ปลวก ทำความเสียหายไม่เฉพาะบ้านเรือนและของใช้เท่านั้น ยังทำความเสียหายให้แก่พืชด้วย เพราะปลวกดำรงชีพได้ด้วยเซลลูโลสเป็นอาหารหลัก โดยเฉพาะเซลลูโลสจากส่วนของไม้
ในประเทศไทยมีปลวกกระจายอยู่กว่าร้อยชนิด
แต่มีเพียงสิบกว่าชนิดเท่านั้นที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อไม้ที่นำไปใช้ประโยชน์
โดยปลวกใต้ดินจัดเป็นปลวกที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูงที่สุด และกำจัดยากที่สุด
เพราะปลวกพวกนี้ไม่สร้างจอมปลวกให้เห็น ปลวกในกลุ่มนี้ยังแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
ปลวกกัดกินไม้แห้งหรือเศษพืชที่ตายแล้ว ซึ่งมีหลายชนิด กับปลวกกัดกินทั้งไม้แห้งและไม้สดที่ไม้ยังมีชีวิตอยู่โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า
Coptotermes curvignathus
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยางพารา
พบปลวกทั้ง 2 ชนิดในสวนยาง แต่ส่วนใหญ่จะพบปลวกชนิดที่กัดกินต้นยางที่ล้มตายหรือเศษพืชที่ร่วงหล่นบนพื้น
หรือกินเฉพาะส่วนเปลือกนอกของลำต้น (cork) ซึ่งเป็นส่วนที่ตายแล้ว ไม่ทำความเสียหายให้แก่ต้นยางมากนัก
ลักษณะชนิดที่ทำลายต้นยางพารา |
ส่วนปลวกชนิดที่กัดกินต้นสด
ซึ่งโดยทั่วๆ ไปพบเห็นน้อย และพบเฉพาะที่ทำลายต้นยางเล็กเท่านั้น แต่พบว่ามีปลวกชนิดที่กัดกินต้นสดระบาดมากในเขตอำเภอควนกาหลง
จังหวัดสตูล โดยกัดกินและทำลายต้นยางใหญ่ที่กำลังให้ผลผลิตถึงกับต้นโค่นล้มในขณะที่ให้ผลผลิต
ทำความเสียหายให้แก่เจ้าของสวนยางเป็นอย่างมาก ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะปลวกชนิดนี้เท่านั้น
จากการตรวจเอกสารพบว่า นอกจากยางพาราแล้วยังทำลายพืชยืนต้นอีกหลายชนิด
ที่สำคัญได้แก่ ไม้ป่าต่างๆ ไม้ตระกูลสน กระดินเทพา มะม่วงหิมพานต์ ขนุน ส้มโอ
กาแฟ มะม่วงนุ่น และยูคาลิปตัส เป็นปัญหาใหญ่ในหลายประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย
อินโดนีเซีย อินเดีย พม่า เวียดนาม เขมร และสิงคโปร์
👉ลักษณะของปลวกกัดกินต้นยางสด
และการทำลาย
ปลวกกัดกินไม้สดต่างจากปลวกทั่วไปทั้งรูปร่าง
และลักษณะการทำลาย ดังนี้
- ขนาดตัวค่อนข้างโต ส่วนหัวมีสีเหลืองชาวบ้านมักจะเรียกว่าปลวกหัวเหลือง
- ภายในส่วนท้องมีสีขาวขุ่นมองเห็นชัด เมื่อกัดจะปล่อยของเหลวสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนมผ่านรูเปิดใต้ริมฝีปากบนออกมา
- ในแต่ละรัง มีปลวกอาศัยอยู่จำนวนมากและสามารถเพิ่มจำนวนได้มากในระยะเวลาอันสั้น
- ออกลูกเป็นไข่ และฟักออกเป็นตัวโดยไม่ผ่านขั้นตอนตัวหนอน
- ทางเดินปลวกบนลำต้นไม่ถูกชะล้างง่ายด้วยน้ำฝน เนื่องจากปลวกกัดกินส่วนของเปลือกยางสดที่มีน้ำยางอยู่ เมื่อปลดปล่อยออกมาสร้างทางเดิน ทางเดินปลวกจึงมีส่วนของเนื้อยางเป็นส่วนประกอบทำให้ไม่อาจชะล้างได้ง่าย
- กัดกินต้นยางทุกระยะการเจริญเติบโตและกัดกินทุกส่วนของลำต้นทั้งเนื้อเยื่อที่มีชีวิตและแห้งตาย โดยเฉพาะกัดกินรากแล้วสร้างรังอยู่ภายในโคนต้น ต้นยางโค่นล้มได้ง่าย หรือใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและยืนต้นตายคล้ายอาการของโรคราก ซึ่งจะต้องขุดดูโคนต้นจึงจะทราบ บางครั้งอาจโค่นล้มในขณะที่ยังให้ผลผลิต
- ไม่พบจอมปลวกในบริเวณสวนยางที่มีปลวกชนิดนี้ เป็นปลวกใต้ดินสามารถไปหากินบริเวณที่ไกลจากรังมาก อาจสร้างรังย่อยขึ้นเป็นระยะๆ ระหว่างทางเดินจากรังใหญ่ไปสู่แหล่งอาหาร การกำจัดให้หมดสิ้นจึงเป็นการยาก
ลักษณะการเข้าทำลายของปลวก ทำให้ต้นยางพาราถึงกับตายได้ |
👉การกำจัด
ในการกำจัดปลวกชนิดนี้ของเกษตรกรในจังหวัดสตูล
บางรายใช้เกลือแกงโรยบริเวณโคนต้นที่มีปลวกปลวกจะหายไป แต่จะไปอยู่ที่ต้นถัดไป
ต้นที่โรยเกลือนี้จะแสดงอาการเปลือกแห้ง เกษตรกรบางรายใช้สารเคมีกำจัดแมลง
(ไม่ทราบชื่อ) ฉีดพ่นแต่ควบคุมได้ระยะหนึ่งเท่านั้น อาจเนื่องจากเป็นสารเคมีกำจัดแมลงประเภทถูกตัวตาย
จึงไม่สามารถกำจัดปลวกให้ตายถึงรังได้
ผลจากการทดลองของศูนย์วิจัยยางสงขลา
ซึ่งได้ทดลองทั้งการใช้สารเคมี 2 ชนิด และชีววิธี (ไส้เดือนฝอย) คือใช้คาร์โบชัลแฟน
(Carbosulfan) 80
มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือฟีโปรนิล (Fipronil) 60 มิลลิลิตร/น้ำ
20 ลิตร ส่วนไส้เดือนฝอย (สายพันธุ์ท้องถิ่น จัดเตรียมโดยสำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช
กรมวิชาการเกษตร)ใช้ 70 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
จากการทดสอบพบว่า ทั้ง 3 วิธีการให้ผลใกล้เคียงกัน โดยมีข้อสังเกตว่า ฟิโปรนิล ใช้ปริมาณน้อยกว่า แต่มีราคาแพงกว่าคาร์โบซัลแฟนถึง 3 เท่า แต่สามารถมีฤทธิ์คงอยู่ในดินได้นานถึง 2 ปี ส่วนคาร์โบซัลแฟน ใช้ในปริมาณมากกว่า อยู่ได้ในระยะสั้นๆ สำหรับการใช้ไส้เดือนฝอยอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากไส้เดือนฝอยสามารถคงอยู่ในดินและขยายปริมาณโดยไม่มีผลกระทบต่อต้นยาง ซึ่งปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรสามารถผลิตไส้เดือนฝอยชนิดนี้สำหรับให้เกษตรกรได้นำไปใช้ได้อย่างแพร่หลาย
ที่มา : วารสารยางพารา ปัทมา ชนะสงคราม ศูนย์วิจัยยางสงขลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น