ในแวดวงการทำสวนปาล์มทุกวันนี้
นอกจากการพูดถึงเรื่อง “พันธุ์ปาล์มน้ำมัน” แล้ว การจัดการเรื่อง “ปุ๋ย” เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ชาวสวนปาล์มต้องการความรู้อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะสูตรปุ๋ยและปริมาณการใช้ปุ๋ยอย่างไรให้ได้ผลผลิตสูง
หากสังเกตให้ดีจะพบว่ามีตำราและสูตรปุ๋ยมากมายในวงการ ทั้งอ้างอิงตามหลักวิชาการ ตามการโฆษณาของร้านเกษตรภัณฑ์ในตลาด รวมไปจนถึงสูตรปุ๋ยจากเพื่อนพี่น้องเจ้าของสวนปาล์มที่ได้ผลผลิตสูง
ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป
ประเด็นดังกล่าว จึงทำให้ ศูนย์การเรียนรู้ปาล์มน้ำมัน
ซีพีไอ แหล่งรวมความรู้ด้านปาล์มน้ำมันครบวงจร เฟ้นหาคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิ มาไขข้อข้องใจเรื่องการจัดการปุ๋ย
โดยได้รับร่วมมือจาก รศ.ดร.สุมิตรา
ภู่วโรดม ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ดิน-พืชและจุลชีววิทยาดิน
จาก ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ท่านเป็นนักวิจัยที่มีผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะงานวิจัยด้านดินและปุ๋ยในไม้ผล มาบรรยาย ในหัวข้อเรื่อง “การจัดการธาตุอาหารของปาล์มน้ำมัน” เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ณ
ห้องประชุม บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังบรรยาย ซึ่งไม่คิดค่าใช้จ่าย
สำหรับหัวข้อการบรรยายเริ่มต้นโดย คุณวรวุฒิ ยอดพุทธ หัวหน้าศูนย์การเรียนรู้ปาล์มน้ำมันซีพีไอ
บรรยายเรื่องเทคนิคการเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันเบื้องต้น โดยปูพื้นถึงที่มาของการทำสวนปาล์มของ
บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน จำกัด (มหาชน) ที่เริ่มต้นทำสวนตั้งแต่เมื่อปี
2522 บนเนื้อที่ 20,000 ไร่
กระทั่งปี 2532
ถูกพายุไต้ฝุ่นเกย์พัดถล่มจนเสียหายทั้งหมด จึงต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ บริษัทได้เริ่มต้นรวบรวมสายพันธุ์ปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีจากทั่วโลก
และเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยเกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน โดยร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากผลผลิตที่เคยได้รับ
2.5 ตัน ไม่เกิน 3 ตัน/ไร่/ปี
แต่เมื่อนำงานวิจัยมาใช้
และปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการสวน ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 4 ตัน/ไร่ต่อปี และสูงถึง
5 ตัน/ไร่/ปี ในปีที่มีฝนตกชุก
งานวิจัยในการเพิ่มผลผลิตนี้จึงถูกรวบรวมและถ่ายทอดสู่เกษตรกรที่สนใจ และเปิดศูนย์การเรียนรู้ปาล์มน้ำมันขึ้นมาในปี
2557
ศูนย์การเรียนรู้ปาล์มน้ำมัน ซีพีไอ |
ทำไมผลผลิตจึงเพิ่มขึ้น...? คุณวรวุฒิ บอกว่า ส่วนหนึ่งมาจากงานทดลองวิจัยถูกนำมาใช้จริง แต่โดยสรุปคร่าวๆ เข้าใจง่ายเป็น 4 ข้อ หรือ 4 ฉลาด คือ ฉลาดเลือก ฉลาดคิด
ฉลาดทำ และฉลาดใช้ มีเนื้อหาโดยสรุปว่า
👌ฉลาดเลือก
คือ เลือกพันธุ์ที่ดีเหมาะสมกับพื้นที่ และเลือกต้นกล้าที่สมบูรณ์ โคนใหญ่ ใบกาง
จากแปลงเพาะที่ได้มาตรฐาน เพราะต้นกล้าที่สมบูรณ์โคนใหญ่
จะมีปริมาณท่อลำเลียงอาหารมาก และมีขนาดใหญ่ จึงลำเลียงน้ำ และอาหารได้ดี ทำให้ต้นสะสมอาหารได้เร็ว
เก็บเกี่ยวผลผลิตไวกว่าปกติ และมีโอกาสเพิ่มผลผลิตได้สูง อีกทั้งการปลูกซ่อมก็จะน้อยลง
👌ฉลาดคิด เนื่องจากเมืองไทยมีฝนตกชุกมาก
ทำให้เกิดการชะล้างหน้าดินสูง อินทรียวัตถุต่ำ ค่าความเป็นกรดในดินจึงมีมาก มีผลให้ต่อกินปุ๋ยหรือธาตุอาหารของต้นปาล์มลดลง
ซึ่งค่าพีเอชที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 5.5-6.5 การปรับค่าพีเอชให้เหมาะสมทำอย่างไร
อย่างง่ายๆ คือ ใช้ปูน โดโลไมท์
นอกจากจะช่วยปรับค่าความเป็นกรด-ด่างของดินให้เหมาะสมแล้ว
ยังมีธาตุอาหารแคลเซียมและแมกนีเซียม ซึ่งปาล์มน้ำมันต้องการมาก
แหล่งที่มาของโดโลไมท์ ต้องมีแคลเซียมไม่ต่ำกว่า 30% และแมกนีเซียมไม่ต่ำกว่า 20% และมีค่าความละเอียดไม่ต่ำกว่า
80%
ถ้าดินมีค่าพีเอช 4.5 ต้นปาล์มจะกินได้แค่
30%
อย่างใส่ ไนโตรเจน 100 กก. ปาล์มจะกินได้แค่ 30 กก. แต่ถ้าปรับค่าพีเอชในระดับที่เหมาะสม
ต้นปาล์มจะกินปุ๋ยได้ถึง 90 กก.
ข้อดีของกองทางใบจะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุ ช่วยรักษาความชื้นให้นานขึ้น เมื่อมีความชื้นก็สามารถใส่ปุ๋ยบนกองทาง
ช่วยลดและชะลอการชะล้างธาตุอาหารและหน้าดิน รวมถึงช่วยรักษากิจกรรมของจุลินทรีย์
👌ฉลาดใช้ คือ
การใช้ปุ๋ยให้เหมาะสม คือ ใช้แม่ปุ๋ย และใส่ปุ๋ยตามระดับผลผลิตของต้นปาล์ม
รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ดิน-พืชและจุลชีววิทยาดิน จาก ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน |
ด้านการบรรยายหลัก รศ.ดร.สุมิตรา ปูพื้นฐานเรื่องธาตุอาหารที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่จะคิดว่าธาตุอาหารที่สำคัญของพืชมี 3 ธาตุ คือ N
P K แต่จริงๆ แล้ว ธาตุอาหารที่จำเป็นของพืชมีทั้งหมด 13 ธาตุ แบ่งเป็นธาตุอาหารหลัก
ที่พืชต้องการในปริมาณมาก มี 6 ชนิด (N,
P, K, S, Ca และ Mg) และธาตุอาหารรอง
ที่พืชต้องการในปริมาณน้อยแต่ขาดไม่ได้ มี 7 ชนิด (B, Cu, Zn, Fe, Mn, Mo และ Cl)
รศ.ดร.สุมิตรา อธิบายธาตุอาหารแต่ละตัวอย่างละเอียด ว่ามีความสำคัญอย่างไร และเมื่อมีปาล์มอาการขาดธาตุอาหาร
จะแสดงอาการเช่นไร สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญสำหรับการจัดการธาตุอาหารคือ ธาตุอาหารตัวที่ขาดหรือไม่เพียงพอจะเป็นตัวกำหนดการเจริญเติบโตของต้นปาล์ม
ทำให้ไม่สามารถเติบโตและให้ผลผลิตได้เต็มศักยภาพของพันธุ์ เปรียบเช่นถังไม้โอ๊คที่ประกอบขึ้นจากไม้เป็นซี่ๆ
มีน้ำบรรจุอยู่ ซี่ที่สั้นที่สุดจะกำหนดระดับของน้ำในถัง เช่นเดียวกับธาตุอาหารตัวที่ไม่เพียงพอจะทำให้ผลผลิตลดลง
การบรรยายเน้นสาระที่กระชับ เข้าใจง่าย และยกตัวอย่างของพืชชนิดต่างๆ มาประกอบ
ทำให้ผู้ฟังเห็นภาพได้ชัดเจน
รวมถึงมีการถาม-ตอบ จากเกษตรกรเจ้าของสวนปาล์มที่มีความสนใจอย่างเข้มข้น
━━━━━━━━━━━━━━━━
ความคิดเห็นผู้เข้าฟังบรรยาย
คุณขวัญจิตร นิคมรัตน์ เกษตรกรชาวสวนปาล์ม
อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์
คำถามแรกที่อาจารย์ถาม คือ ค่ากรด-ด่าง (pH) ของดินในสวนของแต่ละคนมีค่าเท่าไหร่ ซึ่งอาจารย์ให้ความสำคัญมาก เน้นว่าถ้าไม่ทราบข้อมูลพื้นฐานก็จะปรับปรุงสวนต่อไปได้ยาก เหมือนกับเราไม่ทราบข้อมูลของตัวเองว่า น้ำหนักเท่าไหร่ ความดันเลือดมีค่าเท่าไหร่ เราจะดูแลสุขภาพของเราได้ไม่ดี ค่า pH ของดินจะส่งผลต่อความสามารถในการนำธาตุอาหารไปใช้ของต้นปาล์ม ธาตุอาหารแต่ละชนิดมีความเป็นประโยชน์ที่ระดับของค่า pH ไม่เท่ากัน แต่ค่าที่เหมาะสมควรอยู่ในช่วง 5.0-5.5 เราควรจะกลับมาให้ความสำคัญ และนำดินไปวิเคราะห์ เพื่อให้ทราบว่าค่า pH ของสวนเราว่าเป็นเท่าไร จะได้แก้ไขปัญหาได้ถูกจุดมากขึ้นค่ะ
อาจารย์ ประหยัด สุขศรี อ.เมือง
จ.สุราษฏร์ธานี
การอบรมครั้งนี้ ได้ประโยชน์กับผู้ที่ใฝ่รู้ด้านการจัดการสวนปาล์มเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะส่วนของผมอยากมีความรู้เรื่องการจัดการปุ๋ยของปาล์มน้ำมัน เพราะผมอ่านข่าว และอยู่ในกลุ่มที่มีการสนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น บางครั้งทำให้เราลังเลใจ แต่วันนี้มาเจออาจารย์ที่ให้ข้อมูลด้านนี้โดยตรง ทำให้ความรู้ที่ได้รับในวันนี้จะสามารถนำไปเป็นหลักในการบริหารจัดการและพัฒนาสวนปาล์มต่อไปได้เป็นอย่างดีครับ
ผมอยากฝากถึงเกษตรกรทุกท่านครับ อยากให้เกษตรกรชาวสวนปาล์ม พยายามศึกษาหาความรู้อยู่เรื่อยๆ เพราะสวนที่เราลงทุนสร้างมาจะอยู่กับเรานาน ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่มีอายุยืน มากกว่า 25 ปี เกษตรกรควรหมั่นเติมความรู้อยู่เสมอ ที่ไหนจัดอบรมหากมีโอกาสอยากให้เข้าร่วม เพราะวิทยากรที่เชิญมา จะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น