กระทบทั้งในทางตรงและทางอ้อม
ทางตรงคือ เกษตรกรมีรายได้ลดลง หากราคาตกต่ำยังกินเวลานาน
ก็จะค่อยๆ ลุกลามไปสู่ฐานะและความเป็นอยู่ของครอบครัวเกษตรกร
ทางอ้อม เมื่อรายได้ลดลงเกษตรกรจะไม่มีเงินซื้อปุ๋ยมาบำรุงสวนปาล์ม
บางรายใส่น้อยลง หรืออาจจะไม่ใส่เลย เมื่อเป็นอย่างนี้อนาคตผลผลิตของเกษตรกรจะลดลง ซึ่งถือเป็น “สะเก็ดระเบิด”
จากราคาปาล์มตกต่ำ ที่จะส่งผลซ้ำเติมในระยะยาว
เครื่องหมายคำถาม...ต่อมาก็คือ เกษตรกรจะอยู่รอดได้อย่างในภาวะราคาปาล์มตกต่ำ...???
อย่างแรก คงต้องย้อนไปดูกลไกตลาด
และความเป็นธรรมด้านการซื้อขายปาล์มน้ำมันทั้งระบบ ซึ่งพอจะมองเห็นภาพรางๆ แล้วว่า
มีความบิดเบี้ยวอยู่หลายภาคส่วน โดยเฉพาะการซื้อผลผลิตทะลายปาล์มตามคุณภาพ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้กันทั้งอุตสาหกรรม
อย่างที่ สอง คงต้องเริ่มต้นจากส่วนที่เกษตรกรกำหนดได้ ด้วยวิธี “สร้างป้อมปราการ” เพื่อทำ “สงคราม” กับ ราคาปาล์ม ในระยะยาว ซึ่งก็คือ เพิ่มผลผลิตในสวนปาล์มให้สูงขึ้น
ส่วนแนวทาง หรือ วิธี ก่อสร้างป้อมปราการ
ทำอย่างไรได้บ้าง เว็บไซต์ยางปาล์ม มีคำแนะนำจาก 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านปาล์มน้ำมัน ได้แก่ ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ดร.พิมพ์รพี
พันธุ์วิชาติกุล เจ้าของสวนปาล์มขนาดใหญ่ ใน จ.กระบี่ และ ดร.กวิน ปุญโญกุล ที่ปรึกษาสวนปาล์มขนาดใหญ่
และผู้เชี่ยวชาญการจัดการสวนปาล์ม
ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ |
เปิดรับเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตปาล์ม
สร้าง “รากแก้ว” ของอาชีพสวนปาล์มที่มั่นคง
ดร.พงศ์เทพ
อัครธนกุล
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวของประเทศที่มีทีมนักวิจัยที่สร้างและสะสมข้อมูลพื้นฐานด้านสรีรวิทยาเพื่อเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่ภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องนาน
30 ปี จนถึงปัจจุบัน มองว่า
ราคาผลผลิตเป็นเรื่องสำคัญกับเกษตรกร แต่ปัญหาก็คือ ราคาไม่มีความแน่นอน
ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น กลไกตลาด นโยบายของรัฐ และราคาที่เป็นธรรม เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เกษตรกรกำหนดไม่ได้
แต่สิ่งที่เกษตรกรกำหนดได้ คือ สร้างความอยู่ยง “คงกะพัน” ให้พร้อมรับภาวะราคาตกต่ำแบบครั้งคราวได้ ซึ่งมีทางเดียวเท่านั้น คือ “เพิ่มผลผลิต”
เพราะปัจจุบันเกษตรกรกำลังเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตต่อหน่วยน้ำหนัก
และผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำ
เกษตรกรที่เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตให้สูงขึ้น จะช่วยสร้างสร้างแรงต้านทานให้พร้อมรับกับราคาปาล์มได้ ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━ |
“มีทางเดียวเท่านั้น คือ
ทำให้ผลผลิตสูงสุดเท่าที่จะทำได้ แล้วต้นทุนต่อหน่วยคุ้มต่อผลผลิต
อย่าไปลดต้นทุนการผลิตต่อพื้นที่ เพราะถ้าไม่ใส่ปุ๋ย ผลผลิตก็ยิ่งต่ำ แต่ถ้าทำได้
4-5 ตัน/ไร่ โดยเพิ่มปัจจัยการผลิตเข้าไป จะทำให้คุ้มค่ามากขึ้น
ทำอย่างไรให้มีผลผลิตสูงขึ้น ก็ต้องใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิต
เพื่อบริหารปัจจัยการผลิต เช่น ดิน สายพันธุ์ น้ำ ปุ๋ย แสงแดด
บริหารทั้งระบบวงจรการผลิต อย่างที่ ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำงานวิจัย ร่วมกับ
บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด ตลอดเวลา 30 ปี
จนได้องค์ความรู้ที่สามารถพัฒนาวิธีจัดการสวนปาล์มให้มีประสิทธิภาพสูง
และพัฒนาเป็น “โครงการเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน” ก็เป็นหนึ่งในความร่วมมือที่จะทำให้เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันเข้าถึงมือเกษตรกร ที่มีเกษตรกรรายย่อย
และสวนปาล์มขนาดใหญ่เข้าร่วมโครงการ จนสามารถเพิ่มผลผลิตได้จริง
แต่เหนืออื่นใดเกษตรกรต้องเปิดใจรับว่ามีปัญหาในเรื่อง
ประสิทธิภาพการผลิต วิธีแก้ปัญหาคือต้องเพิ่มผลผลิต ถ้าคิดว่าทำดีแล้ว แต่อาจจะดีไม่พอสำหรับราคาปัจจุบัน
มันเกิดราคาตกต่ำเพราะตลาดโลก หรือเพราะกลไกอย่างอื่น เกษตรกรจะต้องสร้าง “แรงต้านทาน”
ให้พร้อมรับราคาตกต่ำได้ มีทางเดียวเท่านั้น คือเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต
ใช้ปัจจัยการผลิตทุกอย่างให้ได้ผลสัมฤทธิ์สูงสุด อันนี้เป็น “คาถาประจำตัว”
ของเกษตรกร”
ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล เจ้าของสวนปาล์มพนมชัย จ.กระบี่ |
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ปาล์มคุณภาพ
คือทางออกของชาวสวนปาล์ม
ดร.พิมพ์รพี
พันธุ์วิชาติกุล เจ้าของสวนปาล์ม
พนมชัย จ.กระบี่ และเป็นสวนปาล์มขนาดใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน จนสามารถเพิ่มผลผลิตจาก 2.5 เป็น 4.5
ตัน/ไร่/ปี ได้ภายในระยะเวลา 3 ปี
ดร.พิมพ์รพี ให้ทัศนะเรื่องราคาปาล์มน้ำมันว่า “ต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้สวนปาล์มมีมากขึ้นเรื่อยๆ น้ำมันปาล์มก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วราคาน้ำมันปาล์มคือราคาที่อิงตลาดโลก จะขึ้นลงตามราคาโลกแบบสินค้าเกษตรอื่นๆ ฉะนั้นเราจะคาดหวังให้ราคาดีตลอดเป็นไปได้ยาก
สวนพนมชัย เป็นสวนปาล์มขนาดใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมัน พร้อมๆ กับให้ความสำคัญกับการตัดปาล์มคุณภาพ ทำเปอร์เซ็นต์น้ำมันได้ 22.77% ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━ |
วิธีรับมือกับสถานการณ์ราคา ขั้นที่หนึ่ง
เราต้องแก้ที่ตัวเองก่อน เพราะในวันที่มันดูโหดร้ายและไม่มีหวัง
แต่เราก็ต้องมีความมั่นใจ ต้องกลับมาดูแลจัดการสวนปาล์มให้ต่อเนื่อง เพราะช่วงที่ราคาปาล์มตกต่ำมีคนมากมายที่ไม่ใส่ปุ๋ย
มีคนมากมายที่ทิ้งสวนปาล์มไปเลย แต่เกษตรกรมืออาชีพต้องหันกลับมามองตัวเองและเชื่อว่ามันจะต้องกลับมายังสถานการณ์ที่ดีขึ้น เราต้องใส่ปุ๋ยให้ถูกต้อง
ใส่อย่างมีความรู้ คิดว่าเราจะพัฒนาสวนปาล์มของตัวเองอย่างไร เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
สำหรับหวังผลในระยะยาว ว่าเราจะยังมีผลผลิตที่ดีอย่างต่อเนื่อง”
อีกเรื่องที่ สวนพนมชัย
มุ่งมั่นพัฒนามาโดยตลอดคือ “ตัดปาล์มสุกมีคุณภาพ” ขายให้กับโรงงานที่รับซื้อปาล์มคุณภาพตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน
เพราะการตัดปาล์มคุณภาพจะได้น้ำหนักเพิ่มมากขึ้นอย่างน้อย
10% และได้ราคาเพิ่ม 30-40 สตางค์/กก.
“ปาล์มคุณภาพ คือ ทางออกทางเดียวของเกษตรกรที่จะทำให้เราได้ขายปาล์มในราคาที่สูงขึ้น
และยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยได้ ” เจ้าของสวนปาล์ม พนมชัย จ.กระบี่ กล่าว
ดร.กวิน ปุญโญกุล ที่ปรึกษาสวนปาล์มขนาดใหญ่ และผู้เชี่ยวชาญการจัดการสวนปาล์ม |
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
แนวทางง่ายๆ
สำหรับการเพิ่มผลผลิต 4 ตัน/ไร่
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ดร.กวิน ปุญโญกุล
ที่ปรึกษาสวนปาล์มขนาดใหญ่
และผู้เชี่ยวชาญการจัดการสวนปาล์ม เสนอ 3 แนวทางการเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมัน
ที่เกษตรกรนำไปใช้ได้จริง
หากเกษตรกรต้องการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น
ให้เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยกระบวน 3 ข้อนี้ คือ ปรับสภาพดิน , ใส่ปุ๋ยบนกองทางใบ
และ ใส่ให้ปุ๋ยให้เพียงพอกับความต้องการของปาล์มน้ำมัน
1. ปลูกพืช...ต้องรู้จักดิน
กรณีถ้าดินเป็นกรด เราจะใช้ปูนโดโลไมท์เพื่อปรับสภาพดินให้อยู่ในช่วง 5.5 - 6.5 ประโยชน์ของโดโลไมท์ คือ
- 1) ปรับพีเอช (pH) ดิน เพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์ของธาตุอาหารพืช โดยส่วนใหญ่ดินทางภาคใต้ที่ฝนชุกจะเป็นดินกรดจัด เช่น หากดินมี pH ต่ำกว่า 5 ประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยจะอยู่ที่ 50% (Cliff Snyder) เกษตรกรส่วนใหญ่ใส่ปุ๋ยรอบทรงพุ่มบนดินที่สภาพเป็นกรดแบบนี้มาเป็นเวลานาน ฉะนั้นอาจจะพูดได้ว่าปุ๋ยที่ใส่ลงไปกว่าครึ่งหนึ่งจะมีการสูญเสีย (ดูตารางประกอบ)
- 2) การใส่ปูนโดโลไมท์ นอกจากช่วยลดความเป็นกรดของดินแล้ว ยังเป็นการให้ธาตุอาหารแคลเซียมและแมกนีเซียม ซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการใช้ในปริมาณมากเพื่อการเติบโตของต้นและการสร้างผลผลิตด้วย นอกจากนี้โดโลไมท์ยังช่วยลดความเป็นพิษของธาตุ แมงกานีช และอะลูมินัม ได้อีกด้วย
2. มาใส่ปุ๋ย...บนกองทางกันเถอะ
เราแนะนำให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการใส่ปุ๋ยรอบทรงพุ่ม มาใส่ปุ๋ยบนกองทางใบ ด้วยเหตุผล 4 ข้อดังต่อไปนี้
- 1) บริเวณกองทางมีความชื้น จะให้มีการสร้างรากขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงเหมาะกับการใส่ปุ๋ย
- 2) การใส่ปุ๋ยบนทางปาล์มจะช่วยลดการชะล้างของปุ๋ยจากฝน
- 3) ดินบริเวณใต้กองทางมีอินทรียวัตถุเยอะ เมื่อเราใส่ปุ๋ยลงไป ปุ๋ยบางส่วนจะถูกดูดซึมไว้กับอินทรียวัตถุ แล้วค่อยๆ ปลดปล่อยให้พืชใช้ได้นานกว่าการใส่รอบโคน
- 4) ใต้กองทางมีจุลินทรีย์จำนวนมากที่คอยช่วยเปลี่ยนรูปปุ๋ย ให้เป็นประจุที่พืชสามารถนำไปใช้ได้
ใส่โดโลไมท์ และ ปุ๋ยบนกองทาง ช่วยปรับสภาพดินให้เหมาะสม และเพิ่มประสิทธิภาพการให้ปุ๋ย เป็นแนวทางหนึ่งที่จะเพิ่มผลผลิตได้ ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━ |
3. ใส่ปุ๋ยให้เพียงพอเพื่อชดเชยกับจำนวนธาตุอาหารในทะลายที่นำออกจากดิน
เราทำเป็นกึ่งๆ งานวิจัยออกมา เราจะแนะนำว่า ถ้าเป็นปุ๋ยสูตร 14-7-35
เราแนะนำให้ใส่อย่างน้อย 8 กก./ต้น/ปี เพื่อให้ผลผลิตเกิน
4 ตัน/ไร่/ปี
สรุปว่า ถ้าเกษตรกรใส่ปุ๋ยได้ 8
กก./ต้น/ปี บนกองทาง ใส่ปูนโดโลไมท์บนกองทาง
แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่จะทำให้ผลผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
━━━━━━━━━━━━━━━
ข้อมูลจากทั้ง 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านปาล์มน้ำมัน คือแนวทางที่เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตภายในสวน ซึ่งจะเป็น “ป้อมปราการ” ปกป้องเกษตรกรจากภาวะราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำได้ในระยะยาว
ขอขอบคุณ
ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล
ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล
ดร.กวิน ปุญโญกุล
- Advertisement -
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น