ปาล์มน้ำมัน คือ อาชญากรรมป่าไม้
หยุดน้ำมันปาล์มสกปรกปนเปื้อนการตัดไม้ทำลายป่า
ปาล์มน้ำมันอาชญากรรมภูมิอากาศ
เหล่านี้คือ “วาทกรรม” ที่ NGO ระดับโลก อย่าง “กรีนพีช”
ใช้รณรงค์เพื่อต่อต้านน้ำมันปาล์มที่ผลิตจาก ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งกลุ่มกรีนพีชอ้างว่า
เป็นอุตสาหกรรมที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าฝนเขตร้อน
แน่นอนว่าผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายใหญ่ของโลก
อย่างอินโดนีเซีย ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ไม่ได้ เพราะมีการตัดไม้ทำลายป่าอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะหมอกควันที่มาจากการเผาป่าแพร่กระจายไปไกลเป็นพันกิโล สร้างมลพิษทางอากาศ
และภาวะโลกร้อน
กลุ่มกรีนพีชยังอ้างว่า
การเผาป่าทำปาล์มของอินโดนีเซีย
เป็นต้นเหตุให้ลิงอุรังอุตังลดประชากรลงอย่างรวดเร็ว และปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นอันดับ
3 ของโลก รองจาก จีน และ สหรัฐอเมริกา
ผลจากการออกมาเปิดโปงอุตสาหกรรมปาล์มเพื่อปกป้องโลกของกรีนพืช
ส่งผลให้ผู้ใช้น้ำมันปาล์มผลิตสินค้ารายใหญ่ของโลก
ถูกกดดันจากผู้บริโภคอย่างหนักหน่วง ไม่ว่าจะเป็น เนสท์เล่ ยูนิลิเวอร์ และคอลเกต
เป็นต้น จนต้องติดฉลาก “No Palm Oil” บนสินค้ามากกว่า 350
ยี่ห้อ ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของน้ำมันปาล์ม
หากแต่แรงต่อต้านน้ำมันปาล์มของกรีนพีชเกิดพลังในภาคพื้นยุโรป
หรือ “อียู” ซึ่งเป็นตลาดที่มีความอ่อนไหวต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมโลก ผลก็คือ
กลุ่มประเทศยุโรป ประกาศว่าจะยกเลิกการใช้ “เชื้อเพลิงชีวภาพ” จากน้ำมันพืชทุกชนิด ภายในปี 2563 หนึ่งในนั้นมีน้ำมันปาล์มรวมอยู่ด้วย
ตลาดปาล์มน้ำมันใน
อียู สำคัญอย่างไร…?
อียูใช้น้ำมันปาล์ม 6.3 ล้านตัน/ปี 46% ใช้แปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuels) 45% ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร
อาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมเคมี ส่วนอีก 9% ใช้ผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน
ประเทศหลักที่ใช้น้ำมันปาล์มได้แก่ อิตาลี สเปน และเนเธอร์แลนด์ รวมกัน 38%
ของการใช้น้ำมันปาล์มทั้งหมดภายในอียู
ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ยังมีรายงานด้านวิทยาศาสตร์ว่า
ในอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบและทำให้กลายเป็นกรดไขมันอิ่มตัว (saturated fat) เมื่อนำไปผลิตอาหารก่อให้เกิดโรคหัวใจ
หรือที่เราได้ยินชื่อว่า “ไขมันทรานส์” เช่น มาการีน เนยขาว เป็นต้น หรือในอาหารที่ใช้น้ำมันปาล์มทอดซ้ำๆ
เป็นเวลานาน
ต้องยอมรับว่าในมุมของผู้บริโภคข่าวเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ต่อน้ำมันปาล์มอย่างหนักหน่วง
กลายเป็นว่า
ผลกระทบของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไม่ได้กำจัดกรอบอยู่แค่ในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงเท่านั้น
แต่ลุกลามไปสู่อุตสาหกรรมอาหารด้วย และที่สำคัญ ไม่ได้กระทบแต่อินโดนีเซียเท่านั้น
แต่ขยายวงกว้างไปสู่ผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก อย่าง มาเลเซีย ซึ่งทั้งสองประเทศมีสัดส่วนการส่งออก
94% ของผลผลิตรวมทั้งโลก
แต่มีการวิเคราะห์ว่า
การต่อต้านน้ำมันปาล์มในยุโรป เป็นเพียงมาตรการกีดกันทางการค้า
หรือเป็นปัญหาทางการเมือง ขณะเดียวกันน้ำมันปาล์มยังเป็นสินค้าที่ยังมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นตามประชากรโลก
โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่าง จีน และอินเดีย
เพราะปาล์มน้ำมันยังคงเป็นพืชที่ให้น้ำมันมากที่สุดในจำนวนพืชน้ำมันทั้งหมด
สำหรับประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอันดับ
3 ของโลก ได้รับผลกระทบต่อปัญหาดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน...?
ในระยะสั้นคงต้องบอกว่าไม่เห็นผลกระทบ
เพราะไทยไม่ใช่ผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ โดยมีพื้นที่ปลูก 5-6 ล้านไร่ มีผลผลิต 14.241
ล้านตัน (2560) ส่วนใหญ่ผลิตใช้ในประเทศเป็นหลัก
และส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้างเป็นรอง
หากแต่ถ้ามองในภาคการผลิตในประเทศ
ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภาคใต้และตะวันออกเท่านั้น แต่ถูกขยายวงกว้างไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
เพราะปาล์มน้ำมันยังเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่มีราคาดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพืชชนิดอื่น
โดยกระทรวงเกษตรฯ คาดการณ์ว่า ปี 2561 จะมีผลผลิต ปาล์มน้ำมัน 15.399 ล้านตัน
เพิ่มขึ้น 8.31%
อีกทั้งนโยบายของภาครัฐส่งเสริมลดพื้นที่ปลูกยางพาราไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ
ปีละ 400,000 ไร่ ซึ่งกว่า 90% ของเกษตรกรที่โค่นยาง เลือกหันมาปลูกปาล์มน้ำมัน
อนาคตผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทย
เพิ่มสูงขึ้น พอๆ กับ “ต้นทุน” การผลิตที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
โดยเฉพาะในพื้นที่ดังเดิมอย่างภาคใต้ ยังมีต้นทุนแรงงานสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ เพราะยังใช้ระบบจ้างเป็นส่วนใหญ่
ประกอบกับต้นทุนการหีบปาล์มของไทยมีต้นทุนสูง
ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง
ปัญหาก็คือ เมื่อการส่งออกไม่ “เปิดประตู”
ให้ประเทศไทย ผู้กำหนดนโยบายจะแก้ไขอย่างไร...?
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ
(กนป.) เสนอมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการส่งออกให้กับผู้ส่งออก ไม่เกิน กก.ละ 1.75
บาท เพื่อผลักดันส่งออกน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 300,000 ตัน เป็นเวลา 5 เดือน
ใช้งบกลางวงเงิน 525 ล้านบาท
คำถามก็คือ เกษตรกร ได้อะไร...? ในเมื่อราคาปาล์มที่เกษตรกรขายได้ยังอยู่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต
(3.60 บาท/กก.) เกษตรกรจึงมองว่า รัฐเลือกที่จะช่วยเหลือผู้ส่งออกมากกว่า
เกษตรกร...!
ทางเลือกหนึ่งของประเทศไทยที่จะแก้ปัญหาน้ำมันปาล์ม
คือ การใช้ด้านพลังงาน ทั้งผลิตไบโอดีเซล โดยเพิ่มการใช้ผลิตในน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น
เป็น B 20 หรือมากกว่า
อีกทางเลือกหนึ่งคือ ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในภาคใต้
ซึ่งกำลังประสบปัญหาพลังงานไฟฟ้าที่มีความต้องการสูงขึ้นตามการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
แน่นอนว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการพูดถึงมาตรการนี้
เพียงแต่เป็นมาตรการที่ไม่ได้รับความสนใจต่อภาครัฐ โดยเลือกที่จะผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินแทน
ล่าสุดโรงไฟฟ้าน้ำมันปาล์มถูกพูดถึงอีกครั้ง
โดยนายเนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมืองอีสาน
ที่ล้างมือจากการเมืองไปทำทีมฟุตบอลจนประสบความสำเร็จ และเจ้าของแนวคิด “ลดอำนาจรัฐ
เพื่อประชาชนได้ประโยชน์”
รัฐจะยอมขาดทุน เพื่อกำไรของเกษตรกร และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีมูลค่าหลายแสนล้าน หรือไม่…?
การใช้น้ำมันปาล์มผลิตไฟฟ้าไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่
ขณะเดียวกันยังเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ และแม้ท้ายที่สุดโรงไฟฟ้าน้ำมันปาล์มจะทำให้รัฐ
“ขาดทุน” แต่อีกด้านมันรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภาคใต้ที่ใช้พลังงานสะอาด
เมื่อมองในภาคกว้างของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของโลก
เหมือนจะยืนอยู่บนปากปล่อง “ภูเขาไฟ” เพราะถูกต่อต้านจาก อียู และ NGO แต่สำหรับประเทศไทย ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
เพียงแต่ปัญหาเกิดจากภายใน ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ได้ ด้วยนโยบายแห่งรัฐ
ในฐานะผู้ถืออำนาจ
คงต้องขอยืมประโยคของนายเนวินมาสรุปปิดท้ายที่ว่า
รัฐจะยอมลดอำนาจ เพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และประโยชน์ของเกษตรกร
ได้หรือไม่...?
อ้างอิง :
- Advertisement -
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น