สถาบันชาวสวนยาง จ.ตรัง 50 แห่ง ผนึกกำลัง กยท. สร้างระบบสต็อกยางแผ่น ป้องกันพ่อค้ายางกดราคา
เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั้ง 50 แห่ง ใน จ.ตรัง ผนึกกำลังกับการยางแห่งประเทศไทย สาขาตรัง นำร่องโครงการชะลอการขายยาง โดยแบ่งพื้นที่เป็น 7 แม่ข่ายครอบคลุมทั้ง 10 อำเภอ สร้างห้องดูดความชื้นเก็บ สต็อกยางแผ่นรมควันชั้น 3 ไม่เสนอขายรายวันเหมือนที่ผ่านมา
นายภิรม หนูรอด ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง
เรียกประชุมด่วน เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั้ง 50 แห่งใน
จ.ตรัง ผู้บริหารการยางรับผิดชอบทั้ง 10 อำเภอของ จ.ตรัง รวม
6 สาขา เจ้าหน้าที่การเงิน รวมทั้งฝ่ายธุรการของ กยท.ทุกสาขา
เพื่อร่วมกันลงมติผนึกกำลังกันจัดทำโครงการชะลอการขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 ในตลาดกลางยางพารา หลังพบว่าที่ผ่านมาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร
ซึ่งเป็นเจ้าของสวนและผู้รวบรวมน้ำยางและผลิตยางถูกเอารัดเอาเปรียบจากโรงงานผู้ผลิตยางส่งออกรายใหญ่
โดยการถูกกดราคา ทำให้ราคายางตกต่ำเป็นระยะๆ ไม่เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกร
ไม่สะท้อนราคาที่แท้จริง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวสวนยาง
และสถาบันเกษตรกรเป็นอย่างมาก มีรายได้ไม่พอรายจ่าย
และบางช่วงทำให้สถาบันอยู่ในภาวะขาดทุน ทำเกษตรกรเดือดร้อนหนัก
โดยล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพียง 5 วัน กลุ่มทุนรวมหัวกันทุบราคายางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ดิ่งลงมากถึง 11 บาท จากราคากก.ละ 61 บาท ปิดตลาดสุดสัปดาห์ (ศุกร์ที่ 19 ส.ค.) เหลือเพียงประมาณกก.ละ 50 บาทเท่านั้น โดยทั้งหมดลงมตินำร่องร่วมโครงการชะลอการขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย โดยแบ่งพื้นที่มี 7 สถาบันแม่ข่าย ครอบคลุมทั้ง 10 อำเภอ ที่มีความพร้อมด้วยห้องควบคุมความชื้นรับฝากยางจากสถาบันเกษตรกรสมาชิกทั้ง 50 แห่ง เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม เป็นต้นไป เฉพาะจังหวัดตรังจะสามารถเก็บยางชะลอขายได้ประมาณวันละ 1,000 ตัน
นายภิรม หนูรอด ผอ.กยท.ตรัง กล่าวว่า โดยการยางแห่งประเทศไทยสนับสนุนเงินงบประมาณ 80% ของราคาในแต่ละวันสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชะลอการขายยาง
โดยจังหวัดตรังนำร่องนับจากวันจันทร์เป็นต้นไป ทั้งนี้
เมื่อสถาบันเข้าโครงการชะลอการขายยางแล้ว จากนี้ไป กยท.จะดูด้านราคา
ถ้าราคายางดีก็จะเสนอขายผ่านตลาดกลาง แต่ถ้าราคาไม่ดี จะไม่ขาย รอจังหวะและโอกาส
เป็นการรวมกลุ่มกันทั้งจังหวัด ไม่ต่างคนต่างขายเหมือนที่ผ่านมา วิธีการ
เมื่อสหกรณ์สมาชิกนำยางเข้าฝากไว้กับสถาบันแม่ข่ายในแต่ละวัน ทาง กยท.ก็จะโอนเงินค่ายางให้แก่สถาบันเจ้าของยางเป็นเงิน
80% ของราคายางในวันนั้นผ่านสถาบันแม่ข่าย
โดยกำหนดจัดเก็บเป็นระยะเวลา 1 เดือน
ทั้งนี้
หากวันไหนยางราคาดี กยท.ก็จะเสนอขายยางผ่านตลาดกลาง ได้กำไรเท่าไรก็ยกให้สหกรณ์สมาชิกพร้อม
20% ที่ยังค้างอยู่ โดยแบ่งให้สถาบันแม่ข่ายรับฝากยางกิโลกรัมละ
50 สตางค์ เป็นค่าบริหารจัดการ แต่หากราคาไม่ดี ก็จะไม่ขาย
เก็บไว้จนกว่าสถาบันจะพอใจในราคา
แต่ทั้งนี้ หากผ่านไป 1 เดือน
ราคายางยังตกต่ำกว่าราคายางที่รับฝาก ทาง กยท.จะรับผิดชอบค่ารับฝากยางกก.ละ 50
สตางค์ให้แก่สถาบันแม่ข่าย และโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง ของ
กยท.ก็รับซื้อยางทั้งหมดในราคาที่รับฝาก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
หรือหลังจากนี้เครือข่ายจะขายตรงกับบริษัททั้งในและต่างประเทศผ่านตลาดกลาง
โดยจะดึงหน่วย BU ให้ทำหน้าที่ตัวเอง เชื่อหาก 5 เสือการยาง ขาดแคลนยางที่จะส่งมอบในตลาดล่วงหน้า จะเกิดการแย่งกันซื้อ
ทำให้อำนาจต่อรองราคายางที่เป็นธรรมกลับมาอยู่ในมือของเกษตรกร
และจะขยายให้ทั่วภาคใต้ซึ่งแต่ละวันจะสามารถดูดซับปริมาณยางออกจากตลาดกลางเข้าจัดเก็บชะลอขายได้ไม่ต่ำกว่า
10,000 ตัน/วัน เฉพาะ จ.ตรัง เริ่มต้นที่วันละประมาณ 1,000
ตัน โดย กยท. มีโครงการชะลอขายยางทั้งยางก้อนถ้วยที่ภาคเหนือ
และอีสาน ส่วนภาคใต้ มีโครงการชะลอขายน้ำยางสด ซึ่งก็ได้ผล
แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งจะขยายพื้นที่จัดเก็บน้ำยางสดต่อไป
และมาถึงโครงการชะลอยางสำหรับยางแผ่นรมควัน เชื่อจะทำให้ราคายางดีขึ้นอย่างแน่นอน
นอกจากนั้น
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สหกรณ์การเกษตรทุ่งยาว จำกัด ต.ทุ่งยาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง
ซึ่งรวบรวมน้ำยางสดจากสมาชิกส่งขายโรงงาน
รวมทั้งนำน้ำยางที่ไม่ได้คุณภาพโรงงานมาแปรรูปทำเป็นยางแผ่นดิบ
ขณะนี้ได้ริเริ่มโครงการชะลอขายยางเป็นแห่งแรกของ จ.ตรัง นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมี กยท.
สาขาปะเหลียน เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด
นายสมพล เก้าเอี้ยน ประธานสหกรณ์การเกษตรทุ่งยาว กล่าวว่า ห้องควบคุมความชื้นสำหรับเก็บยางแผ่นรมควัน จากสหกรณ์สมาชิก 14 แห่ง เพื่อทำโครงการชะลอการขายยาง สมาชิกร่วมลงทุนกันเองส่วนหนึ่ง และได้รับงบสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์อีกส่วนหนึ่งสามารถเก็บยางชะลอขายได้จำนวน 150 ตัน โดยเริ่มทดลองการจัดเก็บและชะลอขายมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาบางครั้งรับฝากในราคากก.ละ 68 บาท ชะลอขายไป 7 วัน ได้ในราคากก.ละ 71 บาท
โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เหมือนโครงการแก้มลิงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เก็บยางเอาไว้ รอจังหวะและโอกาสที่ดี ก็ปล่อยขายให้สหกรณ์ได้กำไร ซึ่งหากจังหวัดตรัง และทุกจังหวัดภาคใต้ร่วมโครงการชะลอขายยางได้ จะทำให้เกษตรกรสามารถขายได้ในราคาที่เป็นธรรม สะท้อนราคาที่แท้จริง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากโรงงาน จากเดิมแต่ละวันส่งขายในตลาดกลางได้ราคาที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรอย่างมาก พร้อมนำผู้สื่อข่าวพิสูจน์คุณภาพยางที่เก็บไว้ในห้องควบคุมความชื้นตามโครงการชะลอขายยางมาเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน พบว่า คุณภาพยางยังคงเป็นปกติ สามารถนำไปอัดก้อน หรือขายยางเปลือยได้ตามปกติ
นับจากนี้เชื่อว่า หาก กยท. และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางสามารถเก็บสต็อกยางชะลอการขายได้ เป็นการจัดระเบียบตลาดด้านการซื้อขายยาง เป็นการปรับสมดุลของตลาด ซึ่งต้องไม่ทำเฉพาะช่วงยางขาลง แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างดุลยภาพด้านการค้า โดยเอาภาวะตลาดเป็นตัวชี้นำการผลิตถ้าทำอย่างถูกต้อง ตลาดจะเกิดสมดุล การซื้อขายก็เป็นธรรม ไม่มีการเก็งกำไรการซื้อขายโดยพ่อค้ามากเกินไป ดังนั้น การชะลอการขายยาง หรือรักษาคุณภาพยางไว้สำหรับเพื่อรอจังหวะปล่อยขาย จะสร้างความสมดุลของตลาด จะทำให้ราคายางดีขึ้นอย่างแน่นอน เกิดประโยชน์ความมั่งคั่งกับเกษตรกรยางทั้งระบบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น