ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

วิธีปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่ว ในสวนยางพารา

ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดที่นิยมปลูกในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นไม้ยืนต้นอายุหลายปี ทรงต้นสูงและทรงพุ่มกว้าง ปลูกระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 5-8 เมตร โดยส่วนมากพื้นที่ปลูกยางพารามักพบปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน ทำให้ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ อันเนื่องมาจากการขาดอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพืช 


โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความลาดเทสูง และเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่มีการปลูกพืชคลุมดินหรือพืชแซม จึงทำให้หน้าดินแห้ง สูญเสียความชุ่มชื้น เป็นสาเหตุให้เกิดการสูญเสียหน้าดิน หรือถูกชะล้างได้ง่ายจากลม หรือ น้ำฝนที่ตกกระทบหน้าดิน รวมถึงน้ำไหลบ่าหน้าดินกรณีที่ฝนตกหนักอีกด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการลดปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน เกษตรกรจึงควรปลูกพืชคลุมดิน ระหว่างแถวพร้อมการปลูกยางพารา 


ในกรณีที่ไม่มีพืชแซมพืชคลุมดินในสวนยางพารา ส่วนมากจะนิยมปลูกพืชตระกูลถั่วอายุหลายปี ซึ่งคลุมดินได้ต่อเนื่องระยะยาว โดยเริ่มปลูกในช่วงต้นของฤดูฝน ระหว่างแถวของต้นยางพารา เพื่อให้สามารถเจริญเติบโตได้เร็วพอที่จะออกดอก ติดเมล็ด และสามารถงอกได้ใหม่ในช่วงฤดูกาลใหม่ หรือเมื่อดินมีความชื้น พืชคลุมดินที่นิยมปลูก มีดังนี้

คาโลโปโกเนียม หรือ ถั่วคาโลโป 

เป็นพืชตระกูลถั่วชนิดเถาเลื้อยคลุมดิน ใบมีขนาดปานกลาง ฝักมีขนดอกมีขนาดเล็ก สีน้ำเงินอ่อน เมล็ดเล็กแบนสีน้ำตาลอ่อน เจริญเติบโตคลุมพื้นที่ได้รวดเร็วมากจนแน่นทึบภายใน 3-4 เดือน คลุมดินได้หนา 30-60 เซนติเมตร ออกดอกหลังจากปลูกประมาณ 3-5 เดือน และเก็บเมล็ดได้เมื่อมีอายุ 6-7 เดือน

ข้อดี 

  • เจริญเติบโตเร็วมาก และปลูกได้ในดินทุกชนิด
  • สามารถคลุมดินรวดเร็วภายใน 3-4 เดือน

ข้อจำกัด

  • อายุสั้น เริ่มยุบตัว ประมาณ 18-24 เดือน
  • ไม่ทนร่มเงา ไม่ชอบน้ำท่วมขัง 
เพอราเรีย หรือ ถั่วคูดซู 

เป็นถั่วที่มีเถาเลื้อย ใบหนาและเถามีขนาดใหญ่ มีขนปกคลุมมาก มีดอกสีม่วง เมล็ดเล็กค่อนข้างกลม สีน้ำตาลแก่ เปลือกเมล็ดแข็ง งอกช้า คลุมดินได้หนาทึบภายใน 5-6 เดือน คลุมดินวัชพืชได้ดีเมื่ออายุ 2 ปีไปแล้ว

ข้อดี

  • ควบคุมวัชพืชได้ดี
  • อายุยืนประมาณ 3-4 ปี

ข้อจำกัด

  • เมล็ดงอกช้า และเจริญเติบโตช้าในปีแรก
  • ไม่ค่อยออกดอก ให้เมล็ดน้อย
  • ไม่ทนร่มเงา

ซีรูเลียม หรือ นิวคาโลโป 

เป็นพืชตระกูลถั่วเถาเลื้อยที่สามารถเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้กับดินในปริมาณสูง ลำต้นแข็งแรงมีใบรูปใบโพธิ์มีขน สีเขียวเข้ม ดอกสีม่วง ออกดอกประมาณปลายพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ฝักจะมีลักษณะแบนยาวมีสีน้ำตาลเข้มเมื่อแก่มีเมล็ดกลมสีน้ำตาล เริ่มคลุมดินเมื่ออายุ 4-6 เดือนและมีศักยภาพการคลุมดินได้เต็มที่เมื่ออายุประมาณ 4 ปี

ข้อดี

  • ทนร่มเงา ทนแล้งได้ดี
  • อายุยืนยาว ประมาณ 10 ปี

ข้อจำกัด

  • เมล็ดงอกช้า
  • ควบคุมวัชพืชได้ช้า ในช่วงปีแรก 

เซนโตรซีมา หรือ ถั่วลาย 

เป็นพืชคลุมดินชนิดเถ้าเลื้อย สามารถเลื่อยไปตามผิวดินและชอบเลื้อยพันขึ้นต้นไม้ เถาเหนียว ใบเล็ก ดอกใหญ่สีม่วงอ่อน เมล็ดเล็กแบนสีน้ำตาลอมเขียวเป็นลายกระ ส่วนรากแทงลงดินได้ลึก และแผ่ขยายออกด้านข้าง เจริญเติบโตช้าแต่เมื่อเติบโตเต็มที่แล้วจะคลุมดินได้ แน่นทึบ จะออกดอกและเก็บเมล็ดได้เมื่ออายุ 7 เดือนขึ้นไป

ข้อดี

  • ทนร่มเงา
  • อายุยืนยาว ประมาณ 3-4 ปี

ข้อจำกัด

  • เจริญเติบโตช้าในช่วงปีแรก
  • ไม่ทนน้ำขัง


 
การปลูกพืชคลุมดินในสวนยางพารา

ควรปลูกพืชคลุมดินพร้อมยางพารา หรือหลังปลูกยางพาราที่อายุไม่เกิน 2 ปี แต่ไม่ควรปลูกก่อนยางพารา เนื่องจากจะแย่งน้ำจากยางพาราขณะเจริญเติบโต โดยการปลูกพืชคลุมดินสามารถปลูกได้ 2 แบบ

  • พืชชนิดเดียว เช่น ปลูกซีรูเลียมเป็นแถบระหว่างแถวยางพารา
  • ผสมเมล็ดพืชคลุมดินชนิดต่างๆ รวมกันตามอัตราส่วนที่กำหนดซึ่งเป็นวิธีที่นิยม เนื่องจากสามารถคลุมดินได้ตลอดอายุของยางอ่อน และพืชคลุมดินแต่ละชนิดจะมีการเจริญเติบโต ข้อดี และข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ชนิดและปริมาณของพืชคลุมดิน สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

 

การเตรียมเมล็ดพันธุ์

เนื่องจากเมล็ดพันธุ์พืชคลุมดินมีเมล็ดหนาและน้ำซึมผ่านเข้าไปได้ยาก เมล็ดจึงมีความงอกต่ำ จึงต้องกระตุ้นเมล็ด สำหรับเมล็ดคาโลโปโกเนียม เพอราเรีย และเซนโตรซีมา นิยมนำไปแช่ในน้ำอุ่น ประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วผึ่งเมล็ดให้แห้ง สำหรับเมล็ดซีรูเลียมสามารถแช่ในน้ำอุ่น 12-24 ชั่วโมง แล้วห่อผ้าไว้ ก่อนนำไปปลูก แต่จะมีความงอกน้อยกว่าการแช่ในกรดกำมะถัน โดยการแช่เมล็ด ซีรูเลียมในกรดกำมะถันเข้มข้น 60 มิลลิลิตร แช่นาน 30 นาที แล้วล้างน้ำให้สะอาดและแช่น้ำต่อ 1-2 ชั่วโมง แล้วผึ่งให้แห้ง

สัดส่วนการผสมเมล็ดพันธุ์

ผสมเมล็ดพืชคลุมดิน อัตราส่วน คาโลโปโกเนียม : เซนโตรซิมา : เพอราเรีย อัตรา 5:4:1 หรือ 2:3:2 หรือ 2:2:1 หรือ 1:1:1 โดยน้ำหนักสามารถเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนได้ตามปริมาณเมล็ดพืชที่หาได้ ปลูกอัตรา 1-1.5 กิโลกรัมต่อไร่ โดยเมล็ดพันธุ์ควรมีความงอกไม่ต่ำกว่า 80% และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของพืชคลุมดินในระยะยาวควรปลูกซีรูเลียมร่วมด้วย ในอัตรา 40-50 กรัมต่อไร่

 

การปลูก

ควรปลูกห่างจากต้นยาง 2.5-3 เมตร เพื่อให้พืชคลุมดินมีพื้นที่ในการเจริญเติบโต และลดการเลื้อยพันต้นยาง ปลูกเป็นแถว ระยะระหว่างแถว 1-2 เมตร ทำร่องลึก 2-3 นิ้ว นำเมล็ดพันธุ์คลุกไรโซเบียม และปุ๋ยหินฟอสเฟตน้ำหนักเท่าเมล็ดพันธุ์ แล้วโรยเมล็ดให้กระจายเสมอกัน แล้วจึงกลบดินลงไป

 

การดูแลรักษา

หลังปลูกควรกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอจนพืชคลุมดินขยายเต็มพื้นที่ แล้วใส่ปุ๋ยหินฟอสเฟตอัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ 2-3 ครั้งต่อปี ในปีแรก โดยใส่ห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน ส่วนในปีถัดไป ใส่ปีละ 1 ครั้ง

 

แหล่งเมล็ดพันธุ์

สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก ศูนย์เรียนรู้ยางพาราแบบมีส่วนร่วมของเกษตรกร ศูนย์วิจัยยาง และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร สถาบันวิจัยยาง หรือศูนย์วิจัยพืชไร่บางแห่ง เช่น ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี กรมวิชาการเกษตร

 .

ที่มา : กลุ่มวิจัยและพัฒนาการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อการเกษตร กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม