ต่อมาได้มีการขยายพื้นที่ปลูกไปยังแหล่งปลูกยางใหม่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ของดิน ปริมาณน้ำฝน การกระจายของฝน และบางพื้นที่เป็นที่สูง เนื่องจากยางพาราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี จึงสามารถปลูกยางได้ทุกภาคของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ต้นยางในภาคใต้สามารถเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตสูงกว่าต้นยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยภาคใต้สามารถปิดกรีดได้เมื่อต้นยางอายุ 6-7 ปี ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเปิดกรีดช้ากว่าอย่างน้อย 6 เดือน และให้ผลผลิตต่ำกว่าภาคใต้ร้อยละ 10-15 แสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของยาง
ดังนั้นในการปลูกสร้างสวนยางนอกจากพิจารณาเลือกพันธุ์ยางที่ดีและการจัดการสวนยางที่ถูกต้องแล้ว ยังต้องพิจารณาความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมในการปลูกยางด้วยเพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปส่งผลกระทบต่อสรีรวิทยาการเจริญเติบโตรวมไปถึงผลผลิตที่อาจลดลงได้
👉 สภาพพื้นที่
ยางพาราสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงหรือปานกลาง และสามารถปรับตัวได้ในสภาพพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำหรือค่อนข้างต่ำ เป็นพื้นที่ราบ มีความลาดชันไม่เกิน 35 องศา
หากปลูกในพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่า 15 องศา ต้องทำชั้นบันไดเพื่อลดการเสี่ยงต่อการเกิดภัยจากการเคลื่อนตัวของพื้นผิวดิน ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่ควรเกิน 600 เมตร เพราะจะทำให้ต้นยางเจริญเติบโตช้า
สาเหตุที่ความสูงมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของยางพารา เนื่องมาจากระยะความสูงที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 100 เมตร จะมีผลทำให้อุณหภูมิลดลง 0.5 องศาเซลเซียส ทำให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต
นอกจากนั้นหน้าดินควรมีความลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร และไม่เป็นที่ลุ่มน้ำขังหรือพื้นที่นา
👉 สภาพภูมิอากาศ
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของยางอยู่ระหว่าง 26-30 องศาเซลเซียส ไม่ควรปลูกยางในพื้นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิที่ลดต่ำลงนี้มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นยางทำให้ต้นยางเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ 6 เดือน
นอกจากนั้นความชื้นสัมพัทธ์ถือว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการปลูกยางพาราโดยเฉลี่ยตลอดปีไม่น้อยกว่า 65% ซึ่งการเปลี่ยนแปลงความชื้นสัมพัทธ์นั้นจะ
ขึ้นอยู่กับปริมาณและการกระจายตัวของน้ำฝนและทำให้ค่าดัชนีภูมิอากาศที่เหมาะสมกับยางพาราเพิ่มขึ้น
👉 ปริมาณน้ำฝน
เขตพื้นที่เหมาะสมมากสำหรับยางพารา มีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,500-2,200 มิลลิเมตร/ปี มีช่วงฤดูแล้ง 1-3 เดือน
แต่อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำฝนไม่ควรต่ำกว่า 1,250 มิลลิเมตร/ปี มีช่วงฤดูแล้งไม่ควรเกิน 3-4 เดือน จัดเป็นเขตพื้นที่เหมาะสมปานกลางสำหรับยางพารา การกระจายตัวของฝนดีมีจำนวนวันฝนตก 120-150 วัน
ถ้าปริมาณน้ำฝนมากเกินไป การกระจายตัวของฝนไม่ดีทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้มีผลกระทบต่อผลผลิตยาง
👉 ลักษณะดินและความอุดมสมบูรณ์ของดิน
ดินที่เหมาะสมกับการปลูกยางนั้นควรมีคุณสมบัติดังนี้
👍 1. เนื้อดินเป็นดินเหนียว ดินร่วน ดินร่วนเหนียวปนทราย หรือดินร่วนทราย ไม่มีชั้นหิน ชั้นดินดานหรือชั้นกรวดอัดแน่นในระดับสูงกว่า 1 เมตรจากพื้นดิน เพราะในช่วงฤดูแล้งต้นยางไม่สามารถใช้น้ำในระดับรากแขนงได้ จะมีผลทำให้ต้นยางแสดงอาการตายจากยอด ดินมีการระบายน้ำดี มีระดับน้ำใต้ดินต่ำกว่าระดับผิวดินมากกว่า 1 เมตร ในช่วงฤดูฝนมิฉะนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังรากยางได้
👍 2. ค่าความเป็นกรด – ด่างของดิน (pH) ที่เหมาะสมสำหรับปลูกยางอยู่ ระหว่าง 4.5-5.5 คือ ไม่เป็นดินด่าง ดินเค็ม หรือดินเกลือ ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการละลายและควบคุมความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืชในดิน
👍 3. ดินควรมีอินทรียวัตถุในดินที่เพียงพอ เพราะจะช่วยทำให้ดินจับตัวเป็นก้อน เพิ่มช่องว่างในดินให้มากขึ้น ทำให้การระบายน้ำอากาศในดินได้ดี
👍 4. สีของดินควรมีสีสม่ำเสมอตลอดหน้าตัดดิน ดินที่เหมาะสมพบว่ามักมีสีน้ำตาล เหลืองปนแดง หรือ แดง และไม่ควรมีสีจุดประในระดับ 60 เซนติเมตร หรือดินไม่เป็นดินสีเทาจัด ซึ่งเป็นลักษณะที่แสดงให้เห็นว่ามีระดับน้ำใต้ดินในช่วงฤดูฝนสูง ทำให้กระทบต่อการเจริญเติบโตของรากยาง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น