มีใครกล้าเอาหัวเป็นประกันมั้ยว่า
อีสานปลูกปาล์มไม่ได้ ในเมื่อยังมีเกษตรกรปลูกปาล์มมานับ สิบปี
กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีเกษตรกรปลูกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมประมาณ 112,087 ไร่ (2559) พร้อมๆ กับโรงหีบปาล์มขนาดใหญ่
“ภูมิภาค” จึงไม่ใช่เป็นเครื่องหมาย “ตีตราความสำเร็จ”
ของปาล์มน้ำมัน สภาพพื้นที่ต่างหากเป็นตัวชี้วัดเบื้องต้น ซึ่งมีความสำคัญพอๆ กับ
ความรู้เรื่องการปลูกปาล์ม เพราะถ้าผู้ปลูกปาล์มรู้จักนิสัยใจคอของปาล์ม
รู้จักสภาพพื้นที่และศักยภาพของตัวเอง
จะเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าตัวเองควรจะปลูกปาล์มน้ำมันหรือไม่
โดยไม่ใช้แค่ภูมิภาคเป็นตัวตัดสิน
เว็บไซต์ยางปาล์ม พูดคุยกับ คุณโกศล นันทิลีพงศ์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์เข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการปลูกปาล์มอย่างถูกวิธีในพื้นที่ภาคอีสาน
เราพูดคุยกันในประเด็น “ปาล์มภาคอีสาน” ปลูกได้หรือไม่ ปลูกแล้วผลผลิตคุ้มค่าหรือไม่
คุณโกศล นันทิลีพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด |
เราไม่ได้ไปส่งเสริม แต่ไปให้ความรู้เกษตรกรมากกว่า เนื่องจากมีเกษตรกรปลูกอยู่แล้ว เมื่อเขามีความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลสวนปาล์มที่ถูกต้อง เขาก็น่าจะได้ผลผลิตสูงขึ้น
คุณโกศล บอกวัตถุประสงค์ของบริษัท
ทั้งนี้เพราะ ซีพีไอ มีโครงการอบรมให้ความรู้เรื่องการจัดการสวนปาล์มอย่างมืออาชีพ
ผ่านศูนย์การเรียนรู้ปาล์มน้ำมัน ซีพีไอ ใน จ.ชุมพร และสัญจรไปตามตัวหวัดต่างๆ ซึ่งภาคอีสานเป็นในพื้นที่ที่เกษตรกรให้ความสนใจ
เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ มีเกษตรกรเริ่มต้นปลูกจำนวนมาก การเข้าไปให้ความรู้
จึงเท่ากับเป็นการ “ติดอาวุธ” ให้กับเกษตรกร
อีสานปลูกปาล์มได้มั้ย...?
คุณโกศล บอกว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าปาล์มน้ำมันมีพื้นเพมาจากเขตร้อนชื้น
ประเทศที่เหมาะสมคือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และภาคใต้ของไทย
ขณะที่ภาคอีสานปริมาณฝนน้อยกว่าภาคใต้ จึงพอจะฟันธงในเบื้องต้นได้เลยว่าถ้าอีสานปลูกปาล์มได้ผลผลิตน้อยกว่าภาคใต้แน่นอน
แต่ถ้าบอกว่าภาคใต้เหมาะกับปลูกปาล์มมันจริงเหรอ เอาจริงๆ มันก็เปล่า มีพื้นที่บางส่วนที่ปลูกไม่ได้เลย แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ 80-90% ปลูกได้ เช่นเดียวกัน เราคงไม่พูดเหมาเข่งว่าอีสานปลูกปาล์มไม่ได้ เพราะยังมีบางพื้นที่ปลูกได้ แต่อาจจะ 80-90% ปลูกไม่ได้
หากมองในแง่ “ต้นทุนทางธรรมชาติ”
แม้บางพื้นที่ของภาคอีสานจะปลูกปาล์มได้ ก็ยังแพ้ภาคใต้ราบคาบ ถ้าดูแลเหมือนกัน
ผลผลิตต่ำกว่าแน่นอน เพราะปริมาณฝนและความชื้นน้อยกว่า ดังนั้นเกษตรกรที่จะปลูกปาล์มถ้าอยากได้ผลผลิตเท่ากับภาคใต้
มีทางเดียวคือ ต้องทำงานเหนื่อยกว่า
เพียงแต่ในทางตรงกันข้าม
แม้ภาคใต้จะมี “ทุนธรรมชาติสูง” แต่ต้นทุนการผลิตด้านอื่นๆ ก็สูงตามด้วยเช่นกัน
เริ่มจากที่ดินมีราคาสูงกว่า ค่าจ้างแรงงานสูงกว่า
ยิ่งรูปแบบการทำสวนปาล์มที่อาศัย “ระบบจ้าง” ทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะปลูก
ใส่ปุ๋ย ดูแล กระทั่งเก็บเกี่ยว ต้นทุนทุกอย่างสูงเป็นเงาตามตัว
ขณะที่อีสานจะเน้นให้แรงงานในครัวเรือน ต้นทุนแรงงานจึงต่ำกว่า
เมื่อหักกลบแล้วเงินเหลืออาจจะพอๆ กันก็ได้ เพราะไม่ได้มองกันที่ตัวผลผลิตเป็นคำตอบสุดท้าย ในแง่ของเศรษฐศาสตร์มองกันที่รายได้หักลบด้วยค่าใช้จ่าย แล้วมีเงินเหลือเป็นยังไง เพราะฉะนั้นเกษตรกรที่ปลูกปาล์มในอีสาน เขาก็ยังพึงพอใจต่อรายได้จากสวนปาล์ม
คุณโกศลเปรียบเทียบ
ภาพจริงเป็นไปตามที่คุณโกศลให้ข้อมูล
เพราะเมื่อสิบกว่าปีก่อนมีภาครัฐไปทำการส่งเสริมเกษตรกรปลูกปาล์มในพื้นที่อีสาน แม้จะมีบางส่วนล้มเหลว
แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีหลายรายที่ประสบความสำเร็จ นั่นก็เพราะมีบางพื้นที่เหมาะสม
และเกษตรกรพอใจกับรายได้ พร้อมๆ กับมีพื้นที่ปลูกขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อีสานมีพืชทางเลือกอื่นๆ เขาอาจจะปลูก มันสำปะหลังก็ดี อ้อยก็ดี แต่เป็นพืชล้มลุก ได้เงินปีละครั้ง แต่ทำสวนปาล์มมีรายได้สม่ำเสมอกว่า เป็นน้ำซึมบ่อทรายไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเขาอาจจะพอใจ ปลูกแล้วมีรายได้เกือบทั้งปี ขณะที่ว่าพืชล้มลุก ล้มแล้วก็ลุก ปลูกใหม่ทุกปี แล้วบางปีฝนฟ้าไม่ดีมันก็แย่เหมือนกันหมด บางทีเขาอาจจะพอใจปาล์มน้ำมันกว่าพืชตัวอื่น
บริษัท ซีพีไอ
จึงเข้าไปให้ความรู้เรื่องการปลูกและดูแลสวนปาล์มอย่างถูกต้องกับเกษตรกร
เพื่อเป็นข้อมูลตัดสินใจว่าควรจะปลูกปาล์มหรือไม่ ส่วนที่ลงมือปลูกแล้วทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตคุ้มค่า
สิ่งที่เราเข้าไปในอีสานจริงๆ เราเรียกว่าไปช่วยเกษตรกรมากกว่า เพราะเมื่อหลายปีก่อนเขาปลูกไปแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่าใครไปส่งเสริม ส่งเสริมแล้วไปให้คำแนะนำเขาหรือเปล่า ฉะนั้นเราจึงไปให้ความช่วยเหลือด้วย ถ้าเขามีความรู้มากขึ้น เขาจะเพิ่มผลผลิตได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
ภาพการอบรมการจัดการสวนปาล์มอย่างถูกวิธี เป็น อาวุธ ที่ ซีพีไอ ติดให้กับเกษตรกรอีสาน |
คิดจะปลูกปาล์มภาคอีสานยังไงต้องมีแหล่งน้ำ หรือมีระบบน้ำ ถ้าเกษตรกรเข้าใจธรรมชาติของปาล์มน้ำมัน เขาจะดูแลจัดการได้ถูกต้อง แต่อย่างที่ผมบอกคนทำปาล์มในอีสาน ต้องมีการจัดการเหนื่อยกว่า ถ้าพร้อมก็ทำ ทั้งหมดคือข้อมูลที่เราเข้าไปถ่ายทอดความรู้อีสาน เกษตรกรไปชั่งใจเอาเองว่าจะทำมั้ยคุณโกศลย้ำความสำคัญเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการปลูกปาล์มน้ำมัน
ถ้าคิดจะทำสวนปาล์มในอีสานต้องเหนื่อยหน่อยนึง หนึ่งในนั้นคือ ต้องมีระบบน้ำสำหรับหน้าแล้ง |
จากข้อมูลของคุณโกศล
จะเห็นว่า หากจะปลูกปาล์มในภาคอีสาน
จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝนมากพอสมควร หรือไม่ก็ต้องอยู่ใกล้แหล่งนี้
หรือสร้างแหล่งน้ำขึ้นมาในสวน ซึ่งน่าจะเป็นข้อมูล “พื้นฐาน” ที่เกษตรกรจำเป็นต้องรู้
แต่อีกส่วนที่สำคัญมากพอๆ
กับ คือ ความรู้เรื่องการปลูกปาล์ม เพราะแม้ว่าเกษตรกรจะปลูกปาล์มในพื้นที่สมบูรณ์เหมาะสม
แต่หากขาดความรู้และการจัดการที่ถูกต้องก็ล้มเหลวได้
แต่หากอยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสมนัก แต่ถ้ามีรูปแบบการจัดการที่ดี
ก็ได้ผลผลิตคุ้มค่าได้เช่นเดียวกัน
เกษตรกรที่ปลูกปาล์ม
หรือ กำลังคิดจะปลูกปาล์มในภาคอีสาน นอกจากต้องเลือกพื้นที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องทำตัวเป็น “นายพรานล่าความรู้” ด้วย โดยเฉพาะเรื่องปาล์มน้ำมัน
หากมีความรู้ที่ถูกต้องก็ประสบความสำเร็จกับปาล์มน้ำมันได้เช่นเดียวกัน
ขอขอบคุณ
คุณโกศล นันทิลีพงศ์
บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น