ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

พิสูจน์ปาล์มอีสาน 20 ไร่ ปลูกได้ เพราะมีระบบน้ำ

ปาล์มน้ำมันต้องการน้ำมากถึงวันละ 200 ลิตร/ต้น/วัน หากจะนำมาปลูกให้ได้ใน แผ่นดินอีสาน” ที่มีฤดูแล้งรุนแรง  ขาดทั้งน้ำจากฟ้า และน้ำบนดิน มีอยู่ทางเดียว คือ ต้อง โกงธรรมชาติ”

แบบเดียวกับ พิชิตชัย บุญเมืองขวา เกษตรกรใน อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี ซึ่งชื่ออำเภอนั้นขัดแย้งกับอากาศหน้าแล้งอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าเขาจะปลูกพืชหลายชนิด เช่น อ้อย และยางพารา แต่ปาล์มน้ำมัน เป็นอีกตัวหนึ่งที่เขาให้ความสนใจ แม่เหล็กดึงดูดก็คือ “ราคา” ในช่วงนั้น

แม้จะรู้ดีว่าสภาพพื้นที่ปลูกปาล์มไม่ได้ เพราะมันต้องการน้ำ โดยเฉพาะหน้าแล้ง ที่แห้งและร้อนค่อนข้างรุนแรง (ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,129 มม. [2558]) แต่เขาก็ยังตัดสินใจปลูก ทั้งๆ ที่เคยเห็นภาพ “จุดจบ” ของเกษตรกรที่ฝ่าฝืน “กฎธรรมชาติ” 

นั่นเพราะเขาได้วางแผน “โกงธรรมชาติ” ไว้หมดแล้ว 
พิชิตชัย บุญเมืองขวา เกษตรกรใน อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
สวนปาล์มพันธุ์โกลด์เด้นเทเนอร่า อายุ 3 ปี 8 เดือน
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
น้ำบาดาลถูกสูบขึ้นมาเก็บไว้ในบ่อ สำหรับปาล์มช่วงหน้าแล้ง
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
เนื้อที่ 20 ไร่ ในบ้านนาทม พิชิตชัยจัดสรรไว้ปลูกปาล์มน้ำมัน เมื่อ 4 ปีก่อน โดยเลือกปาล์มพันธุ์ “โกลด์เด้นเทเนอร่า” ซึ่งมีคุณสมบัติทนแล้ง ให้ผลผลิตสูง และมีเกษตรกรนำมาปลูกในภาคอีสานแล้ว โดยเลือกปลูกระยะ 8.5x8.5x8.5 ไร่ละ 26 ต้น

แม้ผู้ผลิตปาล์มพันธุ์โกลด์เด้นเทเนอร่าจะระบุว่าทนแล้งได้นาน 3 เดือน แต่เมื่อภาคอีสานอากาศแล้งนานกว่านั้น ประกอบกับช่วงปาล์มเล็กถ้าไม่มีน้ำช่วยประคองชีวิต ต่อให้เป็น “พันธุ์เทวดา” ก็เอาไม่อยู่ เขาเลยวางแผน “ขุดน้ำใต้ดิน” ขึ้นมาเลี้ยงสวนปาล์ม

โดยเจาะน้ำบาดาลแล้วสูบมาเก็บไว้ในบ่อ พร้อมวางระบบน้ำแบบหัวฉีด 180 องศา ไว้ต้นละ 2 หัว ทั่วทั้งสวน ลงทุนไป 30,000 กว่าบาท

ผมปลูกหน้าฝน ก็มีฝนตกดี แต่พอเข้าหน้าแล้งใบปาล์มนี่เหลืองไปหมดเลย แต่โชคดีที่มีน้ำช่วย และให้ปุ๋ยเล็กๆ น้อยๆ ทำให้ปาล์มฟื้นขึ้นมาได้

ช่วงหน้าแล้งออกสตาร์ทตั้งแต่เดือน ธันวาคม ยาวไปถึง มีนาคม หรือ เมษายน กินเวลา 4-5 เดือน ช่วงนี้น้ำมีค่ามากที่สุด เขายอมรับว่าถ้าไม่มีน้ำให้หน้าแล้ง ต้นปาล์มคงไม่เหลือรอด และให้ผลผลิตสมบูรณ์อย่างทุกวันนี้

พออายุ 2 ปี ก็เริ่มออกลูกมาแล้ว แต่ยังไม่ออกทุกต้น แต่พอ 2 ปีครึ่ง ออกลูกมาทุกต้นเลย จนวันนี้อายุ 3 ปี 8 เดือน ยังไม่เคยขาดคอเลย ตัดไปได้ 30 เกือบๆ 40 ตันได้
พิชิตชัย เล่า 
ระบบน้ำแบบหัวฉีด 180 องศา ต้นละ 2 หัว  ครั้งละ 30-40 ลิตร
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ทางใบปาล์มนอกจากช่วงปรุงอาหารแล้วยังช่วยคลุมโคนต้น ลดการระเหยของน้ำและความชื้น 
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
นอกจากน้ำที่ช่วยรักษาชีวิตปาล์มช่วงหน้าแล้ง ทางใบที่ไม่เคยตัดทิ้งเลยตลอด 3 ปี 8 เดือน ยังช่วยคลุมบริเวณโคนต้นปาล์มหลังจากให้น้ำหน้าดินจะไม่แห้งไว เก็บความชื้นได้นานขึ้น จะตัดแต่งทางใบบ้างก็เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

เขาจะให้น้ำ 3-4 วัน/ครั้ง ประมาณต้นละ 30-40 ลิตร/ต้น แม้จะไม่เพียงพอกับความต้องการของปาล์ม แต่อย่างน้อยก็ช่วยประคองต้นให้ผ่านหน้าแล้งไปได้ โดยเฉพาะแล้งนี้ที่ต้นปาล์มมีทะลายอยู่เต็มทุกต้น และออกสม่ำเสมอ ถ้าไม่มีน้ำให้จะเกิดความเสียหายได้

ผมสังเกตว่าลูกมันจะออกมาช่วงหน้าแล้งนี่แหละ หน้าฝนไม่ค่อยออกเท่าไหร่ สวนปาล์มที่อยู่ใกล้ๆ กัน ไม่มีน้ำให้ทะลายมันแห้งไปเลย น้ำนี่อันดับหนึ่งเลย

ผลผลิตรวมตลอด 1 ปีที่ได้ 30-40 ตัน หรือเฉลี่ย 1.1 - 1.5 ตัน/ไร่/ปี กับปาล์มอายุ 3-4 ปี ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และเป็นที่น่าพอใจของพิชิตชัย 
น้ำ และ ปุ๋ย พิชิตชัยใช้ยึดเป็น กระดูกสันหลัง ของการปลูกปาล์ม
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ทั้งหมดเกิดจากการศึกษาเรียนรู้การปลูกปาล์มจากโลกอินเตอร์เน็ตล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็น “ยูธูป” หรือ “เฟซบุ๊ค” ที่เขาติดตามอยู่ โดยเฉพาะข้อมูลจากประสบการณ์ของเกษตรกร ผ่านตาเขามาหมดแล้ว เขาบอกว่าต้องดูจากหลายๆ แหล่ง หลายๆ คน แล้วนำมาปรับให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตัวเอง ไม่สามารถ “ก็อปปี้” วิชาของใครมาใช้แล้วได้ผลทั้งหมด

แต่ประโยชน์ที่ได้จากการกอบโกยความรู้จากอินเตอร์เน็ตคือ รู้จักนิสัย หรือความต้องการของปาล์มน้ำมันมากขึ้น โดยยึดเอา น้ำ และปุ๋ย เป็น “กระดูกสันหลัง”  สำหรับจัดการสวนปาล์ม

โดยปุ๋ยที่เขาให้ในสวนปาล์มแบ่งเป็นอายุปาล์มต่ำกว่า 2 ปี ใช้สูตร 20-10-12 หลังจากนั้นปาล์มจะออกทะลายเขาก็เปลี่ยนมาใช้ “แม่ปุ๋ย” แทนปุ๋ยสูตรสำเร็จ แยกเป็น 21-0-0, 18-46-0 และ 0-0-60 อัตราส่วน 2 : 1 : 2 ใส่ปีละ 3 ครั้ง ช่วงต้นฝน กลางฝน และปลายฝน เฉลี่ยต้นละ 3-4 กก./ต้น/ปี เพิ่ม แมกนีเซียม โบรอนปีละครั้ง ก่อนจะเสริมด้วยปุ๋ยขี้วัวช่วงหน้าแล้ง และปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ที่ลงมือหมักเองเดือนละครั้ง

แน่นอนว่าปริมาณปุ๋ยที่เขาใส่อาจจะไม่เพียงพอกับอายุและผลผลิตปาล์ม แต่ด้วยปัจจัยด้านราคาผลผลิตที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ จึงทำให้ได้เท่านี้

ปีนี้แย่ครับต่ำสุด 2.80 บาท ผมก็ทำบัญชีดูแล้ว เหลือเฉลี่ยแล้วก็ประมาณ รายได้ขั้นต่ำแหละครับช่วงนี้ ผมว่าราคาอยู่ตัวนี่อย่างน้อยก็ต้อง 4.50 บาท หรือไม่ต่ำกว่า 4 บาท อยู่ได้ครับ แต่ถึงยังไงตอนนี้ราคาไม่ดีเราก็ยังต้องบำรุงอยู่

เพียงแต่เขาไม่ได้ “ฝากอนาคต” ไว้กับปาล์มน้ำมันอย่างเดียว ยังมีรายได้จาก ไร่อ้อย และยางพารา 
เจ้าของสวนสังเกตว่าช่วงหน้าแล้งปาล์มจะออกทะลายมาก หากไม่มีน้ำให้ทะลายจะขาดน้ำจนแห้งไปเลย
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
แม้ว่าปาล์มจะมีต้นทุนน้ำและปุ๋ยสูงกว่าพืชตัวอื่น แต่ข้อดีของมันคือ ทำรายได้ทุกๆ 15 วัน
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
แต่ถ้าจะให้เปรียบเทียบระหว่างพืชทั้ง 3 ตัว เขาบอกว่ามีข้อดีแตกต่างกัน ที่มองเห็นหลักๆ คือ ต้นทุนน้ำและปุ๋ย ทั้งไร่อ้อยและสวนยาง ไม่ใช้มากเหมือนสวนปาล์ม เลยไม่มีต้นทุนเรื่องน้ำ

แต่ข้อดีของปาล์ม คือ เมื่อดูแลให้มีผลผลิตสม่ำเสมอ จะได้ผลผลิตผลิตต่อเนื่องและมีรายได้ตลอดทั้งปี

ต่างจากอ้อยที่มีรายได้เพียงปีละครั้ง ขณะที่สวนยางมีต้นทุนหลักคือ แรงงาน สูงถึง 50% ของรายได้ หนำซ้ำปีหนึ่งกรีดยางได้เพียงแค่ 6-7 เดือนเท่านั้น

อ้อยตัดขายปีละครั้ง ยางก็มีปิดหน้ายาง มกราคม ไปกรีดอีกครั้งก็ พฤษภาคม หยุดกรีดหลายเดือน แต่ว่าปาล์มมีรายได้ทุกเดือน ต่อเนื่องทุกเดือน แม้ว่าช่วงนี้ราคาจะน้อยแต่ก็ได้ทุก 15 วัน

ในยามที่ไม่มีพืชเศรษฐกิจตัวไหนพึ่งพาได้ในระยะยาว การปลูกพืชหลายตัว สร้างรายได้หลายทางดูจะเป็นทางที่เสี่ยงน้อยที่สุดสำหรับพิชิตชัย

เขาย้ำแล้วย้ำอีกว่าหากจะปลูกปาล์มภาคอีสาน ต้องดูพื้นที่ให้เหมาะสม ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ จะห้วย หนอง คลอง บึง หรือแม่น้ำ ขอให้มีน้ำตลอดทั้งปี ถ้าไม่มีก็ต้องสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ อย่างสวนปาล์มของเขา

ถ้าไม่มีน้ำ ปลูกปาล์มไม่ได้หรอกครับ 
ถ้าไม่มีน้ำ ปลูกปาล์มไม่ได้หรอกครับ พิชิตชัยบอก
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
เจ้าของสวนเลือกปลูกพันธุ์ “โกลด์เด้นเทเนอร่า” เพราะมีคุณสมบัติทนแล้ง ให้ผลผลิตสม่ำเสมอ และมีเกษตรกรนำมาปลูกในภาคอีสานจนเห็นผลแล้ว
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ส่วนตลาดรับซื้อปาล์มใน จ.อุดรธานีมีลานรับซื้อผลผลิตอยู่ในอำเภอใกล้กัน 3 ลาน คือ อ.บ้านดุง อ.หนองหาน และ อ.ไชยวาน 

ประกอบกับการเข้ามาตั้งโรงงานหีบน้ำมันปาล์ม ของ บริษัท อีสานพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์ม จำกัด ใน จ.สกลนคร น่าจะช่วยให้ราคาปาล์มในพื้นที่ยกระดับสูงขึ้น 

จากเดิมที่ลานรับซื้อต้องบรรทุกไปขายโรงงาน ใน ชลบุรี ต้นทุนค่าขนส่งเลยสูง  ส่งผลให้ราคารับซื้อจากเกษตรกรต่ำกว่าภาคอื่นๆ

ขอขอบคุณ
พิชิตชัย บุญเมืองขวา
ต.นาทม อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี 

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม