ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

ยางแผ่นเหนียว ลอกยาก ส่งผลต่อคุณภาพยางแผ่นรมควัน ต้องรีบแก้ไข

ในการผลิตยางแผ่นรมควัน กว่าจะได้ยางคุณภาพดีทุกแผ่นค่อนข้างยาก และมักประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย เช่น เกิดฟองอากาศ พบสิ่งสกปรก การปนเปื้อน การเคลือบของควันไม่สม่ำเสมอ แผ่นยางหนาบางไม่เท่ากัน ยางฟอง ยางไหม้ ยางดิบ พบเสี้ยนไม้ราวบริเวณรอยพาดแผ่น เป็นต้น

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนเกิดจากกระบวนการผลิต บางครั้งอาจมีปัจจัยต่างๆ ยากต่อการควบคุม ส่งผลกระทบต่อการทำยางแผ่นรมควันมาอัดก้อน หรือ อัดแท่ง ทำให้เกิดความล่าช้าไม่ว่าจะเป็นการลอกยาง การคัดชั้นยาง การจัดชั้น การอัดยาง การทาแป้งกาวยางและการจัดเก็บ

แต่รู้หรือไม่ว่าสาเหตุที่การลอกแผ่นยางออกยากเนื่องจากยางเหนียวติดกัน เกิดจากอะไร และปรับปรุงแก้ไขได้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบ 
สัดส่วนผสมน้ำกับน้ำยางต้องเหมาะสม
สาเหตุของการลอกยางออกยากระหว่างการจัดเก็บ เกิดจาก

1. ใช้สารละลายแอมโมเนีย เป็นสารรักษาสภาพน้ำยางสด
ข้อกำหนดของการผลิตยางแผ่นรมควันคือ ให้ใช้สารรักษาสภาพน้ำยางสดเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม เช่น โซเดียมซัลไฟต์ในอัตรา 0.05% ต่อน้ำหนักน้ำยางสด หรือสารละลายแอมโมเนีย ในอัตราไม่เกิน 0.03% ต่อน้ำหนักน้ำยางสด รักษาน้ำยางสดได้นาน 6 ชั่วโมง

หากใช้ในอัตราสูงกว่าที่กำหนด จะส่งผลให้แผ่นยางเหนียว ยางมีสีคล้ำ เมื่อวางซ้อนทับกันจะลอกออกยาก

นอกจากนี้ในขั้นตอนการจับตัวยางจำเป็นต้องใช้น้ำกรดปริมาณมากกว่าปกติ ปริมาณเนื้อกรดที่มากเกินจะตกค้างในแผ่นทำให้แผ่นยางเหนียว

2. ใช้น้ำกรดจับตัวปริมาณมากเกินไป
ข้อกำหนดการผลิตยางแผ่นรมควัน แนะนำให้ใช้กรดฟอร์มิคในอัตรา 0.6% ต่อน้ำหนักยางแห้ง หากใช้ในอัตรามากกว่าที่กำหนด จะทำให้เนื้อกรดตกค้าง แผ่นยางเหนียว มีสีด่าง ดำ เพราะเนื้อยางจับตัวเป็นหย่อม ๆ ทำให้สีไม่สม่ำเสมอ

3. ใช้กรดซัลฟิวริคในการจับตัวยาง
กรดที่แนะนำในการจับตัวยางคือกรดฟอร์มิค แต่หากใช้กรดซัลฟิวริค ซึ่งเป็นกรดแก่ จะทำให้เกิดเกลือซัลเฟตตกค้าง ซึ่งจะดูดความชื้นจากอากาศ เมื่อรมควันเนื้อกรดที่ตกค้างจะทำให้แผ่นยางเหนียว เยิ้ม เหมือนยางแก้ว ยางแผ่นที่วางซ้อนทับกันจึงลอกยาก และยังทำให้ยางมีสีคล้ำอีกด้วย

4. สัดส่วนการผสมน้ำกับน้ำยางไม่ถูกต้อง
ในการทำยางแผ่นรมควัน แนะนำให้เจือจางน้ำยางสดที่มีปริมาณเนื้อยางแห้งโดยเฉลี่ย 18% มีน้ำหนักต่อแผ่น 900 - 1,000 กรัม ความหนา 3.2 - 3.6 มม. หากเจือจางน้ำมากเกินไปจะทำให้แผ่นยางบาง และถ้ามีความบางน้อยกว่า 3 มม. เมื่อวางแผ่นยางซ้อนกันจะเหนียวติดกันง่าย
ร่องหรือลายบนแผ่นยางช่วยให้ยางแห้งได้เร็วขึ้นและป้องกันยางเหนียวติดกันระหว่างขนส่งและจัดเก็บ
5. ลายดอกบนยางแผ่นไม่ชัดเจน
มาตรฐานยางแผ่นรมควันได้กำหนดสมบัติของยางแผ่นรมควันให้มีร่องหรือลาย ปรากฏบนแผ่นยางอย่างชัดเจน เพื่อให้ยางแห้งได้เร็วขึ้นและป้องกันยางเหนียวติดกันระหว่างขนส่งและจัดเก็บ

หากยางแผ่นมีลายดอกไม่ชัดเจน มักพบว่าเครื่องจักรใช้งานมานาน จนดอกลูกกลิ้งสึก แนะนำให้นำถอดลูกกลิ้งหรือขอน ไปเจียร่องใหม่ โดยเฉพาะ 2 ขอนสุดท้ายจะต้องทำร่องเมื่อรีดแล้วให้ตัดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน

6. วางยางแผ่นรมควันตากแดด หรือวางทิ้งไว้นานมากเกินไป
การวางยางแผ่นตากแดดจะทำให้ยางเสื่อมคุณภาพ เหนียวเยิ้มจากความร้อนและแสงอัลตราไวโอเลตที่ทำลายอนุภาคยาง ยางแผ่นที่วางซ้อนทับกันระยะเวลานาน จะทำให้ยางถูกกดทับ ยิ่งแผ่นยางที่วางชั้นล่างสุดจะถูกกดทับมากที่สุด ส่งผลให้ความยืดหยุ่นหรือสปริงของยางต่ำลง

จากการศึกษาพบว่ายางแผ่นรมควันเมื่อวางตากแดดติดกันเพียง 3 วัน จะกลายเป็นยางเหนียวทั้งหมด

7. ไม่ล้างแผ่นยางในขณะรีด
ในขั้นตอนการรีดยาง แนะนำให้ใช้น้ำหล่อผ่านเหนือลูกกลิ้ง ช่วยชะล้างน้ำกรดที่ตกค้างและสารที่ไม่ใช่ยางออกไป หากใช้น้ำน้อยหรือไม่มีน้ำหล่อผ่านเลย แผ่นยางจะเหนียว และติดกันได้ง่ายขึ้น  
 หากใช้น้ำน้อยหรือไม่มีน้ำหล่อผ่านเลย แผ่นยางจะเหนียว และติดกันได้ง่ายขึ้น 
รักษาอุณหภูมิตลอดระยะเวลาการรมควันเฉลี่ยไม่ควรเกิน 55 องศาเซลเซียส
8. การใช้อุณหภูมิสูงเกินไปในขณะรมควัน
ในขั้นตอนการรมควัน ให้รักษาอุณหภูมิตลอดระยะเวลาการรมควันเฉลี่ยไม่ควรเกิน 55 องศาเซลเซียส การใช้อุณหภูมิใช้ในการรมควันเกิน 60 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ยางเหนียวเยิ้ม และอาจไหม้ได้

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ หากทราบสาเหตุและได้แก้ไขอย่างทันท่วงที จะทำให้ได้ยางแผ่นมีคุณภาพดี การลอกยางในการอัดก้อนหรือการตรวจคุณภาพยางแผ่นรมควันระหว่างการส่งมอบ จะทำได้ง่ายขึ้น รวดเร็ว ลดต้นทุนการผลิต สมบัติทางกายภาพโดยเฉพาะความยืดหยุ่น หรือค่าความหนืด ซึ่งเป็นสมบัติสำคัญในการนำยางไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ จะได้ยางที่มีสมบัติความคงที่ สม่ำเสมอ การแปรรูปยางก็กระทำได้ง่ายขึ้น

เรื่อง : ปรีดิ์เปรม ทัศนกุล



ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม