ตรัง ผลักดันออกกฎหมายกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษปาล์มน้ำมัน เป็นทางรอดชาวสวนปาล์ม เพื่อแก้ปัญหาปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ส่งเสริมการนำน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นสินค้าปลายทาง นำไปสู่การแปรรูปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆเป็นพลังงานทางเลือกโลก ยกระดับ สร้างความมั่นคงให้สินค้าเกษตรไทย ปูทางสินค้าเกษตรอื่นๆ ทั้งอ้อย และมันสำปะหลัง
ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันไม่เสถียร บวกค่าปัจจัยการผลิตที่พุ่งสูงขึ้น และปัจจัยภาวะตลาดโลก และปัจจัยภายในของบ้านเราเอง ส่งผลทำให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันทั่วประเทศต้องอยู่บนพื้นฐานของความไม่ยั่งยืนในอาชีพ ประกอบกับขณะนี้พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกหลายแสนไร่ ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหาวิกฤติ... ลานเทหยุดรับซื้อ ปาล์มล้นโรงงาน รถบรรทุกจากลานเทต่างๆทั้งในพื้นที่จังหวัดตรัง และจากต่างจังหวัดต้องติดคิวรอขายทั้งภายในและด้านหน้าโรงงานสกัดนานเกือบ 3 สัปดาห์ กว่าจะคลี่คลาย และฉุดราคาปาล์มน้ำมันให้ตกต่ำลงมากเหลือ 3 บาทต่อกก.เป็นภาพที่คนทั่วประเทศได้เห็นกันมาแล้ว
ทั้งนี้ ผลผลิตการเกษตรเมื่อถึงเวลาก็ต้องเก็บ เช่นเดียวกับปาล์มน้ำมัน ไม่ว่าราคาสูง หรือตกต่ำ เมื่อถึงเวลากำหนดประมาณ 15 วัน ก็ต้องตัดผลผลิตไปขาย หากไม่ตัดผลปาล์มก็ร่วงหล่นเสียหาย โดยที่ชาวสวนเรียกร้องขอให้รัฐดูแลด้านราคาให้เกิดความเสถียร และปัญหาปุ๋ยแพง
นายบุญรัตน์ คงสาย เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ต.นาวง อ.ห้วยยอด บอกว่า ขณะนี้ราคาผันผวนมาก ถ้าขึ้นครั้งละ 10 สตางค์ แต่หากลงแค่วันเดียวราคาก็ตกฮวบลงครั้งละ 20-50 สต.ทำให้ราคาไม่แน่นอน และปุ๋ยยังราคาแพงเพิ่มขึ้นกว่า 300% เริ่มลงมาบ้างแต่ลงมากระสอบละ 20-30 บาท ซึ่งทำให้ต้นทุนของเกษตรกรสูง และขณะนี้ผลปาล์มขาดคอ ขอให้รัฐเร่งแก้ปัญหาทั้งเรื่องของราคาและปุ๋ยที่ยังคงมีราคาแพง
ทั้งนี้ สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดตรัง ได้จัดเวทีเสวนา “ทิศทางปาล์มไทย ปาล์มโลก และวิกฤติราคา” โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ คือ พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ ประธานอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ และประธานคณะทำงานขับเคลื่อนมูลค่าเพิ่มปาล์มน้ำมัน และ ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติและคณะทำงานด้านปาล์มน้ำมันและพลังงานทางเลือก เพื่อสร้างการรับรู้ ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ปาล์มน้ำมันไทย และปาล์มน้ำมันโลก ทางออก ทางรอดของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ปรากฏว่ามีเจ้าของลานเท ตัวแทนโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม
โดยเฉพาะเกษตรกรเดินทางมาร่วมรับฟังมากกว่า 300 คนแน่นสถานที่จัดงาน เพราะเป็นครั้งแรกที่ชาวสวนปาล์มน้ำมัน จัดเวทีเสวนาสร้างความรับรู้เรื่องของตัวเอง เพื่อรับรู้สถานการณ์ เตรียมพร้อมรับมือ ผลักดัน ต่อยอดให้เกิดการแปรรูปปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์มมากขึ้น รองรับพื้นที่ปลูกที่มากขึ้น ลดการพึ่งพาการส่งออก เกิดความยั่งยืนในอาชีพ ในที่มีการพูดถึงการออกกฎหมายกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษปาล์มน้ำมัน สู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัล (Oleochemical Industry) แปรรูปน้ำมันปาล์มเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสูง เช่น ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นใช้กับเครื่องบิน , น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ กับโรงงานไฟฟ้า การขุดเจาะแหล่งน้ำมัน , ผงซักฟอก และน้ำมันหล่อลื่นและจาระบีชีวภาพใช้กับภาคอุตสาหกรรมทุกประเภท เป็นต้น
พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ ประธานอนุกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ และประธานคณะทำงานขับเคลื่อนมูลค่าเพิ่มปาล์มน้ำมัน กล่าวว่า สถานการณ์ปาล์มน้ำมันไทยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงขาขึ้น เพราะมีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มูลค่าเพิ่มถึง 250% การส่งน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มสูงขึ้น และแนวทางในการแปรรูปเป็นทางออกเดียว ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนปาล์มน้ำมันนำไปสู่พืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตที่ยั่งยืน ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางในการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสูง ซึ่งยังจำเป็นต้องขับเคลื่อนชักชวนคนมาลงทุนจากต่างประเทศ การนำเทคโนโลยี know how จากต่างประเทศเข้ามาช่วยผลักดันไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่พลเอกประวิตรได้ประกาศไว้ โดยการออกกฎหมาย หรือพระราชบัญญัติกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษปาล์มน้ำมันออกมารองรับ มีหน่วยงานโดยตรงเหมือนกับยางพารา ซึ่งหากไม่มีกฎหมายรองรับ เขตเศรษฐกิจพิเศษจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะต้องกำหนดทิศทางการขับเคลื่อน สำหรับอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัล (Oleochemical Industry)จะต้องดึงนักลงทุนต่างชาติ ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามา จะทำให้ไทยเราเป็นศูนย์กลางในการแปรรูปน้ำมันปาล์มเพิ่มมูลค่าสูง
ส่วนตัวคิดว่าปาล์มน้ำมันจะเป็นต้นแบบการขยายผลนำไปสู่อ้อยและมันสำปะหลัง
และจะทำให้พืชเศรษฐกิจหลักของประเทศมีความมั่นคงประเทศชาติก็จะได้นำเงินรายได้เข้าอย่างมหาศาล
ก็เป็นความหวังของเกษตรกรไทยจะเจริญก้าวหน้าสู่ความร่ำรวยมั่นคงแล้วก็ยั่งยืน
สำหรับปาล์มน้ำมัน ขณะนี้พื้นที่ปลูกทั่วประเทศกว่า 6 ล้านไร่ ผลผลิตต่อปี 19-20 ล้านตัน
สกัดเป็นน้ำมันปาล์มดิบได้ประมาณ 3 ล้านตัน
โดยใช้บริโภคประมาณ 1 ล้านตัน เป็นพลังงานทดแทน 1 ล้านตัน และส่งออก 1 ล้านตัน โดยในปี 2566 ตั้งเป้าส่งออก 1.5 ล้านตัน
ซึ่งระยะสั้นยังต้องเพิ่มการส่งออก
นายฉัตรชัย รัตวิวัฒนาพงศ์ ประธานกลุ่มปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่ อ.ห้วยยอด บอกว่า ที่ผ่านมาพวกเราชาวสวนปาล์ม
เรียกร้องแต่เฉพาะด้านราคาอย่างเดียว ซึ่งเดินผิดทางมาโดยตลอด
แต่หลังจากนี้จะต้องมองไปที่อนาคตให้เกิดความยั่งยืน
ต้องผลักดันให้ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ตามที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติวางไว้
(กนป) การช่วยเหลือด้านการประกันราคาแก่เกษตรกร และการอุดหนุนการส่งออก
ไม่ยั่งยืนสิ้นเปลืองงบประมาณ แต่การส่งเสริมการแปรรูปส่วนของปลายน้ำ
โดยใช้เทคโนโลยี่ขั้นสูง จะสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์ม
ทางด้านนายชัยวัฒน์ โภคาวัฒนา นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.ตรัง บอกว่า แนวทางการต่อยอดแปรรูปน้ำมันปาล์มใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยออกเป็นกฎหมายกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษปาล์มน้ำมันจะมี 6 จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีฯ พังงา กระบี่ และตรัง เป็นทางออกที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ยกระดับราคา ซึ่งแนวโน้มพื้นที่ปลูกกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่สต็อกน้ำมันปาล์มดิบรับได้แค่ 300,000 ตัน จึงต้องเพิ่มการส่งออก และพัฒนาน้ำมันปาล์มไทยสู่นวัตกรรมขั้นสูงใช้เป็นพลังงาน
หลักฐานยืนยันในทางสถิติ สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 แสนตัน ทำให้ราคาผลปาล์มร่วงลง 1
บาทกว่าๆต่อกก. ขณะเดียวกันหากสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบลดลงทุกๆ 1
แสนตัน ราคาผลปาล์มจะสูงขึ้น 1 บาทกว่าต่อกก.เช่นกัน
ดังนั้น พื้นที่การปลูกที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ท้าทายการบริหารจัดการปาล์มน้ำมัน
และน้ำมันปาล์มของ กนป.และรัฐบาล แนวทางการออก พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมัน
กำหนดให้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษปาล์มน้ำมัน เพื่อจัดการปาล์มน้ำมันทั้งระบบ
โดยเฉพาะสินค้าปลายน้ำ สู่พลังงานต่างๆที่ตลาดโลกต้องการ
เกษตรกรหวังว่าจะได้รับการสานต่อจากรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา
.
ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น