ด้วงงวงมะพร้าว หรือ ด้วงสาคู หรือ ด้วงลาน ซึ่งเป็นศัตรูที่พบระบาดในสวนปาล์มน้ำมันด้วยเช่นกัน ในประเทศไทยพบทำลายมะพร้าวอยู่ 2 ชนิด คือ ด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็ก และด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่ ทั้งสองชนิดจัดเป็นแมลงศัตรูที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาก พืชอาหารของตัวงงวงมะพร้าว ปาล์มน้ำมัน เชื่องหลวง หมาก ลาน สาคู อินทผลัม ต้นชิด
ด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่ มักชอบทำลายมะพร้าวบริเวณยอดอ่อน ในขณะที่ด้วงงวงชนิดเล็ก ชอบเจาะหรือทำลายบริเวณลำต้น
ด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็ก การทำลายโดยเจาะเข้าไปในลำต้น
และส่วนยอด เช่น บริเวณคอมะพร้าว การเข้าทำลายในระยะเริ่มแรกเกษตรกรอาจไม่ทราบ
เพราะหนอนเจาะเข้าไปกัดกินและเจริญเติบโตอยู่ภายในต้นมะพร้าวตลอดวงจรชีวิต กว่าจะทราบมะพร้าวก็ถูกทำลายอย่างรุนแรง
เช่น ยอดเน่า หรือลำต้นถูกกัดกินจนเป็นโพรงไม่อาจป้องกันหรือรักษาได้ทันการณ์
มะพร้าวที่ถูกด้วงงวงมะพร้าวทำลายส่วนใหญ่จะตาย
#ด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็กมักทำลายตามรอยทำลายของด้วงแรดมะพร้าว
โดยวางไข่บริเวณบาดแผลตามลำต้นหรือบริเวณที่ด้วงแรดมะพร้าวเจาะไว้
หรือบริเวณรอยแตกของเปลือก
ด้วงงวงมะพร้าวเองก็สามารถเจาะส่วนที่อ่อนของมะพร้าวเพื่อวางไข่ได้ หนอนที่ฟักออกจากไข่จะกัดกินชอนไชไปในต้นมะพร้าว ทำให้เกิดแผลเน่าภายในต้นมะพร้าวที่ถูกทำลายจะแสดงอาการเฉาหรือยอดหักพับ เพราะบริเวณที่หนอนทำลายจะเป็นโพรง มีรูและแผลเน่าต่อเนื่องไปในบริเวณใกล้เคียง หนอนจะกัดกินไปจนกระทั่งต้นเป็นโพรงใหญ่ไม่สามารถส่งน้ำและอาหารไปถึงยอดได้ และทำให้ต้นมะพร้าวตายในที่สุด
ด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่ เคยระบาดรุนแรงในจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ลักษณะการเข้าทำลายหนอนของด้วงงวงจะอาศัยกัดกินในต้นมะพร้าวตลอดอายุไข จนกระทั่งเจริญเติบโตเป็นดักแด้และตัวเต็มวัยภายในลำต้นเช่นเดียวกับด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็ก จึงยากต่อการป้องกันกำจัด หากหนอนเข้าทำลายบริเวณยอดจะทำให้มะพร้าวตายอย่างรวดเร็ว
👉การป้องกันกำจัด
- 1. ป้องกันและกำจัดด้วงแรดมะพร้าวอย่าให้ระบาดในสวนมะพร้าว เพราะรอยแผลที่ด้วงแรดมะพร้าวเจาะไว้จะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าววางไข่ และเมื่อออกเป็นตัวหนอนแล้วตัวหนอนของด้วงงวงมะพร้าวก็จะเข้าไปทำลายในต้นมะพร้าวได้ง่ายขึ้น
- 2. ใช้วิธีเดียวกับวิธีการป้องกันกำจัดวงแรดมะพร้าว จะสามารถกำจัดไข่ หนอน และตัวเต็มวัยของด้วงงวงมะพร้าวได้
- 3. ใช้น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ที่ใช้แล้ว หรือชันผสมกับน้ำมันยาง ทาบริเวณแผลโคนต้นหรือลำต้นมะพร้าว เพื่อป้องกันการวางไข่
- 4. ใช้คลอร์ไพริฟอส 40% EC อัตรา 80 มล./น้ำ 20 ลิตร หยอดตามรอยแผลหรือรูเจาะที่เกิดจากด้วงแรด ถ้าพบตัวเต็มวัยของด้วงงวงบริเวณรอบคอมะพร้าว ควรราดบริเวณบาดแผลที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน พร้อมอุดรูด้วยดินน้ำมันหรือดินเหนียว ต้นมะพร้าวที่ถูกด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่ทำลาย ควรตัดโค่นทอนเป็นท่อนแล้วผ่าจับหนอนทำลาย ไม่ควรให้ต้นมะพร้าวเกิดแผลหรือปลูกโคนลอย เพราะจะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าววางไข่ และตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะเจาะเข้าทำลายในต้นมะพร้าวได้ หากลำต้นเป็นรอยแผล ควรทาด้วยน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ที่ใช้แล้ว หรือชันผสมกับน้ำมันยาง เพื่อป้องกันการวางไข่
- 5. ใช้สารฆ่าแมลงฉีดเข้าไปในลำต้นมะพร้าว (trunk injection) โดยใช้สารอีมาเมกติน เบนโซเอต 1.929 EC เข้มข้นโดยไม่ต้องผสมน้ำฉีดเข้าที่ลำต้นมะพร้าว อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น โดยใช้สว่านเจาะรูให้เอียงลงประมาณ 45 องศา จำนวน 2 รูให้ตรงกันข้ามและต่างระดับกันเล็กน้อยเจาะรูให้ลึก 10 เชนติเมตร ตำแหน่งของรูอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ1 เมตร แล้วฉีดสารฆ่าแมลงลงไปรูละ 15 มิลลิลิตร ปิดรูด้วยดินน้ำมัน วิธีนี้จะป้องกันกำจัดได้นานมากกว่า 3 เดือน
ที่มา : เอกสารวิชาการการจัดการศัตรูมะพร้าว กรมวิชาการเกษตร
ดูเอกสารเพิ่มเติม : https://www.doa.go.th/plprotect/wp-content/uploads/Km/KM_coconut_2.pdf
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น