ความเป็นกรดด่างของดิน มีความสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของพืช ดินที่มีปฏิกิริยาเป็นกรดมาก ๆ พืชจะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร เนื่องจากธาตุอาหารในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืชบางชนิดจะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปที่พืชไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ หรืออาจมีธาตุโลหะบางชนิดที่ละลายออกมามากจนถึงระดับที่เป็นพิษต่อพืช
ความเป็นกรดเป็นด่าง
นิยมบอกเป็นค่าพีเอช (pH) ซึ่งมีค่าอยู่ระหว่าง
1-14 ค่าที่เป็นกลางคือ 7 ถ้าค่าพีเอชต่ำกว่า 7 ถือว่าดินมีสภาพเป็นกรด
และถ้าพีเอชต่ำกว่า 4 ถือว่าดินมีสภาพเป็นกรดรุนแรงมาก ส่วนค่าพีเอชสูงกว่า 7
จัดว่าเป็นดินด่าง
ความกว้างของแถบที่ระดับพีเอชใดๆ แสดงปริมาณเชิงเปรียบเทียบถึงความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารต่างๆ ในดิน จากภาพจะเห็นได้ว่า ดินที่มีพีเอช 6-7 ความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารในดินมีอยู่ในปริมาณที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตและการสร้างผลผลิตของพืช
ในสภาพดินเป็นกรด ปริมาณธาตุบางชนิด
อาทิ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม กำมะถัน แคลเซียมและแมกนีเซียม จะมีปริมาณต่ำ
ตัวอย่างเช่น เมื่อ พีเอชต่ำกว่า 6 ไนโตรเจน และกำมะถัน ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชเริ่มลดลง
เมื่อพีเอชต่ำกว่า 4 ปริมาณไนโตรเจนและกำมะถัน จะมีปริมาณน้อยมาก ทั้งนี้ ระดับความเป็นกรดไม่ได้มีผลโดยตรงต่อปริมาณไนโตรเจนและกำมะถันในดิน แต่เกี่ยวพันในทางอ้อมกับกิจกรรมจุลินทรีย์ในดินที่เป็นตัวกำหนดความเป็นประโยชน์ของธาตุเหล่านี้ในดิน
เมื่อดินเป็นกรดจัด กิจกรรมของจุลินทรีย์จะเกิดขึ้นได้ช้ามากทำให้การย่อยสลายอินทรียวัตถุและการปลดปล่อยธาตุอาหารลงสู่ดินเกิดขึ้นได้น้อย ปริมาณไนโตรเจนและกำมะถันที่เป็นประโยชน์ต่อพืชจึงต่ำ
สำหรับฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ในดินกรดรุนแรงหรือดินเปรี้ยวจัด จะเกิดการตรึงในรูปเหล็กฟอสเฟตหรืออะลูมินัมฟอสเฟต ทำให้พืชดูดใช้ฟอสฟอรัสได้ยากมาก ส่วนระดับแคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียมในดินกรดรุนแรงหรือดินเปรี้ยวจัดจะมีปริมาณต่ำ เพราะธาตุอาหารพวกนี้ถูกชะละลายออกจากดินได้ง่ายมาก
ในขณะที่จุลธาตุบางชนิด เช่น เหล็ก เป็นต้น
จะมีอยู่ในปริมาณมากในดินที่เป็นกรดจัด โดยเฉพาะเมื่อพีเอชต่ำกว่า 5 การเจริญเติบโตของพืชอาจจะได้รับผลกระทบ จากปริมาณธาตุอาหารที่มากเกินไป
จนอาจเป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของพืชได้
ในสภาพดินเป็นด่าง ระดับของธาตุไนโตรเจน แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก
มีในปริมาณต่ำ เช่น ปริมาณไนโตรเจนจะลดลงเมื่อดินมีพีเอชสูงกว่า 8 ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมของจุลินทรีย์ในการย่อยสลายและปลดปล่อยไนโตรเจนลงสู่ดิน
ในขณะเดียวกัน ปริมาณแคลเซียมจะลดลงมากเมื่อดินที่มีพีเอชสูงกว่า 8.5 เนื่องจากดินจะมีประจุบวกที่แลกเปลี่ยนได้ส่วนใหญ่เป็นโซเดียม
ทำให้ปริมาณแคลเซียมมีน้อยลง ในขณะที่ธาตุฟอสฟอรัส โพแทสเซียม กำมะถัน โบรอน
โมลิบดีนัมมีอยู่ในปริมาณที่สูง
จากความสัมพันธ์ระหว่างพีเอชและปริมาณธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ในดินดังกล่าว การใช้วัสดุปรับปรุงดิน เช่นวัสดุปูน จะช่วยยกระดับพีเอชของดินให้สูงขึ้น ลดความรุนแรงของกรด จะช่วยเพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารและทำให้เกิดความสมดุลของธาตุอาหารต่าง ๆในดิน โดยเฉพาะไนโตรเจน ฟอสฟอรัส แคลเซียมแมกนีเซียม เป็นต้น นอกจากนั้นยังช่วยลดธาตุโลหะบางชนิด เช่น เหล็ก อะลูมินั่ม เป็นต้น ในดิน ซึ่งมีอยู่ในปริมาณมากเกินไปในสภาพที่ดินเป็นกรด
ดินที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกโดยทั่วไปมีค่า pH 6-7
จะทราบได้อย่างไรว่าดินเป็นกรดเป็นด่าง
- 1.วัดด้วยน้ำยาเปลี่ยนสี ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีต่างๆ เมื่ออยู่ในน้ำยาที่มีระดับความเข้มข้นของกรดต่างๆ กัน โดยหยดน้ำยาลงไปในดินที่ทำการทดสอบ จากนั้นนำสีไปเปรียบเทียบกับแผ่นเทียบสีมาตรฐาน ก็จะบอกเป็นค่า pH ได้
- 2. วัดด้วยเครื่อง pH meter ซึ่งเหมาะสมสำหรับการวัดในห้องปฏิบัติการมากกว่าไปวัดในสวนหรือไร่นา
การปรับปรุงดินกรด/ดินด่าง
- ดินกรด (ดินเปรี้ยว)
- 1. ใส่ปูนเพื่อปรับสภาพความเป็นกรด ปูนที่ใช้ได้แก่ ปูนขาว ปูนมาร์ล หินปูนบด โดโลไมท์
- 2. ควรใส่ขณะที่ดินมีความชื้นและทำการไถพรวนหมักทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์เพื่อให้เวลาสำหรับปูนละลาย และปรับความเป็นกรดของดิน จากนั้นจึงปลูกพืชที่ต้องการต่อไป (สำหรับในปาล์มน้ำมัน แนะนำให้ใส่บริเวณกองทางใบ อ่านเพิ่มเติม https://www.yangpalm.com/2020/02/1-3.html)
- ดินด่าง
- 1. ควรใส่ผงกำมะถันหรือยิปซั่มลงไปบนดินและทำการไถพรวน เพื่อคลุกเคล้าให้ผงกำมะถันหรือยิปซั่มทำปฏิกิริยากับดิน
- 2. ควรมีการใส่ปุ๋ยหมักหรือการปลูกปุ๋ยพืชสด เช่นปอเทือง โสนแอฟริกัน ถั่วพร้า หรือถั่วพุ่ม
ที่มา : กรมพัฒนาที่ดิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น