ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

พาชม การจัดการสวนปาล์มแปลงเล็ก ของเกษตรกร เมืองหมูย่าง

พืชตัวเลือกของ
“คนใต้ มีไม่มากนัก ไม่ปลูก “ยางพารา” ก็ “ปาล์มน้ำมัน” ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ว่าเหมาะสมกับพืชตัวไหน
 

อีกอย่างตัวเลือกสองตัวนี้ ถ้าตัดสินใจปลูกแล้ว  ต้องอยู่ “ร่วมหัวจมท้าย” ด้วยกันอย่างน้อยๆ ก็ 20 ปีขึ้นไป  ขึ้นอยู่กับว่า เลือก “ถูก” หรือเลือก “ผิด”

อย่างในรายของ นเรศ อินทะมาระ อดีตชาวสวนยาง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง กว่าจะรู้ว่าพื้นที่ของตัวเองไม่เหมาะกับการทำสวนยาง ก็เมื่อมาเจอกับปัญหาหลายทาง ตั้งแต่ พื้นที่เป็นที่ลุ่ม ที่นา ปลูกได้สิบกว่าปีก็เจอโรคยางรุมเร้า ทั้ง โรคใบร่วง โรคหน้ายางตายนึ่ง ทำให้ได้น้ำยางลดลง จนแทบจะไม่คุ้มค่า ดีที่เขาทำทุกอย่างเองไม่ต้องจ้างคนกรีดยาง จึงยังพออยู่ได้

จนเมื่อต้นยางแก่อายุเกิน 25 ปี เขาจึงไม่ต้องคิดเยอะที่จะ ลาออกจากชาวสวนยาง เมื่อ 2 ปีก่อนมาเป็น ชาวสวนปาล์ม 
สวนปาล์มโกลด์เด้นเทเนอร่า ระยะปลูก 9x9x10 เมตร อายุ 2 ปีครึ่ง
เขาโค่นยางปลูกปาล์ม บนเนื้อที่ 20 ไร่ แม้จะเป็นชาวสวนปาล์มมือใหม่ แต่ก่อนปลูกก็ศึกษามามากพอสมควร ตั้งแต่สายพันธุ์  เขาเลือกที่จะปลูกปาล์มลูกผสมพันธุ์ โกลด์เด้นเทเนอร่า เพราะถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาในประเทศไทย จึงน่าเหมาะสมกับสภาพอากาศมากกว่า อีกทั้งเมื่อศึกษาจากลักษณะประจำพันธุ์ ที่เด่นด้านทนแล้ง และให้ผลผลิตสูง ประกอบกับได้ดูตัวอย่างจากเกษตรกรรายอื่นๆ ที่ปลูกปาล์มพันธุ์นี้

ตั้งแต่ปลูกมาอายุ 2 ปี 2 เดือน ก็เริ่มออกทะลาย แต่ผมไม่ได้ตัดทิ้งเลย เพราะทะลายมันสมบูรณ์ จึงตัดขายได้ ทะลายค่อนข้างดก

แน่นอนว่าปกติปาล์มน้ำมันจะให้ทะลายดก ในช่วงปาล์มเล็ก แต่ที่ทำให้ทะลายสมบูรณ์โดยไม่ต้องแต่งทิ้งก็เพราะเขาดูแล ประเคนอาหารให้ปาล์มเป็นอย่างดี โดยใส่ปุ๋ย 2-3 เดือน/ครั้ง ซึ่งเขาบอกว่าถ้าอาหารสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง ก็จะได้ผลผลิตเร็ว และสม่ำเสมอ
ผลผลิตเมื่อปาล์มโกลด์เด้นเทเนอร่าอายุ 2 ปีครึ่ง

ยิ่งปาล์มเป็นพืชที่ใช้เวลาสะสมอาหารนาน กว่าจะเห็นผล ไม่ใช่ใส่วันนี้แล้วจะเห็นผลในเดือนสองเดือน แต่ให้เวลา ไม่น้อยกว่าสองปี การให้ปุ๋ยจึงต้องให้อย่างต่อเนื่อง 

ถ้าเราดูแลต้นปาล์มดี สม่ำเสมอ มันก็จะมอบรางวัลให้เรา เป็นทะลายที่ดีและสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน

วิธีการใส่ปุ๋ยของนเรศ จะใส่ตามอายุปาล์ม โดยใช้แม่ปุ๋ย 3 ตัว คือ 21-0-0, 0-3-0 และ 0-0-60 โดยเน้นใส่ปุ๋ย 21-0-0 ครั้งละ 300 กรัม/ต้น 0-0-60 200 กรัม/ต้น/ครั้ง ส่วน 0-3-0 ใส่ปีละหนึ่งครั้งช่วงหน้าฝน และเสริมด้วย แมกนีเซียมและโบรอน นอกจากนั้นยังมีปุ๋ยขี้ไก่แกลบเสริมต้นละ 1 กระสอบ/ปี

เรื่องที่เขาให้ความสำคัญในสวนปาล์ม คือ การจัดการเรื่องหญ้า จะใช้วิธีตัดเท่านั้น ไม่ใช่ยาฆ่าหญ้าเด็ดขาด

ผมรู้สึกว่าฉีดแล้วดินมันไม่ดี ผมก็ตัดเอา เพราะที่ดินตรงนี้มันไม่ดีอยู่แล้ว มันเป็นดินเปรี้ยว ดินพรุ เราให้หญ้ามันขึ้นเพราะว่าเราต้องการให้มันปรับปรุงดิน ถ้าฉีดยาฆ่าหญ้าดินมันก็จะเสียไปเรื่อยๆ
แม้ว่าสวนปาล์มของนเรศจะเป็นแปลงเล็กๆ แต่ข้อดีคือ เขาสามารถทำงานด้วยตัวเองทุกอย่าง ไม่ต้องจ้างแรงงาน จึงสามารถลดต้นทุนแรงงานได้ระดับหนึ่ง และการที่เขาให้ความสำคัญกับการจัดการสวนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการใส่ปุ๋ยให้ต้นปาล์มสมบูรณ์ จะเป็นการปูทางให้ได้ผลตอบแทนที่ดีและคุ้มค่าในอนาคต 

ขอขอบคุณ
นเรศ อินทะมาระ
19 ม.6 ต.ทุ่งยาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง 
.
เผยแพร่ครั้งแรก 14 พฤษภาคม 2561


ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม