ย่างเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งต้นยางจะผลัดใบ
เพื่อมีเวลาหยุดพักและสะสมอาหาร
ซึ่งช่วงระยะการผลัดใบจะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นและสายพันธุ์
โดยทั่วไประยะผลัดใบตั้งแต่ใบเริ่มร่วงจนถึงใบแก่ใช้เวลาประมาณ
2 เดือน ช่วงนี้เกษตรกรจึงไม่ควรกรีดยาง
เพื่อให้ต้นยางเจริญเติบโตเป็นต้นยางที่สมบูรณ์และกรีดไปได้นานๆ
แต่สิ่งที่เกษตรกรควรระมัดระวังในช่วงนี้คือ
“ไฟไหม้สวนยาง” เนื่องจากอากาศแห้งประกอบกับมีใบยางร่วงหล่นในสวนยาง
เป็นเชื้อไฟได้อย่างดี จึงไม่ควรทิ้งก้นบุหรี่ ไม่ก่อกองไฟ
เฉพาะอย่างยิ่งสวนยางที่อยู่ริมถนนใหญ่ มีรถวิ่งผ่านไปมา
จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ได้ง่าย
เพียงก้นบุหรี่ที่ทิ้งจากรถหรือจากผู้คนที่เดินผ่าน
ขณะเดียวกันเกษตรกรยังต้องเอาใจใส่ดูแลต้นยางเพื่อให้รอดตายและเจริญเติบโตผ่านช่วงฤดูแล้งไปได้อย่างเป็นปกติ
โดยเฉพาะในยางอ่อนหรือยางที่ปลูกใหม่ในภาคอีสานและภาคเหนือ
ที่ต้องเผชิญกับสภาวะอากาศที่แห้งแล้งอย่างรุนแรง เนื่องจากระบบรากยังไม่สมบูรณ์และลึกพอที่จะดูดน้ำระดับลึกได้
อาจทำให้การเจริญเติบโตชะงักและแห้งตายได้ เกษตรกรจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร
ช่วงผลัดใบช่วงนี้เกษตรกรควรหยุดกรีดเพื่อให้ต้นยางพักฟื้นและเจริญเติบโต |
การคลุมโคนต้นยางจะช่วยเก็บรักษาความชื้นในดิน
ช่วยให้เปอร์เซ็นต์รอดตายของต้นยางสูงขึ้น
สำหรับวัสดุที่ใช้ควรเป็นวัสดุที่เกษตรกรหาได้ง่ายและมีอยู่ในท้องถิ่น
เช่น หญ้าคา ฟางข้าว ใบกล้วย หญ้าขน ต้นถั่วชนิดต่างๆ ซากพืชคุม ซากวัชพืช
และซากพืชชนิดอื่นๆ แทบทุกชนิด ตามแต่ที่จะหาได้
ซากพืชเหล่านี้นอกจากช่วยรักษาความชื้นของดินแล้ว
เมื่อถึงเวลาเน่าเปื่อยจะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน
ช่วยปรับปรุงโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน
เป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของต้นยางต่อไป
ก่อนเข้าช่วงแล้งใช้ปูนขาวหมักแช่ค้างคืนไว้ ทาโคนต้นยางเล็กส่วนที่เป็นสีน้ำตาลขึ้นมาจนถึงส่วนที่เป็นสีน้ำตาลปนเขียว เพื่อป้องกันความรุนแรงของแสงแดด |
ถ้าสามารถหาวัสดุคลุมได้ปริมาณมาก
เกษตรกรควรนำมาคลุมตลอดแนวแถวยาง ห่างจากแนวโคนต้นออกไปข้างละ 1 เมตร
วิธีนี้จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินได้ดีและยังช่วยป้องกันวัชพืชขึ้นในระหว่างแถวยางได้ดีอีกด้วย
นอกจากนี้ในยางอ่อนที่มีอายุ 1-2 ปีที่ปลูกในเขตแห้งแล้งมักเกิดอาการลำต้นไหม้จากแสงแดด
โดยปรากฏรอยไหม้ เนื่องจากบริเวณนั้นได้รับแสงแดดเป็นเวลานานติดต่อกันจนเนื้อเยื่อเสียหาย
ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้
เพราะฉะนั้นก่อนเข้าช่วงแล้งแนะนำให้เกษตรกรใช้ปูนขาวหรือปูนที่ใช้ปรับสภาพดิน
1 ส่วนผสมน้ำ 2
ส่วน หมักแช่ค้างคืนไว้
แล้วนำมาทาโคนต้นส่วนที่เป็นสีน้ำตาลขึ้นมาจนถึงส่วนที่เป็นสีน้ำตาลปนเขียว
เพื่อป้องกันความรุนแรงของแสงแดด
ป้องกันไฟไหม้ต้นยางในช่วงหน้าแล้ง |
ขณะเดียวกัน
ก่อนเข้าฤดูแล้งแนะนำให้เกษตรกรกำจัดวัชพืชบริเวณแถวยางและระหว่างแถวยางด้วย
โดยทำแนวกันไฟด้วยการกำจัดวัชพืชรอบๆ สวนเป็นแนวกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร เก็บเศษวัชพืชออกให้หมด
และไม่ควรใช้วิธีพ่นยาเพื่อกำจัดวัชพืช
เพราะวัชพืชที่แห้งตายจะเป็นเชื้อไฟได้อย่างดี ระมัดระวังไม่ทิ้งก้นบุหรี่
หรือก่อกองไฟบริเวณสวนยาง หมั่นตรวจตราดูแลสวนยางอย่างสม่ำเสมอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวนยางที่อยู่ริมถนนใหญ่
กรณีที่ต้นยางถูกไฟไหม้เล็กน้อย ให้ใช้ปูนขาวละลายน้ำในอัตราส่วนเท่าๆ กัน ทิ้งค้างคืนไว้
แล้วนำมาทาลำต้นทันทีเพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดด โรคแมลงที่อาจเข้าทำลายได้
แต่หากต้นยางได้รับความเสียหายมากจนไม่อาจรักษาได้เกินกว่าร้อยละ
40 ของทั้งสวน แนะนำว่าควรโค่นทิ้งแล้วปลูกใหม่
ข้อมูล : สถาบันวิจัยยาง
การยางแห่งประเทศไทย
- Advertisement -
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น