ปาล์มน้ำมันของไทยกับมาเลเซียสะท้อนให้เห็นการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน แม้ว่าด้วยสภาพทางภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ไม่แตกต่างกันมากนักของทั้ง 2 ประเทศแต่การบริหารจัดการเป็นสิ่งสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของมาเลเซียจนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกในปัจจุบัน
เมื่อเปรียบเทียบศักยภาพการผลิตด้านต่างๆ
ระหว่างปาล์มน้ำมันของไทยและมาเลเซีย ในหลายๆ ด้าน เช่น พื้นที่ปลูก ผลผลิตปาล์มสด
(Fresh Fruit Bunch: FFB) น้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil: CPO) และอัตราการให้น้ำมันปาล์ม
(Oil Extraction Rate: OER) พบว่า ปาล์มน้ำมัน
และน้ำมันปาล์มของประเทศไทยยังมีความแตกต่างกับประเทศผู้ผลิตหลักอย่างมาเลเซีย
ไม่ว่า OER ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 18 ในขณะที่ของมาเลเซียอยู่ที่ร้อยละ
20 ในส่วนนี้สะท้อนให้เห็นถึงการดูแลเอาใจใส่และการสนับสนุนของหน่วยงานที่ดูแล
แม้ว่ามาเลเซียจะมาตรการทางกฎหมายมาควบคุมดูแลก็ตาม
แต่เป็นสิ่งที่ส่งผลดีต่อการผลิตปาล์มของประเทศ และหากเปรียบเทียบในรูปผลปาล์มสดหรือ
FFB พบว่า
ไทยมีศักยภาพน้อยกว่ามาเลเซีย ทั้งนี้
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มของไทยเป็นผู้ปลูกรายย่อยมีพื้นที่เฉลี่ย 20-25
ไร่ต่อราย ในขณะที่มาเลเซีย เป็นเกษตรกรรายใหญ่ มีพื้นที่เฉลี่ยมากกว่า
200 ไร่ต่อราย ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและประสิทธิภาพการจัดการการผลิตปาล์มน้ำมันของไทย
โดยต้นทุนปาล์มน้ำมันของไทยส่วนใหญ่เป็นต้นทุนแปรผัน
เช่น ค่าแรงงาน ค่าวัสดุ (ค่าพันธุ์ปาล์ม ค่าปุ๋ย และค่ายาปราบศัตรูพืช)
ประมาณร้อยละ 80 ของต้นทุนรวม
ส่วนที่เหลือเป็นต้นทุนคงที่อีกประมาณ ร้อยละ 20 อีกทั้งศักยภาพด้านการส่งออกของไทยยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายใหญ่อย่างมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม
เมื่อพิจารณาแยกเป็นศักยภาพในด้านต่างๆ พบว่า พื้นที่ให้ผลผลิตปาล์มน้ำมัน
ผลผลิตปาล์มน้ำมัน (FFB) ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบ
(CPO) ของประเทศไทยมีศักยภาพที่ต่ำกว่ามาเลเซียอยู่หลายเท่า รวมไปถึงราคาของ
FFB และเปอร์เซ็นต์ของ OER ด้วย
ในด้านการบริโภคภายในประเทศ
การส่งออก และสต็อกน้ำมันปาล์มดิบของไทยก็ยังมีศักยภาพต่ำกว่ามาเลเซียเช่นเดียวกัน
ในส่วนของโรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงงานโอเลโอเคมิคัล และโรงงานไบโอดีเซล ของไทยก็ยังมีจำนวนโรงงานหรือผู้ประกอบการที่น้อยกว่าของมาเลเซีย ทำให้ปาล์มน้ำมันของไทยสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้น้อยกว่าเช่นเดียวกัน
เรื่องโดย : ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น