จ.บึงกาฬ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ และกลุ่มเกษตรกรทำสวนยางพาราร่วมใจพัฒนา ต.ไคสี อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ร่วมกัน Kick Off การซื้อ ขาย และการส่งมอบยางพาราที่ผ่านการรับรองตามมาตรการ EUDR ของสหภาพยุโรป เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้ายางพาราของจังหวัด
นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า มาตรการ EUDR
(European Union Deforestation-free Regulation) ที่สหภาพยุโรปประกาศใช้นั้น
เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังสหภาพยุโรป (อียู)
ซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ของโลก และเกี่ยวข้องกับพี่น้องเกษตรกรโดยตรง
โดยเฉพาะยางพาราที่เป็นพืชหลักของจังหวัดบึงกาฬ ถือเป็น 1 ใน
7 สินค้าที่ต้องเข้าสู่กระบวนการรับรองตามมาตรการ EUDR
หรือต้องผ่านการตรวจสอบและรายงานที่มาของสินค้าว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า
หรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรม
กิจกรรม Kick Off การซื้อ ขาย
และการส่งมอบยางพาราที่ผ่านการรับรองตามมาตรการ EUDR ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสื่อสารไปยังพี่น้องเกษตรกร
ภาครัฐ และภาคเอกชน
ว่าจังหวัดบึงกาฬเป็นจังหวัดที่จะดำเนินการผลิตยางพาราตามมาตรการ EUDR ทั้งจังหวัด เพื่อเป็นการสนองตอบความต้องการของตลาด และเพิ่มมูลค่าสินค้ายางพาราในจังหวัดบึงกาฬต่อไป
จังหวัดบึงกาฬถือว่าเข้าร่วมมาตรการ EUDR เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ
และขอให้เกษตรกรชาวสวนยางมาเข้าร่วมกับมาตรการ EUDR เยอะ ๆ
เพราะปลูกยางด้วย มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย และยังรักษ์โลก ด้วย
ว่าที่ร้อยตรี พีระวัฒน์ กงบุราน ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดบึงกาฬ ในนามผู้จัดกิจกรรม Kick Off การซื้อ ขาย และการส่งมอบยางพาราที่ผ่านการรับรองตามมาตรการ EUDR กล่าวว่า ยางพาราในจังหวัดบึงกาฬ มีพื้นที่เพาะปลูกที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ประมาณ 811,704.18 ไร่ ถือเป็นสินค้าหลักที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดบึงกาฬ :ซึ่งกิจกรรม Kick Off การซื้อ ขาย และการส่งมอบยางพาราที่ผ่านการรับรองตามมาตรการ EUDR ผ่านระบบตลาดกลางออนไลน์ (Thai Rubber Trade : TRT) โดยกลุ่มเกษตรกรทำสวนยางพาราร่วมใจพัฒนา ตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬเป็นกลุ่มแรกในการจัดกิจกรรม Kick Of โดยกลุ่มมีสมาชิก 146 ราย พื้นที่เพาะปลูกยางพารา1,704 ไร่ ผลผลิตประมาณ 1,500 ตันต่อปี และมีผลผลิตยางพาราที่ผ่านการรับรองตามมาตรการ EUDR ในรอบจำหน่ายนี้ ประมาณ 30 ตัน ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่ายางพาราได้ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงเป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด หรือ Gross Provincial Product (GPP) ของจังหวัดบึงกาฬ ต่อไป
นอกจากนี้ สวนยางพาราที่ได้รับมาตรฐาน EUDR ยังสามารถนำยางเข้าสู่ตลาดกลางประมูลระบบออนไลน์(Thai
Rubber Trade : TRT) ของ กยท. ด้วย
ซึ่งจะทำให้พ่อค้าเข้าไปประมูลในตลาดกลางจำนวนมากขึ้น
จากเดิมที่เป็นการตกลงซื้อขายกันระหว่างพ่อค้ากับเกษตรกร
ก็จะทำให้เกิดการแข่งขันใส่ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่ กยท. ตั้งไว้เป็นมาตรฐานของราคาในระดับท้องถิ่น
โดยพ่อค้าก็จะบวกเพิ่มขึ้นประมาณ 2 – 3 บาท จึงกล่าวได้ว่า
ทิศทางราคาของสวนยางที่ได้รับมาตรฐาน EUDR จะมีทิศทางราคาที่ดีกว่ายางทั่วไป
และยังสามารถส่งออกไปที่สหภาพยุโรปได้ด้วย
โดยเกษตรกรสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดบึงกาฬ
0-4249-2194 หรือ 061 905 6165
ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น