เปิดเอกสาร โครงสร้างปาล์มน้ำมัน ฉบับเกษตรกร ส่งถึง รมว. กระทรวงพาณิชย์ คนใหม่
เอกสารเรื่องโครงสร้างปาล์มน้ำมัน เรื่อง ข้อสังเกตจากผลสรุปโครงสร้างราคาปาล์มที่เป็นธรรมของอนุกรรมการจัดทำโครงสร้างที่
กปน.แต่งตั้ง โดย ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส่งให้ นายจุรินทร์
ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คนใหม่
และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
เอกสารมีเนื้อความดังนี้
ตามที่อนุกรรมการจัดทำโครงสร้างที่ กนป.แต่งตั้งได้
สรุปที่มาของสูตรโครงสร้างราคาผลปาล์มในรูปแบบที่เป็นไปได้นำเสนอต่อ
ครม.เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เพื่อพิจารณาซึ่งได้แนบสำเนามาด้วยแล้วนั้น
จากที่ได้ศึกษารายละเอียดพบว่า
อนุกรรมการฯ ให้ความสำคัญกับการเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มน้ำมันตามมาตรฐาน
มกษ. หรือสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตปาล์มคุณภาพ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด
แต่ปัญหาคือเรื่องดังกล่าวยังไม่สามารถเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ
เนื่องจากไม่มีมาตรการควบคุมโรงงานให้รับซื้อเฉพาะปาล์มคุณภาพที่ให้อัตราสกัดน้ำมันหรือ
OER ตั้งแต่ 18-22%
จึงต้องมีการออกกฎหมายบังคับให้โรงงานแยกซื้อปาล์มตามคุณภาพ มกษ.
ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
รวมถึงมีแรงจูงใจในการผลิตปาล์มคุณภาพ
จากเดิมที่ถูกเหมาจ่ายโดยโรงงานที่ไม่เห็นความจำเป็นเรื่องปาล์มคุณภาพ
เพราะโรงงานได้กำไรจากส่วนอื่นของผลปาล์ม เช่น เมล็ดในปาล์ม (ทะลายปาล์มและรายได้จากการขายไฟฟ้าไบโอแก็ส) ล้วนเป็นรายได้เพิ่มของโรงงานสกัด
นอกจากนี้อนุกรรมการฯ ยังพบปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดตัวเลขต้นทุนของฝ่ายโรงงานที่สูงเกินจริงทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม
แต่ก็ยังไม่กล้าที่จะตัดตัวเลขของฝ่ายโรงงานทิ้ง ยังคงนำมาคำนวณตามสูตรที่กำหนดไว้
ทำให้เกษตรกรเสียประโยชน์
โดยประเด็นที่อนุกรรมการมีความเห็นไม่ตรงกับส่วนของโรงงานมี 3 เรื่อง คือ
สูตรการคำนวณราคาผลปาล์ม (FFB) = (ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO)+ค่าผลพลอยได้)- (ค่าสกัด-ค่าบริหาร-ค่าขนส่ง) * อัตราการสกัดน้ำมัน (OER)
1.ค่าสกัดน้ำมันรวมกับค่าบริหาร ที่กำหนดไว้ของโรงงานที่นำมาเสนอตั้งไว้สูงเกินค่าจากค่ามาตรฐานของประเทศมาเลเซียที่ใช้กำหนดไว้ในสูตรการคิดราคาผลปาล์มทะลายของเกษตรกร
มีผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิตน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้น
เป็นต้นทุนในการผลิตสินค้าต่อเนื่องในระบบอุตสาหกรรมสูงขึ้น
และมีผลทำให้ราคาของผลปาล์มทะลายของเกษตรกรต่ำลง
ในการคำนวณค่าสกัด อนุกรรมการชุดนี้กำหนดตัวเลขค่าสกัดไว้ด้วยการนำตัวเลขจาก
3 ที่มาคือ จากสมาคมโรงงานสกัดกำหนด 3.36 บาท กรมการค้าภายใน 1.99
บาท และ เกษตรกร 1.50 มาหารเฉลี่ยได้ตัวเลขอยู่ที่
2.28 บาท ทั้งๆ
ที่ในความเป็นจริงควรตัดตัวเลขของสมาคมโรงงานสกัดออกไปเพราะสูงเกินความจริง
คงเหลือไว้เฉพาะของกรมการค้าภายในกับเกษตรกรที่ใกล้เคียงกันมาหารเฉลี่ยเท่านั้น
ซึ่งก็จะมีผลทำให้ค่าเฉลี่ยที่ต้องไปลบออกจากรายได้ที่เกษตรกรควรได้รับลดลง
เกษตรกรจะมีรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น
ส่วนค่าบริหารที่อยู่ในสูตรการคำนวณด้วยนั้น ทั้ง 3 แหล่งที่มาไม่ต่างกันมากนักคือ
สมาคมโรงงานสกัด 1.28 บาท กรมการค้าภายใน 1.29 บาท
และเกษตรกร 1.50 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ 1.26 บาท
ยังมีคำถามว่าใช้หลักอะไรในการคำนวณเพราะค่าบริหารที่กำหนดระหว่างของเกษตรกรกับสมาคมโรงงานสกัดแตกต่างกันน้อยมาก
ทั้งๆ ที่ค่าใช้จ่ายต่างกัน แต่ในส่วนนี้ยังไม่มีการศึกษาตัวเลข
จึงขอใช้ตัวเลขที่อนุกรรมการฯ ชุดนี้กำหนดมาเป็นฐานในการคิดก่อน
2.
ค่าขนส่งน้ำมัน (การขนส่งน้ำมันระหว่างโรงสกัดในพื้นที่กับโรงรีไฟน์ในกรุงเทพ)
ซึ่งเป็นรายจ่ายของโรงงานไม่ควรนำมาหักออกจากราคา CPO ก่อนนำไปใช้คำนวณเป็นราคาของผลปาล์มสด
ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาของผลปาล์มทะลายมีราคาต่ำลงและเป็นภาระแบกรับของเกษตรกรทันที
และเมื่อรวมกับค่าขนส่งทะลายปาล์มจากสวนมาขายกับโรงงานหรือลานเท เป็นการซ้ำเติมเพิ่มต้นทุนและรายได้ของเกษตรกรลดลง
จึงมีความเห็นแย้งว่าควรเป็นภาระค่าใช้จ่ายของโรงงานบีบสกัดในการขนส่งน้ำมันที่สกัดได้ส่งที่สถานที่รับซื้อ
โดยมีการเปรียบเทียบราคาผลปาล์มในสูตรที่กำหนดระหว่างการใช้ราคา CPO หักลบด้วยค่าบรรทุกน้ำมันขนส่งกรุงเทพ
กับไม่หักลบด้วยค่าบรรทุกจะได้ราคาที่แตกต่างกันคือ
แบบหักค่าบรรทุกน้ำมันเกษตรกรจะได้ 3.90 บาทต่อกิโลกรัม
แต่ถ้าไม่หักค่าบรรทุกน้ำมัน เกษตรกรจะได้ 4.08 บาทต่อกิโลกรัมเพิ่มมาอีก
0.18 บาท
ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าสูตรที่เสนอข้างต้น เพราะอนุกรรมการฯ ไม่ได้กำหนดตัวเลขที่เป็นธรรมในการหาค่าเฉลี่ยในส่วนของค่าการสกัดน้ำมันรวมกับค่าบริหาร
ทั้งๆ ที่มีการตั้งข้อสังเกตไว้ว่าทางโรงงานกำหนดตัวเลขที่สูงเกินจริง
3.
เพื่อการกำหนดสูตรโครงสร้างการคิดราคาผลปาล์มของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของประเทศไทย
ได้เสนอให้กำหนดการซื้อผลปาล์มทะลายให้มีคุณภาพความสุกของผลปาล์มทะลายตามมาตรฐานสากลที่มีการใช้ในมาเลเซียหรือตามมาตรฐานของ
มษก.ของประเทศไทยที่ OER 20% ไม่ควรกำหนดการซื้อที่ผลปาล์มคุณภาพต่ำที่ยังไม่สุกที่
OER 18% เพื่อเป็นการยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มทั้งระบบ
ทำให้มีผลต่อการเพิ่มปริมาณน้ำมันปาล์มดิบมากขึ้นกว่า 5 แสนตันต่อปี
ที่สำคัญเป็นการเพิ่มมาตรฐานการเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มและเพิ่มรายได้จากราคาผลปาล์มทะลายที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้หากมีการกำหนดตัวเลขที่เป็นธรรมลงสูตรคำนวณ
จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มทันทีอย่างน้อย 30 สตางค์ต่อกิโลกรัม
ด้วยการเปลี่ยนแปลงตัวเลขต้นทุนใหม่ในส่วนของค่าสกัดที่อนุกรรมการชุดดังกล่าวใช้วิธีหาค่าเฉลี่ยจากสามแหล่งที่มาคือ
สมาคมโรงงานสกัด 3.36 บาท กรมการค้าภายใน 1.99 บาท เกษตรกร 1.50 บาท ได้ค่าเฉลี่ยที่ 2.28 บาท
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงจะเห็นได้ว่าตัวเลขของสมาคมโรงงานสกัดนั้นสูงเกินความเป็นจริงจึงควรตัดออกจากการหาค่าเฉลี่ย
และใช้ตัวเลขของกรมการค้าภายในกับเกษตรกรมาหาค่าเฉลี่ยแทน
ซึ่งจะได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.745 บาท ต้นทุนจะลดลงจากค่าเฉลี่ยเดิมถึง 0.535
บาท
ส่วนค่าบริหารนั้น
ตามตัวเลขของอนุกรรมการฯชุดดังกล่าวกำหนดจากสามแหล่งที่มาใกล้เคียงกันคือ
สมาคมโรงงานสกัด 1.28 บาท
กรมการค้าภายใน 1.29 บาท และ เกษตรกร 1.26 บาท ซึ่งยังมีคำถามว่าใช้หลักเกณฑ์ใดในการคำนวณ
เพราะต้นทุนค่าบริหารของโรงงานสกัดกับเกษตรกรแตกต่างกัน แต่กลับได้ตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน
นอกจากนี้ยังมีคำขนส่งที่ควรตัดทิ้งไป
ไม่ควรผลักให้เป็นภาระที่เกษตรกรต้องแบกรับ เนื่องจากเป็นค่าขน ต่างจากโรงานหีบน้ำมันไปยังโรงานสกัด
ซึ่งเป็นภาระของโรงานไม่เกี่ยวกับเกษตรกรซึ่งหากมีการปรับตัวเลขการคำนวณของสูตรที่กำหนดจะเห็นความแตกต่างดังนี้
(กรณีนี้อนุกรรมการฯ ก็เห็นค่าใช้จ่ายส่วน นี้ควรเป็นของโรงงานไม่ใช่เกษตรกร)
สูตรการคำนวณราคาผลปาล์ม (FFB) - (ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) + ค่าผลพลอยได้) - (ค่าสกัด – ค่าบริหาร – ค่าขนส่ง) *อัตรา% น้ำมัน (OER)
เมื่อนำตัวเลขที่อนุกรรมการกำหนดมาใส่ในสูตรคำนวณจะได้ผลดังนี้
- ราคา CPO ปัจจุบันอยู่ที่ 21.5 บาท
- ผลพลอยได้ 2.70
- ค่าสกัด 2.28
- ค่าบริหาร 1.26
- ค่าขนส่ง 0.92
เมื่อนำมาคำนวณตามสูตรข้างต้น (21.5 +2.75) – (2.28 + 1.26
– 0.92) * 20% เกษตรกรจะขายปาล์มได้ในราคา 3.90 บาทต่อกิโลกรัม
แต่ถ้าคำนวณใหม่ด้วยสูตรที่เป็นธรรม คือ ตัดค่าขนส่งออกละใช้ตัวลบที่ไม่สูงเกินความจริง
ดังที่กล่าวในข้างต้น ผลจะเป็นดังนี้
- ราคา CPO ปัจจุบันอยู่ที่ 21.50 บาท
- ค่าผลพลอยได้ 2.70 บาท
- ค่าสกัดจาก 2.28 บทลดลงเหลือ 1.70 บาท
- ค่าบริหาร 1.26 ตัดค่าขนส่ง 0.92 บาทออก
- คำนวณได้ดังนี้ (21.5 + 2.70 ) - (1.7
+ 1.26) *20%
เกษตรกรจะขายปาล์มได้ในราคา 4.248 บาทต่อกิโลกรัม มากกว่าตัวเลขเดิมถึง
34 สตางค์ และถ้ามีการเปลี่ยนสูตรคำนวณใหม่ตัวการบวกราคาเมล็ดในคูณ
5% ของน้ำหนักทะลาย ลงไปด้วย จะทำให้เกษตรกรขายปาล์มได้ในราคาไม่ต่ำกว่า
4 บาทต่อกิโลกรัม โดยที่รัฐบาลไม่
ต้องเสียงบประมาณในการประกันรายได้ส่วนต่างให้กับเกษตรกรเลยแม้แต่บาทเดียว
การเพิ่มค่าเมล็ดในให้เป็นรายได้เกษตรกร เป็นการแบ่งปันกำไรที่โรงานได้รับมาโดยตลอดให้กับเกษตรกร
ซึ่งจะเกิดความเป็นธรรมในโครงสร้างราคาปาล์มมากขึ้น
สำหรับสิ่งที่ต้องพึงระวังในการบริหารจัดการ คือ ในขณะนี้ราคาปาล์ม (CPO) ภายในประเทศสูง
กว่าประเทศเพื่อนบ้าน อาจมีการลักลอบนำมันปาล์มจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อกดราคาในประเทศ
ซึ่งรัฐบาลต้องมีมาตรการดูแล
รวมถึงการกำหนดความสมดุลในการใช้ปาล์มในประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำมันปาล์มล้นสต็อก
ไม่ว่าจะเป็นการสนับหนุนให้ปาล์มเป็นพืชพลังงานทางเลือก ไปจนถึงการส่งเสริมให้มีการวิจัยเพิ่มผลผลิต
และต้องดูแลไม่ให้เกิดนโยบาลที่ย้อนแข่งกันเองด้วย
เนื่องจากในขณะนี้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน(องค์การมหาชน) หรือ สบพน.
ได้จ้างสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) ศึกษาแนวทางเลิกชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพแก็สโซฮอล์ E 20 E85 ไบโอดีเซล
B10 B20 ภายใน 3 ปี เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ที่ออกมาใหม่
โดยผลการศึกษาจะเสร็จออกมาภายในเดือนกันยายนนี้
จึงต้องมีการพิจารณาร่วมกันกับกระทรวงพลังงาน เพื่อไม่ให้แนวทาง ดังกล่าวกระทบต่อมาตรการรัฐที่ใช้ในการดูแลเกษตรกรชาวสวนปาล์ม
จึงเรียนมาเพื่อไปพิจารณา
ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล สวนปาล์มพนมชัย จ.กระบี่ |
อ่านเพิ่มเติม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น