ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

หลักการใส่ปุ๋ยยางพารา อย่างมีประสิทธิภาพ

การปลูกสร้างสวนยางให้เจริญเติบโตดี เปิดกรีดได้เร็ว และให้ผลผลิตสูง ปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ “การจัดการธาตุอาหาร” เพราะธาตุอาหารจะถูกนำไปใช้เพื่อสร้างมวลของต้นในแต่ละระยะการเติบโต และสร้างน้ำยาง

มีรายงานว่าน้ำยาง 1 ตันที่ถูกกรีดออกไปสวนยาง ดินจะสูญเสียธาตุอาหารไนโตรเจน 20 กิโลกรัม ฟอสฟอรัส 5 กิโลกรัม โพแทสเซียม 25 กิโลกรัม และแมกนีเซียม 5 กิโลกรัม

ดังนั้นการใส่ปุ๋ยจึงจำเป็นต้องใส่เพื่อ “ชดเชยธาตุอาหาร” ที่สูญเสียไปจากดิน จากน้ำยางที่ถูกกรีดไป และจากการติดไปกับส่วนต่าง ๆ ของต้นยาง เมื่อโค่นและนำออกจากแปลง

การใส่ปุ๋ยจึงเกี่ยวข้องกับการให้ธาตุอาหารอย่างเพียงพอต่อการสร้างน้ำยาง และการสร้างมวลของต้นในแต่ละระยะการเจริญเติบโต

นอกจากนี้ยังต้องใส่เพื่อปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ให้ดินมีธาตุอาหารในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับพืชอย่างยั่งยืน
ขุดหลุมใส่ปุ๋ย ช่วยลดการชะล้างปุ๋ยในสวนยางที่มีลักษณะลาดชันได้
อย่างไรก็ตามปุ๋ยเคมีเมื่อใส่ลงไปในดิน ต้นยางจะดูดกินไม่ได้ทั้งหมด เนื่องจากปุ๋ยจะสูญเสียไปโดยปัจจัยต่างๆ เช่น สูญเสียไปพร้อมกับการกร่อนของดิน (erosion) สูญเสียไปโดยการชะละลาย (leaching) สูญเสียไปพร้อมกับน้ำที่ไหลบ่า (run off) สูญเสียไนโตรเจนไปในรูปก๊าซจากการระเหยของแอมโมเนียมจากปุ๋ยแอมโมเนียมต่างๆ และยูเรีย (การระเหิด) เป็นต้น

ดังนั้นการใส่ปุ๋ยให้ยางพารายังต้องคำนึงด้วยว่า ใส่อย่างไรต้นยางจึงจะสามารถดึงดูดไปใช้ได้มากที่สุดและสูญเสียน้อยที่สุด

คำแนะนำการใส่ปุ๋ยยางพาราอย่างถูกวิธี

👍 1. ถูกสูตร (สูตรเหมาะสม) คือ เลือกใช้สูตรปุ๋ยให้ถูกกับพืช คือ ต้องเป็นสูตรปุ๋ยสำหรับยางพารา และเป็นสูตรที่ถูกกับระยะของต้นยาง เป็นยางก่อนเปิดกรีดหรือยางหลังเปิดกรีด และถูกกับชนิดของดิน ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน (ปุ๋ยสั่งตัด) ซึ่งเป็นการใส่ปุ๋ยที่ตรงกับความต้องการของยางพารา

👍 2. ถูกเวลา (ช่วงเวลาที่เหมาะสม) คือ การใส่ปุ๋ยให้ถูกช่วงเวลาตามที่ต้นยางต้องการและมีความพร้อมมากที่สุด รากพืชสามารถดูดกินไปใช้ได้มากที่สุด ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการใส่ปุ๋ยยาง คือช่วงที่ดินมีความชื้นพอเหมาะ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยชีวภาพก็ตาม เพื่อปุ๋ยจะได้ละลายและแตกตัวอยู่ในรูปที่รากพืชสามารถดูดกินได้ดินต้องไม่แห้งหรือชื้นแฉะเกินไป และต้องไม่ใส่ปุ๋ยในช่วงที่มีฝนตกหนัก ในยางหลังเปิดกรีด ควรใส่ปุ๋ยช่วงผลิใบใหม่หลังจากใบร่วง ในขณะใบเพสลาด

👍 3. ถูกอัตรา (ปริมาณเหมาะสม) คือ ปริมาณปุ๋ยที่ใส่ต่อต้นต้องเพียงพอและพอดีกับความต้องการของต้นยาง หลังจากที่ได้สูตรของปุ๋ยที่จะใส่แล้วไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยรองกันหลุมปลูกยาง หรือแม้แต่พวกสารปรับปรุงต่าง ๆ เช่น ปูนขาว ปูนโดโลไมท์ ก็ตาม ต้องใส่ให้ถูกอัตราด้วย การใส่ถูกอัตราคือ ใส่ในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไป โดยคำนึงถึงปริมาณที่ต้นยางต้องการและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

การใส่ปุ๋ยมากเกินไปไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมีหรือสารปรับปรุงดินอาจเกิดการเป็นพิษต่อต้นยางได้ และยังทำให้ต้นทุนการผลิตสูง

ส่วนการใส่ปุ๋ยน้อยเกินไปก็จะทำให้ต้นยางได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ต้นยางไม่สมบูรณ์ผลผลิตต่ำ ต้นยางไม่แข็งแรง อ่อนแอต่อโรค 
การใส่ปุ๋ยต้นยางเล็ก รูป A ใส่รอบโคนต้นรัศมีรอบทรงพุ่มใบ B ใส่แบบขุดหลุม 2 หลุม/ต้น

👍 4. ถูกวิธี (วิธีใส่เหมาะสม) คือ ใส่ปุ๋ยให้พืชตรงจุดที่พืชสามารถดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและเร็วที่สุด ขึ้นอยู่กับประเทของปุ๋ยที่ใส่ด้วย โดยทั่วไปถ้าเป็นปุ๋ยเคมี จะแนะนำให้ใส่ให้พืชในบริเวณรอบทรงพุ่มห่างจากโคนต้นพืชประมาณ 30-60 เซนติเมตร ซึ่งเป็นบริเวณที่มีรากฝอย ซึ่งเป็นรากที่ใช้หาอาหาร

ต้นยางเล็ก แนะนำให้ใส่ปุ๋ยในร่องเป็นวงกลมรอบๆ ลำต้นตามบริเวณทรงพุ่ม แล้วเกลี่ยดินกลบปุ๋ย เมื่อต้นยางมีอายุ 2 ปีขึ้นไป ให้ใส่ปุ๋ยโดยโรยเป็นแถบ 2 ข้างแถวยางตามบริเวณทรงพุ่มของต้น แล้วเกลี่ยดินกลบให้ปุ๋ยอยู่ใดผิวดิน

ในพื้นที่ลาดชันและพื้นที่ที่มีฝนตกซุกติดต่อกันเป็นเวลานาน แนะนำให้ใส่โดยขุดหลุมลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร จำนวน 2 หลุมต่อต้น เพื่อลดการชะล้างปุ๋ย 
การใส่ปุ๋ยยางก่อนเปิดกรีดอายุ 2 ปีขึ้นไป โดยโรยเป็นแถบ 2 ข้างแถวยาง บริเวณทรงพุ่มใบยาง
ต้นยางหลังเปิดกรีด แนะนำให้ใส่โดยหว่านระหว่างแถวหรือโรยบริเวณกึ่งกลางแถวยาง ควรเกลี่ยใบยางให้เป็นแนวก่อนใส่ปุ๋ยแล้วคราดกลบ หากโรยปุ๋ยลงระหว่างร่องแถวยาง แต่ไม่โกยใบยางออกธาตุอาหารจะละลายลงสู่ดินได้ซ้ำ เป็นไปได้เพียงแค่รอฝนตกลงมาเพื่อให้ปุ๋ยละลายและซึมลงสู่ดิน และหากฝนไม่ตกปุ๋ยจะเกิดการสูญเสียไปโดยกระบวนการต่างๆ ทางเคมีเสียก่อนที่พืชจะดูดกินได้ทัน

การใส่ปุ๋ยจึงควรโกยใบยางบริเวณนั้นออกไปจนเห็นชั้นดินและโรยปุ๋ยลงไป หลังจากนั้นให้เอาใบยางกลบ หรืออาจใสโดยขุดดินฝังกลบที่ระดับความลึก 5-10 เซนติเมตร ส่วนในกรณีที่ระหว่างแถวยางเป็นร่องระบายน้ำ ให้ใส่ปุ๋ยหางจากโคนต้นยางประมาณ 2-3 เมตร

ถ้าพื้นที่ลาดเอียง หรือสูงๆ ต่ำๆ เป็นลอนลาดควรขุดหลุมแล้วฝังกลบเพื่อป้องกันปุ๋ยถูกชะล้างไม่ควรใส่ปุ๋ยบริเวณโคนต้นยาง เนื่องจากรากฝอยบริเวณใกล้ๆ ลำต้นส่วนใหญ่เป็นรากแก่มีศักยภาพในการดูดธาตุอาหารต่ำมาก
การใส่ปุ๋ยต้นยางหลังเปิดกรีด โดยใส่เป็นแถบระหว่างแถวยาง

ผลของการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้อง
การใส่ปุ๋ยที่ไม่ถูกสูตร ไม่ถูกอัตรา ไม่ถูกเวลา และไม่ถูกวิธี นอกจากจะทำให้ต้นยางไม่สามารถดูดกินแร่ธาตุที่เป็นสารอาหารได้เต็มที่ตรงตามความต้องการแล้วยังทำให้เสียเงิน เสียเวลา และไม่ได้ผลผลิตตามต้องการ

ในขณะที่การใส่ปุ๋ยยางที่ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี จะทำให้ต้นยางสมบูรณ์ จำนวนใบหนาแน่น ผลัดใบช้า ผิวเปลือกไม่แห้งกร้าน เปลือกนิ่ม กรีดงาย น้ำยางดี เนื้อยางแห้ง (DRC) สูง และสามารถเพิ่มวันกรีดในปีนั้นได้อีกด้วย

ที่มา :
👉 เอกสารข้อมูลวิชาการยางพารา การยางแห่งประเทศไทย
👉 วารสารยางพารา ฉบับ ตุลาคม – ธันวาคม 2562 การยางแห่งประเทศไทย
- Advertisement -
- Advertisement - 

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม