เยี่ยมสวนปาล์มเกาะลันตา 3 ปี กับผลงานชุบชีวิตสวนปาล์มพ่อ ผลผลิตเพิ่มมากกว่า 15 เท่า
จากสวนปาล์มของคุณพ่อที่ถูกทิ้งร้างไว้นานกว่า 3 ปี ไม่ได้ดูแลจนกลายเป็นป่าปาล์มย่อมๆ เพราะถูกต้นไม้ขึ้นปกคลุมแทบทั้งหมด ขณะที่คุณศักดิ์ฎา หวันจิ หรือ คุณเรด ลูกชายก็ดูแลงานในส่วนของโรงงานน้ำแข็งเป็นหลักจึงไม่ได้เข้ามาดูสวนปาล์ม
กระทั่งช่วงโควิดที่ผ่านมาการท่องเที่ยวและการค้าขายบนเกาะลันตาหยุดชะงัก
รายได้จากโรงงานน้ำแข็งก็ลดลงไปด้วย ที่สำคัญลูกน้องในโรงงานที่ไม่มีงานเหมือนเมื่อก่อน
คุณเรดจึงตัดสินใจพาทีมงานโรงน้ำแข็งเข้าดูแลปรับปรุงสวนปาล์มน้ำมันอย่างจริงจัง
แรกเริ่มเลยก็ตัดหญ้า เอารถมาไถเป็นทางให้คนงานเข้ามาทำงานได้สะดวก
เรามีความคิดว่าถ้าในสวนจัดการดี สะอาด เข้าทำงานง่าย รถเข้าได้ทุกแถว พอทำงานสะดวกขึ้นคนก็อยากจะทำ เราเองก็เหมือนกันถ้าสวนดูดีมีผลผลิตเราก็จะจะเข้ามา
เจ้าของสวนบอกกับเว็บยางปาล์ม
แล้วก็เริ่มใส่ปุ๋ยครั้งแรกโดยเข้าไปปรึกษากับร้านขายปุ๋ยและให้คำแนะนำมาว่าปาล์มอายุ
3 ปี ให้ใส่ 14-7-35 ก็ทำตามโดยที่ไม่รู้ว่าปุ๋ยตัวนี้ช่วยเรื่องอะไร
เป็นการทำตามความรู้สึกล้วนๆ
หลังจากนั้นก็หันมาเริ่มทำความเข้าใจเรื่องการจัดการสวนปาล์มน้ำมันและหาความรู้เรื่องปุ๋ยจากกลุ่ม
Facebook ปาล์มน้ำมัน
เว็บไซต์ และช่องยูทูปต่างๆ ลองผิดลองถูก
รวมถึงปรึกษาเจ้าของสวนปาล์มรุ่นพี่ที่มีผลงานให้เห็นจริงที่คุณเรดเองก็ไม่ลังเลที่จะขอความรู้และได้คำปรึกษาอย่างดีตลอดมา
เมื่อได้รับคำแนะนำมาแล้วการบริหารจัดการก็ไม่หนักไปทางใดทางหนึ่ง
ดูตามความเหมาะสมหรือความสะดวกที่ตนเองสามารถทำได้ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ
จนปัจจุบันปาล์มอายุ 7 ปี เขาใส่ปุ๋ยสูตรสัดส่วน N:P:K = 2:1:3 ราว 15 กก./ต้น/ปี, แมกนีเซียม 4 กก./ต้น/ปี, โดโลไมท์ 3 กก./ต้น/ปี
(ใส่ปีเว้นปี) รวมถึงอินทรียวัตถุ ปุ๋ยหมักต่างๆ ด้วย ซึ่งในปีที่ผ่านมารวมๆ
แล้วอาจมากกว่า 20 กก./ต้น/ปีเลยทีเดียว และสำหรับการใส่ปุ๋ยของสวนแบ่งจะเป็น 2
ส่วน คือ ใส่บนกองทาง70% และอีก 30% บริเวณรอบทรงพุ่ม
อินทรียวัตถุ ปุ๋ยหมักต่างๆ คือใช้บำรุงดินให้มีความสมบูรณ์ การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวดินจะเสื่อมคุณภาพจึงต้องใช้ควบคู่กัน เราต้องเตรียมดินให้พร้อมเติมสารอาหารให้พร้อมเพื่อให้ปาล์มได้กิน ถ้าถามว่าผลผลิตที่ได้ไหมผมว่าคุ้มค่านะผมไม่ได้ซีเรียส เรื่องจดบันทึกผมไม่ได้ซีเรียสเรื่องตัวเลข แต่ผมมีปาล์มบนต้น แล้วก็ได้ตัดส่งโรงงานตามกำหนดทุก 14-15 วัน
เจ้าของสวนเล่าต่อไปว่าเมื่อตอนที่เข้ามาทำสวนครั้งแรกช่วงเดือนมีนาคม
2563 ที่ผ่านมา ปาล์มเกือบ 1,000 ต้น ตัดผลผลิตได้เพียง 500 กก. เท่านั้น
แต่หลังจากที่ได้เข้ามาดูแลใส่ปุ๋ย/ทำระบบน้ำไว้รดปาล์มในฤดูแล้งผลผลิตก็ไต่ระดับมาเรื่อยๆ
เป็น 4 -7 ตัน ผลผลิตเพิ่มมากกว่า 15 เท่าและมีบางช่วงที่พีคได้ถึง 12-13 ตัน
(ผลผลิตต่อรอบตัด) ที่จะเป็นช่วงผลผลิตสูงสุด
ระบบน้ำด้วยนะดีมากเลยครับ ถ้าเทียบระหว่างมีระบบน้ำกับไม่มีระบบน้ำเห็นชัดเลยว่าถ้ามีระบบน้ำผลผลิตเพิ่มขึ้น 30% เพราะทะลายมีน้ำหนัก แล้วปุ๋ยที่เราใส่ไปปาล์มก็กินได้ประมาณ 80-90% โดยที่เราจะทำระบบน้ำไว้บนกองทาง
พร้อมกับบอกว่าส่วนตัวคิดว่าช่วงที่ควรจะให้ปุ๋ยมากที่สุดก็คือหน้าแล้งเพราะมีแสงแดดมากเพียงพอแต่ต้องมีระบบน้ำด้วย
เพราะพืชจะเจริญเติบโตได้ดีก็ต่อเมื่อมีปัจจัยครบทั้ง ปุ๋ย น้ำ แสงแดด
ในหน้าฝนถึงจะมีน้ำเยอะแต่ก็ไม่มีแสงแดดเท่าที่ควร ดังนั้นจึงไม่ปล่อยให้ความแห้งแล้งเป็นอุปสรรคในการทำสวนปาล์มนั่นเอง
ต้นปาล์มไม่เคยโกหก เราใส่อะไรให้เขาเขาได้กินแน่นอน แม้ว่าวันนี้พรุ่งนี้จะไม่เห็นผลทันตา แต่ขอให้ทำต่อไปต่อเนื่องสม่ำเสมอ ไม่ต้องถึงกับประคบประหงมแต่อย่าให้ขาด ใส่ให้ถูกช่วง ถูกเวลา ถูกจังหวะ สิ่งที่ลงทุนไปผลตอบแทนต้องได้เห็นแน่นอนผลผลิตแบบก้าวกระโดดแน่นอน อย่าไปวิตกเรื่องราคาขายกับราคาปุ๋ยมากเกินไปเพราะเราควบคุมไม่ได้ เพราะถ้าเราทำสวนปาล์มแต่ไม่มีผลผลิต จบเลยนะครับ
เจ้าของสวนกล่าวสรุปตอนท้าย
.
ขอขอบคุณ
คุณศักดิ์ฎา หวันจิ สวนปาล์มเกาะลันตา ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่
ดูคลิป VDO
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น