ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

4 สาเหตุที่พืชขาดธาตุอาหาร

พืชแสดงอาการขาดธาตุอาหาร สาเหตุอาจไม่ได้เกิดจากธาตุอาหารในดินมีปริมาณน้อยเสมอไป การแก้ไขภาวะขาดธาตุอาหารของพืชจะได้ผลดี จำเป็นต้องวินิจฉัยหาสาเหตุของการขาดให้ถูกต้อง โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้พืชได้รับธาตุอาหารจากดินไม่เพียงพอ
มีดังนี้

1.ธาตุอาหารในดินมีปริมาณน้อย
ธาตุอาหารในดินที่มักมีไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช ได้แก่ ธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองที่พืชต้องการในปริมาณมาก เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียม ที่มักขาดในดินทรายจัดหรือดินที่มีการชะล้างสูงหรือดินที่ปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำกันหลายครั้ง

2.ธาตุอาหารในดินมีปริมาณมาก
อยู่ในรูปที่พืชไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มักเกิดจากสภาพความเป็นกรด-ด่างของดินไม่เหมาะสมต่อการละลายได้ของธาตุอาหาร นอกจากนี้ความชื้นดินมีผลต่อการนำธาตุอาหารไปใช้ประโยชน์ของพืชด้วย เพราะพืชดูดเอาธาตุอาหารจากดินไปในรูปสารละลายถ้าความชื้นของดินไม่เพียงพอ อาจทำให้พืชขาดธาตุอาหารได้
3.ระบบรากพืชพัฒนาไม่เต็มที่
ทำให้ประสิทธิภาพการดูดธาตุอาหารต่ำ ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะ สมบัติของดินไม่เอื้อต่อการเจริญของราก (ดินแน่นทึบสูง ความลึกของหน้าดินต่ำ) รากพืชถูกทำลายหรือรบกวน ลักษณะเฉพาะของพืช

4.พืชได้รับธาตุอาหารชนิดหนึ่งมากผิดปกติ
ทำให้ดูดธาตุอีกชนิดหนึ่งได้น้อย จนก่อให้เกิดความไม่สมดุลในดิน จึงแสดงอาการขาด เช่น มะเขือเทศได้รับธาตุโพแทสเซียมมากในช่วงติดผลทำให้ดูดธาตุแมกนีเซียม (Mg) ได้น้อย จึงแสดงอาการขาดธาตุ Mg ที่ใบแก่
การขาดธาตุอาหารในดิน อาจเกิดจากมีธาตุอื่นมากเกินไป

ปัญหาการขาดสมดุลของธาตุอาหารในดิน ส่งผลต่อความเป็นประโยชน์และการดูดใช้ธาตุอาหาร หากในดินมีธาตุอาหารบางชนิดมากเกินไป พืชอาจเปิดกลไกการป้องกันความเป็นพิษตามธรรมชาติ ซึ่งส่งผลให้การดูดใช้ธาตุอาหารลดลง หรือ ธาตุหนึ่งมีผลต่ออีกธาตุหนึ่งในด้านการไปยับยั้ง หรือลดการดูดใช้ธาตุอาหารในดิน.
ตัวอย่างเช่น กรณีพืชแสดงการขาดโพแทสเซียม (K) อาจเกิดจากธาตุ K ในดินไม่เพียงพอ หรือเกี่ยวข้องกับการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน แคลเซียม และแมกนีเซียมมากเกินไป หรือ เกี่ยวข้องกับดินในพื้นที่นั้นเค็ม (มีโซเดียมสูง) ซึ่งส่งผลเชิงลบต่อการดูดใช้ K (ลดความเป็นประโยชน์)

ดังนั้นการขาดธาตุอาหารอาจเกิดจากสาเหตุที่มีธาตุอาหารชนิดอื่นมากเกินไปดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • การขาดธาตุอาหารโพแทสเซียม (K) สาเหตุอาจเกิดจากธาตุอาหารที่มีมากเกินในดินได้แก่ ไนโตรเจน (รูปแอมโมเนียม) แคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม

  • การขาดธาตุอาหารแมกนีเซียม (Mg) สาเหตุอาจเกิดจากธาตุอาหารที่มีมากเกินในดิน ได้แก่ โพแทสเซียม แคลเซียม

  • การขาดธาตุอาหารไนโตรเจน (N) สาเหตุอาจเกิดจากธาตุอาหารที่มีมากเกินในดิน ได้แก่ โพแทสเซียม คลอไรด์

  • การขาดธาตุอาหารกำมะถัน (S) สาเหตุอาจเกิดจากธาตุอาหารที่มีมากเกินในดิน ได้แก่ คลอไรด์

  • การขาดธาตุอาหารแคลเซียม (Ca) สาเหตุอาจเกิดจากธาตุอาหารที่มีมากเกินในดิน ได้แก่ แมกนีเซียม โพแทสเซียม

  • การขาดธาตุอาหารโบรอน (B) สาเหตุอาจเกิดจากธาตุอาหารที่มีมากเกินในดิน ได้แก่ แคลเซียม ไนโตรเจน

  • การขาดธาตุอาหารเหล็ก (Fe) สาเหตุอาจเกิดจากธาตุอาหารที่มีมากเกินในดิน ได้แก่ แมงกานีส ฟอสฟอรัส ทองแดง นิกเกิล สังกะสี

  • การขาดธาตุอาหารแมงกานีส (Mn) สาเหตุอาจเกิดจากธาตุอาหารที่มีมากเกินในดิน ได้แก่ ฟอสฟอรัส เหล็ก

  • การขาดธาตุอาหารทองแดง (Cu) สาเหตุอาจเกิดจากธาตุอาหารที่มีมากเกินในดิน ได้แก่ ฟอสฟอรัส โมลิบดีนัม

  • การขาดธาตุอาหารสังกะสี (Zn) สาเหตุอาจเกิดจากธาตุอาหารที่มีมากเกินในดิน ได้แก่ ฟอสฟอรัส


ข้อสังเกต หากมีฟอสฟอรัสในดินมากเกินไป มักส่งผลให้พืชขาดจุลธาตุ เช่น เหล็ก แมงกานีส ทองแดง สังกะสี

.
ที่มา : สาระดี ปฐพีวิทยา กองปฐพีวิทยา กรมวิชาการเกษตร
จัดทำโดย : สายน้ำ อุดพ้วย นักวิชาการเกษตรชำนาญการ
กลุ่มงานวิจัยและพัฒนารูปแบบคำแนะนำการใช้ปุ๋ย กรมวิชาการเกษตร

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม