ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

น้ำตาชาวใต้จะท่วมฟ้า ปลาจะกินดาว ชาวสวนปาล์มหมดทางออกแล้วจริงหรือ.? บทความโดย ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล

ราคาผลปาล์มที่ตกต่ำต่อเนื่องมาเกือบ 3 ปี เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมัน

เพราะในขณะที่มีวลีสวยหรูว่า “จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเป็นระบบ” มีการคลอดยุทธศาสตร์ปฏิรูปปาล์มฯ วางแผนระยะยาวตั้งแต่ปี 2560 - 2579 มีแผนออกกฎหมายปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มมารองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่เป็นเอกภาพ

แต่สุดท้ายนอกจากไม่มีอะไรในกอไผ่แล้ว ตัวกฎหมายก็ยังถูกนำไปเล่นแร่แปรธาตุจนไม่เหลือเนื้อหาที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มได้อย่างที่วาดหวังไว้

ในขณะที่เกษตรกรต้องทนทุกข์กับราคาที่ “ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน” จากราคาผลปาล์มหน้าโรงงานที่เคยสูงถึง บาท/กก. เมื่อ 2 ปีก่อน มีแววราคาจะเหลือที่หน้าลานไม่ถึง 2.50 บาทในเร็ววันนี้ ถือว่าต่ำสุดในรอบ 20 ปี (ต้นทุนเกษตรกร กก.ละ 3.7 บาท)  รายได้เกษตรกรวันนี้หายไปเกือบร้อยละ 65 หรือเหลือเพียงร้อยละ 35 (คิดง่ายง่ายว่าเงินเดือนจาก 10,000บาท เหลือเพียง 3,500บาท) 
ทั้งๆ ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมามีความชัดเจนว่าแนวโน้มราคาจะลดต่ำลง และรัฐบาลก็รับรู้ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่ทำได้ยาก เนื่องจากอินเดียปรับเพิ่มภาษีจาก 15% เป็น 44% หรือข่าวว่ายุโรปจะปรับลดสัดส่วนของพลังงานทดแทนทำให้ตลาดน้ำมันปาล์มโลกสะเทือน

ถึงแม้ประเทศไทยจะมีสัดส่วนในตลาดการส่งออกน้ำมันปาล์มโลกเพียง 3% แต่เป็นที่รับรู้ได้ล่วงหน้าว่าประเทศไทยจำเป็นต้องกระโจนเข้าสู่ตลาดปาล์มโลกตั้งแต่บัดนี้ เพราะตัวเลขประมาณการผลผลิตของไทย คือ ปีละ 2.2 ล้านตัน ขณะที่การใช้ในประเทศ ทั้งการบริโภคและพลังงาน มีประมาณ 1.6 ล้านตัน ยังล้นความต้องการในประเทศอยู่อย่างน้อย 400,000ตัน/ปีและจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก และผลจากนโยบายล้มยางปลูกปาล์ม

 แต่เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงานไม่ได้เตรียมความพร้อมใดๆ ที่จะให้ความช่วยเหลือ มีเพียงข้ออ้างกับคำพูดสวยหรูที่ไร้ผลในทางปฏิบัติ อีกทั้งยังละเลยคำขอร้องของเกษตรกรสวนปาล์มน้ำมันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงไร้ทางออก 
ทั้ง ๆ ที่หลายเรื่องอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถทำได้ทันที แต่กลับเลือกที่จะไม่ทำ ส่วนที่ทำก็เป็นเพียงคำพูดที่ไร้ผลในทางปฏิบัติ ไล่เรียงให้เห็นเป็นรูปธรรม ดังนี้

1. ปี 2561 เกิดปัญหาปาล์มน้ำมันล้นสต็อก รัฐอ้างว่าขณะนี้มีผลผลิตมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 1 ล้านตัน คือจาก 14 ล้านตัน เพิ่มเป็น 15 ล้านตัน และมีสต็อกค้างอยู่จากปี 2560 ราว 400,000 ตัน วิธีการแก้ไขที่เกษตรกรเสนอแต่รัฐบาลไม่เคยดำเนินการคือ

กระทรวงพาณิชย์เร่งเจรจาส่งออก จ่ายส่วนต่างเพื่อการส่งออก 200,000 ตันให้ได้ใน 3 เดือน (ให้ราคาน้ำมันปาล์มจากไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลก)

▶ กระทรวงพาณิชย์ประกาศไม่นำเข้าน้ำมันปาล์มไปอีก 2 ปี

▶ พิจารณาผลกระทบจากน้ำมันถั่วเหลืองที่ทดแทนปาล์มและเริ่มใช้กำแพงภาษีในการ
นำเข้าถั่วเหลืองและจำกัดโควตา แทนที่จะให้สิทธิพิเศษนำเข้าถั่วเหลืองโดยไม่เสียภาษีเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะช่วยเพิ่มความต้องการปาล์มน้ำมันในตลาดมากขึ้น

▶ กระทรวงพลังงานเร่งศึกษาเปลี่ยนโรงงานไฟฟ้ากระบี่ปัจจุบันที่ใช้น้ำมันเตา เปลี่ยนเป็น B100 คือแปลงโรงงานไฟฟ้ากระบี่จากน้ำมันเตา 70% น้ำมันปาล์ม 30% เป็น B100 ใช้น้ำมันปาล์มผลิตไฟฟ้าให้ได้เดือนละ 20,000 ตัน เพื่อปรับลดสต็อกน้ำมันในประเทศ
 2. รัฐบาลยังไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องที่เกษตรกรขอให้กลับมาใช้ร่างพ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของเกษตรกรที่เคยผ่านการพิจารณาของ ครม. ไปแล้ว โดยยึดร่างของกฤษฎีกาซึ่งมีเนื้อหาไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเหมือนที่รัฐบาลวางเป้าหมายไว้

3. การปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ต้องกระทำอย่างเคร่งครัด ทั้งน้ำมันปาล์มที่ลักลอบนำเข้า หรือน้ำมันปาล์มที่ผ่านแดนจากไทยไปพม่าและลาว เพราะล้วนเป็นการแข่งขันแย่งตลาดน้ำมันปาล์มไทย

4. การลดผลผลิตไม่มีการสนับสนุนทางเลือกอื่นให้กับเกษตรกร เช่น การพิจารณาชะลอการปลูกปาล์มแทนยางพารา ควรพิจารณานโยบายที่้เปิดกว้างและก้าวหน้าของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อหาทางให้ประชาชนปลูกพืชทางเลือกอื่นแนวผสมผสาน

5. นโยบายปาล์มคุณภาพรัฐบาลยังเข้าใจผิดว่า เกษตรกรยังไม่สามารถปลูกปาล์มคุณภาพได้ ทั้ง ๆ ที่เกษตรกรสามารถผลิตปาล์มคุณภาพที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ 20.18% มานานแล้ว ไม่ใช่ 17-18% ตามตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ แต่ที่เกษตรกรต้องตัดขายในขณะที่เปอร์เซ็นต์น้ำมันอยู่ที่ 17% เป็นเพราะโรงงานรับซื้อในเปอร์เซ็นต์เท่านี้ แม้จะมีผลผลิตที่ให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันมากกว่าก็ขายได้ในราคาเดียวกัน 
แนวทางแก้ไขคือรัฐบาลต้องควบคุมให้โรงงานรับซื้อผลปาล์มคุณภาพที่ 20% เท่านั้น ซึ่งจะทำให้โรงงานจ่ายเพิ่มราว 90 สตางค์/กก. แต่จะได้ปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นผลดีทั้งกับโรงงานที่ชั่วโมงผลิตที่เสถียรขึ้น หีบน้ำมันได้มากขึ้นและเกษตรกรที่ได้รายได้มากขึ้น


ในปี 2561 นี้ถ้ารัฐบาลส่งออกและใช้สต็อกส่วนเกินเพิ่มได้จากระบบประมาณ 1 ล้านตัน (400,000 ตัน ในต้นปี 2560 และประมาณ 600,000 ตันของ ปี 2562นี้) ระบบจะเข้าสู่ดุลยภาพทันที

เรื่องนี้ไม่ง่ายแต่ต้องทำทันที เพราะการส่งออก การบริโภคและอุปโภคน้ำมันปาล์มต้องใช้เวลา ปรับตามผลผลิตที่จะล้นออกมาเรื่อยๆ

จะทำเพียงแค่คิดแต่ไม่ทำอะไรเหมือนเกือบ 3 ปีที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว เพราะหากช้ากว่านี้เพียงหนึ่งอึดใจ ทุกข์จะถาโถมชาวใต้อย่างล้นพ้น น้ำตาคนใต้จะท่วมฟ้า ปลาจะกินดาว
อย่ารอให้ถึงวันนั้น โปรดเร่งทำสิ่งนี้ทันที เพราะทุกข์ของชาวบ้านที่ไม่ได้รับการแก้ไข คือบทสะท้อนและตอกย้ำถึงความล้มเหลวของรัฐบาลเผด็จการทหารที่ไร้น้ำยา.. 
ถ้าคิดอะไรไม่ออก ลองคิดนโยบายลองคิดที่จะลดเงินเดือน คสช. สนช. ครม. ข้าราชการสำนักนายกฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน ระดับผู้บริหารในส่วนที่เกี่ยวข้องเรื่องปาล์ม ลงเหลือร้อยละ 35 สิคะ อะไรที่้เป็นไปไม่ได้ ก็จะเป็นไปได้ในทันที เอาเล่นๆ สักสามเดือนพอค่ะ อย่าเอาจริงนะคะ จะได้รู้ว่าที่ประชาชนบอกว่าทุกข์หนักหนา ทุกข์แบบนั้นมันเป็นอย่างไร...

เรื่องโดย : ดร.พิมพ์รพี พันธ์วิชาติกุล 
เกษตรกรชาวสวนปาล์ม จ.กระบี่
ติดตามเพจ : https://web.facebook.com/pimrapeeh2oney/
- Advertisement -

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม