ในพื้นที่ที่มีฝนตกชุก มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 2,000 มิลลิเมตรต่อปี จำนวนวันฝนตก 15-25 วันต่อเดือน ทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้ ดังนั้นอุปกรณ์กันฝน มีความจำเป็นในเขตที่มีฝนตกชุก โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ฝั่งตะวันตก ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต เขตภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี และตราด และเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ และนครพนม
เขตพื้นที่ภาคใต้จะมีฝนตกชุกช่วง เดือนพฤษภาคม
ถึงมกราคม ในปีถัดไป และในเขตภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนตกชุกในช่วงเดือนพฤษภาคม
ถึงตุลาคมของทุกปี ในเดือนหนึ่ง ๆ จะมีฝนตก 15-25 วัน
แนวทางหนึ่งในการแก้ไขให้สามารถกรีดยางได้ คือ การใช้ อุปกรณ์กันฝน สามารถ เพิ่มจำนวนวันกรีดได้ไม่น้อยกว่า 15-45 วันต่อปี ทำให้ผลผลิตรวมเพิ่มขึ้น เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร (พิชิต และ คณะ, 2548)
👉การเพิ่มจำนวนวันกรีดยาง เพื่อเพิ่มผลผลิต
แนวทางหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตยาง คือการเพิ่มจำนวนวันกรีด แต่ไม่ควรใช้ระบบกรีดที่มีความถี่มากกว่า กรีด 2 วัน หยุด 1 วัน เพราะต้นยางต้องใช้เวลาในการสังเคราะห์ยางอย่างน้อย 48-72 ชั่วโมง การกรีดถี่หลาย ๆ วันติดต่อกัน ทำให้ได้ผลผลิตต่ำ ต้นยางทรุดโทรม และเซลล์ท่อน้ำยางเสียหาย ทำให้เกิดอาการ เปลือกแห้งได้
ดังนั้น
อุปกรณ์กันฝนจึงเป็นแนวทางหนึ่ง ที่นำมาใช้เพิ่มจำนวนวันกรีดยาง
เพื่อช่วยชดเชยรายได้จากการสูญเสียผลผลิตยาง ลดจำนวนต้นที่แสดงอาการเปลือกแห้ง
และสามารถลดความถี่ของการกรีดยางลงได้ คือ กรีดวันเว้นวัน หรือกรีด 1 วัน หยุดกรีด 2 วัน ร่วมกับการใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง
การใช้อุปกรณ์กันฝนไม่เป็นที่นิยมใช้ในทั้งในประเทศไทย
อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ประเทศเหล่านี้ ถือว่าเป็นประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ 3 ลำดับแรกของ โลก รวมปริมาณผลผลิต
70% ของผลผลิต ทั้งหมด นอกจากนี้ ประเทศผู้ผลิตอื่น ๆ เช่น แอฟริกาฝั่ง
ตะวันตก ก็ไม่ได้ใช้อุปกรณ์กันฝนเช่นเดียวกัน
อุปกรณ์กันฝนนิยมใช้กันมากในประเทศอินเดีย
จีน และ เวียดนาม (Vijayakumar, 2012) เดิมใช้พลาสติกกันฝน
หรือเรียกว่าโสร่ง หรือกระโปรง ติดแผ่นพลาสติกโดยจับ จีบรอบๆ ต้นยางใช้แผ่นยางในล้อจักรยานหรือ
จักรยานยนต์ มาตัดเป็นเส้นยาว ๆ ใช้มัดพลาสติกให้ติดแน่นกับต้นยาง จากนั้นใช้น้ำยางหรือกาวกันซึมทายาแนวอีกครั้ง
เพื่อป้องกันไม่ให้มีรอยรั่วที่น้ำฝนจะไหลซึม เข้าไปที่หน้ากรีดได้
ความยาวของพลาสติก ประมาณ 40-60 เซนติเมตร
เพื่อให้ยาวลงมาปิดถ้วยรองรับน้ำยาง
การใช้พลาสติกเป็นอุปกรณ์กันฝน นิยมใช้กันมากเพราะราคาถูก ต้นทุนประมาณ 5-10 บาทต่อต้น (รวมกาวกันซึมและค่าแรงการติดตั้ง) แต่ข้อเสียของพลาสติก คือ อายุการใช้งานสั้น ฉีกขาดง่าย ต้องเปลี่ยนใหม่ทุกปี เวลากรีดต้องเปิดพลาสติก ทำให้กรีดยาก การปิดพลาสติกตลอดเวลา ข้างในร้อนอบอ้าวและชื้น เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อรา จึงมักจะพบอาการของโรคเปลือกเน่า และโรคเส้นดำ เป็นต้น
การป้องกันง่ายๆ คือ ต้องคอยเปิดแผ่นพลาสติกและยกพลาสติกขึ้น เพื่อให้หน้ายางได้ระบายความชื้นออกไป
อุปกรณ์กันฝนจากพลาสติกอย่างง่าย เกษตรกรทำขึ้นมาใช้เอง
👉 การใช้อุปกรณ์กันฝนในประเทศไทยและต่างประเทศ
ในภาคใต้ของไทย เช่น ระนอง
เป็นจังหวัดที่มี ปริมาณน้ำฝนมาก และมีจำนวนเดือนที่ฝนตกยาวนาน ดังสมญานาม “ดินแดน
ฝน 8 แดด 4” คือ ฤดูฝน 8 เดือน ฤดูแล้ง 4 เดือน
จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยยาง พบว่า วิธีการ D (ระบบกรีดครึ่งลำต้น
กรีดวันเว้นวัน ร่วมกับการ ใช้เอทธิฟอน 2.5 เปอร์เซ็นต์) จำนวน
4 ครั้งต่อปี มีจำนวนวันกรีด 180 วันต่อปี
ยางพันธุ์ GT 1 และ RRIM 600 ให้ผลผลิตต่อครั้งกรีด
46.11 และ 28.89 กรัมต่อต้น ต่อครั้งกรีด
ไม่แตกต่างจากวิธีการ A (กรีดปกติ กรีดครึ่งลำต้น
กรีดวันเว้นวัน) และวิธีการ D กับยาง พันธุ์ GT1 และ RRIM 600 ให้ผลผลิตต่อพื้นที่ 447.8 และ 280.5 กิโลกรับต่อไร่ต่อปี ตามลำดับ ผลผลิตมากกว่าวิธีการ
A (การกรีดปกติ) 69 และ 59 เปอร์เซ็นต์
👉 รูปแบบของอุปกรณ์กันฝน
อุปกรณ์กันฝน มีหลายรูปแบบ เช่น พลาสติกกันฝน
แผ่นคิ้วเวียนรอบรอยกรีด หมวกแก๊บ ร่มกันฝน เป็นต้น แต่ที่นิยมใช้กันมาก คือ
พลาสติกกันฝน เพราะราคาถูกหาได้ง่าย แต่มีข้อเสียเวลาเปิดพลาสติกทั้งช่วงก่อนกรีดและก่อนเก็บน้ำยาง
และต้องหมั่นเปิดพลาสติกให้มีการระบายอากาศเพื่อป้องกันความชื้น
โดยทั่วไปพลาสติกจะลู่แนบติดกับต้นยางและ หน้ากรีดมีความชื้นเพราะมีการคายน้ำจากหน้ากรีด
อากาศไม่หมุนเวียน ทำให้เกิดเชื้อราเข้าทำลายหน้ากรีดยางได้
วิธีการแก้ไข ในวันที่อากาศปลอดโปร่ง ควรเปิดพลาสติกออกเพื่อระบายความร้อนและความชื้น และใช้สารเคมีป้องกันเชื้อราโรคหน้ายางสัปดาห์ละครั้ง ในช่วงโรคหน้ายางระบาด เช่น เมทาแลคซิล ฟอสฟอร์เอทธิล เป็นต้น ทาหรือฉีดพ่นสัปดาห์ละครั้ง ปี 2564
อุปกรณ์กันฝนรูปแบบใหม่ของ กยท.
นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ได้พัฒนารูปแบบของอุปกรณ์กันฝน ทำจากยางพารา (ใช้ผ้าชุบน้ำยางและรีด) ร่วมกับวิศวกร ช่วยออกแบบ และนางพิศมัย จันทุมา นักวิชาการเกษตร ทดสอบภาคสนามจำลองสภาพฝนตก ช่วยกันแก้ไขจนสามารถพัฒนารูปแบบที่ทำให้อุปกรณ์กันฝนติดแนบกับ ต้นยางป้องกันการซึมผ่านของน้ำฝน และใช้โครงลวด ทำให้แผ่นผ้ายางกางออกไม่รูดติดกับต้นยางทำให้ อากาศหมุนเวียนได้ดี ความยาวของอุปกรณ์กันฝน ประมาณ 40-50 เซนติเมตร คลุมถึงถ้วยรองรับน้ำยาง
👉 ประโยชน์ของอุปกรณ์กันฝน
อุปกรณ์กันฝน เมื่อติดตั้งแล้ว
ไม่ใช่ให้คนไปกรีดยางในท่ามกลางสายฝน หรือในช่วงที่ฝนตก แต่อุปกรณ์กันฝนจะมีประโยชน์
ดังนี้
- 1. ช่วยลดความสูญเสียของผลผลิตน้ำยางในช่วงที่กรีดยางเสร็จและรอเก็บน้ำยาง หรือในระหว่างกำลังเก็บน้ำยางแล้วมีฝนตกลงมา หากน้ำยางที่อยู่ในถ้วยโดนน้ำฝน น้ำยางจะเจือจางลง ทำให้น้ำยางที่เก็บได้นำไปใช้แปรรูปไม่ได้ เท่ากับสูญเสียผลผลิตน้ำยางของวันนั้นไป หรือหากน้ำยางโดนน้ำฝนบ้างเล็กน้อย จะส่งผลกระทบทำให้น้ำยางเสียสภาพหรือน้ำยางบูด ลักษณะจับตัวเป็นเม็ดเล็ก ๆ หรือจับตัวเป็นก้อน ชาวสวนต้องขายเป็นขี้ยางแทนการนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่า ทำให้สูญเสียผลผลิต และรายได้
- 2. ป้องกันไม่ให้หน้ายางเปียกหลังจากฝนตกติดต่อกันหลายวันจนกรีดยางไม่ได้ เพราะน้ำยางจะไหลออกนอกรอยกรีด อุปกรณ์กันฝนช่วยให้เปลือกยางแห้ง สามารถกรีดได้หลังฝนตก รวมทั้งป้องกันไม่ให้ถ้วยรับน้ำยางเปียกหรือมีน้ำฝนขังอยู่ในถ้วย
- 3. สามารถกรีดยางได้ในวันที่ฝนตกปรอยๆ หรือมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า 5 มิลลิเมตรต่อวัน
- 4. ความคุ้มค่า การใช้อุปกรณ์กันฝนหากสามารถเพิ่มจำนวนวันกรีด 5 วันต่อเดือน จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ 1,050 บาทต่อไร่ต่อเดือน หรือ 5,250 บาทต่อไร่ ต่อปี) หากขยายพื้นที่ได้ 1 ล้านไร่ ราคาต้นทุนของอุปกรณ์กันฝนจะมีราคาถูกลง ทำให้ประเทศ ชาติมีรายได้เพิ่มขึ้น 5,250 ล้านบาทต่อปี สามารถเก็บ เงิน Cess เพิ่มขึ้น 150 ล้านบาท
- 5. หลังฝนตก ½-1 ชั่วโมง สามารถเข้าไปกรีดยาง ได้ หากไม่มีอุปกรณ์กันฝนต้องรอให้หน้ายางแห้ง ซึ่งต้องรอนานถึงจะกรีดยางได้หรือเปลี่ยนไปกรีดในวันถัดไป
👉 สรุป
อุปกรณ์กันน้ำฝนสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตยาง
โดยการเพิ่มจำนวนวันกรีดยางป้องกันความสูญเสียในระหว่างเก็บน้ำยางแล้วฝนตก
และช่วยป้องกันไม่ให้เปลือกยางเปียกหลังจากมีฝนตกติดต่อกันหลายวันก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม การใช้อุปกรณ์กันฝนควรคำนึงถึงระบบกรีดยาง ไม่ควรใช้ร่วมกับระบบกรีดถี่ที่กรีดติดต่ออันตั้งแต่สองวันขึ้นไป วันกรีดยางไม่ควรเกิน 160 วันต่อ ปี และไม่แนะนำให้ใช้ในพื้นที่ที่มีวันกรีดปกติมากอยู่แล้ว
ที่มา : วารสารยางพารา เรื่องโดย พิศมัย จันทุมา ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยยาง
การยางแห่งประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น