ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

ถอดบทเรียน 40 ปี สวนพนมชัย สวนปาล์มคุณภาพ ของ จ.กระบี่

ถ้ามีใครมาบอกว่า “สวนพนมชัย” สวนปาล์มขนาดใหญ่ทำผลผลิตได้ 4.5 ตัน/ไร่/ปี ทำเปอร์เซ็นต์น้ำมันได้สูงถึง 22.70%  เพราะมี “เงินทุนหนา” เราขอบอกว่าอย่าเพิ่งเชื่อ หรือตัดสินว่าเป็นอย่างนั้น จนกว่าจะอ่านคำบอกเล่าของ ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล หรือ “น้ำผึ้ง”  ผู้บริหารรุ่นที่สองของสวนพนมชัย

แม้ว่าสวนปาล์มแห่งนี้จะมีเจ้าของเป็นตระกูลดังของกระบี่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเจ้าของ “สัมปทานความสำเร็จ” แต่อย่างใด เพราะด้วยธุรกิจที่ยาวนานกว่า 40 ปีทำให้ต้องเจอกับ “รอยต่อของธุรกิจ” หลายครั้ง เริ่มตั้งแต่ “รอยต่อของผู้บริหาร” รุ่นแรก สู่ รุ่นสอง “รอยต่อของอายุปาล์ม” เมื่อต้นปาล์มเริ่มแก่ชรา ให้ผลผลิตลดลง ต้องปลูกปาล์มใหม่ทดแทน “รอยต่อของการจัดการสวนปาล์ม” แบบเก่า กับ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และที่สำคัญ “รอยต่อของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน” ที่ถูกวิเคราะห์ว่าอยู่ในช่วงขาลง ของธุรกิจพืชพลังงาน

รอยต่อของแต่ละช่วง ไม่ได้เรียบลื่น หากแต่ขรุขระ และเงินอย่างเดียวซื้อไม่ได้
  ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ยุคบุกเบิก สวนพนมชัย
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ยุคเริ่มต้นของสวนพนมชัย ถือเป็นยุคบุกเบิกของการทำสวนปาล์มของ จ.กระบี่ เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่มีแบบอย่างมาจากประเทศมาเลเซีย น้ำผึ้ง เล่าว่า สมัยก่อนการปลูกปาล์มรอบแรกไม่ได้ยากนัก เพราะมี “ต้นทุนทางธรรมชาติสูง”  พื้นที่ปลูกปาล์มยังใหม่ดินอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหารที่สะสมมานาน ประกอบกับสายพันธุ์ปาล์มที่นำมาจากประเทศมาเลเซีย ทำให้ได้ผลผลิตค่อนข้างสูง ขณะที่ต้นทุนต่ำ เพราะไม่ต้องใส่ปุ๋ยมากนัก

สวนปาล์มพนมชัยถูกวาง “รากฐาน” ไว้อย่างดี เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชอายุยืน ให้ผลผลิตสูง จนเมื่อปาล์มอายุย่างเข้า 30 ปี ต้นปาล์มค่อยๆ ให้ผลผลิตลดลงต่ำกว่า 2.5 ตัน/ไร่/ปี  ไม่คุ้มค่า จึงจำเป็นต้องโค่นเพื่อปลูกใหม่ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาต้องล้มสวนปาล์มปลูกใหม่หลายร้อยไร่ ซึ่งเป็นช่วงที่ น้ำผึ้ง ทายาทรุ่นที่สอง เริ่มเข้ามาบริหารธุรกิจของครอบครัว 
สวนปาล์มอายุกว่า 30 ปี ให้ผลผลิตลดลง จนไม่คุ้มค่า จำเป็นต้องโค่นปลูกใหม่
ช่วงนั้นสวนพนมชัยเลือกที่จะปลูกปาล์มรุ่นใหม่ที่พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งน่าจะเหมาะสมกว่าพันธุ์จากต่างประเทศ โดยอาศัยองค์ความรู้การปลูกปาล์มใหม่แทนปาล์มเก่าจากประเทศมาเลเซีย และสวนปาล์มรายใหญ่ในประเทศ คือ ปลูกแบบ ล้มต้นปาล์มสองแถว เว้น สองแถว แล้วปลูกปาล์มใหม่แซม

การปลูกปาล์มวิธีนี้มีข้อดี คือ ทำให้ยังมีผลผลิต และยังมีรายได้จากสวนปาล์มอย่างต่อเนื่อง ต่างจากล้มทั้งแปลง แล้วปลูก จะทำให้รายได้หายไปจำนวนมาก ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพียงแต่ การปลูกปาล์มระบบนี้ได้สร้างปัญหาใหญ่ให้กับสวนพนมชัยในเวลาต่อมา

เราพิสูจน์แล้วว่าสวนปาล์มที่ปลูกมา 20-30 ปี มันกินธาตุอาหารในดินไปหมดแล้ว ถึงแม้จะได้พันธุ์ปาล์มดีอย่างไร แต่มันปลูกบนดินไม่ดี ก็ไม่เกิดประโยชน์ แล้วเลิกคิดว่าจะเอาพันธุ์ที่ไม่ดีไปปลูกในดินไม่ดี มันเป็นไปไม่ได้เลย 

น้ำผึ้ง เล่าปัญหา

ตัวอย่างการปลูกปาล์มใหม่ แบบสองแถวเว้นสองแถว [ภาพจาก กิตติชัย ก่ออ้อ] 
นอกจากดินจะเหลือธาตุอาหารน้อยแล้ว การปลูกปาล์มใหม่แซมในสวนปาล์มเดิม ยังทำให้ต้นปาล์มเจริญเติบโตไม่เต็มที่ กระทบต่อผลผลิตในระยะยาว

สวนพนมชัยเป็นสวนแรกๆ ที่เริ่มปลูกปาล์มรุ่นสอง การปลูกแซมแบบสองเว้นสอง จริงอยู่ระหว่างปลูกปาล์มใหม่ยังมีปาล์มเก่าหล่อเลี้ยง  แต่มันเกิดความสูญเสียอย่างรุนแรง เพราะต้นปาล์มใหม่ไม่สมบูรณ์ เพราะมีรากปาล์มเก่าอยู่เต็มไปหมด มันจะแย่งอาหารปาล์มเล็ก เลยโตช้ากว่าที่มันควรจะเป็น ยังไม่รวมปัญหาของต้นเก่าที่มีด้วงทำลายต้นอีกมากมาย และต้นปาล์มใหม่ได้รับแสงไม่เต็มที่ เพราะปาล์มเก่าบัง ในระยะยาวท่อน้ำเลี้ยงจะไม่สมบูรณ์ เสียหายร้ายแรง 30-40% สมมุติพันธุ์ปาล์มมีศักยภาพให้ผลผลิตได้ 5 ตัน/ไร่/ปี แต่เมื่อปัจจัยต่างๆ มันไม่ดี จะได้แค่ 3.5 ตัน หรือน้อยกว่านั้น

ไม่ใช่เพียงปัญหาปลูกปาล์มใหม่แทนปาล์มเก่าเท่านั้น แต่ยังมีปัญหา การจัดการสวนปาล์มแบบเก่าที่เคยใช้ได้ผลดี  กลับใช้ไม่ได้กับสวนปาล์มยุคใหม่ ที่มี “ต้นทุนทางธรรมชาติต่ำ” เพราะมีธาตุอาหารในดินต่ำ สภาพแวดล้อมเปลี่ยน ฝนไม่ตกชุกเหมือนเดิม
  ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
 ก้าวสู่ ยุค ผู้บริหารรุ่นใหม่ กับสวนปาล์มรุ่นใหม่
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
วิธีการแก้ปัญหาของสวนพนมชัย คือ นำองค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านการจัดสวนปาล์มยุคใหม่มา “ปฏิรูป” สวนปาล์มเกือบทั้งหมด

ทีมของเราเข้าไปอบรมหลักสูตรการจัดการสวนปาล์มน้ำมันอย่างมืออาชีพ ที่ ศูนย์การเรียนรู้ปาล์มน้ำมันซีพีไอ ที่ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ศึกษาเรียนรู้ทั้งหลักวิชาการ หลักทฤษฎี และปฏิบัติจริงตั้งแต่การปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว ทำให้เราเข้าในธรรมชาติของต้นปาล์ม และองค์ความรู้ที่ได้นำมาปรับปรุงสวนให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น

หลังจากผ่านการอบรมการทำสวนปาล์ม ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ทันสมัยที่สุด สวนพนมชัยเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ตั้งแต่ “สายพันธุ์”

สวนพนมชัย ให้ความสำคัญกับพันธุ์ปาล์มมาก เพราะถือเป็น “รากฐาน” ของการทำสวนปาล์ม

พันธุ์ที่เราใช้คือ ซีพีไอไฮบริดและ โกลด์เด้นเทเนอร่า’ เมื่อก่อนเราปลูกพันธุ์จากมาเลเซีย เพราะวันนั้นไทยเรายังไม่มีพันธุ์ปาล์มที่ดี แต่ว่าวันนี้มีการพัฒนาจนได้พันธุ์ที่ดีขึ้น ทนแล้ง ให้ผลผลิตสูง เหมาะกับพื้นที่ปลูกปาล์มของเราที่ไม่มีระบบน้ำ และเราก็ควรสนับสนุนพันธุ์ของไทย มีนักวิชาการคอยดูแล ติดตาม และทำโครงการร่วมกัน
 
ใช้รถแม็คโครขุดหลุม ทำให้ดินร่วนซุย และทำลายรากปาล์มเก่าก่อนที่จะปลูกปาล์มใหม่
วิธีปลูกปาล์มใหม่ของสวนพนมชัยเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยใช้ระบบการปลูกแบบทยอยล้มปาล์มพร้อมกันทั้งแปลง เพื่อให้ต้นปาล์มได้รับอาหารและแสงเต็มที่ พร้อมกับใช้วิธีขุดหลุมปลูกให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ต้นปาล์มเจริญเติบโตเต็มที่

สวนปาล์มเก่าแม้จะล้มทั้งแปลงแต่ในดินมันยังมีรากเก่าที่สานกันอยู่ในดินอยู่เต็มไปหมด ถ้าปลูกปาล์มใหม่บนพื้นที่เดิมแล้วขุดแค่หลุมเล็กๆ เราพิสูจน์แล้วว่าการเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ วิธีการใหม่ คือเราต้องสร้าง โอเอซิส ใหม่ให้ต้นปาล์ม ให้รากใหม่สามารถเดินทะลุทะลวงพื้นดินได้อิสระ เราต้องใช้รถแม็คโครขุดหลุม ทำให้ดินร่วนซุย และทำลายรากปาล์มเก่าก่อนที่จะปลูกใหม่ ดังนั้นการปลูกปาล์มใหม่ในพื้นที่เดิมมันเลยยากและแพงขึ้น แต่เป็นวิธีที่เราทำแล้วได้ผลดี ต้นปาล์มเจริญเติบโตได้เต็มที่
ทีมงาน และนักวิจัยจากโครงการเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมัน ติดตามการจัดการสวนปาล์มของ สวนพนมชัย อย่างใกล้ชิด
  ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
สวนพนมชัยร่วม โครงการเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
สวนปาล์มพนมชัยเป็นสวนปาล์มขนาดใหญ่ที่เข้าร่วม โครงการการเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือ ระหว่าง ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลผลิตปาล์มต่อไร่ให้สูงขึ้น โดยอาศัยงานวิจัยที่ใช้ได้ผลจริงในภาคปฏิบัติ ทำให้ได้ผลผลิต 2.5 ตัน เพิ่มเป็นมากกว่า 4.5 ตัน/ไร่/ปี ภายในระยะเวลา 3 ปี

วิธีการจัดการสวนปาล์มที่ทำให้ต้นปาล์มได้ผลผลิตสูงขึ้น เริ่มการ “พยาบาลดิน” ที่เสื่อมสภาพให้มีอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น เนื่องจากสวนปาล์มที่ปลูกปาล์มมาเป็นเวลานาน และใส่แต่ปุ๋ยเคมี ทำให้ดินเป็นกรดสูง วิธีการง่ายๆ คือ สร้างกองทางขึ้นในสวนปาล์ม ทางใบจะย่อยสลายกลายเป็นอินทรียวัตถุกลับคืนสู่ดิน ร่วมกับใส่ “ปูนโดโลไมท์” บริเวณกองทางเพื่อปรับปรุงสภาพดินให้เหมาะสม 
การสร้างกองทางในสวนปาล์มมีประโยชน์หลายด้าน
เมื่อสภาพดินมีอินทรียวัตถุสูง มีสภาพดินเหมาะสม รากที่ทำหน้าที่กินอาหารจะอาศัยอยู่บริเวณกองทางจำนวนมาก เวลาใส่ปุ๋ยจึงเน้นใส่บริเวณกองทางเป็นหลัก การใส่ปุ๋ยจะมีประสิทธิภาพสูง ต้นปาล์มได้รับปุ๋ยเต็มที่ และกองทางใบยังเก็บความชื้นได้ดี รวมถึงชะลอการชะล้างดินและปุ๋ยอีกทาง

ทั้งนี้หลักการใส่ปุ๋ยจะใส่ตามอายุปาล์ม และผลผลิต ทำให้ต้นปาล์มได้อาหารอย่างเพียงพอ ขณะเดียวกันยังช่วยลดการใส่ปุ๋ยอย่างสิ้นเปลืองได้อีกทาง
  ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
สวนพนมชัยต้นแบบสวนปาล์มแปลงใหญ่ ทำปาล์มคุณภาพ
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสวนพนมชัย เกิดขึ้นเมื่อ จ.กระบี่ ชูนโยบาย กระบี่เมืองปาล์มคุณภาพ สวนพนมชัยเป็นสวนแรกๆ ที่เข้าร่วมโมเดลปาล์มคุณภาพนี้ และเป็นหนึ่งในแปลงทดลองการเก็บเกี่ยวปาล์มคุณภาพ เพื่อให้เกษตรกรเห็นว่า เมื่อปลูกปาล์มพันธุ์ดี ผลผลิตสูงแล้ว ต้องทำให้การเก็บเกี่ยวมีคุณภาพด้วย

แต่จะเริ่มต้นทำปาล์มคุณภาพ จำเป็นต้องมีโรงงานต้นแบบที่จะกล้ารับซื้อปาล์มตามเปอร์เซ็นต์น้ำมันร่วมด้วย ซึ่ง จ.กระบี่โชคดีที่มี โรงงานเพื่อกระบี่ปาล์มออยล์ เกิดขึ้น เมื่อก่อนเกษตรกรขายปาล์มได้ราคาจากการคิดน้ำมันที่ 17% ไม่ว่าจะตัดดีตัดเลวก็ได้ราคาเท่ากัน แต่ถ้าตัดปาล์มสุกมีลูกร่วง อย่างแรกจะได้น้ำหนักเพิ่มขึ้น 10%  อย่างที่สองจะได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันมากขึ้น เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มอย่างน้อย 30 สตางค์จากเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่เพิ่มขึ้น 1% นี่คือแรงจูงใจให้เกษตรกรทำปาล์มให้มีผลผลิตที่มีคุณภาพ

แม้สวนพนมชัยจะเป็นรายใหญ่ แต่เมื่อจะทำปาล์มคุณภาพ เราก็ต้องเรียนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ต้องพาคนงานไปศึกษาว่าทำปาล์มคุณภาพเขาตัดปาล์มอย่างไร โชคดีที่ เพื่อกระบี่ปาล์มออยล์ ร่วมกับพวกเรา มาสอนว่าควรดูปาล์มสุกอย่างไร ตัดอย่างไร ถึงได้เปอร์เซ็นต์ที่ดี ต้องมีทีมงานและผู้จัดการที่มั่นคง เพราะงานมันจะยากมากสำหรับการทำแปลงใหญ่ 
น้ำผึ้ง เล่าว่า การตัดปาล์มสุกเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงจะต้องมีลูกร่วงเพิ่มขึ้น อาจจะลำบากในการเก็บลูกร่วง แต่ต้องอดทน เพราะของดีมันไม่ได้มาง่ายๆ จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับทีมตัดปาล์มว่า เมื่อปาล์มมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงขึ้นทุกๆ 1% จะได้เงินเพิ่มขึ้น เงินที่ได้เพิ่มขึ้นมา จะแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม และมีรางวัล หรือโบนัส ถ้าตัดปาล์มได้ดีสม่ำเสมอ

เรายึดตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เราต้องเข้าใจปัจจัยของคนตัด เข้าใจปัจจัยของผู้จัดการ และเข้าใจตัวเราในฐานะผู้ประกอบการว่าคิดอย่างไร ทั้ง 3 ส่วนต้องไปด้วยกัน ผู้ประกอบการต้องการปาล์มสุก ขายโรงงาน น้ำหนักเพิ่ม เปอร์เซ็นต์น้ำมันเพิ่ม ราคาเพิ่ม และพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ นี่คือความต้องการของเรา ที่นี่คนงานและผู้จัดการเราต้องพาเขาไปดู ไปเห็นว่าถ้าเขาทำแล้วจะได้ผลตอบแทนอย่างไร มีความมั่นคงอย่างไร ไม่เฉพาะตัวเขา และหมายถึงลูกหลานเขาด้วย  จริงๆ ผู้จัดการสวน และคนงาน ถือเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ทำให้ปาล์มคุณภาพเกิดขึ้นได้ เราแค่ให้นโยบายไป ถ้าเขาไม่ทำก็ไม่สำเร็จ 
สวนพนมชัยได้ร่วมกับ โรงงานเพื่อกระบี่ ตัดปาล์มสุกคุณภาพ นำไปหีบพิสูจน์น้ำมันในโรงงาน ได้น้ำมันสูงถึง 22.70%  ซึ่งก่อนหน้านี้การทำปาล์มคุณภาพถูกมองว่ายากสำหรับแปลงใหญ่ แต่สวนพนมชัยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แปลงใหญ่ทำได้

เราต้องตั้งใจและทำให้สำเร็จขึ้นมาให้ได้ เพราะการทำปาล์มคุณภาพ กำลังจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมปาล์มไทยในทางที่ดีขึ้น
  ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ปาล์มคุณภาพ = ระบบที่เป็นธรรม
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
น้ำผึ้ง บอกว่า การทำปาล์มคุณภาพก็เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เรามีความสามารถเพิ่มผลผลิตได้หลายเท่า เมื่อมีผลผลิตมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โรงงานก็จะมีความเสถียรขึ้น หีบปาล์มได้น้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนน้ำมันปาล์มก็ต่ำลง ทุกภาพส่วนได้ดี เกษตรกรขายปาล์มได้ราคา

ทุกวันนี้ต้นทุนหีบน้ำมันของโรงงานแพงมาก จึงมากดราคาที่เกษตรกร แต่ถ้าเราสามารถผลิตปาล์มให้โรงงานเดินเครื่องได้เพียงพอ มีระบบการซื้อขายเป็นธรรม โรงงานมีต้นทุนต่ำลง กำไรมากขึ้น เงินก็จะกลับมาสู่เกษตรกร เราต้องทำปาล์มคุณภาพเท่านั้น เพราะปาล์มคุณภาพคือทางออกของเกษตรกรไทยตอนนี้

ดร.พิมพ์รพี มีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนปาล์มคุณภาพของ จ.กระบี่ เป็นสวนปาล์มแปลงใหญ่ที่เริ่มต้นทำปาล์มคุณภาพในขณะที่ถูกมองว่าทำได้ยากในแปลงใหญ่ แต่เปอร์เซ็นต์น้ำมันมากกว่า 22.70% ที่สวนพนมชัยทำได้ เป็นเครื่องพิสูจน์ เป้าหมายของเธอไม่ใช่เพียงเพื่อธุรกิจของตัวเองเท่านั้น แต่เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมนี้
━━━━━━━━━ 
ขอขอบคุณ
ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล
สวนพนมชัย จ.กระบี่
- Advertisement -


ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม