สวนยางยั่งยืน คือ
การเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นป่ายางที่มีสมดุลนิเวศและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ
ด้วยการจัดการรูปแบบการปลูกยางใหม่ โดยให้มีต้นยางเพียง 40-44 ต้น/ไร่ จากรูปแบบการปลูกยางเดิม
76-80 ต้น/ไร่ มีการทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดการใช้เคมี
มีการปลูกพืชร่วมยาง เช่น ผักพื้นบ้าน ผลไม้ พืชสมุนไพร ไผ่ กาแฟ เป็นต้น
นอกจากนั้นมีการทำเกษตรผสมผสาน เช่น
เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงผึ้ง ทำฟาร์มเห็ด และมีการปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจตามแนวทางธนาคารต้นไม้
เช่น ตะเคียนทอง จำปาทอง ไม้สัก พะยูง ยางนา เป็นต้น
ผลที่จะได้รับจากการทำสวนยางยั่งยืน
1.ผลผลิตยางจากสวนยางยั่งยืน
40-44 ต้น/ไร่
เมื่อมีสมดุลนิเวศจะมีผลผลิตที่ใกล้เคียงกับสวนยางเชิงเดี่ยว 70-80 ต้น/ไร่
2. ต้นยางจะต้านทานโรค
เปอร์เซ็นต์น้ำยางสูงขึ้น เพราะหลักทางวิชาการด้านพฤกษศาสตร์
ต้นยางพาราต้องอยู่ร่วมกับพืชอื่นจึงจะเติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่เป็นโรค
3. ลดต้นทุนการผลิต
ทั้งปุ๋ย แรงงาน และการใช้สารเคมี
4. สร้างรายได้เสริม
เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากยางเพียงอย่างเดียว รวมทั้งช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน
5. เป็นยุทธวิธีการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำอย่างยั่งยืนและได้ผลที่สุด
เพราะถ้ามีรายได้
เสริมเพียงพอยังชีพ
สามารถหยุดกรีดยางทั้งประเทศ ทำให้เกษตรกรชี้นำราคายางได้จริง
6. ป่ายางจะมีความชื้นสัมพัทธ์สูง
สามารถกรีดยางตอนกลางวันได้ ( 17.00 - 18.00 ) ไม่ต้องสุ่มเสี่ยงกรีดยางช่วงกลางคืนที่มีออกซิเจนต่ำ
แสงน้อย และอันตรายจากสัตว์มีพิษ
7. รัฐบาลควรทำโครงการนำร่องสวนยางยั่งยืน
ในพื้นที่สวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ประมาณ 5 ล้านไร่ เพื่อแก้ปัญหาสิทธิในที่ทำกินของเกษตรกรผู้ยากไร้
300,000 ครัวเรือน
โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มทำสวนยางยั่งยืนและขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินตามกฎหมายภายใต้กรอบสิทธิชุมชน
ซึ่งสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจได้ทันที 5 ล้านไร่
โดยที่ไม่ต้องขัดแย้งกับคนจนจากการโค่นต้นยางตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล
อีกทั้งยังสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้ชุมชนช่วยดูแลป่าไม้ที่เหลือ
อันเป็นการเดินตามแนวทางคนอยู่ป่ายัง และสร้างป่าสร้างรายได้
8. ป่ายางจะช่วยลดการพังทลายของหน้าดิน
ช่วยดูดซับคาร์บอน เป็นการสร้างและรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมทั้งยังช่วยลดไฟป่าในบางพื้นที่
เพราะการทำสวนยางมีการลงทุนสูงจึงต้องมีการเฝ้าระวัง
9.สวนยางยั่งยืนจะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร
อนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นถิ่น และเพิ่มพื้นที่การทำเกษตรกรรมยั่งยืน
10.คุณภาพชีวิตและสุขภาวะชาวสวนยางดีขึ้น
เพราะได้บริโภคอาหารปลอดภัยที่ปลูกเอง ลดความเสี่ยงจากการใช้สารเคมี
การกรีดยางช่วงกลางวันได้ทำให้สุขภาพของชาวสวนยางดีขึ้นและสามารถรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรม
เช่น การไปร่วมงานบุญในช่วงกลางคืนได้
การปลูกต้นไม้ยืนต้นในสวนยางเป็นการออมและเป็นสวัสดิการของชาวสวนยางที่ดีที่สุด
และการทำสวนยางยั่งยืนเป็นการพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่
9
การทำสวนยางยั่งยืนในเขตทับซ้อนพื้นที่ป่าไม้ จำนวน 5 ล้านไร่ เมื่อเกษตรกรได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย จะช่วยป้องกันการกีดกันทางการค้าไม้ยางและยางจากต่างประเทศ กรณีการรับรองมาตรฐานการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน
.
สุนทร รักษ์รงค์
นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น