ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

ซีพีไอพลัส ปุ๋ยผสม สูตรตรงตามความต้องการ+จุลธาตุ ลดภาระการจัดการปุ๋ยของปาล์มน้ำมัน


รู้หรือไม่ว่า...พืชต้องการธาตุอาหารมากถึง 16 ชนิด !!!

วันนี้เว็บยางปาล์ม มีโอกาสได้พูดคุยกับ ศ.ดร.สุนทรี ยิ่งชัชวาลย์ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เรื่องความสำคัญของธาตุอาหารต่างๆ ที่ต้นปาล์มน้ำมันต้องการ ทำให้ทราบว่าจริงๆ แล้ว ปาล์มน้ำมันไม่ต่างจากพืชอื่นซึ่งต้องการธาตุอาหารมากถึง 16 ชนิด ในจำนวนนี้มีอยู่ในอากาศมี 2 ชนิด คือ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจน  ได้จากดิน คือน้ำ และธาตุอาหารอีก 13 ชนิด บางชนิดต้องการใช้ในปริมาณมาก บางชนิดใช้ในปริมาณน้อย

ในการสร้างมวลของพืช ใบพืชตรึงคาร์บอนไดออกไซด์โดยกระบวนการสังเคราะห์แสง ทำให้ได้น้ำตาลและกรดอินทรีย์เป็นสารเริ่มต้น พืชใช้น้ำตาลรวมกับธาตุอาหารจากดินในการสังเคราะห์ไขมัน โปรตีน เอ็นไซม์และสารต่างๆ เพื่อการดำรงชีพ เติบโตและเพิ่มจำนวนของเซลล์ ธาตุอาหารที่พืชได้จากดินเมื่อวิเคราะห์ปริมาณรวมกัน คิดเป็นเพียง 3-4% ของมวลแห้งทั้งต้น มวลส่วนใหญ่ของพืชกว่า 96% คือสารประกอบคาร์บอนที่ได้จากการสังเคราะห์แสง ดังนั้น การเติบโตของพืช จึงต้องคำนึงถึงสภาพที่เอื้อต่อการสังเคราะห์แสงของใบพืชเป็นหลักก่อน เมื่อใบสร้างน้ำตาลได้แล้ว จึงจะมีการใช้ธาตุอาหารที่ดูดได้จากดินในการสังเคราะห์สารประกอบอื่นๆ

พืชแต่ละชนิดมีความต้องการธาตุอาหารจากดินในสัดส่วนที่แตกต่างกัน แม้ปุ๋ยที่เราใส่จะเป็นการให้ธาตุอาหารพืชที่รวมกันแล้วเป็นเพียงสัดส่วนน้อยมากของมวลแห้งทั้งต้น แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดข้อมูลว่าจะให้ปุ๋ยสูตรอะไรและปริมาณเท่าใด จึงจะตรงกับความต้องการที่พืชชนิดหนึ่งๆ ต้องการ

โมเลกุลน้ำตาลรวมกับไนโตรเจน (N)  ถูกสังเคราะห์เป็นกรดแอมิโน เอ็นไซม์ โปรตีน สารพันธุกรรมดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินกระบวนการต่างๆ ของชีวิต พืชจึงมีความต้องการไนโตรเจนในปริมาณมาก แต่ดินมีธาตุไนโตรเจนในระดับต่ำ ส่วนใหญ่ของไนโตรเจนในดินอยู่ในรูปของอินทรียวัตถุ ซึ่งในเขตร้อนชื้นถูกสลายเร็ว ดินทั้งประเทศไทยจึงมีอินทรียวัตถุหรือไนโตรเจนในปริมาณน้อย เราจึงมักเห็นการเติบโตของพืชทุกส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อมีการใส่ปุ๋ยไนโตรเจน

ตัวถัดมาที่ใช้มากพอกับไนโตรเจน คือ โพแทสเซียม (K) ซึ่งเป็นธาตุที่แปลก เพราะปรากฏตัวในรูปเป็นไอออนเดี่ยวๆ เกือบไม่ได้ถูกสังเคราะห์เป็นสารประกอบกับคาร์บอนในเซลล์พืชเลย หน้าที่หลักของโพแทสเซียมคือ เป็นตัวช่วยในการเคลื่อนย้ายสารในท่ออาหาร ทำให้น้ำตาลถูกส่งจากใบไปยังใบอ่อน ลำต้น และผล

โพแทสเซียม (ไอออนบวก) และคลอไรด์ (Cl,ไอออนลบ) ยังทำหน้าที่ปรับดุลของศักย์ไฟฟ้าภายในเซลล์ เพราะธาตุอาหารทุกชนิดมีประจุ เมื่อมีการนำเข้าออกเซลล์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนระดับความต่างศักย์ ศักย์ไฟฟ้าระหว่างภายในกับภายนอกเซลล์ไปจากเดิม นอกจากนี้ การนำเข้าออกของโพแทสเซียมทำให้น้ำไหลตามเข้าและออกด้วย จนเกิดความแตกต่างของแรงดันน้ำ โพแทสเซียมจึงเป็นธาตุที่ใช้ในกลไกการเปิดปิดของปากใบ กล่าวได้ว่าโพแทสเซียมมีบทบาทในกระบวนการไหลในท่อลำเลียงของพืช การสะสมน้ำตาลและน้ำมันในทะลายปาล์มน้ำมันและผลไม้จะเกิดได้มากเมื่อมีโพแทสเซียมเพียงพอ 

ส่วน ฟอสฟอรัส (P) นั้น เกษตรกรเกือบทั้งหมดเข้าใจว่าเป็นธาตุที่ชักนำให้เกิดดอก แต่จริงๆ แล้ว พืชจะออกดอกและสร้างผลเมื่อต้นสมบูรณ์ถึงระดับหนึ่ง คือมีการสะสมน้ำตาล/แป้งในต้นได้มากพอ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการสังเคราะห์แสงและการใช้ธาตุอาหารทุกตัว ฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบของสารเอทีพี (ATP) ที่เป็นพลังงานเคมีของเซลล์ และเป็นองค์ประกอบของไขมันหลายชนิด

จากค่าวิเคราะห์พืช พบว่าพืชเกือบทุกชนิดมีปริมาณฟอสฟอรัสรวมทั้งต้นอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 10 ของไนโตรเจนเท่านั้น แต่เพราะเข้าใจผิดว่าฟอสฟอรัสช่วยการออกดอก เกษตรกรส่วนใหญ่จึงใส่ฟอสฟอรัสในปริมาณสูงมาก นอกจากจะเสียเงินเกินเหตุแล้ว ยังสะสมจนเป็นผลเสีย เพราะมักพบว่าฟอสฟอรัสจะตกตะกอนกับสังกะสี ซึ่งมีอยู่น้อยแล้วในดิน ทำให้พืชแสดงอาการขาดสังกะสี อย่างมาก จึงควรลดการใส่ฟอสฟอรัสที่มากเกินจำเป็น

ตัวต่อไป แมกนีเซียม (Mg),  ทองแดง (Cu), สังกะสี (Zn), กำมะถัน (S), เหล็ก (Fe) และแมงกานีส (Mn) ธาตุพวกนี้เป็นองค์ประกอบของเอ็นไซม์และสารที่ใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง ซึ่งเป็นกระบวนการใหญ่ที่รวมปฏิกิริยาเป็นร้อยขั้นเพื่อเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานเคมี และสร้างน้ำตาล กระบวนการสำคัญนี้ทำให้ต้นไม้แตกต่างจากสัตว์ คือพืชสามารถสร้างน้ำตาลได้จากอากาศ (คาร์บอนไดออกไซด์) โดยใช้แสงแดด การขาดธาตุอาหารกลุ่มนี้ ทำให้ใบมีสีซีด อัตราสังเคราะห์แสงเกิดในระดับต่ำ

ส่วน แคลเซียม (Ca) และโบรอน (B) เกษตรกรต้องให้ความสนใจมากขึ้น เพราะทั้ง 2 ตัวนี้เป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ เมื่อต้นไม้เติบโตขยายเพิ่มจำนวนเซลล์ เช่นการสร้างรากใหม่ ใบใหม่ การงอกของท่อนำเกสรตัวผู้ จะต้องมีธาตุ 2 ตัวนี้เพียงพอในการเชื่อมโมเลกุลของเพกทิน (pectin) ซึ่งจะทำให้ผนังเซลล์แข็งแรงและมีความยืดหยุ่นทนแรงดันได้มาก พืชส่วนใหญ่ต้องการใช้แคลเซียมมากประมาณครึ่งหนึ่งของไนโตรเจน ไม้ยืนต้นที่มีเนื้อไม้จะตรึงแคลเซียมไว้ในลำต้นในปริมาณมาก เช่นต้นยางที่มีอายุ จะมีปริมาณแคลเซียมมากกว่าไนโตรเจน

เรารู้เรื่องพวกนี้ได้อย่างไร...เราศึกษาจริงๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นะ แต่เราก็ทำ เราไปล้มต้นปาล์มต้นหนึ่งมา แยกส่วน ราก ใบ ลำต้น และทะลาย แล้วเอามาวัดจริงๆ ว่า แต่ละส่วนมีมวลเท่าไหร่ ธาตุอาหารในต้นมีเท่าไหร่ ซึ่งแสดงว่าพืชต้องการเช่นนั้น ถึงได้ดูดธาตุอาหารเข้ามาใช้ตามนั้น ทีนี้เราก็ไม่สะเปะสะปะแล้ว เราก็รู้ว่าปริมาณเท่าไรที่พอเหมาะเพื่อเลี้ยงต้น เพื่อให้ผลผลิต...ถูกไหม

เรียกวิธีการแบบนี้ว่า เป็นการหาธาตุอาหารตามความต้องการของพืช นี่คือที่มาของสูตรที่เราแนะนำสำหรับปาล์มน้ำมันและพืชทุกชนิด แล้ววิธีนี้ยังตอบคำถามเราได้ด้วยว่า ถ้าคิดอยากได้ผลผลิตเยอะๆ เราใส่ปุ๋ยอัดเพิ่มไป 2-3 เท่าได้ไหม ...คือไม่ใช่ เพราะปริมาณปุ๋ยเท่านี้แหละที่พอเพียงจะเลี้ยงต้นตามระดับผลผลิต ปริมาณปุ๋ยที่ให้จะต้องได้ดุลกับน้ำตาลที่พืชสังเคราะห์ได้ด้วย ศ.ดร.สุนทรี ยิ่งชัชวาลย์ เล่าที่มาของการหาปริมาณธาตุอาหารที่เหมาะกับกำลังผลิตของต้นปาล์มน้ำมันและพืชต่างๆ

นักวิจัยอาวุโสท่านนี้อธิบายต่อไปว่า ธาตุอาหารสำคัญและจำเป็นเท่ากันทุกตัว เพราะเป็นองค์ประกอบของโมเลกุลเฉพาะชนิดของสารต่างๆ ของกระบวนการดำเนินชีวิตของเซลล์ ซึ่งทดแทนกันไม่ได้ พืชส่วนใหญ่ ต้องการ N K และ Ca ในปริมาณที่มากกว่าธาตุอื่น การมีธาตุอาหารชนิดใดไม่เพียงพอ กระบวนการที่เกี่ยวข้องจะเกิดได้น้อย การทำงานของเซลล์ก็ถูกจำกัด ทำให้การเติบโตรวมทั้งต้นอยู่ในระดับต่ำ การใส่ปุ๋ยเฉพาะ N P K อย่างที่ทำตามกันมา เป็นการให้ธาตุอาหารพืชที่ไม่ครบชนิด ไม่ตรงกับสัดส่วนและปริมาณไม่เพียงพอกับที่พืชต้องการ

เกษตรกรไม่เคยรู้เลยว่า ต้องใส่ โดโลไมท์ เพื่อให้แคลเซียมและแมกนีเซียม ต้องใส่จุลธาตุโบรอน สังกะสี ทองแดง ซึ่งมีน้อยในดินจนไม่เพียงพอ แต่เมื่อมีงานวิจัยยืนยัน ทำให้รู้ว่าต้องให้ธาตุเหล่านี้เพิ่มแก่ต้นปาล์มน้ำมัน ที่ผ่านมา เกษตรกรไม่เคยใส่และไม่มีวัฒนธรรมการใส่ปุ๋ยแบบนี้ เมื่อมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังและมีการถ่ายทอดสู่เกษตรกรแล้ว หากเกษตรกรทำตามจะช่วยเพิ่มผลผลิตของปาล์มน้ำมันได้

ทีนี้ปัญหามีอยู่ว่า แล้วเกษตรกรจะไปหาจุลธาตุพวกนี้มาจากไหน เมื่อไม่มีใครรู้ว่าต้องใช้ ก็ไม่มีใครเอามาขาย คิดง่ายๆ ว่าขนาดแม่ปุ๋ย เกษตรกรรายย่อยๆ ยังหาซื้อและใช้ยาก เป็นเรา เราคิดว่า มีไหมปุ๋ยที่ผสมมาแล้วใส่ได้เลย ไม่ต้องไปหาใส่ทีละตัว ถ้ามีเราก็อยากใช้

จึงเป็นที่มาว่า ในเมื่อบริษัทซีพีไอเป็นแบบอย่างและทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มานาน มีต้นแบบเรื่องการให้ปุ๋ยตามความต้องการของต้นปาล์มน้ำมันอยู่แล้ว จึงเอื้อให้พัฒนาไปอีกขั้น คือ ทำปุ๋ยผสมสูตรที่มี NPK ตรงกับความต้องการของปาล์มน้ำมัน และเพิ่มจุลธาตุที่มักขาดเข้าไปอีก 3 ชนิด คือ ทองแดง สังกะสี และโบรอน

ถามว่าทำไมเราต้องมาคิดทำปุ๋ยเพิ่มอีกสูตร ทั้งๆ ที่ปุ๋ยในท้องตลาดมีเยอะแยะ ก็เพราะเราอยากให้เกษตรกรได้ใส่พวกจุลธาตุที่หาซื้อได้ยาก จะได้ไม่ต้องลำบากไปตามหา พอหาซื้อไม่ได้เกษตรกรที่มีความสนใจจริงๆ ต้องไปหาปุ๋ยฉีดทางใบมาเสริม กลายเป็นเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก เราจึงผสม NPK ในสัดส่วนที่ปาล์มน้ำมันต้องการ และใส่จุลธาตุที่ขาดมารวมไว้ในปุ๋ยถุงเดียว ในรอบปี ให้ใส่ปุ๋ยผสมตามระดับผลผลิตของปาล์มน้ำมันร่วมกับปูนโดโลไมท์ ศ.ดร.สุนทรี พูดถึงที่มาของการพัฒนาปุ๋ย ซีพีไอ พลัส

ความน่าสนใจของ ปุ๋ย ซีพีไอ พลัส  (CPI Plus) จาก บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด คือ มีธาตุอาหารถึง 9 ชนิด ได้แก่ ไนโตรเจน (N), ฟอสฟอรัส (P),โพแทสเซียม (K), แคลเซียม (Ca), แมกนีเซียม (Mg), กำมะถัน (S), ทองแดง (Cu), สังกะสี (Zn) และโบรอน (B) รวมอยู่ในกระสอบเดียว นับว่ามีชนิดของธาตุอาหารมากที่สุดในปุ๋ยผสมที่มีขายในขณะนี้ ปุ๋ยสูตร 15-5-25+จุลธาตุ นี้ยังใช้ได้ดีกับไม้ผลอื่น เช่นมังคุดด้วย อย่างไรก็ดี ปริมาณแคลเซียมและแมกนีเซียมในปุ๋ย ซีพีไอพลัส มีไม่เพียงพอ ต้องได้จากโดโลไมท์เป็นหลัก

ซีพีไอ พลัส พัฒนาสูตรปุ๋ยจากความต้องการของต้นปาล์มน้ำมันอย่างแท้จริง ใช้ข้อมูลมวลชีวภาพและค่าวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในส่วนต่างๆ ของต้นปาล์มน้ำมันพันธุ์ผลผลิตสูงของสวนซีพีไอ (บมจ. ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม) ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปีที่ผ่านมา ทางสวนได้กำหนดอัตราปุ๋ยตามความต้องการในการสร้างต้นและสร้างผลผลิตของปาล์มน้ำมัน โดยใส่ปุ๋ยบนกองทางใบ ทำให้ผลผลิตทะลายสดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้สูงสุดถึง 5 ตัน/ไร่/ปี ในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมัน 2 หมื่นไร่

ขอขอบคุณ
ศ.ดร.สุนทรี ยิ่งชัชวาลย์
นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม