ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

เทคนิคทำสวนปาล์มน้ำมัน อายุ 4 ปี ผลผลิต 4 ตัน/ไร่/ปี จากหงส์ศิลาปาล์ม


ทำสวนปาล์มจำเป็นต้องพึ่ง “ตำราวิชาการ” เซียนปาล์มน้ำมัน เคยบอกอย่างนั้น เพราะ “พืชน้ำมัน” สูง ตัวนี้ มีพัฒนาการค่อนข้างช้า แต่ใช้ธาตุอาหารสำหรับสร้างทะลายสูง ดังนั้นจะทำสวนปาล์มให้สำเร็จ ได้ผลผลิตสูง “หลัง” ต้อง “พิง” ข้อมูลทางวิชาการ

สวนปาล์มน้ำมันของ “หงส์ศิลาปาล์ม” ก็เช่นเดียวกัน

ถ้าใครรู้จักสวนปาล์มขนาดใหญ่ของ จ.กระบี่ รายนี้ ก็จะรู้จักผลงานเป็นอย่างดี แม้จะปลูกปาล์มหลายพันธุ์ แต่ทุกพันธุ์ที่ปลูกล้วนสมบูรณ์และให้ผลผลิตสูง ส่วนสำคัญก็มาจาก การอ้างอิงการจัดการจากข้อมูลวิชาการนั่นเอง

เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกปลูกพันธุ์ปาล์มที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สภาพอากาศ และให้ผลผลิตสูง

เว็บไซต์ยางปาล์ม มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมสวนปาล์มของหงส์ศิลาปาล์มอีกครั้ง ซึ่งเป็นปาล์มพันธุ์ยูนิวานิช พื้นที่ 400 ไร่ ใน อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ อายุ 4-5 ปี ผลผลิตค่อยๆ ทะยานขึ้นตามวัย จาก ปีแรก 2 ตัน และคาดว่าจะได้ 4 ตัน/ไร่/ปี ใน 2561 นี้ 
เตียว ซุน ฮก ผู้จัดการฝ่ายสวน หงส์ศิลาปาล์ม
เว็บยางปาล์มได้ข้อมูลจาก เตียว ซุน ฮก หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โกฮก” ผู้จัดการฝ่ายสวน และ กิตติชัย ก่ออ้อ รองผู้จัดการฝ่ายสวน ของ บริษัท หงส์ศิลาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม จำกัด

พื้นเพของโกฮกเป็นชาวมาเลเซียเขาเล่าว่าตอนที่มาเมืองไทยช่วงแรกเห็นว่า อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ดี มีปริมาณน้ำฝนถือว่าใช้ได้ เหมาะกับการปลูกปาล์มน้ำมัน กอปรกับมีโรงงานปาล์มน้ำมันของ บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ จึงตัดสินใจทำสวนปาล์มโดยทดลองใช้ปาล์มน้ำมันทั้งจากมาเลย์ และที่พัฒนาสายพันธุ์/ผลิตในเมืองไทย หนึ่งในนั้นคือ พันธ์ยูนิวานิช ลงปลูกกว่า 400 ไร่

สมัยตอนที่มาใหม่ๆ เราก็เอาพันธุ์ปาล์มมาจากมาเลเซียด้วย แล้วมาถึงปัจจุบันประเทศไทยก็มีสายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมาเยอะ มีของยูนิวานิช เราก็เลยเลือกของยูนิวานิช เพราะรู้ว่าพันธุ์ปาล์มเค้าดีก็เลยเลือกปลูกยูนิวานิช ประมาณ 400 กว่าไร่

ความแตกต่างระหว่างการทำปาล์มในไทยและมาเลเซีย คือ คือมาเลย์น้ำฝนจะดี แต่ที่ดินจะสู้เมืองไทยไม่ได้ ที่ดินเมืองไทยจะดีกว่า เรื่องฝนฟ้าอากาศนี่ประเทศไทยจะไม่สม่ำเสมอ แล้วก็แล้งนานเกินไป ฝนตกก็ตกเยอะเกินไป แต่ถ้าฝนดีผลผลิตมันก็จะออกมาดีได้กว่านี้ โกฮก เปรียบเทียบระหว่างปาล์มไทยและมาเลเซีย
━━━━━━━━━━━━━
สวนปาล์มขนาดใหญ่ “ปุ๋ย” คือหัวใจสำคัญ
━━━━━━━━━━━━━
การใส่ปุ๋ยของหงส์ศิลาเน้นการใส่ปุ๋ยตามผลการวิเคราะห์ 3 ส่วน คือ ตามผลวิเคราะห์ใบ ผลวิเคราะห์ดิน และใส่เพื่อชดเชยผลผลิตของปีที่ผ่านมา ทั้ง 3 ส่วน จะถูกนำมาคำนวณเป็นปริมาณธาตุอาหาร หรือปริมาณปุ๋ยที่จะใส่ของแต่ละปี อย่างในปีนี้ สวนปาล์มของหงส์ศิลาจะใส่ปุ๋ยโดยแยกใส่ 7 ครั้ง โดยใช้แม่ปุ๋ย รวมๆ 12-13 กก./ต้น/ปี ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
  • ใส่ 21-0-0 จำนวน 2 ครั้ง รวม 5 กก.
  • ใส่ 0-0-60  จำนวน 2 ครั้ง รวม 5 กก.
  • ใส่ ปุ๋ยกรีเซอไรด์ จำนวน 1 ครั้ง 1.5-2 กก.
  • ใส่ 0-3-0 จำนวน 1 ครั้ง 1 กก.
  • ใส่ โบรอน จำนวน 1 ครั้ง 150-200 กรัม

เมื่อดูแลสวนปาล์มอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง จะได้ผลผลิตสูงขึ้นทุกปี
━━━━━━━━━━━━━
ผลผลิตสูง 4 ตัน/ไร่/ปี ในปีที่ 4
━━━━━━━━━━━━━
หลังปลูก 24 เดือน ได้ตัดครั้งแรก หลังจากนั้นเมื่ออายุประมาณ 2-3 ปี ได้ผลผลิต 2 ตัน/ไร่/ปี,  อายุ 3-4 ปี ประมาณ 3 ตัน/ไร่ และในปีที่ 4-5 คาดว่าน่าจะได้ผลผลิต 4 ตัน/ไร่/ปี หงส์ศิลาปาล์มตัดปาล์มประมาณ 15 วัน/ครั้ง เน้นปาล์มคุณภาพ ตัดเฉพาะทะลายที่สุดเท่านั้น เพราะมีแนวคิดว่าปาล์มดิบจะทำให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันเฉลี่ยที่ได้ต่ำไปด้วย

ในส่วนของการดูแลจัดการสวนของหงส์ศิลาปาล์ม ยางปาล์มออนไลน์ได้สัมภาษณ์พิเศษ กิตติชัย ก่ออ้อ เพื่อขยายความเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่ต้องใช้แม่ปุ๋ยและใช้ตามผลการวิเคราะห์ใบ ผลการวิเคราะห์ดินและใส่เพื่อชดเชยผลผลิต  ช่วยลดต้นทุนการทำสวนปาล์มของบริษัท รวมถึงสวนของเกษตรกรได้ด้วยเช่นกัน
กิตติชัย ก่ออ้อ 
เลือกตัดทะลายสุกเต็มที่ มีลูกร่วง เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง
ธีนี้จะช่วยให้เราไม่ต้องใส่ปุ๋ยมากเกินไป และการใส่แม่ปุ๋ยยังช่วยให้ปาล์มนำธาตุแต่ละธาตุใช้งานได้โดยตรงอีกด้วย เพราะปุ๋ยแต่ละตัวก็จะไปบำรุงต้นปาล์มแต่ละส่วนอีกด้วย กิตติชัยอธิบายหลักการใส่ปุ๋ยของสวน
แม้ว่าสวนปาล์มของหงส์ศิลาปาล์มจะไม่มีการให้น้ำเพิ่มเติมเนื่องจากภูมิประเทศไม่เหมาะสมที่จะสร้างระบบน้ำ แต่ด้วยปริมาณน้ำฝนใน จ. กระบี่ถือว่ายังปลูกปาล์มน้ำมันได้ดีไม่มีปัญหา

กิตติชัยเล่าต่อไปว่าระดับความชื้นที่เหมาะสมนี้นอกจากจะมีผลต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของปาล์มน้ำมันแล้ว ยังมีผลต่อการใช้ยากำจัดวัชพืชอีกด้วย
การใช้สารกำจัดวัชพืช ช่วยเรื่องปัญหาแรงงาน สำคัญตรงที่ต้องใช้ให้ถูกต้อง
 ━━━━━━━━━━━━━
เทคนิคใช้สารกำจัดวัชพืชให้ปลอดภัยกับต้นปาล์ม
━━━━━━━━━━━━━
เนื่องจากหงส์ศิลาปาล์มเป็นสวนขนาดใหญ่หลักหลายพันไร่การกำจัดวัชพืชจึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีเท่านั้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดต้นทุนแรงงาน กิตติชัยแนะนำให้ใช้สารเคมีประเภทพาราควอต กำจัดวัชพืชปีละ 1-2 ครั้ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่าไม่มีผลกระทบต่อดินและต้นปาล์ม

เทคนิคคือใช้ช่วงที่มีความชื้นเหมาะสม หรือฤดูฝนที่มีวัชพืชขึ้นมาพอประมาณถึงจะใช้ ห้ามใช้ฤดูแล้งเด็ดขาด เพราะถ้าใช้ไม่ถูกเวลาจะส่งผลกระทบต่อต้นปาล์มได้
วางกองทางเป็นรูปตัวซี เว้นทางเดินไว้ทำงานบริเวณโคนต้นได้ ทางใบจะช่วยประโยชน์หลายด้าน
 ━━━━━━━━━━━━━
เทคนิควางทางใบรูปตัวซี (C) เพิ่มจุลินทรีย์ในดิน
━━━━━━━━━━━━━
การวางกองทางใบเป็นรูปตัวซี (C) ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน ช่วยปรับค่า pH ของดินให้เหมาะสม เมื่อใส่ปุ๋ยบริเวณกองทางที่มีทั้งจุลินทรีย์ และความชื้นจะช่วยให้รากปาล์มดูดซึมสารอาหารได้เต็มที่ และทางใบยังช่วยป้องกันการชะล้างปุ๋ยไปกับน้ำในฤดูฝนเหมาะกับพื้นที่เนินเขาของสวนปาล์มหงส์ศิลาอีกด้วย

เวลาที่เราวางทางใบหลังจากการตัดแต่ง ก็ตัดย่อยสักทางใบทางละ 2-3 อัน จะย่อยเร็วกว่าจับมาวางทั้งอัน กิตติชัยพูดถึงวิธีการช่วยให้ทางใบและใบปาล์มย่อยสลายเร็ว
ปาล์มน้ำมันพันธุ์ ยูนิวานิช เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และให้ผลผลิตสูง
 ━━━━━━━━━━━━━
เหตุผลที่เลือกพันธุ์ปาล์มน้ำมัน ยูนิวานิช
━━━━━━━━━━━━━
เตียว ซุน ฮก ให้เหตุผลว่า

เมื่อเข้ามาปลูกปาล์มในเมืองไทยก็เชื่อมั่นในพันธุ์ที่พัฒนาในเมืองไทยว่าต้นพันธุ์สามารถปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิประเทศได้ และผลออกมาก็เป็นที่น่าพอใจ การออกทะลายสม่ำเสมอดี ขนาดทะลายก็ประมาณ 10-15 กก. (อายุ 4-5 ปี ) ทะลายไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป ทางใบไม่ยาวเกินไป เหมาะสำหรับปลูกระยะ 9x9x9 เมตร ตัดทะลายง่ายเพราะก้านทะลายไม่สั้นเกินไป

จะเห็นได้ว่าปาล์มน้ำมัน พันธุ์ยูนาวานิช ของ หงส์ศิลาปาล์ม ค่อนข้างสมบูรณ์ ผลผลิตค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นทุกปี แม้จะไม่มีระบบน้ำก็ตาม

ทั้งหมดเกิดจากการเลือกปลูกพันธุ์ปาล์มที่เหมาะสมกับพื้นที่ และดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะความต่อเนื่องของธาตุอาหาร ที่ให้ได้อย่างตรงจุด โดยวิเคราะห์จากใบปาล์ม จากดินในสวน และยังให้ชดเชยผลผลิตที่ถูกตัดออกจากสวนในปีที่ผ่านมา และที่สำคัญ คือ เลือกตัดเฉพาะปาล์มสุก เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงเท่านั้น นับเป็นการทำสวนปาล์มได้อย่างถูกต้องและแม่นยำอย่างยิ่ง

ขอขอบคุณ
เตียว ซุน ฮก
กิตติชัย ก่ออ้อ
บริษัท หงส์ศิลาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม จำกัด
ทีมงาน บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน)
- Advertisement -

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม