD ประเทศคอสตาริกา ผู้ผลิตพันธุ์ปาล์มมาตรฐานระดับโลก มาเพาะ ซึ่งพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ กลุ่มพันธุ์คอมแพค ได้แก่ คอมแพคกาน่า เดลี่คอมแพค คอมแพคไนจีเรีย  และไนจีเรียแบล็ค ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นหลายด้าน เช่น ผลผลิตสูง สูงช้า ทางใบสั้น เป็นต้น

ด้วยความสนใจเขายังเข้าไปดูข้อมูลในเว็บไซต์ ASD เพิ่มเติม ก่อนจะตัดสินใจปลูก ไนจีเรียแบล็ค และ เดลี่คอมแพค 


ข้อมูลการปลูกปาล์มพันธุ์คอมแพค 

ไนจีเรียแบล็ค (ปลูก ส.ค. 2552 จ.ชุมพร) อายุ 8 ปี ปลูกระยะ 9x9x9 ความยาวทาง (ปีนี้) 6.8-7 เมตร ความสูง 2.5-2.8 เมตร น้ำหนักทะลาย(ชั้นแรก) 20-50 กก. ปาล์มพันธุ์นี้ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ทนแล้งได้ดี มีขนาดทะลายปานกลาง ทำงานง่าย ผลผลิตออกสม่ำเสมอทั้งปี แต่จุดอ่อน คือ ในตอนอายุน้อยๆ ทางใบจะบิดมากว่าพันธุ์อื่นๆ ทำให้การเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอกัน โดยพบว่าพันธุ์นี้ทางใบยาวมากควรปลูกที่ระยะ 10 เมตร ขึ้นไป 

━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ใช้หลักวิชาการ เป็น เข็มทิศ ทำสวนปาล์ม
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
หลังจากลาออกจากงานประจำมาเป็นชาวสวนปาล์มเต็มตัว เรื่องแรกๆ ที่ทำคือ เติมความรู้เรื่องการทำสวนปาล์ม เพื่อนำมา “บูรณะ” สวนปาล์มพันธุ์ไนจีเรียแบล็ค จำนวน 17 ไร่ ที่เขาลงทุนปลูก แต่ไม่ได้ดูแลอะไรมากนัก

วิธีที่ดีที่สุด ต้องหาความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ หรือ “กูรู” ด้านปาล์มน้ำมัน เขานำตัวเองเข้าไปอบรมหลักสูตรการจัดการสวนปาล์มอย่างมืออาชีพ ที่  บริษัท วิจิตรภัณฑ์ ปาล์มออยล์ จัดขึ้น วิทยากรหลักของงานนี้ คือ อ.ธีระพงษ์ จันทรนิยม อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องปาล์มน้ำมันเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย และมี ลุงจรูญ ประดับการ เกษตรกรตัวอย่างชั้นครู ของ จ.ชุมพร เป็นวิทยากรร่วม

“เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมได้ความรู้ทางวิชาการแบบเต็มที่” ณัฐดนัยบอก ซึ่งการเรียนรู้การทำสวนปาล์มในเชิงเศรษฐกิจ  คือวิธี “ตีสนิท” กับต้นปาล์มที่ดีที่สุด

เขาเชื่อว่าเมื่อรู้นิสัยใจคอของต้นปาล์มดีพอ ก็จะรู้ความต้องการของมัน เพียงแค่คอยประเคนสิ่งที่มันต้องการลงไปในช่วงที่เหมาะสมเท่านั้น ความสำเร็จก็ส่องแสงรำไร

พูดง่ายแต่ทำยาก...!!! เพราะตามหลักวิชาการปัจจัยที่จะทำให้สวนปาล์มประสบความสำเร็จมีหลายด้านเหลือเกิน  หลายด้านควบคุมไม่ได้ เพียงแต่หลักวิชาการจะช่วยให้มี “เข็มทิศ” อยู่ในมือ ไม่หลงทางไปจากเป้าหมาย

“ผมให้ความสำคัญเรื่อง ดิน น้ำ แสง ปุ๋ย และการตัดปาล์ม” เขาโฟกัสปัจจัยหลักๆ ตามนี้
สร้างกองทางในสวน เป็นปัจจัยหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยที่แทบไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แต่ประโยชน์มากมาย
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ชุบชีวิตดิน ด้วยอินทรียวัตถุจากทางใบปาล์ม
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ดินที่เหมาะสมกับปาล์มความเป็นกรด-ด่างประมาณ pH 5.5-6.5 โชคดีที่หลังจากตรวจค่าดินในสวนค่า pH อยู่ 5.5 แต่สิ่งที่ดินในสวนขาดแคลนคือ ความโปร่งและร่วนซุย เขาบอกว่า คุณสมบัติพวกนี้เกี่ยวข้องกับการกินอาหารของต้นปาล์ม และส่งเสริมเรื่องประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย ดินจะดีได้จำเป็นต้องมีอินทรียวัตถุเพียงพอ

“ผมเน้นใช้อินทรียวัตถุในสวน คือ ใช้ทางใบที่ตัดแต่งมาสร้างกองทางในสวน แต่จะวางแบบกระจาย ไม่วางกองสูงเมตรสองเมตรเป็นคนรุ่นเก่า เน้นวางกระจายให้มากที่สุด แต่เหมาะสม คนงานทำงานสะดวก โดยวางห่างจากโคนต้นเมตรกว่าๆ”

“ผมจะวางแบบตัว T คือวางกระจายยางตามร่องแถวปาล์ม และวางขั้นกลางระหว่างต้นด้วย ต้องการให้ในสวนมีอินทรียวัตถุเยอะๆ และพื้นที่กว้าง ทำให้เกิดรากที่ทำหน้าที่กินอาหารกระจายและมีปริมาณมาก เวลาใส่ปุ๋ยจึงใส่ได้บริเวณกว้าง ต้นปาล์มกินปุ๋ยได้ดีกว่า” 
วางแบบตัว คือวางกระจายยางตามร่องแถวปาล์ม และวางขั้นกลางระหว่างต้นด้วย ต้องการให้ในสวนมีอินทรียวัตถุกว้าง 
สวนปาล์มของเขายังวางระบบน้ำทั้งสวน โดยวางหัวมินิสปริงเกลอร์สองข้างต้นปาล์ม น้ำจะตกบนกองทางพอดี กองทางจะเป็นเหมือน “ฟองน้ำ” ดูดซับและเก็บกักความชื้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้น้ำดียิ่งขึ้น

สร้างกองทางในสวน เป็นปัจจัยหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยที่แทบไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แต่ประโยชน์มากมาย

ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้ดิน ช่วยในการแลกเปลี่ยนประจุระหว่างดินกับปุ๋ย ช่วยรักษาความชื้นเวลาฝนตกหรือให้น้ำ จุดที่มีกองทางปู หรือมีอินทรียวัตถุหนาๆ จะแห้งช้า และเก็บความชื้นได้ดี จุดที่เป็นกองทางเป็นจุดใส่ปุ๋ยที่ดี เพราะจะมีรากฝอยอยู่หนาแน่น เพราะตรงนั้นมีความชื้นมีธาตุอาหาร และช่วยป้องกันการสูญเสียปุ๋ย เพราะจะช่วยลดการชะล้างจากน้ำฝน
แค่สร้างกองทาง แต่ประโยชน์รอบด้าน
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ให้ปุ๋ยแม่นยำใส่ตามค่าวิเคราะห์ใบ และปริมาณผลผลิต
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
เขาเล่าว่า ไม่รู้เรื่องปุ๋ยเลย จับใส่มั่วไปหมด อันไหนที่เขาว่าดีก็ใส่ เห็นสวนไหนปาล์มสวยๆ ก็ไปดูกระสอบปุ๋ยข้างสวนว่าใช้สูตรอะไร เพราะไม่มีหลัก ผลผลิตก็พอได้ แต่ต้นทุนค่อนข้างสูง เพราะไม่ได้ใส่ตรงความต้องการของต้นปาล์ม กะว่าใส่เยอะๆ แล้วผลผลิตจะสูง

แต่หลังจากเข้าไปเก็บเกี่ยวความรู้มาจากงานอบรม จึงได้หลักการใส่ปุ๋ยมาเต็มๆ  โดยเฉพาะรู้ว่าปาล์มต้องการธาตุอาหารอะไรบ้าง แต่ละธาตุได้จากไหน วิธีคำนวณธาตุให้ปาล์มทำอย่างไร การสูญเสียธาตุไปกับทะลายปาล์ม แต่ละตันสูญเสียไปเท่าไหร่ เป็นต้น

แต่ถ้าต้องการความแม่ยำยิ่งขึ้น ต้องตรวจวิเคราะห์หาธาตุอาหารจากใบปาล์ม โชคดีที่ผู้เข้าอบรมได้สิทธิ์ ส่งใบปาล์มวิเคราะห์ธาตุอาหารฟรี

วิเคราะห์ธาตุอาหารจากใบปาล์มสำคัญอย่างไร...??? ค่าวิเคราะห์ธาตุอาหารจากใบเปรียบเหมือนการตรวจ “สุขภาพของต้นปาล์ม” ว่ามีธาตุอาหารที่สำคัญเท่าไหร่บ้าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ และใช้เป็นแนวทางในการจัดการปุ๋ยให้เหมาะสมกับความต้องการของต้นปาล์ม

“หลังจากจัดการธาตุอาหารตามหลักวิชาการ มีความรู้สึกว่าใส่ปุ๋ยไม่มากจนเกินไป ค่อนข้างที่จะพอดีกับผลผลิต”

“แรกๆ จะใช้แม่ปุ๋ยทั้งหมดเลย แต่มันเหนื่อยเพราะผมมีสวนสองแปลงที่ต้องดูแล ระยะห่างกันกว่า 100 กก. และควบคุมคนเดียว เลยปรับมาใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 แล้วเพิ่มแม่ปุ๋ยเข้าไป แม้จะราคาสูงกว่าแม่ปุ๋ย แต่สะดวก และแต่ผมยอมรับได้”
ระยะปลูก 9x9 เมตร ต้นปาล์มได้รับแสงน้อยเมื่อปาล์มอายุเข้าปีที่ 9 เขาบอกว่าระยะที่เหมาะสมควรจะ 10 เมตร
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ปาล์มได้แสงเต็มที่ต้องปลูก 10x10 เมตร
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
แสงเป็นตัวที่พืชใช้ปรุงธาตุต่างๆ เป็นอาหารให้พืชนำไปใช้หล่อเลี้ยงต้น ซึ่งปาล์มจำเป็นต้องใช้แสงมาก เพื่อปรุงอาหาร จึงต้องเว้นระยะปลูกให้ต้นปาล์มได้รับแสงเต็มที่

แต่ไม่มีใครตามใจต้นปาล์มได้มากนัก เพราะถูกบีบด้วยพื้นที่ แม้สวนของณัฐดนัยจะใช้ระยะปลูกตามที่วิชาการแนะนำ  9x9x9 แต่แสงก็ยังไม่เพียงพอ

“ตอนปาล์มอายุไม่เยอะก็ยังพอได้ แต่พอปาล์มอายุเข้า 8 ปี เริ่มเห็นความผิดปกติ เพราะใบปาล์มชนและบังแสงกันละกัน อาจจะเป็นเพราะผมบำรุงมันเกินไปใบเลยยาว ผมว่าถ้าปลูกระยะ 10 เมตรน่าจะเหมาะสม”

หลังจากตัดทางใบอายุ 8 ปี มาวัด ยาวถึง 6.8-7 เมตร และคาดว่าจะยาวมากขึ้นเรื่อย ๆ จะแย่งแสงในปีที่ 9 เป็นต้นไป

“ปลูกแล้วเลื่อนไปได้ คงต้องพิจารณาล้มต้นที่ด้อยออก เพื่อสร้างแสงให้กับต้นรอบๆ เป็นวิธีที่พอทำได้”
หลังจากตัดทางใบอายุ 8 ปี มาวัด ยาวถึง 6.8-7 เมตร และคาดว่าจะยาวมากขึ้นเรื่อย ๆ 
โชคดีที่มีคลองขนาดใหญ่อยู่ใกล้ๆ เพียงใช้เครื่องยนต์สูบน้ำตรงเข้าสวน โดยไม่ต้องมีบ่อพัก มีน้ำตลอดทั้งปี
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ขาดน้ำ เท่ากับ ขาดปุ๋ย
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
สำคัญสำหรับปาล์มอีกตัว ก็คือน้ำ ณัฐดนัยให้น้ำหนักความสำคัญลำดับต้นๆ เพราะน้ำเป็นตัวเคลื่อนย้ายธาตุอาหารจากดินไปสู่ท่อน้ำเลี้ยงของต้นปาล์ม

“ถ้าขาดน้ำ เลิกพูดเลย ยิ่งพืชปาล์มกินน้ำเยอะเป็นพิเศษ มีงานวิจัยออกมาว่าปาล์มโตต้องการน้ำวันละ 200-400 ลิตร ถือว่าเยอะมาก”

เมื่อรู้ว่าน้ำเป็นตัวแปรสำคัญของผลผลิต จึงตัดสินใจวางระบบน้ำทั้งแปลง โชคดีที่มีคลองขนาดใหญ่อยู่ใกล้ๆ เพียงใช้เครื่องยนต์สูบน้ำตรงเข้าสวน โดยไม่ต้องมีบ่อพัก ปล่อยน้ำผ่านหัวมินิสปริงเกลอร์ต้นละ 2 หัว ติดตั้งห่างจากต้นประมาณ 1 เมตรครึ่ง ให้น้ำครั้งละ 2 ชั่วโมงก็เพียงพอ

“จากงานวิจัยที่ผมเคยอ่านแปลงที่มีการให้น้ำอย่างเพียงพอต่อความต้องการของปาล์ม อาหารถึง แสงถึงด้วย สามารถเพิ่มผลผลิตได้ประมาณ 50% จากปกติ

ผมเลยตัดสินใจติดระบบน้ำเพราะมองว่ามันคุ้มค่า ถ้าจะซื้อที่ดินเพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก 50% ของ 17 ไร่นี้ ต้องลงทุนหลายตังค์หลักหลายแสนถึงหลักหลายล้าน ที่ดินอย่างเดียวไม่พอต้องไปปลูกอีก แต่นี่เราตัดสินใจเพิ่มผลผลิตโดยติดตั้งระบบน้ำมีน้ำให้หน้าแล้ง และยังใส่ปุ๋ยหน้าแล้งได้ด้วย 
ปล่อยน้ำผ่านหัวมินิสปริงเกลอร์ต้นละ 2 หัว ติดตั้งห่างจากต้นประมาณ 1 เมตรครึ่ง ให้น้ำครั้งละ 2 ชั่วโมงก็เพียงพอ
สวนปาล์มที่ไม่มีระบบน้ำ รอน้ำฝนจากเทวดาอย่างเดียวต้องขาดน้ำประมาณ 2-4 เดือน หรือเลวร้ายนานถึง 6 เดือน ซึ่งภาคใต้เคยเจอมาแล้ว เมื่อต้นปาล์มขาดน้ำ ก็เท่ากับขาดปุ๋ยไปด้วย

พอไม่มีน้ำต้นปาล์มจะเครียด และดึงน้ำที่มีไปใช้เลี้ยงต้นก่อน มันไม่สนใจลูกแล้ว ประคองชีวิตให้ได้ก่อน อย่าลืมว่าปาล์มทุกทางใบมีตาดอก ตาดอกจะเป็นผู้หรือเมีย อยู่ที่น้ำ ถ้าขาดน้ำออกดอกตัวผู้แน่นอน

“สมมุติว่าแล้งติดต่อกัน 4 เดือน ถ้าออกดอกตัวผู้ซัก 4-6 ดอก เยอะนะครับ ตีว่าถ้ามันเป็นตัวเมียและเป็นทะลายจะหนักน้อยสุดก็ 20 กก./ต้น ไม่น้อยนะครับ ถ้าเป็นเกือบทุกต้นสูญเสียเยอะเลย แต่ถ้าเรามีน้ำเราจะช่วยเพื่อได้เยอะ ถ้ามีน้ำปาล์มเราสามารถใส่ปุ๋ยได้และสมบูรณ์ตลอดเวลาไม่สะดุด”
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ผลผลิตสูง ทะลายใหญ่
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
“ผลผลิตในแปลงนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” 

เขาบอก พร้อมเผยปริมาณแต่ละปี  อย่างปี 2558 ได้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 5.5 ตัน/ต้น/ปี ปี 259 แม้จะเจอภัยแล้งจัดแต่ยังได้ผลผลิต 4.5 ตัน/ไร่/ปี ส่วนปี 2560 คากว่าจะเพิ่มขึ้นมาจากปีที่แล้ว เบื้องต้นน่าจะไม่ต่ำกว่า 5.2 ตัน/ไร่/ปี  ขนาดทะลายที่ชั่งล่าสุดประมาณ 24-50 กก.ถือว่าค่อนข้างใหญ่ทีเดียว 

“ทำสวนปาล์มเราควรจะทำให้ได้ผลผลิตเยอะๆ เพื่อที่จะให้มีขายทุกช่วงเวลา ราคาถูกก็มีขาย ราคาแพงก็มีขาย เมื่อผลผลิตเยอะจะทำให้ต้นทุนลดลง เพราะฉะนั้นเราควรหาทางเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้” 
เขาบอกว่า ทำสวนปาล์ม ก็เหมือนหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหลักเดียวกับวิทยาศาสตร์ อย่างแรกต้องไปดูสาเหตุก่อนว่าอะไรบ้างที่ทำให้ผลผลิตปาล์มไม่ดี เราก็ไปแก้ตรงนั้น  คือแก้ที่ต้นเหตุ

ยกตัวอย่าง อาหารไม่พอ ก็ต้องเติมอาหาร ความชื้นไม่พอในหน้าแล้ง ก็ต้องช่วยรักษาความชื้นจะปลูกหญ้าจะปูทางก็ตามสะดวก ถ้ามีแหล่งน้ำก็วางระบบน้ำ ทั้งหมดจะช่วยให้ปาล์มสมบูรณ์ และเพิ่มสูงขึ้น อย่างที่เขาได้เรียนรู้และลงมือทำ
 ━━━━━━━━━
ขอขอบคุณ
ณัฐดนัย สุขรัตน์ โทรศัพท์ 08-9109-3993

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม